ก้าวสู่ปี 2566 ด้วยบททดสอบความแข็งแกร่งของภาคธุรกิจไทย ท่ามกลางเศรษฐกิจและการค้าโลกมีแนวโน้มชะลอตัวลง ขณะที่ต้นทุนการผลิตเริ่มปรับตัวสูงขึ้นตั้งแต่ปลายปี 2564 ทั้งจากการปรับขึ้นของราคาพลังงาน ราคาวัตถุดิบทั้งที่เป็นสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรม และล่าสุดคือการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำทั้งประเทศในช่วงปลายปี 2565 ซึ่งส่งผลต่ออัตรากำไรของภาคธุรกิจมากน้อยแตกต่างกันไป นับเป็นความท้าทายที่ภาคธุรกิจต้องเผชิญ
สถานการณ์ค่าแรงในปัจจุบันเฉลี่ยอยู่ที่ 337 บาทต่อวัน เพิ่มขึ้น 5% จากปี 2563 หรือเพิ่มขึ้น 12.5% ในรอบ 1 ทศวรรษ
มองย้อนดูการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ นับตั้งแต่ปี 2556 ที่มีการปรับค่าแรงครั้งใหญ่ทั่วประเทศเป็น 300 บาทต่อวัน จาก 159-221 บาทต่อวัน แต่หลังจากปี 2556 อัตราค่าจ้างขั้นต่ำก็แทบไม่ขยับขึ้นหรือเพิ่มขึ้นน้อยมาก จนกระทั่งปี 2563 ได้ปรับเพิ่มขึ้นจาก 308-330 บาทต่อวัน เป็น 313-336 บาทต่อวัน โดยจังหวัดที่ได้ค่าแรงสูงสุด 336 บาท ได้แก่ ชลบุรีและภูเก็ต ส่วนกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ได้ค่าจ้างขั้นต่ำอยู่ที่ 331 บาทต่อวัน หากเทียบการเติบโตทางเศรษฐกิจระหว่างปี 2544-2564 หรือในช่วง 20 ปี (ไม่รวม 2 ปีที่เกิดวิกฤตโควิด) เติบโตราว 3.9% ต่อปี ในขณะที่ค่าแรงขั้นต่ำที่แท้จริง (ขจัดผลของอัตราเงินเฟ้อออก) เพิ่มขึ้น 2.9% ต่อปีในช่วงเดียวกัน สะท้อนการปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำของไทยยังอยู่ในระดับต่ำกว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา
การกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำ โดยหลักเกณฑ์จะพิจารณาจากอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อเป็นหลัก ซึ่งพิจารณาเพิ่มเติมด้วยผลิตภาพแรงงาน สภาพทางเศรษฐกิจและสังคม และความสามารถของภาคธุรกิจ หรือกล่าวได้ว่าเมื่อปรับขึ้นอัตราค่าจ้างแล้วผู้ประกอบสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ และลูกจ้างสามารถดำรงชีวิตให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจ ณ ขณะนั้นได้ ตลอดจนไม่เป็นอุปสรรคต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ หรือมีผลทำให้ราคาสินค้าและอัตราเงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้น จนส่งผลกระทบต่อภาวะการครองชีพของประชาชนโดยทั่วไป
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- ความท้าทาย ‘ เศรษฐกิจไทย ปี 2566 ’ กับการปรับตัวของภาคธุรกิจ
- ฉวยจังหวะค่าเงินอ่อน ส่องโอกาสลงทุนหุ้นโลก สร้างพอร์ตเติบโตระยะยาว
- ‘ส่วนต่างรายได้’ กับนโยบายรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจ
สำหรับในปี 2565 เศรษฐกิจไทยเริ่มฟื้นตัวมากขึ้นจากสถานการณ์โควิดทั่วโลกเริ่มคลี่คลาย กิจกรรมทางเศรษฐกิจแทบทุกด้านปรับสู่ระดับก่อนวิกฤติโควิด ยกเว้นภาคการท่องเที่ยวที่คาดว่าจะใช้เวลาอีก 2 ปี โดยคาดว่าเศรษฐกิจปี 2565 จะเติบโตได้มากกว่า 3% หรืออีกนัยหนึ่งภาพรวมของภาคธุรกิจมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นเช่นกัน ขณะที่อัตราเงินเฟ้อในปี 2565 ปรับตัวสูงขึ้นเฉลี่ยอยู่ที่ 6% ทุบสถิติสูงสุดในรอบ 24 ปี จึงเป็นเหตุผลที่ภาครัฐใช้ช่วงเวลานี้พิจารณาปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2565 โดยกำหนดอัตราค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำทั่วประเทศอยู่ที่ 328-354 บาทต่อวัน หรือเฉลี่ยทั้งประเทศอยู่ที่ 337 บาท คิดเป็นการเพิ่มขึ้น 5% จากอัตราเดิมในปี 2563 หรือเพิ่มขึ้น 12.5% จาก 300 บาทต่อวันในปี 2556
การปรับขึ้นค่าแรง 5% ดันต้นทุนธุรกิจขยับ ฉุดอัตรากำไรภาคธุรกิจลดลง 0.8%
ในความเป็นจริงภาคธุรกิจเริ่มเผชิญกับภาระต้นทุนการผลิตที่ปรับตัวสูงขึ้นตั้งแต่ปลายปี 2564 จากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่เพิ่มขึ้นโดยเฉพาะน้ำมันดิบจากสถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครน ราคาเหล็กปรับตัวสูงขึ้นจากต้นทุนวัตถุดิบและค่าขนส่งที่ปรับสูงขึ้น ตลอดจนราคาสินค้าเกษตร สินค้าอาหารและอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นตามเศรษฐกิจทั่วโลกที่ฟื้นตัวและต้นทุนค่าขนส่งที่เพิ่มขึ้น และล่าสุดคือการปรับค่าแรงขั้นต่ำทั่วประเทศเพิ่มขึ้น 5% ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565 ซึ่งต้นทุนค่าแรงมีสัดส่วนเฉลี่ยราว 18% ของต้นทุนการผลิตรวม การปรับขึ้นค่าแรงย่อมทำให้ต้นทุนการผลิตของภาคธุรกิจสูงขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และเชื่อมโยงไปถึงอัตรากำไรของธุรกิจให้ลดลง จากการศึกษาการส่งผ่านการปรับขึ้นค่าแรงมายังต้นทุนรวมของธุรกิจผ่านการวิเคราะห์โครงสร้างต้นทุนของแต่ละอุตสาหกรรมจากตารางปัจจัยการผลิตและผลผลิต (Input-Output Table) รวมทั้งโครงสร้างต้นทุนของกิจการ (Cost of Goods Sold) ในแต่ละธุรกิจจากงบกำไรขาดทุน ผลการวิเคราะห์พบว่า การปรับขึ้นค่าแรง 5% ทำให้ต้นทุนการผลิตรวมเพิ่มขึ้น 1% ซึ่งส่งให้อัตรากำไร (Gross Profit Margin) ของธุรกิจในภาพรวมลดลง 0.8% โดยแบ่งผลกระทบจากต้นทุนค่าแรงที่เพิ่มขึ้นต่อกำไรของธุรกิจ ออกเป็น 3 กลุ่ม ดังนี้
- กลุ่มที่ 1 ได้รับผลกระทบมาก (ส่วนใหญ่มีต้นทุนค่าแรงมากกว่า 30%) ได้แก่ กลุ่มบริการธุรกิจ ร้านค้าปลีกสินค้าอุปโภค ธุรกิจสุขภาพ ธุรกิจบริการส่วนบุคคล ซึ่งเป็นกลุ่มที่อัตรากำไรมีแนวโน้มลดลงมากกว่าค่าเฉลี่ยของธุรกิจอุตสาหกรรม โดยอยู่ระหว่าง 1.1-2.1%
- กลุ่มที่ 2 ได้รับผลกระทบปานกลาง (ส่วนใหญ่มีต้นทุนค่าแรงมากกว่า 20%) ได้แก่ อสังหาริมทรัพย์ เหมืองแร่ ไอทีและเทเลคอม ผู้ผลิตไฟฟ้า โดยอัตรากำไรของธุรกิจกลุ่มนี้มีแนวโน้มลดลงระหว่าง 0.6-1.0%
- กลุ่มที่ 3 ได้รับผลกระทบน้อย (ส่วนใหญ่มีต้นทุนค่าแรงมากกว่า 5%) ได้แก่ สินค้าเกษตรแปรรูป อาหาร เครื่องดื่ม ธุรกิจพลังงาน อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า คอมพิวเตอร์และชิ้นส่วน โดยอัตรากำไรของธุรกิจกลุ่มนี้มีแนวโน้มลดลงระหว่าง 0.2-0.5%
จุดสมดุลของการปรับค่าแรงกับความสามารถในการรองรับของภาคธุรกิจอยู่ที่ใด
จากการวิเคราะห์ผลกระทบการปรับขึ้นค่าแรงต่ออัตรากำไรของธุรกิจดังที่กล่าวมา การพิจารณาปรับค่าแรงจึงควรมองในทุกมิติ ทั้งในมุมของนายจ้างและลูกจ้าง รวมถึงการคำนึงถึงความสามารถในการจ่ายค่าจ้างของนายจ้างซึ่งมีผลต่อการจ้างงานโดยรวม จากกรณีขึ้นค่าแรง 300 บาทต่อวันเมื่อปี 2556 ซึ่งในภาพรวมส่งผลดีต่อลูกจ้าง แต่ต้องยอมรับว่าช่วงแรกฝั่งนายจ้างโดยเฉพาะ SMEs ปรับตัวค่อนข้างลำบาก โดยมีผลสำรวจจากกระทรวงอุตสาหกรรมระบุว่า ทำให้ต้นทุนรวมของธุรกิจ SMEs เพิ่มขึ้นจาก 11% เป็น 16% ส่วนธุรกิจหรืออุตสาหกรรมขนาดใหญ่บางรายก็ปรับเป็นการย้ายฐานการผลิตไปประเทศอื่นแทน
ขณะเดียวกัน ในปี 2566 แม้คาดว่าเศรษฐกิจไทยยังคงขยายตัวต่อเนื่อง หนุนด้วยภาคการท่องเที่ยวที่เติบโตได้เร็วขึ้นจากการที่จีนเปิดประเทศตั้งแต่ต้นปี 2566 อย่างไรก็ดี คาดว่า SMEs ยังคงมีปัญหาด้านรายได้และสภาพคล่องในช่วงที่เศรษฐกิจไทยเพิ่งเริ่มฟื้นตัว แม้อัตราเงินเฟ้อชะลอลงแต่ยังเป็นระดับสูง ซึ่งประเทศไทยยังมีหลายธุรกิจที่ใช้แรงงานอย่างเข้มข้น ทั้งภาคอุตสาหกรรม ภาคการเกษตร และภาคบริการ ดังนั้น การแบกรับต้นทุนที่เพิ่มขึ้นอาจทำให้ SMEs ส่วนหนึ่งแบกรับต้นทุนไม่ไหว มีแนวโน้มชะลอการจ้างงานลงหรือเลิกกิจการ ส่วนอุตสาหกรรมขนาดใหญ่สามารถรองรับแรงกระแทกได้มากกว่าก็จริง แต่คงต้องมีการทบทวนแผนการจ้างงาน การชะลอการลงทุนในระยะสั้น หรือแม้แต่การนำเอาเทคโนโลยีสมัยใหม่มาปรับใช้แทนแรงงาน รวมถึงการลงทุนตรงจากต่างประเทศที่อาจชะลอลงเพราะต้นทุนค่าแรงของไทยสูงมากเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านและประเทศคู่แข่ง
ทั้งนี้ ภาพรวมในอนาคตแนวโน้มการพิจารณาปรับขึ้นค่าแรงควรสอดคล้องกับการเติบโตของเศรษฐกิจ และความสมดุลของค่าจ้างทั้งในมุมของนายจ้างและลูกจ้าง โดยมุมนายจ้างการปรับค่าแรงโดยอยู่บนพื้นฐานไม่ฉุดรั้งการดำเนินธุรกิจ สามารถสนับสนุนการจ้างงาน พัฒนาทักษะองค์ความรู้ รวมถึงมีแรงจูงใจในการเพิ่มผลิตภาพของแรงงาน ขณะที่การเพิ่มขึ้นของค่าแรงควรทำให้ลูกจ้างหรือแรงงานมีรายได้ที่สอดคล้องกับศักยภาพ สร้างแรงจูงใจในการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน รวมทั้งควรพัฒนาและเสริมทักษะ ซึ่งจะนำไปสู่การสนับสนุนทำให้ธุรกิจเติบโตในทิศทางที่สอดคล้องกัน และสะท้อนกลับมาเป็นผลดีต่อแรงงานในสถานการณ์ที่ภาคธุรกิจกำลังก้าวไปสู่การใช้เครื่องจักรและเทคโนโลยีทดแทนแรงงานมากขึ้น