×

Salt Publishing สำนักพิมพ์ใหม่ที่ตั้งใจกรุยทางความคิดด้วยปรัชญาและวิทยาศาสตร์

14.04.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

14 Mins read
  • Salt Publishing คือสำนักพิมพ์ใหม่ที่ผลิตหนังสือแนวปรัชญาและวิทยาศาสตร์ทั้งฟิกชันและนอนฟิกชัน โดยมีคณะบรรณาธิการและผู้ก่อตั้งสำนักพิมพ์คือ โตมร ศุขปรีชา, สฤณี อาชวานันทกุล, ทีปกร วุฒิพิทยามงคล, สุธรรม ธรรมรงค์วิทย์, ดร.สรณรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์ และแอลสิทธิ์ เวอร์การา
  • คณะบรรณาธิการมองว่าวิทยาศาสตร์และปรัชญาเคยเป็นศาสตร์เดียวกันและมีความสำคัญในการสร้างองค์ความรู้ของมนุษย์ โดยจะเลือกหนังสือที่เป็นวิทยาศาสตร์ ปรัชญา เทคโนโลยี และมีคุณค่าทางวรรณกรรม มีเป้าหมายสูงสุดคือหนังสือเป็นเครื่องมือที่ทำให้ผู้อ่านรู้จักการตั้งคำถาม

 

ปัญหาสิ่งแวดล้อม ภาวะโลกร้อน โรคระบาด การมาถึงของเอไอแย่งงานมนุษย์ โลกถึงกาลอวสาน การย้ายไปอยู่ดาวดวงอื่น ฯลฯ อาจเป็นจินตนาการถึงโลกอนาคตที่ได้จากการดูหนัง ฟังข่าว อ่านนิยายดิสโทเปีย หลายคนเริ่มรู้สึกว่าเป็นเรื่องใกล้ตัว และตั้งคำถามว่าสิ่งเหล่านี้จะเป็นจริงเมื่อไร จะส่งผลกระทบต่อชีวิตของเราอย่างไร


Salt Publishing คือสำนักพิมพ์ใหม่ที่ผลิตหนังสือฟิกชันและนอนฟิกชันที่มีส่วนผสมของปรัชญาและวิทยาศาสตร์ ซึ่งตัวแทนจากคณะบรรณาธิการและผู้ก่อตั้งสำนักพิมพ์อย่าง หนุ่ม-โตมร ศุขปรีชา, ยุ้ย-สฤณี อาชวานันทกุล และแชมป์-ทีปกร วุฒิพิทยามงคล ต่างกล่าวว่าทั้งสองศาสตร์นี้ ครั้งหนึ่งในอดีตเคยเป็นศาสตร์เดียวกัน


หากมองย้อนกลับไปอดีตกาลถึงยุคที่มนุษย์เริ่มหัดตั้งคำถามต่อสิ่งต่างๆ และพยายามหาคำตอบ ไม่ว่าคำตอบที่ได้จะกลายเป็นความเชื่อ เป็นศาสนา หรือเป็นข้อที่รอการพิสูจน์ ก่อนจะมีคำว่า ‘วิทยาศาสตร์’ กระบวนการนี้เรียกว่า ‘ปรัชญา’


นี่เป็นที่มาของชื่อสำนักพิมพ์ “คำว่า Salt หรือเกลือ มันเป็นผลผลิตของการทำปฏิกิริยาระหว่างกรดกับเบส เช่น เกลือที่เรากินเป็นโซเดียมกับคลอไรด์ อีกอันก็จะเป็นกรดคลอริกกับโซเดียม ซึ่งมีเกลือหลายแบบมาก มันทำให้เห็นว่า Salt คือผลผลิตที่เกิดจากการรวมของสิ่งที่มันไม่เหมือนกัน แล้วมันอาจจะได้อะไรใหม่ๆ ที่เป็นประโยชน์” โตมรกล่าวถึงเบื้องหลังของการคิดชื่อและการเลือกทำหนังสือจากทั้งสองศาสตร์นี้


และนี่คือบทสัมภาษณ์ขนาดยาวที่ THE STANDARD ได้คุยกับนักคิดนักเขียนชื่อดังของไทย ตั้งแต่ต้นทางจนถึงความสำคัญที่เราจำเป็นต้องเรียนรู้ทั้งปรัชญาและวิทยาศาสตร์ และสองศาสตร์นี้จะเป็น ‘เครื่องมือ’ ที่ช่วยให้มนุษย์ตั้งรับกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในโลกได้หรือไม่อย่างไร

 

 

Salt เปิดตัวมาว่าจะพิมพ์หนังสือเกี่ยวกับปรัชญาและวิทยาศาสตร์ โดยบอกว่าสองศาสตร์นี้คือฐานสำคัญของความรู้มนุษย์ และในอดีตยังเคยเป็นศาสตร์เดียวกันมาก่อน ช่วยขยายความถึงแนวคิดนี้ของสำนักพิมพ์ให้ฟังได้ไหม

สฤณี: ต้นตอของวิทยาศาสตร์และปรัชญามันมาจากการตั้งคำถามเดียวกัน คือการตั้งคำถามเกี่ยวกับตัวเราและเรื่องโลก เช่น เราเกิดมาทำไม มีใครมากำหนดว่าชีวิตเราจะต้องเป็นอย่างนั้นอย่างนี้หรือเปล่า เรามีอิสรภาพแค่ไหน หรือตั้งคำถามกับโลก เช่น โลกเกิดมายังไง จักรวาลมีที่มาที่ไปไหม ใครเป็นคนสร้าง หรือพระเจ้าสร้างมัน


คำถามพวกนี้มีมาตั้งแต่ยุคก่อนที่มนุษย์จะพัฒนาเครื่องมือหรือวิธีคิดที่เรียกว่าวิทยาศาสตร์ เพราะฉะนั้นในแง่นี้ปรัชญามาก่อน มันถือกำเนิดมาพร้อมมนุษย์ พอมนุษย์มีการพัฒนาภาษาก็พัฒนาวิธีการแลกเปลี่ยนกันได้ชัดขึ้น


ถ้าอ่าน Isaac Newton ก็จะพบบรรยากาศของสมัยที่สองศาสตร์นี้กำลังจะแยกจากกัน เพราะว่านิวตันเองก็เรียกตัวเองว่านักปรัชญา สมัยนั้นคนอย่างนิวตันที่ศึกษาธรรมชาติเขาใช้คำว่า Natural Philosopher แล้วหนังสือที่ว่าเป็นวารสารวิทยาศาสตร์ฉบับแรกๆ ของโลกที่ตีพิมพ์โดย Royal Society สมาคมทางวิชาการ ก็เป็นวารสารที่ไม่ได้ใช้คำว่าวิทยาศาสตร์ แต่ใช้คำว่า Philosophical Transaction ธุรกรรมทางปรัชญา นี่เป็นตัวอย่างว่าแม้แต่ช่วงนั้นเองก็ยังไม่มีคำว่าวิทยาศาสตร์มาใช้จำแนกขนาดนั้น

 

โตมร: สมมติว่าพันปีที่แล้วเราลืมตาตื่นมาในตอนเช้า เห็นแผ่นดินกว้างไกล คนหนึ่งอาจจะคิดว่าโลกมันต้องแบน บางคนคิดว่าโลกกลม บางคนคิดว่าโลกเป็นศูนย์กลาง ดวงอาทิตย์หมุนรอบเรา บางคนคิดว่าดวงอาทิตย์เป็นศูนย์กลางแล้วโลกหมุนรอบดวงอาทิตย์ ปรัชญาเป็นแบบนั้นครับ


ปรัชญาคือเวลาเราเห็นอะไรก็ไม่รู้เต็มไปหมด เราลองตั้งคำถามแล้วหาคำตอบ ทีนี้สมมติว่าคำตอบบางอันมันอาจจะกลายเป็นศาสนาก็ได้ เคยมีนักปรัชญากรีกบางคนสอนเรื่องโลกเป็นศูนย์กลางของจักรวาล แล้วก็ไปคำนวณว่าพระอาทิตย์ขึ้นตอนไหน กี่โมง แล้วคำนวณถูกด้วยว่าในอีกร้อยปีข้างหน้าพระอาทิตย์จะขึ้นกี่โมงๆ บ้าง ปรัชญามันให้คำตอบเต็มไปหมด แต่มันยังไม่มีสิ่งที่เรียกว่าการทดลองหรือการพิสูจน์​เกิดขึ้น


การทดลอง หรือการพิสูจน์ ซึ่งเป็นหัวใจของวิทยาศาสตร์​ เริ่มเกิดในแถวๆ ยุคของนิวตันนี่แหละ นิวตันเกิดในปีที่กาลิเลโอตาย ซึ่งสิ่งที่กาลิเลโอค้นพบคือเขาไปนั่งฝนกล้องโทรทรรศน์แล้วเอาไปส่องดาว จนกระทั่งเห็นว่ามันมีดวงจันทร์ของดาวพฤหัสบดีที่วันนี้เห็นอยู่ตรงนี้ อีกวันเห็นอยู่ตรงนั้น อีกวันไปอยู่ตรงโน้น จากนั้นหายไปหลายวันแล้วก็มาโผล่อีกที ซึ่งก็ทำให้อนุมานได้ว่ามันเกิดการหมุน มีการโคจรรอบดาวพฤหัสบดี จึงเอามาคำนวณหาข้อพิสูจน์ว่ามันมีการโคจรของดาวเคราะห์ เลยเป็นจุดเริ่มต้นของการพิสูจน์ การทดลองที่มันเป็นหลักเป็นฐาน เกิดคำว่าประจักษ์นิยมขึ้นมา มันประจักษ์ไง ไม่ได้คิดไปเอง


หลังจากนั้นมันก็เกิดศาสตร์ที่เรียกว่า New Science ขึ้น คือไม่ใช่แค่รักในความรู้เฉยๆ แต่วิทยาศาสตร์มันคือการพิสูจน์ได้ มันเลยเป็นเส้นทางที่แยกออกจากกัน แต่ไม่ได้แปลว่าปรัชญาไม่มีประโยชน์เลย เพราะมันยังมีคำถามอีกเยอะแยะ และคำตอบอีกหลายอันที่ยังพิสูจน์ไม่ได้

 

 

สองศาสตร์ค่อยๆ แยกจากกันมากขึ้นเรื่อยๆ ตามระยะเวลาและการพัฒนาด้านเทคโนโลยี วิวัฒนาการมาเรื่อยก่อนยุคนิวตันด้วยซ้ำ

สฤณี: ถ้าพูดรวมๆ คือมันมีการพัฒนาองค์ความรู้สะสมมาเรื่อยๆ คร่าวๆ ก็ตั้งแต่ยุคเรอเนสซองส์ ประมาณคริสต์ศตวรรษที่ 14-15 ซึ่งเป็นยุคที่มาก่อนยุครู้แจ้ง มันคือการปูทางไปสู่ยุคแห่งเหตุผล


อย่างที่พี่หนุ่มพูด นิวตันเกิดในปีที่กาลิเลโอตาย ซึ่งตอนนั้นเครื่องมือต่างๆ เรื่องเทคนิค วิธีการชั่งตวงวัด เริ่มมีการพัฒนาดีขึ้นแล้ว เช่น กล้องโทรทรรศน์ที่ในสมัยของกาลิเลโอยังขยายได้นิดเดียว ก็มีการพัฒนาทำเลนส์ที่มีความเที่ยงตรงมากขึ้น ทำให้การสังเกตแม่นยำขึ้น มันก็ใช้ผลของการสังเกต เรียบเรียง และประมวลออกมาเป็นทฤษฎีที่มีหลักฐานมารองรับ

 

ทีปกร: ผมคิดว่าการคิดแยกระหว่างปรัชญาและวิทยาศาสตร์เป็นวิธีที่มีปัญหาในตัวเองเหมือนกัน เพราะเวลาเราเรียนรู้อะไรก็ควรเรียนรู้ในองค์รวม อย่างมีนักวิทยาศาสตร์คนหนึ่งชื่อ ริชาร์ด ไฟน์แมน โดนเพื่อนซึ่งเป็นกวีบอกว่าคุณไม่สามารถเห็นดอกไม้ได้สวยเท่าฉันหรอก แต่ริชาร์ดบอกว่าฉันเห็นว่ามันสวยได้เหมือนกันในฐานะที่มันทำปฏิกิริยาต่อกัน มันเป็นความสวยงามอีกแบบหนึ่งที่แตกต่างจากความสวยงามในแบบบทกวี


ดังนั้นเวลาที่เราบอกว่าปรัชญาและวิทยาศาสตร์เป็นศาสตร์ที่แยกออกจากกันโดยสิ้นเชิง มันนำมาซึ่งปัญหาต่างๆ มากมาย เช่น นักเทคโนโลยีในปัจจุบันมักถูกกล่าวหาว่าเป็น Solutionist คือนักหาทางออกอย่างเดียว ซึ่งดูเหมือนมันจะดี แต่มันเป็นการหาคำตอบในห้องปิด หาคำตอบในห้องที่ไม่ได้มีตัวแปรภายนอก


นักเทคโนโลยีจะคิดว่าปัญหาคือแบบนี้ มีตัวแปร x y z ต้องหาคำตอบออกมาให้ x y z สมดุลที่สุด โดยที่ไม่ได้มองว่าเมื่อทางออกที่หาออกมานำไปปฏิบัติในโลกกว้างแล้วมันจะส่งผลอื่นๆ อีกมากมาย ซึ่งเรื่องพวกนี้มันเกิดขึ้นมาจากรากฐานที่ว่าเขาไม่ได้มองภาพองค์รวมทั้งหมด


เมื่อเทคโนโลยีพัฒนาขึ้นไปเรื่อยๆ มันก็สัมพันธ์กับวิทยาศาสตร์และปรัชญามากขึ้น เช่น เราบอกว่าในยุคปัจจุบันเรามีหุ่นยนต์ที่ทำงานแทนมนุษย์ได้แล้ว แต่ชีวิตที่ไม่ต้องทำงานเป็นชีวิตที่ดีไหม หรือว่าในอนาคตที่ไม่ต้องทำงานแล้วมีวิธีการจัดสรรทรัพยากรให้กับบุคคลต่างๆ ยังไงให้สมดุล หรือทำให้ทุกคนมีความสุขที่สุด ซึ่งความสุขคืออะไร ก็ต้องกลับไปที่ปรัชญาอีกนั่นแหละ

 

สฤณี: หนังสือที่ Salt เลือกก็จะพยายามสื่อสารความหลากหลายแบบนี้ นักวิทยาศาสตร์บางคนใช้แว่นอันเดียวจนลืมไปว่ามันยังมีแว่นอื่นๆ อีก เราก็จะเลือกหนังสือของคนเขียนที่เขาไม่ได้เห็นแค่แว่นเดียว หรือจะเอาแว่นของวิทยาศาสตร์ไปมองปรากฏการณ์ทางสังคม อย่างหนังสือ Isaac Newton มันก็เป็นชีวประวัติของนักวิทยาศาสตร์คนหนึ่ง แต่ถ้าอ่านดูก็จะพบว่ามันมีการถ่ายทอดด้านมืดของนิวตัน ความไม่เป็นวิทยาศาสตร์หลายๆ อย่างของนิวตัน ซึ่งถ่ายทอดด้วยวิธีในเชิงวรรณกรรม ก็คิดว่ามันเป็นหนังสือที่ให้อรรถรสในทางวรรณกรรมด้วย

 

คณะบรรณาธิการที่มารวมตัวกันต่างก็มองเห็นความเชื่อมโยงที่สำคัญนี้ไปในทางเดียวกัน

สฤณี: ใช่ค่ะ คือเราทุกคนไม่ได้สนใจในเชิงแคบ เช่น ไม่ได้สนใจวิทยาศาสตร์แค่ว่าตอนนี้มีการวิจัยอะไรใหม่ๆ แต่เราสนใจเรื่องผลกระทบ อย่างพี่อ้อย (ดร.สรณรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์ – บรรณาธิการร่วม) ก็จะสนใจเรื่องการพัฒนาเมือง สิ่งแวดล้อม กับการพัฒนาสังคมมนุษย์ เราจะแก้ปัญหาส่ิงแวดล้อมในปัจจุบันได้ยังไง แอลสิทธิ์ (แอลสิทธิ์ เวอร์การา) สนใจเรื่องไซไฟมาก ส่วนคุณสุธรรม ธรรมรงค์วิทย์​ บทบาทหลักในตอนนี้ก็เป็นบรรณาธิการบริหาร Science Illustrated ซึ่งก็เป็นแมกกาซีนวิทยาศาสตร์หัวนอกที่มีแฟนติดตามเยอะที่สุดแล้วในเมืองไทย   

 

ทีปกร: เวลาเราพูดถึงหนังสือวิทยาศาสตร์ เรามักจะนึกถึงหนังสือประเภทหนึ่งไปเลย เช่น ตำราเรียนฟิสิกส์ เคมี ชีวะ ที่เป็นตำราแข็งๆ สอนใช้โปรแกรม เขียนโปรแกรม ซึ่งจริงๆ จักรวาลมันกว้างใหญ่กว่านั้นมากแล้ว หนังสือที่เราเลือกมาจะไม่ได้สุดขั้วเหมือนเคมี 101 แต่จะเป็นเคมีที่อ่อนมาทางมนุษย์มากขึ้น เป็นเทคโนโลยีที่เป็นวิทยาศาสตร์ปรัชญามากขึ้น มันจะอยู่เป็นส่วนผสมของ 3 อย่างนี้

 

 

กว่าจะได้แนวทางชัดเจนจนมาถึงวันที่ลงตัวเปิดสำนักพิมพ์ ผ่านกระบวนการอะไรกันมาบ้าง   

ทีปกร: จริงๆ มันมี 2 ภาค ภาคแรกมันเกิดขึ้นมาจากพอดแคสต์ของผมกับพี่หนุ่มชื่อ Omnivore ตอนนั้นเราอยากรวบรวมสิ่งที่เราพูดให้อยู่ในรูปแบบตัวหนังสือเพื่อที่จะได้อ่านซ้ำได้ ก็เลยคิดว่าทำสำนักพิมพ์ดีกว่า

 

สฤณี: ภาคที่สองก็คือมีเพื่อนคือแอลสิทธิ์ มีแบ็กกราวด์ทำงานแบงก์เหมือนกัน ชอบอ่านหนังสือหลายๆ เรื่องคล้ายกัน และมีจุดร่วมอันหนึ่งคือเรารู้สึกว่ายังไม่ค่อยเห็นคนไทยทำนิยายไซไฟ


พอเริ่มศึกษา เราพบว่ามันมียุคทองของนิยายไซไฟไทยเมื่อหลายสิบปีที่แล้ว มันมีความหลากหลายสูงมาก แต่มันค่อยๆ หายไปจนกลายเป็นภาพจำของคนว่า ทุกวันนี้ถ้าพูดถึงนิยายไซไฟก็จะนึกถึงเรื่องหุ่นยนต์ นึกถึงนักเขียน เช่น อาร์เธอร์ ซี. คลาร์ก, ไอแซก อาซิมอฟ หรือหนังสือไซไฟที่เราเห็นกันตามท้องตลาดที่ยึดโยงกับหนังฮิตหรือเรื่องที่กำลังจะเอามาทำหนัง


จริงๆ โลกของไซไฟมันใหญ่มาก ยกตัวอย่าง 1984 นิยายดิสโทเปียที่เล่าถึงอนาคตที่โลกย่อยยับไปแล้ว แล้วมนุษย์จะต้องดูแลตัวเองยังไง หรืออีกแขนงหนึ่งชื่อว่า Alternate History คือการจินตนาการว่าถ้าอดีตมันไม่ใช่อย่างที่เราคิดจะเกิดอะไรขึ้น เช่น ถ้านาซีชนะสงคราม โลกทุกวันนี้จะเป็นอย่างไร หรือจะเป็นยังไงถ้าศาสนาหายไป คนจะยังมีศาสนาอยู่ไหม รวมถึงงานไซไฟที่เป็นเชิงวรรณกรรมเลย คือมีการเขียนแล้วลำดับเหตุการณ์​ ถ่ายทอดพัฒนาการตัวละคร บางเรื่องก็ innovative มาก เช่น A Clockwork Orange ที่คิดภาษาใหม่ขึ้นมาเลยเพื่อการสื่อสาร


เรารู้สึกว่าโลกของไซไฟมันสนุกมากด้วยความหลากหลายนี้ ก็อยากทำมาตลอด แต่ก็ยากที่จะนำเสนอไซไฟในรูปแบบที่คนไม่ชิน แม้เราจะเชื่อว่าหนังสือดีมากก็ตาม ถ้าทำเองก็สุ่มเสี่ยงที่จะขาดทุน แต่พอสองคนนี้จะทำสำนักพิมพ์ ซึ่งก็เป็นเรื่องวิทยาศาสตร์อยู่แล้ว เราก็มาร่วมกับเขาดีกว่า จะได้มีคนมาร่วมแบ่งความขาดทุน (หัวเราะ)

 

โตมร: ลบกับลบแล้วมันจะเป็นบวก (หัวเราะ)

 

ปกหนังสือ Why Grow Up?, Isaac Newton และ Rise of the Robots สื่อถึงเรื่องปรัชญาและวิทยาศาสตร์ตั้งแต่อดีต ปัจจุบัน และอนาคต   Photo: SALT Publishing

 

คณะบรรณาธิการมีเกณฑ์ในการมองว่าวรรณกรรมที่ดีต้องเป็นอย่างไร

โตมร: ผมนึกถึงความสะเทือนใจก่อน ไม่ได้แปลว่าสะเทือนใจแบบฟูมฟายอย่างเดียว แต่เป็นความสะเทือนใจที่เวลาอ่านแล้วเรารู้สึกสั่นสะเทือน เหมือนที่ ฟรานซ์ คาฟคา บอกว่าหนังสือที่ดีมันต้องอ่านแล้วเหมือนถูกฟาดด้วยไม้หน้าสาม แต่เรามักจะจำกัดความคำพูดของคาฟคาเฉพาะกับงานที่เป็นฟิกชันว่าอ่านแล้วรู้สึกโศกเศร้าหรือโรแมนติก  


แต่ผมว่าการถูกฟาดด้วยไม้หน้าสามที่เป็นนอนฟิกชันมันน่าสนใจด้วยเหมือนกัน เพราะมันคือการฟาดด้วยสิ่งที่คนเขียนไปค้นคว้ามาด้วยฐานของข้อมูล ข้อเท็จจริง แล้วกรองมันออกมาเป็นความจริงในมุมมองของคนเขียนนั้นๆ แล้วเอามาฟาดเรา สำหรับผม หนังสือที่ดี สิ่งนี้ต้องมาก่อนล่ะ คุณอาจจะสะกดผิดก็ได้ หรือใช้คำเยิ่นเย้อ แบ่งบทไม่ดี อะไรก็แล้วแต่ แต่มันชกเราได้ มันประสบความสำเร็จ ซึ่งไม่ได้หมายความว่าจะต้องชกเราตั้งแต่เปิดมาหน้าแรก มีหนังสือหลายเล่มที่อ่านไปแล้วเบื่อหน่ายมาก แล้วความเบื่อนั้นมันเป็นฐานของการสร้างตอนจบที่มันระเบิดออกมา ถ้ามันไม่ทำให้เบื่อ ตอนจบมันจะไม่ยิ่งใหญ่อะไรขนาดนั้น

 

สฤณี: ยุ้ยอาจจะต่างจากพี่หนุ่มเล็กน้อย คือไม่ได้คิดว่าหนังสือมันดีหรือไม่ดี คิดแค่ว่าหนังสือที่ตัวเองชอบหรือไม่ชอบ เราก็จะคิดเข้าข้างตัวเองว่าหนังสือที่เราชอบนี่แหละดี (หัวเราะ)

 

ทีปกร: หนังสือดีสำหรับผมคืออ่านจบแล้วมีส่วนที่เอาไปใช้ประโยชน์ได้ พอมาย้อนคิดดูแล้ว หนังสือเล่มไหนที่มันยังทิ้งประโยคหรือทิ้งเครื่องมือในการคิดไว้ให้เรา แล้วเราสามารถใช้กรอบแบบนั้นไปคิดกับเรื่องอื่นๆ ได้ในอนาคต อันนั้นแหละคือหนังสือที่มันจะอยู่กับเรา เป็นหนังสือที่เรารู้สึกว่าไม่เสียเวลาที่อ่าน

 

นอกจากเทคโนโลยีหรือเอไอ หนังสือไซไฟในปัจจุบันยังพูดถึงเรื่องอะไรอีกบ้าง

ทีปกร: โห สนุกมากเลยช่วงนี้

 

สฤณี: ใช่ จักรวาลของไซไฟสนุกมากเลยค่ะ หลายเรื่องที่เราเคยคิดว่ามันไม่มีทางเกิดขึ้นได้จริง หรือเห็นแต่ในนิยาย เช่น เมื่อก่อนเราคิดว่าหุ่นยนต์กระป๋องจะมีหน้าตาเป็นหุ่นเหล็ก ไม่มีทางมีหน้าตาเป็นมนุษย์ได้ แต่ตอนนี้มันก็มีเทคโนโลยีที่ทำให้เหมือนมนุษย์แล้ว หรือบางทีมันไม่ต้องมาเป็นตัวๆ เป็นเอไอก็ได้ มีการแข่งขัน เช่น ให้คนไปโค้ดโปรแกรมแล้วมาดูว่าจะหลอกมนุษย์ได้ไหมว่าเขาไม่ใช่มนุษย์ ซึ่งมันก็เริ่มน่ากลัวขึ้นเรื่อยๆ หรือมีการทดลองให้เอไอวาดรูป มันก็วาดได้แล้ว ทั้งที่เมื่อก่อนเราบอกว่าหุ่นยนต์ไม่มีความคิดสร้างสรรค์ แต่วันนี้สิ่งที่มันทำคืออะไรล่ะ ถ้าไม่เรียกว่า creativity

 

ทีปกร: มันก็จะกลับมาที่ปรัชญานี่แหละว่าอะไรคือความคิดสร้างสรรค์ อะไรคือความเป็นมนุษย์ อะไรคือศิลปะ

 

สฤณี: ทำให้เรากลับมาสู่รากฐานของคำถามพวกนี้มากขึ้น อะไรที่เราเคยคิดว่าเป็นเรื่องเพ้อฝัน เป็นจินตนาการแบบสนุกๆ มันอาจจะไม่ใช่แล้วนะ แต่มันใกล้ตัวมากขึ้น


ส่วนตัวคิดว่านิยายไซไฟมีบทบาทมากที่ทำให้คนจินตนาการถึงอนาคต ไซไฟมันเป็นพรมแดนที่ไร้ข้อจำกัดของจินตนาการของผู้เขียน มีนิยายไซไฟหลายเล่มที่ไม่ได้พูดถึงวิทยาศาสตร์หรือเทคโนโลยีแบบเข้มๆ เพราะมันมีการมองภาพหรือฉายภาพที่เป็นการตั้งคำถามมากขึ้น หรืออีกแขนงหนึ่งของไซไฟจะมีคำเรียกว่านิยายไซไฟเชิงปรัชญา ซึ่งไม่ได้เน้นเรื่องอุปกรณ์อะไรเลย แต่เป็นการตั้งคำถามถึงความเป็นมนุษย์ผ่านการจินตนาการให้ไปอยู่ในสถานการณ์แปลกๆ


มีหลายเล่มที่จุดประกายความคิดให้นึกถึงอนาคตที่ใกล้ตัวเรามากขึ้น เช่น นิยายที่ฉายภาพโลกที่มันเละเทะไปแล้ว ไม่มีสิ่งมีชีวิตเหลืออยู่แบบใน Blade Runner หรือนิยายที่จินตนาการว่าน้ำแข็งขั้วโลกละลายจากภาวะโลกร้อนแล้วเกิดน้ำท่วมใหญ่ในอีก 30 ปีข้างหน้านี้ แล้วมันจะเกิดอะไรขึ้น หรือโลกที่มีเชื้อโรคเหมือนในหนัง 28 Days ซึ่งทุกวันนี้เชื้อโรคมันพัฒนาเร็วมาก และมี mutation ใหม่ๆ เต็มไปหมด ก็จะมีนิยายทริลเลอร์เริ่มเข้ามาสัมพันธ์กับชีวิตเรา

 

ทีปกร: รู้สึกว่าไซไฟทุกวันนี้มันเป็นแพลตฟอร์มของการคิด อย่างที่บอกว่าไซไฟมันคือการตั้งคำถามว่า “จะเป็นยังไง ถ้า…?” ถ้าทุกคนมีคะแนนอยู่บนหัว แล้วคะแนนมากขึ้นน้อยลงตามพฤติกรรมของเรา ซึ่งมันมีจริงในประเทศจีน เราก็จะพอเห็นได้แล้วว่า ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นมันจะเป็นยังไง แล้วจะทำยังไงก่อนที่เราจะไปถึงจุดนั้น ซึ่งไซไฟมันก็ให้เครื่องมือในการคิดกับเรา

 

ดูเหมือนว่าวัฒนธรรมการอ่านในบ้านเราไม่ค่อยเน้นมาทางวิทยาศาสตร์ พวกคุณมองว่ามันสะท้อนอะไรในสังคมบ้างหรือไม่

โตมร: มันกำลังเพิ่มขึ้น ผมเชื่อว่าตอนนี้คนรุ่นใหม่กำลังสนใจวิธีคิดหรือความรู้ใหม่ๆ ที่เป็นวิทยาศาสตร์ ก่อนหน้านี้คุณยุ้ยเคยทำหนังสือเรื่อง เศรษฐศาสตร์พฤติกรรม ซึ่งเป็นความรู้และเป็นวิทยาศาสตร์ มันขายดีมาก แต่คนรุ่นเก่าหน่อย เช่น คนในวงการการเมือง หรือในวงการโฆษณาอาจจะคุ้นชินกับนิตยสารกลอสซีแบบสมัยก่อน เขาอาจจะยังไม่คิดว่าคนรุ่นใหม่กระหายสิ่งที่เป็นความรู้แบบนี้ ถ้าสื่อสิ่งพิมพ์มันเริ่มตาย ซึ่งมันจริงในแง่ของนิตยสาร แต่หนังสือเล่ม ผมคิดว่า หนึ่ง มันไม่ตาย สอง ความตายจะมาถึงหนังสือเล่มที่เป็นฟองสบู่ คือหนังสือที่มีเนื้อหาที่เราหาอ่านได้จากในออนไลน์​

 

สฤณี: จริงๆ มันมีหลายปัจจัยที่ซัพพอร์ตว่าทำไมคนรุ่นใหม่ในสังคมไทยมีความสนใจมากขึ้น เรื่องแรกคือกระบวนวิธีคิดแบบวิทยาศาสตร์ถูกนำไปใช้ในศาสตร์อื่นๆ ที่ไม่ใช่วิทยาศาสตร์มากขึ้น เช่น เศรษฐศาสตร์พฤติกรรม คือเศรษฐศาสตร์ที่ไม่ได้คิดด้วยเครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์ หรือการสร้างแบบจำลองตามปกติ แต่ไปเอาผลการทดลองจาก Neuroscience หรือจากนักประสาทวิทยามาใช้ เช่น เวลาเห็นเงินตกอยู่ที่พื้น ตัวเรามีการเปลี่ยนแปลงของสารเคมีในสมองยังไง คือหาคำตอบที่เป็นวิทยาศาสตร์มากในการสกัดออกมาเป็นทฤษฎี


อีกเรื่องหนึ่งคือความก้าวหน้าของวิทยาศาสตร์ข้อมูลจากการที่เรามีอินเทอร์เน็ตและการขยายตัวของเครือข่าย คืออยู่ดีๆ ก็มีข้อมูลเต็มไปหมด เราก็ต้องคิดแล้วว่าจะเอาข้อมูลเหล่านี้มาวิเคราะห์หรือประมวลผลยังไง เราก็เลยจะเห็นการใช้เครื่องมือวิทยาศาสตร์มากขึ้นในเรื่องต่างๆ โดยเฉพาะในสาขาที่เมื่อก่อนเราอาจคิดว่ามันไม่เป็นวิทยาศาสตร์


อีกปัจจัยใหญ่ก็คือสังคมไทยผ่านช่วงเวลาของความขัดแย้งมาสักระยะหนึ่งแล้ว ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าโลกออนไลน์เป็นเวทีสำคัญที่ให้วิธีมองได้หลายมุม ในแง่หนึ่งมันก็ดีมากเลย มีตั้งหลายเรื่องที่เราหาอ่านจากที่ไหนไม่ได้ ก็มาดูในออนไลน์นี่แหละ แต่อีกมุมหนึ่งมันก็มีข่าวปลอม ข่าวลือ ข่าวลวงเต็มไปหมด เพราะฉะนั้นตัวเราจะแยกแยะได้ยังไงว่าอะไรจริงไม่จริง เราจะมีวิธีคิดแบบไหน นี่ก็เป็นภาวะที่ทำให้หลายๆ คนมองเห็นถึงความสำคัญของการใช้เหตุผล การคิดวิเคราะห์ การประเมินข้อมูลอะไรต่างๆ ซึ่งเป็นฐานหนึ่งของวิทยาศาสตร์

 

 

มีอาจารย์สอนวิชาปรัชญาท่านหนึ่งเขียนจดหมายท้วงคณบดีที่ต้องการจะยุบสาขาปรัชญาในมหาวิทยาลัย ดูเหมือนจะยังมีคนไทยบางส่วนที่อาจมองว่าสาขานี้ไม่สำคัญสำหรับผู้เรียนในปัจจุบัน

ทีปกร: จริงๆ เป็นทั่วโลกนะ โดยเฉพาะในประเทศที่กำลังพัฒนามักจะไปมองคำตอบที่ค่อนข้างสำเร็จรูป เราจะมองว่าคนที่เรียนสาขาวิทยาศาสตร์ บริหารธุรกิจ เป็นสาขาที่เรียนไปแล้วทำอาชีพเลี้ยงตัวเองได้ทันที แต่ไม่มองถึงอนาคต เช่น เมื่อหุ่นยนต์มาทำงานแทนที่ตำแหน่งงานไปแล้ว ตำแหน่งพวกนี้ยังจำเป็นอยู่ไหม ตอนนี้กลับกลายเป็นว่าในแวดวงนักคิดในอเมริกามองว่าจริงๆ แล้วคนเราควรจะหันกลับมาที่วิชาที่สอนทักษะทางมนุษย์ทั้งหลาย เพราะเป็นทักษะที่อย่างน้อยเอไอก็ทดแทนได้ช้ากว่า


คือในอนาคตอันใกล้ พวกอาชีพอย่าง ทนาย นักบัญชี หรือมาร์เก็ตติ้ง ก็จะถูกทดแทนอย่างรวดเร็วด้วยโปรแกรมอัตโนมัติหรือโรบอต แต่อาชีพที่จะถูกทดแทนได้ช้ากว่า เช่น ผู้ดูแลผู้สูงอายุ มันต้องอาศัยทักษะบางอย่าง รวมไปถึงความแม่นยำ สติปัญญาทางอารมณ์ ซึ่งหุ่นยนต์อาจต้องใช้เวลาอีกสักระยะในการพัฒนาทักษะทางมนุษย์เหล่านั้น


กระทั่งในบริษัทโซเชียลเน็ตเวิร์กต่างๆ ตอนนี้ตำแหน่งที่เป็นที่ต้องการมากคือตำแหน่งที่มีทักษะทางมนุษย์ทั้งหลาย เช่น นักจริยธรรม เพื่อมาดูว่าจริงๆ แล้วนโยบายที่จะมารันโซเชียลเน็ตเวิร์กเป็นยังไง เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาอย่างที่เฟซบุ๊กเพิ่งเผชิญมา มันก็เป็นสาขาที่มันไม่เป็นวิทยาศาสตร์เพียวๆ อย่างที่หลักสูตรของเราพยายามจะดันให้มันเป็น

 

สฤณี: ความเห็นส่วนตัวคิดว่าการศึกษาที่ถามว่าเราเรียนกันไปทำไม ในเมื่อเราเรียนผ่านกูเกิลกับวิกิพีเดียก็ได้ แต่กูเกิลหรือวิกิพีเดียมันไม่เชิงเป็นความรู้ มันคือข้อมูล แต่ความรู้มันเกิดจากการซึมซับแล้วเรามาคิดประมวลผล มันจึงจะออกมาเป็นความรู้ อันนี้จึงเป็นความท้าทายเหมือนกันว่า บางคนอาจจะคิดว่าการมีโลกอินเทอร์เน็ตแล้วคิดว่าคนจะฉลาดขึ้น แก้ปัญหาเป็น แต่บางทีมันไม่ได้อัตโนมัติอย่างนั้น มันต้องมีกระบวนการเรียนรู้ซึ่งต้องผ่านการคิดที่เป็นเหตุเป็นผล ผ่านการใช้ทักษะอย่างเป็นระบบ ซึ่งวิชาปรัชญาคือรากฐาน แต่อาจจะไม่ใช้คำว่าปรัชญาก็ได้ เพราะในหลายโรงเรียนก็เลือกไม่ใช้ชื่อนี้ เพราะกลัวเด็กหนีหมด ไปใช้คำว่า Critical Thinking

 

ทีปกร: พ่อแม่จะแฮปปี้นิดหนึ่งเวลาลูกไปเรียน Critical Thinking

 

สฤณี: ใช่ เพราะฉะนั้นปัญหาเรื่องนี้ก็อาจจะให้ภาคปรัชญาลองเปลี่ยนชื่อ (หัวเราะ) แต่ในสังคมไทยมันก็มีปัญหาอย่างที่แชมป์พูดว่าคนที่เน้นนโยบายอาจจะมองเรื่องเศรษฐกิจเป็นหลัก ยังคิดเป็นกล่องเดียวอยู่ว่าเราต้องพัฒนาเศรษฐกิจ ต้องทำให้เด็กมีทักษะในการประกอบอาชีพ เพราะในความเป็นจริงมันก็มีปัญหานี้อยู่จริง เด็กจำนวนมากจบไปแล้วหางานทำไม่ได้ เข้าสู่ตลาดแรงงานแล้วไม่เวิร์ก แต่การแก้ปัญหาไม่ใช่แก้ด้วยการสร้างปัญหาใหม่ แทนที่คุณจะแก้ปัญหาให้ตรงจุด คุณก็ตีความไปว่าไอ้วิชาเหล่านี้มันไม่ได้มีผลผลิตเลย

 

โตมร: สัญญาณของความด้อยพัฒนาก็คือความอยากพัฒนา และเลือกพัฒนาแต่สิ่งที่คิดว่าจะทำประโยชน์ให้ แล้วหลายอย่างที่เราละเลยก็คือข้อมูลพื้นฐาน เช่น สมมติในอังกฤษเขาจะมีข้อมูลไปนั่งนับจักรยาน ซึ่งเราอาจจะรู้สึกว่าไปนั่งนับจักรยานทำไม ไปนั่งนับปลาในแม่น้ำทำไม ไปทำข้อมูลที่ดูเหมือนว่ามันไม่มีประโยชน์อะไรเลยไปทำไม แต่สิ่งเหล่านี้มันเป็นข้อมูลพื้นฐานที่ในอนาคตอีก 5 ปี 10 ปี 100 ปี 200 ปีข้างหน้า มันจะกลายเป็นฐานที่ทำให้คนรุ่นหลังหรือคนรุ่นต่อไปคิดอะไรได้มากขึ้น หรือว่าเกิดเรื่องใหม่ๆ ขึ้นมาและกลับมาย้อนดูได้  


หน่วยงานราชการไทยจริงๆ เก็บข้อมูลเยอะนะครับ แต่เก็บในรูปแบบ เช่น PDF ซึ่งเอามาวิเคราะห์อะไรไม่ได้เลย ข้อมูล PDF เป็นล้านๆ หน้า ต้องมานั่งคีย์ใหม่เหรอ คือเราบกพร่องในหลายระดับตั้งแต่วิธีคิดกับข้อมูลพื้นฐาน เราไม่สนใจมัน แล้วเราด้อยพัฒนา เราเลยสนใจพัฒนาแต่เรื่องเทคนิค อยากจะสร้างเด็กที่เป็นเทคนิเชียนเพื่อเอามาทำงานในโรงงาน หรือว่าสร้างอะไรก็แล้วแต่ที่ประดิษฐ์คิดค้นสิ่งที่มันจะไปขายแล้วทำเงินได้ แต่ว่าไม่ได้สนใจความรู้ที่อยู่ใต้สิ่งที่คนเขาขายกันว่ามันคืออะไร เพราะฉะนั้นมันก็… สังคมต้องการความรู้พื้นฐาน (หัวเราะ)

 

 

มองว่าอยากให้หนังสือของ Salt เป็นหนึ่งในเครื่องมือที่ช่วยในการตั้งคำถาม

ทีปกร: ตั้งคำถามในเรื่องความสามารถในการตั้งคำถาม ผมว่าทุกวันนี้เรามีความสามารถในการตั้งคำถามหรือเปล่า มีความเป็นไปได้เหมือนกันที่เราจะอ่านโดยที่ไม่ตั้งคำถามเลย

 

สฤณี: เราอาศัยความสนุกเป็นเครื่องมือ ถามว่าหนังสือของ Salt ตัวหัวข้อหรือประเด็นคนอาจจะรู้สึกไม่ชอบ มันก็ต่างจิตต่างใจ ดังนั้นเกณฑ์ในการเลือกหนังสือของเรา หรืออย่างน้อยคนบางกลุ่มต้องอ่านแล้วรู้สึกสนุก อ่านจนจบ ไม่ใช่อ่านสองบทแล้วที่เหลือก็เหมือนเดิม เราต้องไม่มีหนังสืออย่างนั้น


ทีปกร:
โดยเฉพาะการเป็นสำนักพิมพ์ขนาดเล็กไปจนถึงกลาง หนังสือเราเป็นฟิลเลอร์ไม่ได้ ทำไปงั้นๆ ไม่รู้จะขายดีไหม ไม่ได้ เราออกแค่ครั้งละ 3-4 เล่ม เพราะฉะนั้นทุกเล่มต้องคิดมาแล้วอย่างดี

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X