×

วิเคราะห์แรงขายของกองทุนไทยเดือนตุลาคม… ‘หมดลุ้นหุ้นไทยหรือแค่ขายปรับพอร์ต’

23.10.2021
  • LOADING...
Thai funds

HIGHLIGHTS

5 Mins. Read
  • กองทุนขายสุทธิหุ้นไทยเดือนตุลาคม มูลค่า 1.43 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นการขายต่อเนื่องจากเดือนกันยายน ที่ขายสุทธิ 1.53 หมื่นล้านบาท 
  • ผู้จัดการกองทุนมองตลาดหุ้นไทยเริ่มแพงเมื่อเทียบกับตลาดหุ้นในตะกร้า Emerging Market ระบุอัปไซด์จำกัด ขณะที่ความเสี่ยงยังมีอยู่อีกมาก 
  • นักวิเคราะห์ประเมินเป็นการปรับพอร์ตเพื่อทำกำไรก่อน บจ. ประกาศผลประกอบการไตรมาส 3 ที่มักเป็น Low Season ของหลายอุตสาหกรรม 

3 สัปดาห์แรกของเดือนตุลาคม 2564 นักลงทุนสถาบันในประะเทศขายสุทธิหุ้นไทยไปแล้ว 14,369.31 ล้านบาท ซึ่งเกือบใกล้เคียงกับยอดขายสุทธิในเดือนกันยายนที่ผ่านมา ที่ขายสุทธิ 15,324 ล้านบาท และเมื่อสำรวจการซื้อขายสุทธิรายเดือนของนักลงทุนสถาบันในประเทศตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบัน พบว่านักลงทุนสถาบันขายสุทธิหุ้นไทยรวมแล้วกว่า 55,311 ล้านบาท 

 

สาห์รัช ชัฏสุวรรณ ผู้อำนวยการสายการตลาด และที่ปรึกษาการลงทุน บลจ.ทิสโก้ จำกัด กล่าวว่า หุ้นไทยในปัจจุบันถือว่าอยู่ระดับที่ค่อนข้างแพง โดยหากเทียบกับคาดการณ์กำไรปี 2564 จะมี P/E ที่ 20 เท่าและหากเทียบกับแนวโน้มกำไรปี 2565 จะมีค่า P/E ที่ 17 เท่า ในขณะที่ยังมีความเสี่ยงและความไม่แน่นอนในตลาดหุ้นอยู่ค่อนข้างมาก เช่น ปัจจัยทางการเมือง แนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและภาคการท่องเที่ยวและแนวโน้มค่าเงินบาท

 

“ที่ผ่านมาหุ้นไทยปรับเพิ่มขึ้นค่อนข้างมากและใกล้เต็มมูลค่า แรงผลักดันหลักมาจากสภาพคล่องภายในประเทศ ซึ่งก็คือแรงซื้อจากนักลงทุนรายบุคคลเป็น และหากประเมินจากเป้าหมายดัชนีสิ้นปีนี้หลายๆ โบรกเกอร์จะพบว่าส่วนมากมองดัชนีที่ราว 1,650 จุดในปีนี้ และปีหน้าน่าจะปรับขึ้นอีกราว 100-150 จุด ซึ่งถือว่าเป็นอัปไซด์ที่ค่อนข้างจำกัด การลงทุนในต่างประเทศจึงน่าสนใจกว่ามากในสายตานักลงทุนสถาบัน” 

 

ทั้งนี้คาดว่าจะเห็นแรงขายสุทธิต่อเนื่องจากฝั่งนักลงทุนสถาบันในประเทศในช่วงไตรมาส 4 ปีนี้ สลับกับการเข้าซื้อสุทธิบ้าง ขึ้นอยู่กับปัจจัยบวกใหม่ๆ เช่น ค่าเงินบาทเริ่มอ่อนค่า และการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจใหม่ๆ ของรัฐบาลไทย 

 

เขากล่าวเพิ่มว่า เมื่อเทียบตลาดหุ้นไทยในตะกร้า Emerging MarKet (EM) แล้ว ต้องยอมรับว่าหุ้นไทยไม่โดดเด่น และเป็นตลาดสำหรับ Trading ระยะสั้นเท่านั้น โดยประเมินว่าจากนี้ถึงไตรมาส 1 ปีหน้า ดัชนีอาจจะปรับเพิ่มขึ้นอีกแต่ไม่มาก ปัจจัยสนับสนุนยังคงมาจากแรงซื้อนักลงทุนทั่วไปในประเทศ และธีมเปิดประเทศอาจจะเรียกความสนใจจากนักลงทุนต่างประเทศได้บ้าง   

 

ตลาดหุ้นไทยยังน่าสนใจเมื่อเทียบในกลุ่ม EM 

วโรฤทธิ์ จีระชน Executive Director กลุ่มวิเคราะห์การลงทุน บลจ.ไทยพาณิชย์ กล่าวว่า ตลาดหุ้นไทยมีความน่าสนใจเมื่อเทียบกับตลาดหุ้นอื่นในตระกร้า EM คือยังปรับขึ้นไม่มาก​ หรือ Laggard โดยตั้งแต่ช่วงเกิดโควิดจนปัจจุบัน ตลาดหุ้นไทยปรับขึ้น 4-5% เท่านั้น เทียบกับตลาดหุ้นเกาหลีใต้ ไต้หวัน ที่โดดเด่นเรื่องภาคการส่งออกชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์และเหล็ก ที่ปรับเพิ่มขึ้น 40-50% หรือตลาดหุ้นเวียดนามและอินเดียที่โดดเด่นเรื่องการเติบโตของ GDP ก็ปรับเพิ่มขึ้นไปแล้ว 40-50%  

 

โดยยังเชื่อว่าในระยะ 3-6 เดือนจากนี้ ตลาดหุ้นไทยจะกลับมาได้รับความสนใจเพิ่มขึ้น เนื่องจากสถานการณ์โควิดคลี่คลายมากขึ้นทั่วโลก ทำให้ธีมการลงทุน Value Investment จะกลับมาอีกครั้ง ซึ่ง SET ก็มีคาแรกเตอร์เป็น Value Investment เช่นกัน

 

“ตอนที่เกิดวิกฤตโควิดขึ้น กระแสทางธุรกิจและการลงทุนวิ่งไปสู่กลุ่มเทคโนโลยีเนื่องจากผู้บริโภคต้องปรับตัวรับมือกับโควิดให้ได้ เช่น การทำงานทางไกล การทำงานที่บ้าน การรักษาระยะห่างทางสังคม ทำให้หุ้นที่เกี่ยวกับ New Normal ได้รับความสนใจสูงมาก แต่เมื่อทุกอย่างกำลังจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ กระแสก็จะมาสู่ Value Investment”   

 

ประกิต สิริวัฒนเกตุ ผู้อำนวยการอาวุโส บลจ.เมอร์ชั่น พาร์ทเนอร์ กล่าวว่า โดยปกติแล้วนักลงทุนสถาบันในประเทศ มักจะมียอดขายสุทธิในเดือนตุลาคมของทุกปี เนื่องจากเป็นช่วงที่ประกาศผลประกอบการไตรมาส 3 ของบริษัทจดทะเบียน ซึ่งส่วนใหญ่แล้วมักจะเป็นไตรมาสที่เป็น Low Season ทางธุรกิจ ซึ่งอาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้กองทุนไทยขายหุ้นออกมาต่อเนื่อง 

 

อีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้เห็นยอดขายสุทธิหุ้นไทยในช่วงนี้ ประเมินว่าเป็นแรงขายกองทุน LTF และ RMF ที่ครบกำหนดไถ่ถอนแล้วและผู้ถือหน่วยทำรายการขายการลงทุนเพื่อรับกำไรและถือเงินสด หลังจากที่ดัชนีหุ้นไทยปรับเพิ่มขึ้นมาพอสมควร 

 

อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าการขายสุทธิของกองทุนไทยไม่ได้สะท้อนมุมมองนักลงทุนสถาบันว่ามีมุมมองเป็นลบต่อตลาดหุ้นไทยในไตรมาสนี้ โดยดูจาก KKPS ซึ่งเป็นโบรกเกอร์ที่สะท้อนภาพนักลงทุน High Networth ได้ชัดเจน จะเห็นว่าเดือนตุลาคมนี้ (ณ 20 ตุลาคม) เป็นการซื้อสุทธิราว 5.7 พันล้านบาท

 

นักวิเคราะห์มั่นใจสุดท้ายกองทุนหวนกลับมาซื้อ

ณัฐพล คำถาเครือ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์การลงทุน บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) กล่าวว่า แรงขายรอบนี้เป็นการปรับพอร์ตของนักลงทุนสถาบันหลังจากซื้อสุทธิในช่วงกลางเดือนกันยายนที่ผ่านมา ซึ่งในช่วงนี้มีแรงซื้อจากนักลงทุนต่างประเทศเข้ามาเสริมสภาพคล่องในตลาดด้วย ประกอบด้วยในเดือนตุลาคมเป็นช่วงประกาศผลประกอบการไตรมาส 3 ซึ่งส่วนใหญ่แล้วจะเป็น Low Season ของหลายอุตสาหกรรม จึงทำให้มีแรงขายเพื่อทำกำไรก่อนประกาศผลประกอบการจริง

 

ในช่วงที่มีแรงขายของกองทุนจำนวนมาก ราคาหุ้นบิ๊กแคปก็ปรับลดลงเช่นกัน โดยเฉพาะหุ้นที่ได้รับผลกระทบจากโควิด และหุ้นที่มีปัจจัยลบเฉพาะตัว เช่น CBG OSP หุ้นกลุ่มการเงิน และหุ้นกลุ่มโรงไฟฟ้า  

 

“มองว่ารอบนี้เป็นการขายปรับพอร์ตของกองทุนไทย และสุดท้ายแล้วนักลงทุนสถาบันก็น่าจะกลับเข้ามาซื้อสุทธิตลาดหุ้นไทยเนื่องจากปัจจัยพื้นฐานตลาดหุ้นไทยไม่ได้มีอะไรเปลี่ยนแปลง ส่วนแรงขายจากกองทุน LTF RMF น่าจะไม่ใช่ปัจจัยสำคัญที่ทำให้กองทุนไทยต้องขายหุ้นในช่วงเดือนนี้ ในทางกลับกัน มองว่าปลายปีจะมีแรงซื้อกองทุน SSF หรือ RMF เพื่อการประหยัดภาษีมากกว่า” 

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH


Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising