ประเด็นข่าวใหญ่ในวงการตลาดหุ้นช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา คงหนีไม่พ้น ‘การจัดเก็บภาษีขายหุ้น’ ซึ่งล่าสุด (2 ธันวาคม) กระทรวงการคลัง และกรมสรรพากรได้ออกมาเปิดเผยรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับประเด็นนี้ว่า
การเก็บภาษีดังกล่าวจะเก็บจากการขายโดยไม่ได้กำหนดมูลค่าขั้นต่ำ โดยจะมีกองทุนหรือองค์กรเพียง 8 กลุ่มที่ได้รับการยกเว้น ได้แก่
- ผู้ดูแลสภาพคล่อง (Market Maker)
- สำนักงานประกันสังคม
- กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
- กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ
- กองทุนสงเคราะห์ตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน
- กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ
- กองทุนการออมแห่งชาติ
- กองทุนรวมที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ เพื่อขายหน่วยลงทุนในกองทุนรวมแก่สำนักงานประกันสังคมหรือกองทุนตามข้อ 3-7 เท่านั้น
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- คลังเคาะ! เริ่มเก็บ ‘ภาษีขายหุ้น’ อัตรา 0.1% เริ่ม 1 ม.ค. 67 ย้ำไม่ได้เอื้อประโยชน์นักลงทุนรายใหญ่
- เทียบ ‘ภาษีหุ้น’ ระหว่าง ‘ไทย vs. นานาชาติ’
- วิเคราะห์ ‘ข้อดี-ข้อเสีย’ การจัดเก็บ ‘ภาษีขายหุ้น’ พร้อมเปิด 10 แนวทางพัฒนาตลาดทุนไทย
เมื่อภาษีดังกล่าวมีผลบังคับใช้ ย่อมทำให้ต้นทุนของนักลงทุนส่วนใหญ่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะนักลงทุนที่มีการซื้อขายด้วยความถี่ที่มาก อย่างกรณีของนักลงทุนที่เป็นกลุ่ม High Frequency Trading (HFT) หรือ Program Trading
มงคล พ่วงเภตรา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการฝ่ายกลยุทธ์ลงทุนหลักทรัพย์ บล.ดาโอ (ประเทศไทย) กล่าวว่า ปัจจุบันมูลค่าการซื้อขายในตลาดมาจาก Program Trading ราว 34% ของมูลค่าทั้งหมด ซึ่งปริมาณการซื้อขายจะลดลงแน่ๆ แต่ตอบได้ยากว่าจะลดลงมาน้อยเพียงใด
มูลค่าเทรดเฉลี่ยต่อวันของหุ้นไทยในช่วงปกติก่อนหน้านี้อยู่ที่ 3-4 หมื่นล้านบาท ในช่วงตลาดดีอาจจะไปได้ถึง 1 แสนล้านบาท แต่หากมีการเก็บภาษีแล้ว กรอบบนอาจจะลดลงเหลือ 7 หมื่นล้านบาท ส่วนถ้าตลาดแย่อาจจะเหลือเพียง 1 หมื่นล้านบาท
“ความผันผวนในภาวะปกติจะน้อยลง แต่เมื่อเกิดการแพนิกความผันผวนจะสูงมาก เพราะเมื่อหุ้นลงจะไม่มีคนซื้อ ตลาดจะเป็นเทรนด์มากขึ้น นักลงทุนในกลุ่ม HFT จะซื้อขายน้อยลง แต่ในทางกลับกันคนที่ลงทุนยาวจะไม่เปลี่ยนแปลง และคนที่เป็นรายย่อยจะได้รับผลกระทบน้อยกว่ารายใหญ่”
ในมุมของรายใหญ่แม้ต้นทุนจะสูงขึ้น แต่สิ่งที่น่าจะเป็นแง่บวกคือ การส่งคำสั่งไม้ใหญ่จะไม่ถูกแทรกด้วยคำสั่งของโรบอต
นักลงทุนอีกกลุ่มหนึ่งที่มีแนวโน้มจะได้รับผลกระทบโดยตรงคือ กลุ่มบัญชีซื้อขายของบริษัทหลักทรัพย์ (Proprietary Trader)
แหล่งข่าว Prop Trader กล่าวกับ THE STANDARD WEALTH ว่า “ส่วนตัวมีวอลุ่มเทรดประมาณ 40 ล้านบาทต่อเดือน ซึ่งเป็นตัวเลขระดับกลางๆ ในกลุ่ม Prop Trader เท่ากับว่าต้นทุนภาษีที่เพิ่มขึ้นมานี้จะคิดเป็นประมาณ 4 แสนบาทต่อเดือน”
ต้นทุนที่เพิ่มขึ้นมาก อาจทำให้บรรดา Prop Trader ต้องปรับกลยุทธ์ที่ใช้อยู่เป็นประจำ แต่ด้วยข้อจำกัดทั้งในเรื่องของการที่ต้องปิดการซื้อขายภายในวันเดียว และจำกัดกลุ่มหุ้นที่สามารถซื้อขายได้ ทำให้การปรับตัวอาจทำได้ไม่มากนัก
สำหรับกลยุทธ์การเทรดที่ใช้ จากเดิมที่บางคนอาจจะคาดหวังกำไร 2-3 ช่อง อาจต้องมองยาวขึ้นเพื่อชดเชยต้นทุนที่เพิ่มขึ้น และรอบเทรดที่อาจจะลดลง
นอกจากนี้ แนวทางหนึ่งที่อาจเป็นไปได้คือ การปรับให้ Prop Trader สามารถถือสถานะข้ามวันได้ แม้ว่าจะปรับเปลี่ยนได้จริง
“แต่ส่วนตัวมองว่าจะทำให้แต้มต่อของการเป็น Prop Trader น้อยลง ทำให้ต้องกลับมาทบทวนอีกครั้งว่าการเป็น Prop Trade ยังคุ้มค่าอยู่หรือไม่ เมื่อเทียบกับการออกมาเทรดด้วยตัวเอง”
ด้าน ณัฐชาต เมฆมาสิน ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ทรีนีตี้ มองว่า หากนักลงทุนกลุ่ม HFT มีต้นทุนสูงขึ้น เชื่อว่าปริมาณการซื้อขาย (Volume) ของนักลงทุนต่างชาติจะลดลงแน่นอน เพราะปัจจุบันนักลงทุนต่างชาติในไทยเป็นกลุ่มนักเก็งกำไร, กลุ่ม HFT และกลุ่มโมเดลเทรด
ขณะเดียวกันอัตราการหมุนของหุ้นโดยภาพรวมอาจจะลดลงไปด้วย แต่ความผันผวนในภาพใหญ่อาจจะมากขึ้น
“ปีนี้ความผันผวนของหุ้นไทยน้อยมากจนน่าเบื่อ บางช่วง SET แกว่งไม่ถึง 10% ส่วนหนึ่งเป็นเพราะกลุ่ม HFT พอวิ่งขึ้นก็ขาย พอลงก็ซื้อ”
หากเริ่มเก็บภาษีจริง มีโอกาสที่หุ้นไทยจะวิ่งเป็นเทรนด์มากขึ้น ทั้งขาขึ้นและขาลง กรอบการเหวี่ยงจะกว้างขึ้น
ณัฐชาตกล่าวต่อว่า การที่หุ้นไทยตอบรับเชิงบวกหลังจากที่มีข่าวเรื่องของการเก็บภาษีขายหุ้นออกมา ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการไหลเข้ามาของเงินทุนต่างชาติ (Fund Flow) ในระยะสั้น ซึ่งเป็นเหมือน ‘เงินร้อน (Hot Money)’ ที่เข้ามาเก็งกำไรการแข็งค่าของเงินบาทเท่านั้น
“นิยามของระยะสั้นในที่นี้คือ ภายใน 1 สัปดาห์ หลังจากแบงก์ชาติปรับขึ้นดอกเบี้ย แต่หลังจากนี้ไม่ได้หมายความว่าเงินทุนจะไหลออกทันที ขึ้นอยู่กับปัจจัยอื่น อย่างตัวเลขเศรษฐกิจ ซึ่งล่าสุดไม่ค่อยดีนัก เช่น ตัวเลขส่งออกกลับมาติดลบเร็วมาก”
นับแต่ต้นปี 2565 ที่ผ่านมาจนปัจจุบัน (ณ วันที่ 1 ธันวาคม) นักลงทุนต่างชาติเป็นฝ่ายซื้อสุทธิในตลาดหุ้นไทยถึง 1.91 แสนล้านบาท ทำสถิติใหม่ของปีนี้อีกครั้ง หลังจากที่ตัวเลขซื้อสุทธิเคยสูงสุดอยู่ที่ 1.83 แสนล้านบาท เมื่อต้นเดือนพฤศจิกายน
แรงซื้อของต่างชาติสวนทางกับแรงขายสุทธิของนักลงทุนสถาบันและนักลงทุนรายย่อยอย่างชัดเจน โดยสถาบันขายสุทธิออกไป 1.55 แสนล้านบาท ส่วนรายย่อยขายสุทธิ 3.33 หมื่นล้านบาท