จากปรากฏการณ์ออเจ้ากันทั้งประเทศที่ส่งให้ละครบุพเพสันนิวาสโกยเรตติ้งแบบถล่มทลาย นอกจากจะต้องให้เครดิตทีมนักแสดงแล้ว อีกคนหนึ่งที่ต้องยกเครดิตให้ก็คือ ศัลยา สุขะนิวัตติ์ นักเขียนบทละครมากประสบการณ์ที่ปลุกชีวิตให้ แม่หญิงการะเกด-ขุนศรีวิสารวาจา ได้มีตัวตนจริงๆ ในละคร เปลี่ยนตัวหนังสือในบทประพันธ์ของรอมแพง ให้กลายเป็นบทสนทนาที่ทำให้ตัวละครทุกตัวมีเสน่ห์จนคนดูหลงรัก
เมื่อย้อนดูผลงานของศัลยาที่เก็บเกี่ยวประสบการณ์จากการเขียนบทละครมาไม่น้อยกว่า 35 ปี จากการเป็นผู้เขียนบทละครดังมาไม่ต่ำกว่าร้อยเรื่อย เช่น นางทาส, คือหัตถาครองพิภพ, สายโลหิต และละครที่เรตติ้งมากที่สุดคือ คู่กรรม ในปี พ.ศ. 2533 ก็ยิ่งรู้ว่าปรากฏการณ์บุพเพสันนิวาสครั้งนี้ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ
THE STANDARD Daily ชวนศัลยามานั่งคุยถึงปรากฏการณ์ครั้งนี้ก่อนที่ละครจะอวสานในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า
เข้ามาเป็นนักเขียนบทละครได้อย่างไร
เรามีญาติอยู่ในวงการละครคือ คุณไพรัช สังวริบุตร คุยกันเรื่องละครตลอดมา วิจารณ์ละครของเขา ส่วนใหญ่จะไปทางไม่ดี เขาเห็นว่าวิจารณ์บ่อยจึงให้มาเขียน ซึ่งเรื่องแรกที่เขียนคือเรื่อง หลวงตา เป็นละครสั้น ตอนนั้นผลตอบรับก็ดี เพราะมีนักเขียนหลายคนมีชื่อเสียงทั้งนั้น และ สุประวัติ ปัทมสูต เล่นเป็นหลวงตา ซึ่งเล่นดีมาก ละครจึงเป็นที่นิยม
ที่เรื่องแรกเขียนได้ เพราะเขียนจบในตอน ไม่ต้องทิ้งประเด็น ไม่ต้องลุ้น แต่เรื่องที่สองเขียนไม่ได้เลย เพราะเขียนไม่เป็น ทำให้จะเลิกเขียน ตอนนั้นกำลังสอนหนังสืออยู่ด้วย แต่ความผันผวนคือนักเขียนเดิมเลิกเขียน จึงถูกเรียกมาเขียน และได้เขียนมาเรื่อยๆ จนถึงจุดนี้
มีเคล็ดลับเขียนบทละครอย่างไรให้คนดูสนุก
นิยายเล่าเรื่องโดยการใช้พรรณาโวหาร แต่ในส่วนของละครต้องเล่าเรื่องด้วยภาพ เสียง สีหน้าสีตา อารมณ์ และบทสนทนา เขียนตามภาพที่อยู่ในสมอง สายตาที่เห็นเป็นภาพ ขึ้นต้นฉากขึ้นมาเห็นเป็นอย่างไรก็เขียนอย่างนั้น ถ้าไม่เห็นกริยาก็เขียนบทสนทนา มีความต่างกันมากระหว่างนิยายกับละคร แต่มีบางอย่างที่ร่วมกันอยู่คือเนื้อเรื่อง
ความยากในการเขียนบทละครคืออะไร
เรื่องที่ต้องค้นข้อมูลหรือเรื่องที่ไม่ถนัดอย่าง นางทาส ก็ถือว่ายากเพราะบทดั้งเดิมมีอยู่แค่ 50 กว่าแผ่น เราก็ต้องหาข้อมูลและแต่งเพิ่ม ทำให้เป็นเรื่องราวและมีเนื้อเรื่องรองๆ ให้แตกเยอะ จนขยายไปเป็นเรื่องได้มาก
ส่วนบุพเพสันนิวาสมีทั้งง่ายและยาก ง่ายตรงที่เป็นหนังสือที่สมบูรณ์มาก ข้อมูลครบถ้วน เราเพิ่มเติมนิดหน่อย และสิ่งยากคือต้องเช็กข้อมูล เช่น ตอนโกษาเหล็กตาย มันยากตรงที่ต้องสร้างเรื่องราว คือการเอาคำพูดทั้งหมดไปใส่ปากตัวละคร ไม่ใช่จะเขียนขึ้นมาได้เฉยๆ เหมือนละครรักทั่วไป และเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับคนที่มีจริง เราคิดบทสนทนาของเขายาก จะให้พูดหรือออกความคิดเห็นก็ลำบาก เพราะทุกอย่างตรงนั้นอาจมาจากหนังสือประวัติศาสตร์ 5-6 เล่มที่ต้องเช็กข้อมูลให้ตรงกันแล้วเขียนเป็นบทพูด ดังนั้นต้องมาจากข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริงในประวัติศาสตร์ ทุกข้อมูลที่ตัวละครพูดสะท้อนถึงประวัติศาสตร์ทั้งหมด ไม่มีการแต่งเองเลย ซึ่งเรื่องนี้ใช้เวลาเขียน 2 ปี เป็นละครที่เขียนนานที่สุดในชีวิต
ตั้งแต่เขียนมาชอบเรื่องไหนมากที่สุด
คู่กรรม เวอร์ชัน เบิร์ด-ธงไชย แมคอินไตย์ กับ กวาง-กมลชนก โกมลฐิติ เหมือนกับบุพเพสันนิวาส ที่สามารถใช้ทุกอย่างในหนังสือได้ทั้งหมด ซึ่งหนังสือบางเรื่องเราใช้ได้แค่ 10-30% แต่คู่กรรมกับบุพเพสันนิวาสใช้ได้ 100% เพราะเก็บรวบรวมข้อมูลมาอย่างดีมาก
ทำไมต้องมีผีการะเกด
ผีการะเกดมาทำตามหน้าที่ที่ในนิยายระบุเอาไว้ เพราะเราเป็นคนที่เคารพนิยายมาก นิยายมาอย่างไรต้องเขียนอย่างนั้น และเขียนให้ครบถ้วนตามนิยายระบุไว้ จึงจำเป็นต้องมีผีการะเกด
ศัพท์ในละครดูเป็นวัยรุ่นมีที่มาจากไหน
เราเป็นคนแก่ที่ไม่ได้อยู่ในหมู่คนแก่ แต่อยู่กับวัยรุ่นและสื่อต่างๆ แต่ไม่ได้ใช้คำแสลงมากมาย แต่ใช้คำธรรมดาของวัยรุ่น ดังนั้นจึงไม่แปลกใหม่สำหรับพวกเรา เช่น เจ๋ง สุดยอด ถ้าจะมีใครสงสัยทำไมการะเกดเข้าไปอยู่อยุธยาแล้วไม่ปรับตัวโดยเฉพาะเรื่องของภาษา ในนิยายเกศสุรางค์พูดภาษาอยุธยา แต่ละครทำไม่ได้เลย เพราะเป็นกลยุทธ์ให้เกิดความแตกต่าง เรารู้ว่าละครแบบนี้ต้องสร้างความแตกต่าง ความตื่นเต้น ความแปลกใหม่ เหนือสิ่งใดคือต้องสนุก ตรงนี้มองเห็นว่าถ้าพูดภาษาปัจจุบันจะสนุก สอดคล้องกับความเป็นไปได้มากกว่า ไม่ใช่เข้าไปแล้วพูดภาษาอยุธยาเลย
ชอบอะไรในบุพเพสันนิวาส
ความยิ่งใหญ่ของฉาก ผู้กำกับ และฝ่ายฉากทำ CG ของอยุธยาทั้งหมด เป็นสิ่งที่แปลก แต่ก็ไม่ชอบการแสดงของบางตัวละคร เกศสุรางค์บางทีหัวเราะเยอะไปนิดหนึ่ง เดินเร็วไปหน่อย แต่ละครเป็นเรื่องที่ใหญ่มาก ไม่ใช่เรื่องที่จะต้องมุ่งหวังความสมบูรณ์
เขียนไม่ออกบ่อยไหม
บ่อยมาก เป็นคนที่ถ้าตั้งว่าจะเขียนแบบนี้ และดูแล้วมันไม่ใช่ ไม่สนุก เราจะรู้เองว่ามันไม่ใช่ เราจะหยุดเขียนเลย ถ้าวางโครงแล้วมั่นใจถึงจะเขียน เคยไม่มั่นใจบางทีไม่เขียนเป็นเดือน พอมั่นใจ เมื่อเขียนก็จะเป็นตามตั้งใจ เคยเขียนไว้ครึ่งหนึง่และรู้ว่ามันไม่ใช่ ผิดทาง บางทีเขียนจนจบแล้วอ่านเอง เล่นเอง แล้วไม่สนุกก็ทิ้ง ใครที่เขียนนานๆ จะเกิดอาการตรงนี้เหมือนกัน
เทคนิคทำให้คนตามรักและตามเอาใจช่วยตัวละครคืออะไร
มีกฎหนึ่งข้อในการเขียนบทละครคือ เขียนให้คนดูรักตัวละคร ไม่ว่าตัวดีหรือร้าย ตัวร้ายคนดูก็ต้องรัก เช่นหมื่นทิพย์ในเรื่องสายโลหิตเป็นตัวร้ายที่คนดูรัก หรือเลวสุดขั้วไปเลยคนดูก็รัก เพราะฉะนั้นเขียนให้คนรักตัวละคร แล้วคนดูจะตาม
รักอะไรในอาชีพนี้
เป็นอาชีพที่ได้เขียนเรื่องราวและแนวทางในอารมณ์ วิถีชีวิตของคนในละครที่รูปแบบต่างกัน เหมือนกับได้บงการชีวิตของคน ทั้งผู้กำกับ นักแสดง ผ่านตัวหนังสือที่เราเขียน
แต่มีสิ่งหนึ่งที่นักเขียนบทต้องจำเอาไว้คือ ต้องไม่เขียนดูถูกคนดู จะไม่คลุมตัวละครให้เล่นตามที่เราคิดว่าจะเป็น ต้องเขียนให้ตัวละครทำ คิด พูด ในสิ่งที่ควรจะเป็น เราต้องเป็นตัวละครตัวนั้น เราจะไม่เอาตัวเราไปกำหนดว่า เราไม่อยากเขียนอย่างนี้ เราก็ไม่เขียน จะไม่คลุมตัวละคร ให้ตัวละครได้คลุมตัวเอง ไปในทิศทางที่ควรจะเป็นด้วยตัวเขา ทั้งๆ ที่เราเป็นคนเขียนนี่แหละ หมายความว่าเราต้องเป็นตัวเขาอย่างเต็มร้อย
คนที่อยากเข้ามาเป็นคนเขียนบทละครต้องทำอย่างไร
ต้องเริ่มอ่านก่อน และต้องอ่านนวนิยายเพราะละครคือนิยาย คือเรื่องราวชีวิตของคน รวบรวมเก็บความรู้ แล้วเขียนครั้งแรกไปเลย ตรวจแล้วเขียนใหม่ ถามว่าจะต้องมีคุณสมบัติอย่างไร จะพูดถึงสาขาวิชาที่เรียน ฉันเรียนสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา เป็นวิชาที่เขียนบทดีที่สุด เนื่องจากเข้าใจมนุษย์ในสังคมด้วยพฤติกรรมที่ถูกกำหนดโดยสังคม พฤติกรรมมนุษย์ไม่มีสัญชาตญาณ ไม่ได้มาจากกรรมพันธ์ุ ทุกอย่างได้มาจากสังคม ยกเว้นเรื่องทางจิต เพราะฉะนั้นเวลาเราเขียนตัวละครต่างๆ ต้องดูภูมิหลังและสิ่งแวดล้อมว่าทำไมเขาถึงทำอย่างนั้น
ติดตามชม THE STANDARD Daily ย้อนหลังได้ทาง