×

‘สมรสเท่าเทียม’ ในความเงียบ เมื่อสังคมไปไกล แต่กฎหมายยังช้า

04.03.2024
  • LOADING...
รศ.ดร.อานนท์ มาเม้า

“…ในเรื่องการสมรส ตามจารีตประเพณีที่มีมาช้านาน วัตถุประสงค์ของการสมรสคือการที่ชายและหญิงอยู่กินกันฉันสามีภริยาเพื่อสร้างสถาบันครอบครัว มีบุตร ดำรงเผ่าพันธุ์ตามธรรมชาติ และมีการสืบทอดทรัพย์สิน มรดก มีการส่งต่อความผูกพันกันระหว่างพ่อ แม่ พี่ น้อง ลุง ป้า น้า อา ซึ่งการสมรสในระหว่างบุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศอาจไม่สามารถสร้างความผูกพันอันละเอียดอ่อนดังกล่าวได้ ทั้งนี้ หากวิทยาการก้าวหน้า มีการค้นพบรายละเอียดเพิ่มขึ้นว่าสัตว์โลกบางประเภทมีพฤติกรรม หรือมีลักษณะทางชีวภาพแปลกแยกออกไป ก็จัดให้เป็นกลุ่มต่างหากเพื่อแยกศึกษาต่อไป…”

 

ข้อความดังกล่าวหลายคนคงจำได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งในคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญไทย ที่ตัดสินเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2564 

 

คำวินิจฉัยฉบับนี้ (คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 20/2564) ก่อให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์และการเปิดประเด็นเกี่ยวกับความหลากหลายทางเพศอย่างกว้างขวาง รวมถึงการอภิปรายกล่าวโยงไปยังแนวคิด ความเชื่อ สิทธิเสรีภาพในเรื่องอื่นๆ ของผู้มีความหลากหลายทางเพศในสังคมไทย ที่ไม่ใช่แต่เรื่องการสมรสตามกฎหมายเท่านั้น หากแต่รวมถึงกรณีอื่นๆ ด้วย ไม่ว่าจะเป็นการรับรองอัตลักษณ์ทางเพศ การขจัดการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และนโยบายสาธารณะ

 

แท้จริงเรื่องความหลากหลายทางเพศเป็นเรื่องที่มีการรับรู้และกล่าวถึงอยู่ในสังคมไทยและวิถีชีวิตของคนไทยมาอย่างยาวนานแล้ว ไม่ใช่เพิ่งจะเกิดประเด็นเมื่อมีคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญในปี 2564 เพราะฉะนั้นจึงไม่ใช่เรื่องใหม่หรือปราศจากพัฒนาการหรือความเป็นมา

 

กล่าวเฉพาะในสังคมไทย เราอาจเห็นร่องรอยทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับผู้มีความหลากหลายทางเพศย้อนกลับไปในอดีตได้เป็นหลายร้อยปี แต่ข้อที่ต้องช่วยกันคิดคือความหลากหลายทางเพศในสังคมไทยจะดำเนินไปในทิศทางไหน ที่สำคัญคือ ‘ควร’ จะดำเนินไปอย่างไร 

 

ผมเห็นว่าอย่างน้อยที่สุด หากกล่าวเฉพาะเรื่องการสมรส ทัศนะของศาลรัฐธรรมนูญที่ตีความว่าวัตถุประสงค์ของการสมรสคืออะไร หรือรองรับให้กับอะไร และเพราะอะไรนั้น ก็ไม่ใช่ทัศนะเดียวแบบที่ผมเห็นพ้องด้วย

 

นี่ยังไม่นับรวมประเด็นอื่นๆ นอกเหนือจากคำตัดสินศาลรัฐธรรมนูญ ที่เกี่ยวกับความหลากหลายทางเพศในสังคมไทย ซึ่งมีการจุดขึ้นแล้วและผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งในเชิงความคิดและกฎหมาย  

 

แน่นอนว่าความคิดเห็นในสังคมไทยมีจำนวนมากและแตกต่าง แต่ทั้งหมดทั้งมวลของสิ่งเหล่านี้รอคอยการคลี่คลายหรือการปรับเปลี่ยน โดยผมเชื่อว่าสังคมไทยนั่นเองจะเป็นผู้เผยคำตอบ แม้จะเป็นคำตอบที่มาจากการปะทะถกเถียงกันหรือเจรจาต่อรองรอมชอมกันในสังคมไทยก็เถอะ

 

ณ ปัจจุบันดูเหมือนว่าสังคมไทยจะใจกว้างต่อผู้มีความหลากหลายทางเพศมากพอสมควร แต่หากเฝ้ามองนโยบายสาธารณะที่เป็นจริงเป็นจังถึงขั้นการยอมรับเป็นกฎหมาย กลับกลายเป็นว่าพัฒนาการเรื่องความหลากหลายทางเพศในสังคมไทยจะไปช้ามากกว่าที่ผมคาดคิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งผมสังเกตเห็นถึงความเงียบนิ่งสงบของกระบวนการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เกี่ยวกับการสมรส หรือที่เรียกว่า ‘สมรสเท่าเทียม’ ในขณะนี้ 

 

เงียบจนหวั่นใจว่าจะร่างออกมาเป็นเช่นใด และยิ่งไปกว่านั้น ล่าสุดการที่สภาผู้แทนราษฎรโหวตคว่ำร่าง พ.ร.บ.การรับรองเพศฯ เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2567 ทำให้ผมกลับมาขบคิดเกี่ยวกับทัศนะเรื่องความหลากหลายทางเพศของสภาไทย และก็ยิ่งต้องคิดหนักเมื่อได้ฟังคำอภิปรายของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรบางคนในวันนั้น

 

จากการสังเกตสิ่งต่างๆ ในเวลานี้ ทำให้ผมชักจะไม่แน่ใจเกี่ยวกับทิศทางเรื่องความหลากหลายทางเพศในสังคมไทย ผมอดกลัวไม่ได้ว่าเรื่องนี้จะแย่ลงไปกว่าที่ควรจะเป็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อคำนึงถึงบริบทสังคมโลกยุคปัจจุบัน ดังนั้นนี่จึงเป็นสาเหตุหรือที่มาของการที่ผมตั้งใจจะเขียนบทความสั้นๆ เพื่อให้ข้อมูลหรือจุดประกายความคิดเกี่ยวกับความหลากหลายทางเพศหรือ LGBTQIA+ ออกมาเป็นระยะ 

 

ทั้งนี้ เพราะความเชื่อส่วนตัวของผมที่เห็นว่าโอกาสที่กฎหมายหรือนโยบายสาธารณะอื่นๆ เกี่ยวกับเรื่องนี้ในสังคมไทยมีความเป็นไปได้ที่จะพัฒนาไปในทางที่ดีขึ้น

 

การพิจารณาภาพรวมด้านความหลากหลายทางเพศในประเทศไทยว่าเป็นอย่างไรบ้างนั้น ผมคิดว่าเราอาจมองได้ 2 แง่ ได้แก่ แง่กฎหมาย กับอีกมุมหนึ่งคือแง่ทัศนะของสังคม  

 

ในแง่กฎหมาย ผมขอให้ลองมองย้อนไปในทางประวัติศาสตร์ เพื่อพิจารณาว่าระบบกฎหมายไทยได้ ‘กระทำ’ ต่อผู้มีความหลากหลายทางเพศอย่างไร ไม่ว่าจะเป็นการกระทำทางบวกหรือลบ เราจะเห็นได้ว่าหากย้อนไปเริ่มต้นพิจารณา ณ ปี 2540 ซึ่งเป็นปีที่เชิดชูกันว่าเป็นปีประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับประชาธิปไตย นับแต่เวลานั้นมีเหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้น เช่น

 

  1. กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข รับรองว่าบุคคลรักเพศเดียวกันไม่ได้ถือเป็นผู้มีความผิดปกติทางจิตหรือป่วยเป็นโรค (หนังสือที่ สธ 0605/375) เมื่อเดือนมกราคม 2545

 

  1. ศาลปกครองเพิกถอนข้อความในใบ สด. ที่ใช้คำว่า ‘โรคจิตถาวร’ กับบุคคลข้ามเพศ (คำพิพากษาศาลปกครองกลางที่ 1540/2554) เมื่อเดือนกันยายน 2554

 

  1. ความพยายามใส่คำว่า ‘เพศสภาพ’ เมื่อเดือนมกราคม 2558 ในการร่างรัฐธรรมนูญหลังรัฐประหารปี 2557 แต่ไม่ประสบผลสำเร็จในท้ายที่สุด 

 

  1. พระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. 2558 ประกาศใช้เมื่อเดือนมีนาคม 2558 กฎหมายดังกล่าวกำหนดให้ ‘การแสดงออกที่แตกต่างจากเพศโดยกำเนิด’ ได้รับการคุ้มครอง

 

  1. ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2564 ว่าการสมรสตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่กำหนดให้ทำได้เฉพาะชายและหญิงโดยกำเนิดเท่านั้นไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ โดยมีข้อความในคำตัดสินที่ก่อให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางเกี่ยวกับทัศนะและการให้เหตุผลของตุลาการ

 

  1. ในเดือนมิถุนายน 2565 สภารับร่างกฎหมายคู่ชีวิตพร้อมกับร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม และมีมติให้นำมารวมกันพิจารณา สร้างข้อกังวลว่าถูกต้องเหมาะสมหรือไม่ เนื่องจากร่างกฎหมายทั้งสองมีหลักการที่แตกต่างกัน ท้ายสุดการร่างกฎหมายไม่อาจดำเนินต่อไปได้ เนื่องจากมีการยุบสภาในเดือนมีนาคม 2566

 

  1. ร่างกฎหมายคู่ชีวิตไม่ถูกให้ความสำคัญอีกต่อไป นโยบายของหลายพรรคการเมืองเลือกที่จะชูร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม หลังการเลือกตั้งและมีรัฐบาลใหม่ สภามีมติรับร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมเข้าสู่การพิจารณาเมื่อเดือนธันวาคม 2566 

 

  1. ร่างกฎหมายรับรองเพศที่เสนอโดยฝ่ายค้านถูกบรรจุในการพิจารณาของสภา แต่สภามีมติโหวตคว่ำเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2567 สร้างความสงสัยเกี่ยวกับท่าทีของนักการเมืองในสภาและทิศทางการพัฒนาเกี่ยวกับสิทธิในความหลากหลายทางเพศในประเทศไทย

 

สำหรับในแง่ทัศนะของสังคม ผมเห็นว่าสังคมไทยมีแนวโน้มที่จะเปิดกว้างต่อบุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศให้ใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างปกติ  

 

นอกจากนั้น ท่าทีในการสนับสนุนต่อเรื่องความหลากหลายทางเพศก็ดูจะโดดเด่นในบางกรณี

 

‘จุดเด่น’ ที่เห็นได้หรืออาจตีความได้ว่าทัศนะของสังคมไทยยอมรับเรื่องนี้อย่างใจกว้างมีอยู่ 3 ประการ ได้แก่

 

  1. การเป็นวิถีชีวิตปกติที่เห็นได้จากสื่อบันเทิง: การผลิตสื่อบันเทิงและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นภาพยนตร์ รายการโทรทัศน์ วิทยุ และสื่อออนไลน์ มีการนำเสนอเรื่องความหลากหลายทางเพศอย่างมากมาย และมีบุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศทำหน้าที่เป็นนักแสดง พิธีกร หรือเจ้าของผลงานอย่างหลากหลาย  

 

ปรากฏการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นและดำรงอยู่ได้เพราะเชื่อว่าสังคมไทยใจกว้างพอที่จะยอมรับและเสพสื่อบันเทิงเหล่านี้ หรือกล่าวให้ถึงที่สุดคือมองเรื่องความหลากหลายทางเพศว่าเป็นเรื่องปกติในวิถีชีวิตประจำวัน

 

  1. ความโดดเด่นเรื่องการแพทย์สำหรับผู้มีความหลากหลายทางเพศ: เป็นที่ยอมรับในระดับสากลว่าความเชี่ยวชาญของแพทย์และวิทยาการเกี่ยวกับการผ่าตัดแปลงเพศ การดูแลรักษาผู้มีความหลากหลายทางเพศทั้งทางกายและใจ วงการแพทย์ไทยมีชื่อเสียงอย่างยิ่งยวด ส่งผลต่อการดึงดูดคนต่างชาติเข้ามาใช้บริการในประเทศไทยเป็นจำนวนมากในแต่ละปี สร้างจุดสนใจในแง่การทำรายได้เข้าประเทศและการเป็นศูนย์กลางการศึกษาวิจัยในเรื่องดังกล่าว

 

  1. การไม่ถือว่าเป็นคนผิดหรือคนบาปในสังคมไทย: ไม่มีกฎหมายกำหนดให้การเป็นบุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศในประเทศไทยเป็นความผิดตามกฎหมายบ้านเมือง ตัวบทกฎหมายอาญาไทยที่อาจตีความว่ากิจกรรมทางเพศของบุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศถือเป็นความผิดอาญาก็ถูกยกเลิกไปตั้งแต่ปี 2500 แล้ว ที่สำคัญยังมีการตรากฎหมายเพื่อคุ้มครองการรังแกกลั่นแกล้งผู้มีความหลากหลายทางเพศเสียด้วย นอกจากนั้น สังคมไทยในภาพรวมไม่ได้อยู่ภายใต้อิทธิพลของศาสนาหรือความเชื่อที่สั่งสอนและกำหนดวิถีทางเพศที่ปิดช่องหรือเป็นอุปสรรคต่อการใช้ชีวิตของบุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศแต่อย่างใด การเป็นบุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศจึงไม่ใช่อาชญากรหรือคนบาปในประเทศนี้

 

เราอาจกล่าวได้หรือไม่ว่า ในแง่ทัศนะของสังคม ประเทศไทยไปไกล แต่ในแง่กฎหมาย ประเทศไทยไปช้า 

 

เครื่องมือประการหนึ่งที่อาจทำให้เห็นภาพทิศทางของประเทศไทยชัดขึ้นคือ LGBT Equality Index ดัชนีว่าด้วยความเสมอภาคของผู้มีความหลากหลายทางเพศที่จัดอันดับโดย Equaldex ตัวเลขในนั้นระบุว่า ในปี 2566 ประเทศไทยได้คะแนน 62 จากคะแนนเต็ม 100 และอยู่ในลำดับที่ 46 จากการสำรวจทั่วโลก 197 ประเทศ  

 

ประเทศที่ได้อันดับ 1 คือไอซ์แลนด์ ประเทศที่รั้งท้ายคืออัฟกานิสถาน ทั้งนี้ ไทยเป็นอันดับ 1 ในอาเซียน แต่เมื่อเทียบกับบางประเทศในเอเชีย ไทยมีอันดับที่ต่ำกว่า เช่น เนปาล และอินเดีย อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณาในภาพรวมแล้วถือว่าอยู่ในเกณฑ์ดี และผมเชื่อว่าในอนาคตจะมีอีกหลายเรื่องที่ท้าทายและรอคอยการตัดสินใจกำหนดทิศทางที่ควรจะเป็นต่อไป 

 

ขอส่งท้ายด้วยคำตัดสินศาลฉบับหนึ่งซึ่งมีข้อความว่า “…ไม่มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวใดจะลึกซึ้งมากกว่าการสมรส ซึ่งประกอบด้วยอุดมคติสูงสุดของความรัก ความซื่อสัตย์ การอุทิศตน การเสียสละ และการเป็นครอบครัวในรูปแบบของการสมรส…คงเป็นเรื่องเข้าใจผิดว่าชายและหญิงเหล่านั้น (บรรดาบุคคลคู่รักเพศเดียวกัน) ไม่เคารพแนวคิดเรื่องการสมรส คำร้องของพวกเขาเหล่านั้นแสดงถึงการเคารพแนวคิดดังกล่าว เคารพอย่างยิ่งในอันที่จะแสวงหาความอิ่มใจในตัวเขา และความหวังที่จะ…ไม่ถูกกีดกันออกจากการเป็นส่วนหนึ่งในสถาบันที่เก่าแก่ที่สุดของอารยธรรม  พวกเขาฟ้องร้องเรียกหาศักดิ์ศรีในความเท่าเทียมในสายตาของกฎหมาย…”

 

นั่นไม่ใช่คำตัดสินของศาลไทย หากแต่เป็นคำพิพากษาศาลสูงสุดของสหรัฐอเมริกาที่ตัดสินเมื่อปี 2558 (คดี Obergefell v. Hodges) 

 

(คำตัดสินดังกล่าวผมคัดมาจากคำแปลคำตัดสินของผมที่เคยเผยแพร่ใน Facebook เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2558 ท่านใดสนใจลองหาต้นฉบับตัวเต็มมาอ่านครับ เป็นคดีที่ให้เหตุผลคมคายมาก)

 

ผมเชื่อว่าสังคมไทยจะกำหนดทิศทางเรื่องความหลากหลายทางเพศไปในทางที่ดีขึ้น อุปสรรคระหว่างทางของการพยายามสนับสนุนเรื่องราวดังกล่าวก็คงมีบ้าง แต่คงไม่อาจหยุดยั้งความเป็นไปของโลกได้ การแลกเปลี่ยนและร่วมกันพิจารณาตัดสินใจอย่างเป็นกิจจะลักษณะทั้งในทางการเมืองและกฎหมาย โดยการยกระดับให้เป็นกติกาของสังคมผ่านการทำงานของรัฐสภาหรือการกำหนดนโยบายสาธารณะของผู้มีอำนาจบริหารน่าจะเป็นวิธีที่ดีที่สุดและส่งผลชัดเจนที่สุดในชีวิตจริง ไม่ใช่แต่เพียงประเด็นเรื่องการสมรสของบุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศที่ผมจั่วหัวด้วยคำตัดสินศาลไทยและลงท้ายด้วยคำตัดสินของศาลต่างประเทศเท่านั้น หากแต่ยังมีเรื่องอื่นๆ ด้วยที่กำลังตามมา เช่น การบริจาคเลือด ความเข้าใจเกี่ยวกับเพศสภาพ การอุ้มบุญ การรับบุตรบุญธรรม และการกำหนดอัตลักษณ์ทางเพศ

 


 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

 

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X