วันพุธที่ 20 กุมภาพันธ์นี้แล้ว (ตามเวลาท้องถิ่นสหรัฐอเมริกา) ที่มหาอำนาจผู้พัฒนานวัตกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและสมาร์ทโฟนจากเกาหลีใต้อย่าง ซัมซุง (Samsung) จะเปิดตัวสมาร์ทโฟนระดับเรือธงฉลองครบรอบ 10 ปี ‘Galaxy’ โมเดล Samsung Galaxy S10
ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่แบรนด์หนึ่งจะพัฒนาเทคโนโลยีล้ำสมัยและคิดค้นสิ่งใหม่ๆ ได้ต่อเนื่องจนก้าวขึ้นมาเป็นเบอร์ 1 ได้รับการยอมรับอย่างแพร่หลายในเวทีโลก แต่ซัมซุงพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าพวกเขาทำได้!
(หมายเหตุ: ข้อมูลล่าสุดจาก Counterpoint Research ระบุว่าช่วงไตรมาส 3 ของปี 2018 ซัมซุงครองส่วนแบ่งตลาดสมาร์ทโฟนเป็นอันดับที่ 1 ในสัดส่วน 19% มียอดการจัดส่งสมาร์ทโฟนที่ 72.3 ล้านเครื่อง)
ก่อนจะได้ยลโฉมสมาร์ทโฟนเครื่องใหม่จากซัมซุง THE STANDARD พาคุณย้อนไปดูเรื่องราวที่น่าสนใจของอาณาจักร Samsung Galaxy ในรอบทศวรรษที่ผ่านมา โดยเน้นไปที่แฟลกชิป ‘ซีรีส์ S’ เป็นหลัก เพื่อให้เห็นว่าตลอดระยะเวลากว่า 3,650 วัน กาแล็กซีแห่งนี้เปลี่ยนแปลงไปเช่นไร และประสบความสำเร็จในการทำตลาดได้อย่างไร
ปฐมบทตำนานกาแล็กซี
ย้อนกลับไปในช่วงต้นยุค 2000s สมัยนั้นโทรศัพท์มือถือจะแบ่งง่ายๆ ออกเป็น 2 ประเภทคือ ฟีเจอร์โฟน (มือถือที่มีฟีเจอร์การใช้งานง่ายๆ ทั่วไป โทรเข้า-โทรออกพร้อมปุ่มกด) และสมาร์ทโฟน (มือถือสเปกการใช้งานสูงพร้อมจอแบบสัมผัส) ส่วนระบบปฏิบัติการส่วนใหญ่ที่มีให้เลือกใช้ก็มีหลากหลาย iOS (Apple), Symbian หรือ Microsoft (Windows Phone) ฯลฯ
การมาถึงของระบบปฏิบัติการ Android ภายใต้การพัฒนาของ Google ในช่วงประมาณปี 2008 ทุกสิ่งทุกอย่างก็เปลี่ยนแปลงไปโดยสิ้นเชิง แน่นอนว่าเรื่องนี้ส่งผลกระทบในเชิงบวกกับซัมซุงด้วยเช่นกัน
ในเดือนมิถุนายน ปี 2009 หรือราว 10 ปีที่แล้ว ซัมซุงได้เปิดตัวสมาร์ทโฟนภายใต้ชื่อ ‘Samsung Galaxy: GT-I7501’ ถือเป็นสมาร์ทโฟนเครื่องแรกภายใต้แบรนด์ซัมซุงที่รันบนระบบปฏิบัติการของ Android (Android 1.5 Cupcake) และยังเปรียบเสมือนบรรพบุรุษของ Samsung Galaxy ทั้งหมดในปัจจุบัน พร้อมสเปกเรียบง่าย แต่เพียงพอต่อการใช้งานในช่วงเวลาดังกล่าว
หลังจากนั้นซัมซุงยังทยอยออกมือถือรุ่นใหม่ๆ ออกมาต่อเนื่อง เช่นเดียวกับการสานต่ออาณาจักรกาแล็กซีผ่าน Samsung Galaxy Spica ที่ปล่อยออกมาในช่วงปลายปีเดียวกัน กระทั่ง 1 ปีผ่านไป ซัมซุงก็ได้เปิดตัวสมาร์ทโฟนระดับเรือธงในสกุลกาแล็กซี ‘Samsung Galaxy S’ เปิดศักราชใหม่ของ ‘ซีรีส์ S’
สเปกการใช้งานคร่าวๆ ของ Samsung Galaxy S มาพร้อมกับหน้าจอ Super AMOLED ขนาด 4 นิ้ว ใช้ชิปประมวลผลที่พัฒนาขึ้นมาเอง Samsung Exynos 3 (เดิมเป็นที่รู้จักในชื่อชิปเซต Hummingbird) มีความจุ 2 ขนาดให้เลือกคือ 8GB และ 16GB พร้อมแรม 512MB และแบตเตอรี่ Li-Ion 1500 mAh โดยเป็นสมาร์ทโฟนที่มีขนาดเครื่องบางที่สุดในท้องตลาด ณ ช่วงเวลานั้นที่ 9.9 มิลลิเมตร
นับเป็นความสำเร็จครั้งสำคัญในการบุกตลาดสมาร์ทโฟนระดับไฮเอนด์อย่างเต็มตัวของซัมซุง โดยมีการเปิดเผยสถิติในปี 2013 ว่า Galaxy S มียอดการจำหน่ายทั่วโลกมากกว่า 25 ล้านเครื่อง แถมนิตยสาร Time ยังยกให้ติด 10 อันดับแก็ดเจ็ตยอดเยี่ยมแห่งปี 2010 ในอันดับที่ 2 แซงหน้าค่ายคู่แข่ง Apple ที่เปิดตัว iPhone 4 ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกันอีกด้วย (iPhone 4 รั้งอันดับที่ 4)
พร้อมกันนี้ความสำเร็จส่วนหนึ่งยังมาจากการที่พวกเขาทำงานใกล้ชิดกับค่ายผู้ให้บริการสัญญาณโทรศัพท์มือถือในหลายๆ ประเทศเพื่อสอดแทรกการขายผลิตภัณฑ์ของตัวเองให้กับลูกค้า ส่งผลให้สินค้าของซัมซุงเริ่มติดและตีตลาดในชั่วข้ามคืน
สานต่อความยิ่งใหญ่ผ่านการทำตลาดที่ต่อเนื่องและสม่ำเสมอ
“Samsung Galaxy S ที่รันบนระบบปฏิบัติการ Android จะสร้างมาตรฐานใหม่ให้กับสมาร์ทโฟน มันคืออุปกรณ์ที่ยอดเยี่ยมสำหรับทุกคนบนโลกใบนี้ เรามั่นใจมากๆ ว่ามันจะประสบความสำเร็จอย่างสูงสุดในทุกๆ ตลาด”
ประโยคเบื้องต้นคือคำกล่าวของ เจ.เค. ชิน ประธานและหัวหน้าฝ่ายธุรกิจโทรศัพท์และการสื่อสารของ Samsung Electronics ในช่วงเวลาดังกล่าว ที่สะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นและวิสัยทัศน์ที่ซัมซุงมีต่อโมเดล Galaxy และเรือธงซีรีส์ S ได้เป็นอย่างดี
พร้อมกันนี้ซัมซุงยังเริ่มปรับเปลี่ยนโมเดลการทำตลาดใหม่ภายใต้ชื่อ Galaxy เพื่อความชัดเจนและง่ายต่อการจดจำ แล้วแตกรุ่นย่อยออกไปหลากหลาย ทำให้สมาร์ทโฟนใหม่ๆ ของซัมซุงส่วนใหญ่ตั้งแต่ยุคนี้เป็นต้นมาจะเริ่มใช้นามสกุล Galaxy ทั้งหมด แตกต่างกันที่ชื่อห้อยท้าย (เรือธงตระกูล S ตัวอักษร ‘S’ ย่อมาจากคำว่า Super Smart)
ในปี 2011 ซัมซุงได้เปิดตัว Galaxy S II เพื่อสานต่อความยิ่งใหญ่และความสำเร็จจากรุ่นแรก โดยเลือกขยับเดือนเปิดตัวเพื่อทำตลาดก่อนคู่แข่ง Apple จากเดิมในเดือนมิถุนายนเปลี่ยนมาเป็นกุมภาพันธ์ (หลังจากนั้นก็ยึดช่วงไทม์ไลน์เปิดตัวซีรีส์ S ในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์หรือต้นเดือนมีนาคมมาตลอด)
อีกหนึ่งความพิเศษของปีนี้อยู่ที่การเปิดไลน์ผลิตภัณฑ์ระดับเรือธงใหม่อีกตระกูลคือ ‘Note Series’ เพื่อเจาะตลาดกลุ่มคนทำงานหรือกลุ่มผู้ใช้มือถือที่คุ้นเคยกับการใช้ปากกาจด วาด หรือขีดๆ เขียนๆ บนมือถือเหมือนในยุคหนึ่งที่ปาล์มเคยฮิต
ผลลัพธ์ที่ออกดอกออกผลงอกเงยจาก Galaxy S II คือการได้รับการยอมรับอย่างแพร่หลายจากผู้ใช้งานและสื่อทั่วโลก แถม Mobile World Congress (MWC) ก็ยังยกให้สมาร์ทโฟนเครื่องนี้เป็นสมาร์ทโฟนแห่งปี 2012 อีกด้วย
เท่านั้นยังไม่พอ เมื่อเริ่มเจาะตลาดที่หลากหลายผ่านผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสมกับกลุ่มผู้บริโภคที่แตกต่างกันออกไปในแต่ละระดับ ไม่ได้เน้นแค่ระดับไฮเอนด์เหมือนผู้เล่นค่ายอื่นๆ จุดนี้เองที่ทำให้กลายเป็นแต้มต่อเหนือคู่แข่งของซัมซุง จนในที่สุดก็ก้าวขึ้นมาครองตำแหน่งผู้นำตลาดสมาร์ทโฟนในอันดับที่ 1 ด้วยส่วนแบ่งตลาดที่ 23.8% ในช่วงไตรมาส 3 ของปี 2011 ได้สำเร็จ
สิ่งเหล่านี้ได้ทำให้ภาพของซัมซุงในตลาดสมาร์ทโฟน ณ เวลานั้นก้าวขึ้นมาอยู่ในแนวหน้าระดับเดียวกันกับ Apple ได้อย่างไม่เคอะเขิน จนเริ่มเปล่งประกายชัดเจนและกลายเป็นผู้นำตลาดสมาร์ทโฟนไปในที่สุด
ขณะที่การทำตลาดในประเทศไทยที่จะลืมพูดถึงไม่ได้เป็นอันขาดคือการได้นักแสดงชื่อดังระดับ S Class อย่าง ชมพู่-อารยา เอ ฮาร์เก็ต มาเป็นพรีเซนเตอร์ใช้งานจริงตั้งแต่ไหนแต่ไร ซึ่งการมีภาพของเธอพร้อมสมาร์ทโฟน Samsung Galazy S ปรากฏตามสื่อหรือฟรอนต์โรว์แฟชั่นระดับโลกก็พลอยทำให้ Brand Perception ของผู้บริโภคไทยเปลี่ยนไปในเชิงบวกอย่างมีนัยสำคัญ
ผู้นำนวัตกรรมและงานดีไซน์ในตลาด
สองในหลายๆ สิ่งที่ซัมซุงได้รับการยอมรับมาโดยตลอดกับการพัฒนาสมาร์ทโฟนตระกูล Galaxy คือการมุ่งมั่นพัฒนานวัตกรรมและนำเสนองานดีไซน์ใหม่ๆ ให้กับผลิตภัณฑ์ของตัวเอง
อย่างโมเดล Samsung Galaxy S III ที่เปิดตัวในปี 2012 พร้อมการใส่หน้าจอที่คมชัดสุดๆ Super AMOLED HD ขนาด 4.8 นิ้ว ความละเอียดสูง 1,280 x 720 พิกเซล ก็นับเป็นหนึ่งในวิวัฒนาการที่เรียกเสียงฮือฮาจากตลาดสมาร์ทโฟนในยุคสมัยนั้น ให้หลังเพียง 1 ปีก็ยังเปิดตัว Samsung Galaxy S4 พร้อมหน้าจอแบบ Super AMOLED HD ขนาด 5.0 นิ้ว ความละเอียดสูง 1,920 x 1,080 พิกเซล
จนมาถึงเดือนมีนาคม ปี 2015 หนึ่งในความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในเชิงงานดีไซน์และเทคโนโลยีก็ได้ถูกประกาศโดยซัมซุง เมื่อพวกเขาตัดสินใจเปิดตัวสมาร์ทโฟน Samsung Galaxy S6 ที่มาพร้อมกับหน้าจอ Super AMOLED แบบปกติและขอบจอโค้ง (Samsung Galaxy S6 Edge) ความละเอียดสูงถึง 2,560 x 1,440 พิกเซล ถือเป็นผู้นำในตลาดเจ้าแรกๆ ที่กล้านำเสนอดีไซน์หน้าจอรูปแบบนี้
เช่นเดียวกันกับการเปิดตัวหน้าจอ ‘Infinity’ ไร้ขอบ ไร้ปุ่ม และไร้รอยบาก! (Top Notch) บน Samsung Galaxy S8 ในเดือนมีนาคม ปี 2017 โดยเป็นค่ายผู้พัฒนาสมาร์ทโฟนรายแรกของโลกที่ฉีกขนบนำเสนองานออกแบบในลักษณะนี้
มาถึงในปี 2019 นี้ ก่อนงานเปิดตัว Galaxy S10 จะเริ่มต้นขึ้นก็มีข่าวลือหลุดออกมาให้เห็นอยู่เป็นระลอกว่าดีไซน์หน้าจอแบบใหม่ของ Samsung Galaxy S10 จะเปลี่ยนไปอีกครั้ง แต่ก็ถือว่าเป็นผลดี เพราะยิ่งทำให้ภาพลักษณ์ผู้นำในเชิงงานออกแบบและนวัตกรรมชัดเจนแบบ outstanding สุดๆ
ความพร้อมในฐานะผู้นำตลาดเครื่องใช้ไฟฟ้าและการมีฐานความสำเร็จจากการทำตลาดมือถือตั้งแต่อดีต เมื่อนำมาผนวกกับความสม่ำเสมอในการเจาะตลาดและความกล้าในการนำเสนอนวัตกรรมและงานดีไซน์ใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา สิ่งเหล่านี้ล้วนแล้วแต่มีผลทำให้ Samsung Galaxy และ Galaxy S Series ครองใจผู้บริโภคได้อย่างเหนียวแน่นทั่วโลกจนประสบความสำเร็จและผลักดันให้ซัมซุงเป็นเจ้าตลาดมือถือเหมือนอย่างทุกวันนี้
แม้ทีมงาน THE STANDARD จะทราบข้อมูลผลิตภัณฑ์บางส่วนที่จะเปิดตัวในวันพุธที่จะถึงนี้แล้ว (ตามเวลาท้องถิ่นสหรัฐอเมริกา) แต่คงต้องขออุบข้อมูลทั้งหมดเอาไว้ก่อน และเชื่อว่า 10 ปีทั้งที หลายคนคงจะต้องประทับใจกับโมเดลใหม่ของ Samsung Galaxy S10 อย่างแน่นอน โดยคุณสามารถติดตามคอนเทนต์ช่วงงานเปิดตัว Samsung Galaxy UNPACKED 2019 ทาง THE STANDARD ได้ทุกช่องทาง
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์
อ้างอิง:
- Samsung
- en.wikipedia.org/wiki/Samsung_Galaxy
- www.pocket-lint.com/phones/news/samsung/136736-timeline-of-samsung-galaxy-flagship-android-phones-in-pictures
- www.verizonwireless.com/articles/A-brief-timeline-of-the-Samsung-Galaxy-S-smartphone
- www.officetimeline.com/blog/image.axd?picture=/2017/04/Samsung-Timeline.png
- www.businessinsider.com/samsung-rise-and-fall-2015-2