×

สกลธี ยืนยันเป็นแกนนำ กปปส. ตัดสินใจถูก ณ ช่วงเวลานั้น เชื่อสีเสื้อไม่สำคัญในสนาม กทม.

04.04.2022
  • LOADING...
สกลธี ยืนยันเป็นแกนนำ กปปส. ตัดสินใจถูก ณ ช่วงเวลานั้น เชื่อสีเสื้อไม่สำคัญในสนาม กทม.

HIGHLIGHTS

16 mins. read
  • การสัมภาษณ์นี้เกิดขึ้นก่อนการสมัครรับเลือกตั้ง ปัจจุบัน สกลธี ภัททิยกุล ลงสมัครในนามอิสระ ได้หมายเลข 3 
  • ใจความสำคัญของการสัมภาษณ์ได้ครอบคลุมในหลายประเด็น ตั้งแต่ตัวตน การตัดสินใจ คำถามค้างคาใจที่สังคมอยากรู้ รวมถึงนโยบาย
  • สกลธีอยู่ในสนามการเมืองใหญ่ในฐานะ ส.ส. กทม. ก่อนขยับมาบริหารท้องถิ่นในเมืองหลวงที่ชื่อว่า กทม. ในตำแหน่งรองผู้ว่าฯ ก่อนตัดสินใจลงชิงเก้าอี้ผู้ว่าฯ กทม. ในการเลือกตั้งรอบใหม่ในรอบ 9 ปี 

THE STANDARD NOW ดำเนินรายการโดย อ๊อฟ-ชัยนนท์ หาญคีรีรัตน์ สัมภาษณ์ ‘สกลธี ภัททิยกุล’ แคนดิเดตผู้ว่าฯ กทม. อิสระ กับสัมพันธ์การเมืองไม่ธรรมดา พื้นเพหลากหลายในฝ่ายการเมืองประชาธิปัตย์ (ปชป.) ทั้งสายสัมพันธ์ 3 ป. อดีตแกนนำกลุ่ม กปปส. อดีตกรรมการบริหารของพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) และอดีตรองผู้ว่าฯ กทม. คนล่าสุด กับแคมเปญ ‘กทmore.’ กับความเชื่อมั่นแรงกล้า กรุงเทพฯ ดีกว่านี้ได้ 

 

เผยแพร่ทาง Facebook และ YouTube ของ THE STANDARD วันที่ 18 มีนาคม 

 

คลิกดู

 

ความฝันก่อนเป็นนักการเมือง 

 

ผมเป็นคนกรุงเทพฯ โดยกำเนิด ใช้ชีวิตอยู่กรุงเทพฯ มาเกือบตลอดชีวิต อาจจะมีช่วงตอนเรียนปริญญาโท ไปที่อเมริกา 

 

ตอนเด็กๆ เราอยากรับราชการเพราะว่าคุณพ่อเป็นทหาร ตอนเด็กๆ ก็เหมือนเด็กทุกคนที่อยากเป็นเหมือนคุณพ่อ ก็เอาชุดทหารมาใส่ แต่ผมสายตาสั้น สมัยนั้นยังไม่มีเลสิก ก็เลยล้มเลิกไป แต่เป็นคนที่สนใจการเมืองตั้งแต่เด็ก ฉะนั้นผมจะอ่านหมด หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน รายสัปดาห์ ไทยรัฐ ที่เกี่ยวกับการเมืองตอนนั้น

คุณพ่อบอกว่าผมรู้จักหมดชื่อนักการเมือง ชื่อทหาร แล้วก็ซึมซับมาตั้งแต่เด็ก แล้วก็คิดตั้งแต่เด็กว่าเราจะต้องเข้าวงการการเมือง แต่ไม่คิดว่าจะเร็ว เพราะตอนแรกผมกะจะรับราชการจนเกษียณอายุแล้วค่อยเบนเข็มมา ผมว่ามันก็มี โชคชะตานำพาให้มาเร็ว ตอนผมเป็น ส.ส. สมัยแรกก็อายุ 29 ปี 

อยากเป็นนักการเมือง จึงเลือกเรียนคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 

 

ใช่ครับ เพราะเราเรียนสายวิทย์มาตั้งแต่เด็ก แต่ผมจะเบื่อเคมีมาก ฟิสิกส์ก็ไม่ได้ชอบ แต่ชอบชีวะ ก็คิดว่าทำอย่างไรถึงจะรอด คือเราเรียนสายวิทย์มา แต่ว่าตอน ม.5 ผมสอบเทียบเอ็นทรานซ์ ผมอ่านแต่วิชาเกี่ยวกับศิลป์-คำนวณทั้งหมดเลย คือเหมือนทุบหม้อข้าวเลย ถ้าเอ็นทรานซ์ไม่ติด ผลการเรียนก็เตี้ยเรี่ยดินเลย คืออ่านหนังสือเตรียมเอ็นทรานซ์เข้าคณะนิติศาสตร์แล้วก็ได้เรียนสมใจ ก็เลยเป็นที่มา แล้วเราก็มองว่าถ้าเราอยากจะมีพื้นกฎหมาย หรือทำอะไรก็ตามในอนาคตอาจจะไม่ได้เข้าการเมือง แต่ถ้าเรียนกฎหมายเป็นพื้นฐานมันน่าจะดี

สมัยวัยรุ่นตอนนั้นเป็นอย่างไร เรียบร้อยหรือแสบซ่า 

 

ผมจะผสมผสาน ผมจะไม่ได้ซ่าสุด ไม่ได้เรียบร้อยจ๋า ก็คืออยู่กลางๆ แต่เป็นเด็กหลังห้อง เป็นเด็กวิทย์หลังห้อง เอาเป็นว่าถ้าครูประจำชั้นดูอยู่ตอนนี้ก็คงงงว่าผมมาอยู่ตรงนี้ได้อย่างไร เอาอย่างนั้นดีกว่า คือเราเอาตัวรอดมาตลอด ตอนเด็กเป็นคนเรียนค่อนข้างดีมาก แต่ว่าพอตอนโตมาอาจจะมีหลายเรื่องที่เราสนใจ แต่เราก็เอาตัวรอดมาได้ตลอด 

เรียนจบปริญญาโท ตอนแรกยังไม่เข้าวงการการเมือง ไปรับราชการก่อน 

 

ผมรับราชการอยู่กระทรวงยุติธรรม เข้ากรมสอบสวนคดีพิเศษอยู่ 2 ปี แล้วก็พอตอนนั้นอาจารย์จรัญ ภักดีธนากุล เป็นปลัดกระทรวงยุติธรรม ก็ดึงผมไปช่วยเป็นเลขาหน้าห้องอยู่ประมาณปีกว่าๆ พอสักพักบังเอิญรู้จักนักการเมืองก็ชวนมาลงเลือกตั้งเป็น ส.ส. ตอนนั้นผมก็เลยลาออก แล้วก็กระโดดลงมาเลย 

จุดพลิกผันที่ก้าวสู่วงการการเมือง วินาทีนั้นเรา Remind ไปในตอนเด็กไหมว่าตอนเด็กอยากจะเป็นนักการเมืองอยู่แล้ว ทำงานราชการตอนแรกหวังจะทำจนเกษียณแล้วมาเล่นการเมือง แต่ผ่านไปแป๊บเดียว รู้สึกว่าเร็วไปไหมตอนนั้น 

 

เป็นจังหวะ เราเป็นคนชอบพระเครื่อง สะสม บูชา เราชอบดู แล้วก็ไปสนามพระที่พันธุ์ทิพย์ งามวงศ์วานนี่แหละ แล้วก็มีอดีต ส.ส. ท่านหนึ่งชื่อ ธนา ชีรวินิจ ของประชาธิปัตย์ ตอนนั้นแกยังไม่ได้เป็น ส.ส. น่าจะเป็น ส.ก. อยู่ดินแดง ก็มานั่งสนามพระด้วยกัน แล้วมาคุยถูกคอกัน แกเอ่ยปากชวนว่า เราการศึกษาใช้ได้ หน่วยก้านดี ทำไมไม่มาลอง 

 

ตอนนั้นจะมีการเลือกตั้งปี 2550 ผมก็กลับไปปรึกษาพ่อแม่ว่าเอาอย่างไรดี เพราะเราก็ไม่มีความรู้ บ้านก็เป็นราชการมาทั้งครอบครัว เราก็คิดว่าไหนๆ ก็ลองสักที ก็ลาออกเลย ตัดสินใจตอนนั้นแล้วก็ลาออกทันที ก็สมัครเข้าพรรคประชาธิปัตย์เลยตอนนั้น แล้วก็ได้รับเลือกให้มาลงเป็นผู้สมัคร จนกระทั่งเลือกตั้งก็ได้เป็น ส.ส.

 


 

ถือว่าเกินคาดหรือไม่ ลงสมัครครั้งแรกแล้วได้รับเลือกเป็น ส.ส. กทม. เลย 

 

โอ้โห เกินแบบไม่รู้จะเกินอย่างไร เอาเป็นว่าผมหาเสียงวันแรก ถือไมค์มา ไม่รู้จะพูดอะไร คือไม่เป็นเลย มาแบบศูนย์จริงๆ เลย ตอนนั้นก็มาฝึก ระหว่างนั้นพี่ๆ ที่ประชาธิปัตย์น่ารัก หลายคนบอกว่าประชาธิปัตย์เป็นสถาบันการเมือง ก็คือไม่เกินจริง 

 

เพราะว่าเรามาจากศูนย์ พี่ๆ ก็น่ารัก สอนเราทุกอย่าง แม้กระทั่งวิธีการปราศรัย การทำนู่นทำนี่ ก็ค่อยๆ สั่งสมประสบการณ์มา

 

หลังเป็น ส.ส. ก็มีวิกฤตการณ์ทางการเมือง ตอนนั้นถือว่าเป็นแกนนำ กปปส. หรือไม่

 

ก็กึ่งๆ นะครับ ก็คือเราก็อยู่แถวหน้า แต่ตอนนั้นมันยุ่ง ผมโชคดีตอนที่ผมเป็น ส.ส. ปีนั้น เป็นทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาลอยู่ในสมัยเดียวกัน การเมืองมันเหวี่ยงมาก ก็เหมือนได้เห็นหลายๆ อย่างในหน้าประวัติศาสตร์ จนกระทั่งมีโอกาส เพราะพี่หลายๆ คนที่เราคุ้นเคย เราสนิทกัน คิดอะไรเหมือนๆ กัน ออกมาเป็นแกนนำชุมนุมทางการเมือง เราก็ออกมาด้วยกัน 

เหตุการณ์ในวันนั้นที่ กปปส. ออกมาถือว่าตอนนั้นค่อนข้างเยอะ ประชาชนที่สนับสนุนก็เยอะมากๆ จนมาถึงวันนี้การเมืองก็เปลี่ยนไปค่อนข้างเยอะ คิดว่า ณ วันนั้น ตัดสินใจถูกหรือผิดที่เป็นแกนนำ กปปส. 

 

ถ้าถามผม ผมมองย้อนกลับไปผมว่าตัดสินใจถูก ณ ช่วงนั้น เพราะในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งเราก็คิดแบบนั้นจริงๆ แล้วเราก็มีความเชื่อของเราตรงนั้น ก็คือไม่เสียใจในจุดที่เราได้ผ่านมา 

พอมาถึงวันนี้ ตำแหน่งล่าสุดคือรองผู้ว่าฯ กทม. ก่อนหน้านี้ยังไม่มีข่าวคราว เพิ่งเริ่มมามีหลังๆ อะไรทำให้ตัดสินใจลาออกจากรองผู้ว่าฯ แล้วกระโจนมาสมัครเป็นผู้ว่าฯ กทม. 

 

ผมเคยเป็น ส.ส. เขตมาก่อน เพราะฉะนั้นเราก็จะรู้ การเป็น ส.ส. มันก็จะเหมือนคล้ายๆ งานนิติบัญญัติ ไปแก้กฎหมายในสภา ลงพื้นที่บ้างเพราะเราเป็น ส.ส. เขต แต่พอได้มีโอกาสมาเป็นรองผู้ว่าฯ เหมือนมันเปิดโลกเราอีกแบบหนึ่ง เป็นงานที่ได้ทำจริงๆ ยกตัวอย่างง่ายๆ ตอนผมเป็น ส.ส. ผมลงพื้นที่ ชาวบ้านบอกหมู่บ้านนี้รถวิ่งเร็วมาก อยากมีลูกระนาดจังเลย ผมรับเรื่องมา ผมประสาน 3-4 ปี ไม่เคยได้ แต่วันที่ผมมาเป็นรองผู้ว่าฯ ชาวบ้านประสานเรื่องเดิม ผมสั่งการไปกับหน่วยงานใต้สังกัดผม 2 สัปดาห์เสร็จ สามารถแก้ปัญหาได้ทันทีด้วยศักยภาพที่กรุงเทพฯ มี

 

แล้วตลอด 4 ปีที่ผ่านมา ผมก็เห็นเยอะหลายอย่าง เพียงแต่ว่าที่ถามว่าทำไมถึงตัดสินใจ เพราะว่าตำแหน่งรองผู้ว่าฯ ก็คือรอง งานที่เราทำก็คืองานที่ท่านผู้ว่าฯ มอบเท่านั้น กับงานที่เรากำกับดูแล เวลาเราลงไปปัญหาไม่ใช่ปัญหาเฉพาะหน้างานเราเท่านั้น แต่ข้ามสายงานที่เราคุมหรือมันเหนือกว่าที่เราจะแก้ได้ ผมก็เลยคิดว่า ถ้าเป็นผู้ว่าฯ ดูภาพรวม แก้ได้ทุกอย่าง มันคงจะดีกับสไตลล์การทำงานของเรา คือถ้าเห็นผมลงทำงานตลอดที่ผ่านมา เราจะลงไปพื้นที่ คือผมก็ประชุมที่ศาลาว่าการปกติเหมือนผู้บริหารทั่วไป แต่เราจะชอบลงไปแก้ที่จุด แล้วได้ไปเจอคน อาจจะเป็นเพราะว่าพื้นเพเป็น ส.ส. เขต ก็เลยอยากจะทำงานเชิงรุกแบบนี้ แล้วผมคิดว่ามันสนุกดี ก็เลยชอบตรงนั้น 

ตัดสินใจลงสมัครรับเลือกตั้งผู้ว่า กทม. ได้ปรึกษาผู้ว่าฯ อัศวินก่อนที่จะลาออกหรือไม่

 

ท่านไม่ทราบ เพราะก่อนหน้านี้ไม่มีโอกาสได้คุยปรึกษา เพราะเราก็คิดอยู่ในใจว่าถ้ามีโอกาสก็คงจะลง แล้ววันที่เราตัดสินใจก็ลาออกไปทันที ผมลาออกวันที่ 7 มีนาคม

วันนั้นคือวันที่ผมเรียนท่านผู้ว่าฯ ว่า ผมขออนุญาตลาออก เพื่อที่จะลงสมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าฯ  

ท่านผู้ว่าฯ อัศวินมีฟีดแบ็กอย่างไร 

 

ท่านก็บอกว่าโชคดีนะ คือผมตัดสินใจแล้วตัดสินใจเลย ที่ผ่านมาอยู่ประชาธิปัตย์ ตอนนั้นจะลาออกก็ออกเลย ไม่มีแบบพิรี้พิไร ตอนอยู่พลังประชารัฐ บทจะออกก็ออกเลย คือตัดสินใจแล้วทำเลย อย่างตอนเป็นรองผู้ว่าฯ คิดจะลงก็ลงเลย

 

 

การที่ตัดสินใจลาออกจากรองผู้ว่าฯ จะมาสมัครผู้ว่าฯ เอง มีปัญหาขัดแย้งอะไรกับผู้ว่าฯ อัศวินหรือไม่ 

 

ไม่หรอกครับ อย่าเรียกว่าปัญหา แต่ว่าอย่างที่ผมเรียน การที่เราเป็นรอง บางทีหลายอย่างที่เราอยากทำ มันไม่ได้ทำหรือมันอาจจะไม่ผ่าน เพราะการที่จะออกมาเป็นนโยบายหรือทำอะไรได้ มันต้องมาจากคนที่เป็นเบอร์ 1 เพราะฉะนั้นผมก็เลยคิดว่า เอ๊ะ ถ้าเราอยากทำหลายอย่างแล้ว เราเก็บประสบการณ์มา 4 ปี แล้วอยากทำ ลองมาลุยสักตั้งหนึ่งมันก็ไม่เสียหายอะไร เพราะฉะนั้นเรื่องความขัดแย้งคงไม่ใช่ แต่เป็นเพราะว่าเราอยากทำอะไรแล้วเราไม่ได้ทำมากกว่า เราคิดว่าถ้าเราได้มาอยู่เอง เป็นเบอร์ 1 เอง คงได้ทำอะไรที่เราอยากทำได้หมด 

ลงสมัครในนามอิสระ อิสระจริงหรือไม่ 

 

ผมเป็นคนเพื่อนเยอะ อยู่ประชาธิปัตย์ พลังประชารัฐ หรือแม้กระทั่งเพื่อไทย ภูมิใจไทย กล้า ก็มีเพื่อนทุกพรรค ฉะนั้นถ้าผมตัดสินใจว่าผมลงในนามพรรคพลังประชารัฐ เพื่อนที่อื่นก็จะช่วยผมลำบาก ถูกไหม เขาจะไม่ช่วย

 

คือผมคิดว่าการเมืองระดับชาติ สีเสื้อที่ใส่มันอาจจะสำคัญ เพราะมีเรื่องการต่อสู้อุดมการณ์กัน ผมมองว่าผู้ว่าฯ กทม. เหมือนคน กทม. เลือกตัวแทนไปทำงานแทนเขามากกว่า เพราะฉะนั้นเรื่องความเข้มข้นของสีเสื้อหรือพรรคมันน่าจะน้อย แล้วก็ประกอบกับว่าเราก็ได้เปิดกว้างรับคนหลายๆ กลุ่มที่เขาอาจจะคิดอุดมการณ์การเมืองไม่เหมือนเรา แต่อยากทำกรุงเทพฯ ให้มันดี มาช่วยเรา มันง่ายกว่า

มีข่าวว่าลงในนามอิสระก็จริง แต่มีพลังประชารัฐหนุนหลังอยู่ เห็นไปเจอบิ๊กนั้นบิ๊กนี้ เรื่องนี้จริงหรือไม่ 

 

เรื่องลา คือผมเป็นคนไปลามาไหว้อยู่แล้วนะครับ ท่านผู้ว่าฯ ผมก็ลา พล.อ. อนุพงษ์ มท.1 ผู้บังคับบัญชา ก็ลา ท่านนายกฯ ผมก็ลา พล.อ. ประวิตร หัวหน้าพรรค ผมก็ลาและถือโอกาสไปขอท่านว่า ผมขอลงอิสระนะครับ ก็เรียนท่านตรงๆ 

ท่านว่าอย่างไร 

 

ท่านก็ให้กำลังใจ เหมือนเดิม คล้ายๆ ท่านผู้ว่าฯ อัศวิน 

 

อยากให้มองว่าที่ผ่านมาพรรคพลังประชารัฐมีชื่อแคนดิเดตผู้ว่าฯ มาตลอด แต่ไม่เคยมีชื่อผมเลย เพราะฉะนั้นมันไม่มีอะไรเกี่ยวกับตัวผม ผมก็รู้สึกว่าคนก็อาจจะตีความได้ ด้วยความที่ว่า ส.ส. พลังประชารัฐทุกคน คือผมกับท่านณัฏฐพล ทีปสุวรรณ ท่านพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ เป็นคนช่วยกันเลือกมาดู เพราะเราทำ กทม. ให้กับพลังประชารัฐสมัยนั้น เพราะฉะนั้นรู้จักกันอยู่แล้ว เขามีใจจะช่วย แต่ว่าเขาก็ต้องอยู่พรรคเขาไป แต่ส่วนตัวจะช่วยกันอย่างไร เดี๋ยวก็คงเป็นเรื่องของความสนิทสนมส่วนตัวมากกว่า 

 

อย่างที่ผมบอก พออิสระปุ๊บ ทำให้หลายๆ ภาคส่วนมาช่วยผมได้เยอะกว่า 

ไม่ได้ไปขัดแย้งกับพลังประชารัฐ 

 

ไม่ครับๆ ก็คือจากกันด้วยดี ก็คือไปลาท่านหัวหน้า ขอลาออก 

เขาจะมาหนุนแบบเงียบๆ หรือเปล่า  

 

ก็อาจจะเป็นไปได้

อย่าง ดร.ชัชชาติ ลงอิสระ แต่ก็ดูเหมือนเพื่อไทยหนุน เพราะเพื่อไทยประกาศไม่ส่ง ส่วนคุณสกลธีจะมีพลังประชารัฐหนุนแต่ไม่ประกาศออกตัวหรือไม่ 

 

คงไม่ ผมไม่ทราบของพี่ชัชชาติเป็นอย่างไร อาจจะอย่างที่ถาม แต่ของผมลาออกขาดจากพรรค เราพร้อมที่จะลุยเข้าไป แต่ส่วนเขาจะช่วยใครหรือเปล่า ผมว่ามันอยู่ที่ ส.ก. แต่ละเขต แต่ละคนมากกว่า เป็นการเปิดกว้างตรงนั้น ผมยืนยันว่าผมอิสระ

 

อิสระและลงคนเดียว ไม่ได้ส่ง ส.ก. เพราะเราโฟกัสแค่การส่งผู้ว่าฯ อย่างเดียวก็เหนื่อยแล้ว เพราะว่ามีหลายอย่างให้ทำเยอะ 

 

เขามีแคนดิเดตของพรรคมาตลอด แต่ไม่เคยมีชื่อผมอยู่ในนั้นอยู่แล้ว

 

 

มีฟีดแบ็กจากผู้ใหญ่หลายท่านโพสต์ลงเฟซบุ๊ก ประกาศออกสื่อว่าเชียร์คุณสกลธีหลังคุณสกลธีประกาศลงสมัครในนามอิสระ เห็นแล้วรู้สึกอย่างไร 

 

ก็ดีใจ ฐานแฟนคลับของผมอาจจะเป็นคนอายุเยอะ อาจจะเอ็นดูเหมือนลูกหลาน เพราะเราก็เป็นคนที่ไปลามาไหว้กับผู้ใหญ่ อ่อนน้อมถ่อมตน อาจจะเป็นเหตุผลให้ผู้ใหญ่หลายท่านเขาเอ็นดูผม ประมาณนั้น 

ลุงกำนัน สุเทพ เทือกสุบรรณ ก็ประกาศสนับสนุน จะต้องกังวลเรื่องภาพที่ประกาศเป็นอิสระหรือไม่ 

 

คือการที่คนสนับสนุนไม่ได้เป็นการชี้ว่าเราอิสระหรือไม่ อย่างลุงกำนันกับผม ถ้าไม่นับเรื่องม็อบ นับจากประชาธิปัตย์ ท่านเป็นผู้ใหญ่ท่านแรกในพรรคที่ดูแลผมตั้งแต่เข้าไป คือเทรน สอนงานในเรื่องการปราศรัย และถ้าไปดูเทปเก่าๆ เวลาผมขึ้นพูดในสภา ท่านจะนั่งข้างหลังแล้วก็เชียร์ แล้วก็สอน จนกระทั่งออกมาม็อบ พอม็อบจบทุกอย่างก็จบ ถ้าผมยังอยู่กับท่าน ผมก็คงไปพรรครวมพลังประชาชาติไทยไปแล้ว แต่เรามีทางเดินคนละทาง แต่ถามว่าจิตใจข้างในยังนึกถึงกันไหม มีอยู่แล้ว เพราะผมเหมือนเป็นลูกเป็นหลานท่าน เพราะฉะนั้นท่านก็คงเชียร์ 

 

ผมถึงบอกว่าการเป็นอิสระของผม จะลุงกำนันเชียร์ หรือจะเป็นคนเสื้อแดงที่มาชอบการทำงานขอผมเชียร์ ผมก็โอเคหมด เพราะเราอิสระเปิดกว้างให้คนที่เขาเห็นการทำงานของเรา

 

อย่างที่ถามว่าจะเป็นจุดอ่อนไหม คงห้ามคนคิดไม่ได้ ถ้าคนดูการทำงานผม แล้วจะตัดสินผมแค่เพราะผมเคยไปม็อบแล้วไม่เลือก ผมก็ไม่รู้จะทำอย่างไร 

ผู้ว่าฯ อัศวิน ประกาศลงอิสระเหมือนกัน เซอร์ไพรส์ไหม

 

ผมไม่เซอร์ไพรส์ เพราะผมรู้สึกมาตลอดว่าท่านคงตัดสินใจลง 70-80% ผมคิดอยู่ในใจ ท่านคงลง อาจจะเป็นสาเหตุหนึ่งที่ไม่ได้คุยกันเรื่องการลง คิดอยู่แล้วว่าท่านลงแน่ ถ้าเราจะลงแล้วไปปรึกษาก็คงแปลกๆ

เหมือนจะไปปรึกษาคู่แข่งในอนาคต 

 

ใช่ครับ

หลายคนวิเคราะห์ว่าศึกเลือกตั้งรอบนี้ดุเดือดมาก น่าจะเป็นครั้งประวัติศาสตร์ครั้งหนึ่งที่มีผู้สมัครเยอะมาก ให้ประชาชนได้ตัดสินใจ บางคนมองว่าคุณสกลธีจะมาตัดคะแนน แย่งคะแนนในฐานพวกเดียวกันหรือเปล่า เช่น สุชัชชวีร์ ผู้ว่าฯ อัศวิน 

 

ผมอยู่ในการเมืองกรุงเทพฯ มาพอสมควร กทม. จะแบ่งคะแนนเป็น 2 ฝั่ง ฝั่งหนึ่งคือ สายเพื่อไทยเก่า อีกฝั่งคือสายประชาธิปัตย์เก่า ทั้ง 2 ฝั่งมีตัวแทนที่เป็นฐานผู้สมัครลงอยู่แล้ว สายเพื่อไทยเก่ามีพี่ชัชชาติ คุณวิโรจน์ และมีคนของคุณหญิงหน่อย  

 

ส่วนสายประชาธิปัตย์ มีผม มีพี่เอ้ มีผู้ว่าฯ อัศวิน มีคุณรสนา 

 

ซึ่งก็ต้องตะลุมบอนกันไม่มากก็น้อย เพราะฐานคนที่เป็นแฟนคลับ แชร์กัน สมมติคนกรุงเทพฯ เขามีวิธีการเลือกตั้งที่ฉลาด เอาเป็นว่าถึงเวลา ถึงแม้จะแชร์ฐานกัน แต่ถ้าคนกรุงเทพฯ เขาเห็นว่าคนไหนจะเป็นตัวแทนเขา เขาก็พร้อมจะฉีกไปเลือกคนนั้นคนเดียว ซึ่งเป็นแบบนั้นทุกยุคสมัย ซึ่งผมเลยไม่ลำบากใจ แต่ผมคิดว่ามีโอกาสให้ทุกคน ยิ่งคนเยอะ คะแนนยิ่งแชร์กันเยอะ ของเดิมอาจจะ 1,400,000 คนเลือกผู้ว่าฯ แต่คราวนี้อาจจะได้ 700,000 ก็เป็น ผู้ว่าฯ แล้ว คนแชร์กันโดยธรรมชาติ ถึงเวลาก็คงดูหลายอย่าง คงดูนโยบาย ความมุ่งมั่นตั้งใจ แล้วเขาก็จะตัดสินใจเลือกตรงนั้น 

ช้าไปไหม เปิดตัวหลังคนอื่น แทบจะเป็นคนท้ายๆ

 

ในฐานะคนกรุงเทพฯ คิดว่าคนกรุงเทพฯ ไม่ถึง 3 วันก็ตัดสินใจได้แล้ว ยิ่งข่าวสารเร็ว โซเชียลมีเดียด้วย ทุกอย่างคือบางทีนานไปก็ไม่ดี เพราะคนตัดสินใจไปแล้วในใจ คือผมว่าถ้าพรุ่งนี้เลือกตั้ง คนก็รู้แล้วเลือกใคร แต่ว่าอาจจะช้าตรงที่ว่าจะต้องไปทำความเข้าใจกับบางคนที่ยังไม่รู้จักผม อาจจะเสียเปรียบหน่อย แต่ว่าก็ยังไม่อยู่ในวิสัยที่ทำได้

หลังจากนี้จะไปลงพื้นที่ 50 เขต 

 

ผมตั้งใจอย่างนั้น แต่ว่าคราวนี้ผมตั้งใจจะเปลี่ยน ผมมองว่าการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กับเลือกตั้ง ส.ส. มันต่างกัน สมมติผมลง ส.ส. ผมลงเขตจตุจักร ผมก็ต้องพยายามไปเคาะบ้านให้ได้เยอะสุด ให้เจอคนในพื้นที่ผม แต่กรุงเทพฯ มันทำอย่างนั้นไม่ได้ เพราะมันใหญ่เหลือเกิน เพราะฉะนั้นการลงเขตของผมจะไม่นับไปกี่ชุมชน แต่จะเชื่อมนโยบาย เช่น การระบายน้ำ ก็จะลงไปดูปัญหาตรงนั้นเป็นธีมของแต่ละเขตไป 

เป็นรองผู้ว่าฯ มานานพอสมควร ทำไมไม่แก้ตอนเป็นรองผู้ว่าฯ แต่มาเสนอตัวจะมาแก้ตอนสมัครผู้ว่าฯ

 

อย่างที่ผมเรียนตอนต้น การเป็นรองบางครั้งมันทำไม่ได้ทุกอย่าง แต่มั่นใจว่าระหว่างเป็นรอง ได้ทำงานที่รับผิดชอบอย่างโอเค เช่น เทศกิจ จราจรขนส่ง ดับเพลิง หลายอย่างที่ผมรับผิดชอบตอนเป็นรองผู้ว่าฯ ได้ทำจนผมว่าพอสมควร แต่สิ่งที่ผมอยากจะทำต่อคืองานนอกเหนือจากนั้นที่ผมไม่ได้คุม 

 

 

เป็นที่มาที่ไป สโลแกนหรือไม่ ถึงเวลาซะธี

 

เล่นคำ เริ่มจาก กทม. More ก็คิดว่าจะเอาสโลแกนอะไรดีที่ดูไม่อายุเยอะมาก และดูมีกิมมิกอะไรหน่อย เป็นกรุงเทพมหานคร + more มากกว่า ก็คือกรุงเทพมหานครที่จะทำให้ดีกว่า คือ กรุงเทพฯ ดีกว่านี้ได้ เป็นภาษาไทยของผม ผมมองว่าสิ่งที่ท่านผู้ว่าฯ แต่ละท่านทำมา หรือคนที่เคยทำมา กรุงเทพฯ มันดีอยู่แล้วของมัน ไม่ต้องไปทำอะไรมากมาย แต่การดีของมัน พอเวลาผ่านไปอาจจะมีการบริหารหรือว่าเทคโนโลยีที่มาช่วยให้ดีกว่านี้ได้อีก ผมหมายความว่าอย่างนั้น คือในการจับเอาสิ่งต่างๆ มาทำให้งานที่มันดี มันดีขึ้นมาอีก

 

ส่วน ธี ก็อยากจะให้มันมีลูกเล่นหน่อย อย่างช่วยบอก ธี บอกสกลธีหน่อย ก็มี คิวอาร์โค้ด ให้เข้ามาแจ้งปัญหาหรือว่าแนะนำผม ถึงเวลาซะธี ก็เป็นกลยุทธ์ทาง PR  

คนรุ่นใหม่ในสังคมไทย ถ้าว่ากันตามตรง ส่วนใหญ่ไม่ค่อยเอาพลังประชารัฐ ไม่เอาประชาธิปัตย์เดิม ไม่ค่อยเอาสายนี้ อาจจะเอาสายก้าวไกล เพื่อไทยซะเยอะ จะมีวิธีการดึงดูดคนรุ่นใหม่ให้มาเลือกกากบาทในวันเลือกตั้งอย่างไร 

 

จากที่ผมอยู่มา ถ้าคนอายุ 35-40 ปีขึ้นไป จะไม่ค่อยเปลี่ยน เปลี่ยนเขายาก ถ้าเขาชอบใครเขาจะชอบเลย คือจะเชื่ออย่างนั้น แต่เด็กอายุ 18 ปี คนอายุ 27-30 ปี มีโอกาสเปลี่ยนได้ อยู่ที่ว่าเราทำแล้วมันเข้าตาหรือเป็นแนวที่เขาชอบหรือเปล่า

 

ผมถึงอยากบอกว่าเด็กอาจจะไม่ชอบโทนอย่างที่ถามมา แต่ถ้าเขาดูเนื้องาน ดูการทำงาน หรือสไตลล์ที่เขาชอบแล้วเขาโอเค ผมว่าเขายังมีสิทธิเปลี่ยนตรงนั้นได้ คือเราอยากให้มอง บางทีเป็นกระแสมันไปด้วยกัน บางทีถามหลานทำไมเป็นแบบนั้น เขาบอกก็ไม่รู้ เพื่อนชอบ ก็เอาตามแบบนั้น แต่ยังไม่ได้ดูเจาะลึก แต่ผมมั่นใจว่าเด็กรุ่นนี้ถ้าเขาลงมาดูแล้วเขาเห็นแล้วเขาเชื่อตรงนั้น มันมีโอกาสที่จะเปลี่ยนมากกว่าคนรุ่นโตๆ ซึ่งฝังไปแล้ว

มีวิธีการรับมือกับความเห็นต่างยุคนี้สมัยนี้ที่ไม่เหมือนยุค กปปส. หรือก่อนหน้านั้นที่โซเชียลมีเดียยังไม่ขนาดนี้ เวลามีฟีดแบ็กทั้งด้านดี ด้านไม่ดี มันมาถึงเราเร็ว มีวิธีรับมือด้านที่ดีและไม่ดีอย่างไร

 

ผมค่อนข้างชิล เราก็เป็นมนุษย์ พอเราอ่าน เราก็เอ๊ะ ทำไมคิดอย่างงั้น แต่เราเข้าใจ ด้วยที่ผ่านๆ มาการเมืองมันแบ่งกันเยอะ แล้วบางทีคนก็พร้อมที่จะตัดสินคนจากสิ่งที่เห็น แม้ว่าไม่รู้จักกัน เราก็ต้องพยายามทำความเข้าใจ อย่างที่ผมบอกก็คือว่าเราก็พยายามเป็นตัวเรา มีการทำงานให้เห็น ผมคิดว่าจะเปลี่ยนคนทุกคนให้ชอบเราไม่ได้หรอก แต่อย่างน้อยถ้าเราทำเต็มที่แล้ว เขายังคิดอยู่ ก็คงช่วยอะไรไม่ได้ ก็คือ พยายามทำใจให้สบายๆ เพราะผมเข้าใจว่าคงต้องมีทั้งเห็นต่าง ชอบ ไม่ชอบอยู่แล้ว

เท่าที่อยู่ในตำแหน่งมา มีปัญหาเร่งด่วนอะไรที่ถ้าได้เป็นผู้ว่าฯ จะแก้สิ่งนี้ก่อนเลย

 

วันแรกที่เข้าไปจะแก้ภาพลบก่อน ไม่ได้พูดกว้าง แต่รู้สึกว่าข้าราชการ กทม. ทำงานหนัก หลายคนอาจจะถามว่าทำอะไรหรือเปล่า ตอนแรกผมก็คิดเหมือนทุกคนว่าข้าราชการ กทม. ทำอะไรบ้าง แต่พอเข้าไปเราเห็นเขาหนักจริง เพียงแต่บางครั้งเขาใส่งานไป 100 เปอร์เซ็นต์เลย แต่งานออกมา 70 เปอร์เซ็นต์ เพราะว่าใช้กำลังคนมากไป ทีนี้ถ้าเอาเทคโนโลยีหรือการบริหารมาช่วยมันจะดี  

 

ยกตัวอย่างการเก็บขยะ บางคนอาจจะงง ทำไมหมู่บ้านนี้สัปดาห์หนึ่งเก็บ 2 วัน อีกที่ 3 วัน คืออยู่ที่ว่าผู้อำนวยการเขตท่านไหนเห็นว่าหมู่บ้านไหนควรจะกี่วัน ความถี่ห่าง ซึ่งไม่ได้มีวิทยาศาสตร์หรือระบบอะไรมาช่วยคำนวณเพื่อให้ประสิทธิภาพดีขึ้น หรือการใช้เทคโนโลยีอื่นๆ ถ้าได้เป็นผู้ว่าฯ กทม. จะเอาระบบเหล่านี้มาใช้ คือใช้แรงคนน้อย ทำงานน้อยแต่ได้ผลเยอะ เป็นสิ่งที่อยากทำ ส่วนถ้าเป็นเรื่องกายภาพทั่วไป ส่วนใหญ่เรื่องร้องเรียนจะเป็นเรื่องทางเท้า รถติด ซึ่งมีนโยบายในการแก้อยู่แล้ว 

คุณสกลธี หลังจากทำงาน 4-5 ปีที่ผ่านมา กับก่อนจะทำ มุมมองต่างกันหรือไม่ 

 

ไม่ต่าง ผมมองว่าทุกเมืองใหญ่ในโลกมันมีปัญหาทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นเมืองที่สวยงาม อย่างไรก็ตามต้องมีด้านมืดของมัน ไม่ว่าจะเป็นนิวยอร์ก เช่นเดียวกับ กทม. มีด้านดี ด้านโทรม มีเรื่องจุกจิกเยอะ ต้องไปจิกปัญหา 

 

ผมมองว่าปัญหามันขึ้นอยู่กับมุมมองของแต่ละคนด้วย ต่อให้ทำดีแค่ไหน แต่ถ้ามุมมองที่มองไปยังเป็นด้านลบก็ไม่มีทางมองว่าดี 

 

ความคิดผมมองว่ามันเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีด้วยวิวัฒนาการหรือมีอะไรหลายๆ อย่างมาช่วย 

 

 

นโยบายภาพรวม ถ้าเรามีโอกาสไปเคาะประตูบ้าน หรือไปเดินหาเสียง หรือหลังจากนี้ที่จะลุยอย่างเต็มที่แล้ว ให้คนนึกถึงสกลธี นโยบายหลัก ภาพรวมเป็นอย่างไร 

 

ภาพรวมคือใช้เทคโนโลยี แต่ปัญหาที่ประสบมาก็เป็นเรื่องความสะดวกสบายของทางเท้า เพราะยิ่งคนที่อยู่ในเมืองชั้นใน โอกาสใช้ทางเท้ามันจะเยอะ มีปัญหาร้องเรียนตรงนี้เยอะ แต่อีกอันที่เป็นปัญหาโลกแตกของ กทม. ก็คือเรื่องการขนส่งสาธารณะ คือทุกคนหาเสียงผู้ว่าฯ ทุกสมัยว่าจะแก้รถติด ซึ่งมันยาก ทุกเมืองใหญ่ก็รถติด 

 

เราจะทำอย่างไรให้บรรเทาลง มีทางเลือกให้ประชาชนมากขึ้น อย่างเช่นการขนส่งสาธารณะ ตอนนี้รถไฟฟ้ามีหลายสาย อีก 2-3 ปีข้างหน้าจะเสร็จอีกไม่รู้กี่สาย แต่คนก็ยังอาจจะไม่ขึ้นเพราะว่าการเดินทางจากบ้านไปสถานีมันใช้เวลาและหลายต่อ ต้องมีระบบแก้ เอารถบัสมาเกี่ยวคนไปสถานี มันจะทำให้คนที่ใช้ระบบขนส่งมวลชนเขาเข้าถึงง่ายขึ้น มีระบบสายรองเยอะขึ้น จะทำให้คนมีทางเลือกและใช้ขนส่งสาธารณะ โดยการเลิกใช้รถส่วนตัวหรือใช้น้อยลง

ปัญหารถไฟฟ้าที่คาราคาซัง ตกลงปัญหาสัมปทานรถไฟฟ้าหรือราคาในอนาคตที่บอก 65 บาท ถ้าเป็นผู้ว่าฯ จะเดินไปทิศทางไหน

 

ผมพูดในฐานะที่ไม่ได้รับมอบหมายให้ดูเรื่องนี้ แต่เท่าที่ทราบ ถ้าคิด 65 บาท เป็นราคาที่แพง กับ Fair Price ไหม เป็นคนละเรื่องนะ สำหรับคนที่ได้เงินวันละ 300 บาท อาจจะแพง แต่ถามว่าแฟร์ไหม สำหรับการนั่งสุดสายจากคูคตไปสมุทรปราการ นั่ง 50 กว่ากิโล 65 บาท ผมว่าอาจจะเป็นราคาที่สมเหตุสมผล

 

แต่การแก้ คนที่เป็นผู้ว่าฯ ต้องพยายามลดรายจ่ายของประชาชนให้มากที่สุด เราก็ต้องมาดู ถ้าเป็นก็มี 2 กรณีคือ 1. อาจจะต้องเปิดโต๊ะเจรจากับเอกชนใหม่ว่าตรงไหนลดได้ไหม ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับว่าเขาจะสามารถลดได้มาก-น้อยแค่ไหน เพราะเขาต้องมีเงินที่เขาลงทุนกันมาก่อนหน้านี้ แต่ในส่วนของ กทม. เท่าที่ทราบเลขกลมๆ 30 ปี จะมีเงินเข้า กทม. สัก 2 แสนล้านบาท ทีนี้ถ้าหักการใช้หนี้กระทรวงการคลังไปแล้ว ในส่วนนั้นก็เป็นนโยบาย สมมติเงินเข้า กทม. เหลือ 1 แสนล้านบาท อาจจะให้เข้า กทม. น้อยหน่อย เพื่อมาลดค่าโดยสารก็ได้ อันนี้ก็เป็นรายละเอียดที่ต้องนั่งดู 

นโยบายที่เกี่ยวข้องกับชุมชนในเมือง อย่างชุมชนแออัดรวมไปถึงหาบเร่แผงลอย 

 

เป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ คือการขายบนที่สาธารณะต้องดูให้เหมาะ เพราะทั้งสิทธิของคนเดินเท้า แล้วก็การช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย ซึ่งตอนอยู่ เราได้ตั้งคณะกรรมการความเป็นระเบียบเรียบร้อยของกรุงเทพฯ ขึ้นมา

 

เราจะให้ขายเฉพาะในจุดที่ทางเท้าได้มาตรฐานกว้างเท่าที่เรากำหนดไว้เท่านั้น อันนี้จะเป็นทางแก้ ไม่ให้เปะปะ มีการทำประชาพิจารณ์ในส่วนนั้น ผมก็มองสิทธิในการเดินเท้าของคนเต็มที่ เพียงแต่ว่าในบางกรณีในบางจุดที่จะคงเสน่ห์ของ กทม. ไว้ เราจะเอาไว้ มีวิธีอยู่แล้ว 

 

ส่วนเรื่องชุมชนแออัดก็เป็นปัญหาของหลายๆ ชุมชนที่อยู่กันมา 20-30 ปี ก็จะติดเรื่องการอยู่ในถิ่น สุดท้ายต้องหาจุดที่เขาย้ายขึ้นแนวสูงแนวตั้งขึ้นมา แต่ใกล้ชุมชนเดิม เพราะปัญหาส่วนใหญ่ เวลาเราย้ายไม่ได้ เพราะเขาติดกับการอยู่มา 30-40 ปี ตรงนั้นซึ่งผมว่ามันมีทางออก ตอนนี้หลายๆ ที่แม้กระทั่งริมคลองลาดพร้าว ริมคลองเปรมประชากร เขากำลังดำเนินการกันอยู่ ซึ่งผมคิดว่าสุดท้ายมันต้องพยายามทำ เพราะไม่อย่างนั้นเราปล่อยให้การลุกล้ำ ทำให้ทั้งเรื่องภูมิทัศน์ เรื่องการระบายน้ำโดยภาพรวมมันไปไม่ได้ สุดท้ายต้องมีการขยับ แต่ต้องมีการนำเสนอสิ่งที่เขาจะได้รับทดแทนในการที่จะไปอยู่อีกที่มากกว่า

จะมีวิธีเรียกคะแนนจากฐานเสียงเดิม เช่น กปปส., ปชป. เขตที่เคยชนะเลือกตั้ง ซึ่งล่าสุดหลักสี่-จตุจักร คุณสุรชาติ เทียนทอง พรรคเพื่อไทย ชนะเลือกตั้งซ่อม จะเรียกฐานคะแนนเสียงตรงนี้กลับมาได้อย่างไร 

 

อย่างที่ผมเรียน ถ้าคนอายุระดับหนึ่งมันจะค่อนข้างเปลี่ยนยาก ชอบอันไหนก็เลือกอันนั้น โอกาสที่จะกลับมาอีกฝั่งยากมาก ส่วนหลักสี่ที่สุรชาติชนะเลือกตั้ง กลายเป็นเพื่อไทยไปแล้วใช่ไหม 

 

ผมอยู่ตรงนั้นมา ผมพูดอย่างนี้ว่า คือเดิมหลักสี่ ต่อให้ตอนผมชนะ ส.ส. ปี 2550 ก็เป็นเขตที่เป็นฐานเพื่อไทยอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าตอนนั้นมันถัวเขตอื่นมา เพราะฉะนั้นถ้าดูหลักสี่ตั้งแต่ปี 2550 มาจนกระทั่งล่าสุดเลือกตั้งไปก็เป็นฐานเพื่อไทย อย่างไรก็เป็นเพื่อไทยอยู่ดี แต่ตอนที่ ส.ส. อาจจะเป็นสิระชนะ หรือตอนผมชนะ เอาคะแนนเขตอื่น จตุจักร หรือว่าเขตอื่นไปถัว เพราะฉะนั้นฐานมันไม่ได้เปลี่ยนแปลงไป 

สมมติลงเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. แล้วเราอกหัก จะมีโอกาสเห็นในสนามใหญ่หรือไม่ 

 

ผมก็คงทำการเมืองต่อในภาค กทม. อาจจะระดับชาติหรือท้องถิ่นต่อ เพราะเรามาทางนี้แล้ว 15-16 ปีแล้ว ก็คงไม่ไปทางอื่น

ปัญหาสายสื่อสาร ตกลงแล้ว กทม. จะแก้ปัญหาอย่างไร 

 

หลายปัญหาใน กทม. พออยู่ใน กทม. คนคิดว่า กทม. ต้องรับผิดชอบทั้งหมด ยกตัวอย่างเช่น คนบอกว่า โหน้ำท่วม วิภาวดี แจ้งวัฒนะ ทำไมไม่ทำอะไร มันเป็นถนนของกระทรวงคมนาคม คนไม่รู้คิดว่าถนนในกรุงเทพฯ ก็คือ ของ กทม. ต้องดู แต่จริงๆ อย่างถนนแจ้งวัฒนะ หรือว่าถนนวิภาวดีรังสิต อยู่กับกรมทางหลวง อย่างอันนี้ สายสื่อสารก็เช่นกัน บางทีสายสื่อสารขึ้นอยู่กับ กสทช. หรือผู้ให้บริการ มีหลายเจ้ามาก ถ้า กทม. จะไปตัดจะรู้ได้อย่างไรว่าสายไหนเป็นสายที่ใช้อยู่ อันไหนไม่ใช้

 

ก่อนผมออกมา เขาจะมีการตั้งคณะกรรมการกันแล้ว ร่วมกันระหว่าง กทม., กสทช. แล้วหลายหน่วยที่เกี่ยวข้องหรือทุกเจ้า เอไอเอส, ทรู, ดีแทค มานั่งคุยกันว่าจะจัดการกับมันอย่างไรดี เมื่อดูคนรับผิดชอบ เจ้าภาพ เพราะตอนนี้กฎหมายยังคลุมเครืออยู่ ใครที่จะเป็นคนดูแลจริงๆ ซึ่งเขากำลังนั่งคุยอยู่ ผมคิดว่าคงจะมีทางออก เพราะสุดท้ายต้องมีเจ้าภาพ           

ฝนตก น้ำท่วม นอกจากดูแต่ละที่แล้ว ภาพรวมของ กทม. เป็นอย่างไร 

 

ถึงแม้จะเป็นถนนของหน่วยงานอื่น แต่ กทม. ก็ต้องดูภาพรวม ต้องเรียนว่าด้วยระบบท่อของ กทม. ส่วนใหญ่ตามหมู่บ้านหรือตรอกซอกซอยเป็นระบบเก่า ซึ่งเส้นผ่านศูนย์กลางอาจจะแค่ 60 เซนติเมตร อาจจะอุดตัน อาจจะมีการค้าขายเทลงไปทุกอย่าง หรือการก่อสร้างเศษหินปูนดินทราย อันนี้ต้องใช้กำลังคนหรือเครื่องจักรในการเข้าไปลอกเพื่อให้มันโฟลว แต่ว่าในภาพรวม ผมว่าในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา กทม. ทำเยอะ ไม่ว่าจะเป็นบ่อหน่วงน้ำ หรือ Water Bank ซึ่งเรามีหลายที่มากที่สามารถหน่วงน้ำแล้วค่อยๆ ปล่อยไปป์ แจ็คกิ้ง (Pipe Jacking) อุโมงค์ยักษ์ระบายน้ำที่มีหลายแห่ง ทุกอย่างระบบดีหมด แต่ปัญหาคือจากบ้านเราจะไปตรงนั้นมันช้า ต้องไปทะลวง หรือว่าเปลี่ยนท่อตรงนั้นให้มันใหญ่ขึ้น ให้ระบบจากบ้านจากชุมชนลงไปศูนย์กลางที่มีอุปกรณ์ช่วยเยอะๆ ทำให้โฟลวมากขึ้น

เป็นรองผู้ว่าฯ มาหลายปี ปัญหาน้ำท่วม กทม. ดีขึ้นไหม 

 

ถ้าถามผมแบบซีเรียส มันดีขึ้น อย่างบ้านผมอยู่เกษตร เมื่อก่อนฝนตกสักชั่วโมงหนึ่ง ฟุตหนึ่งแล้ว แต่ตอนนี้ไม่มีแล้ว มีไปป์ แจ็คกิ้งดันน้ำ ช่วยเยอะ อย่างบางเขนพอมี Water Bank ตอนนี้ไม่เป็นแล้ว ทีนี้มันก็เป็นการแก้แต่ละจุด ซึ่งผมว่ามันแก้ไปได้เยอะมาก อย่างที่ผมบอก ตัวฝอยๆ จากบ้านจากชุมชนจะไปอันใหญ่ อันนี้ต้องทำระบบใหญ่ เพื่อให้โฟลวลงไปอยู่ในตัวช่วยทั้งหมดที่มี 

กรณีหมอกระต่าย ปัญหาทางม้าลาย ไฟคนข้าม สะพานลอย 

 

จุดเหล่านี้ การจราจรใน กทม. ทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นการขีดสีตีเส้น ป้ายสัญญาณไฟจราจร เป็นหน้าที่ กทม. ทั้งหมด แต่ว่างบฯ ปีหนึ่งน้อย คนเป็นผู้ว่าฯ ถ้าอยากเน้นตรงนี้ต้องอัดงบลงมา ผมอาจจะมีงบฯ ปีหนึ่งทำทางม้าลายได้แค่ 20 ทาง แต่จริงๆ มันต้องทำ 500 ทาง ซึ่งก็ต้องอยู่ที่ว่าการวางแผนงบผู้ว่าฯ แต่ละคน เป็นอย่างไร 

ต้องไปดึงจากส่วนอื่นมา 

 

ใช่ สมมติมีงบกลมๆ อยู่ประมาณ 4 หมื่นล้านบาท อยู่ที่ว่าคนเป็นผู้ว่าฯ จะเน้นด้านไหน สมมติผมเน้นขีดสีตีเส้น ผมใส่อัดไปเลยหมื่นล้าน ขีดทั้งเมืองก็ได้ อยู่ที่เราจะวาง อีก 500 ล้านบาท ผมไปเรื่องสวน อีก 500 ล้านบาท ผมไปเรื่องระบายน้ำ อยู่ที่เราจะวาง 

 

ที่ผ่านมาพยายามทำเยอะ ตอนผมอยู่มีคณะกรรมการที่เรียกว่าความปลอดภัยทางถนน เราแก้จุดเสี่ยง แต่ละเขตส่งเข้ามา มีจุดไหนเสี่ยงอุบัติเหตุบ้าง อย่างเช่นถนนไม่มี ไฟน้อย ป้ายไม่มี ส่งเข้ามาแค่ปี 2564 ปีเดียว เราแก้ไปประมาณ 150 จุด ก็ยังส่งมาเรื่อยๆ ซึ่งยังมีระบบนั้นอยู่ อย่างที่ผมเรียน มันอยู่ที่การวางงบฯ ทุกอย่างพร้อมทำ อัดเงินลงไปแก้ตรงนั้นได้

 

ผมให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ เราอยู่ตรงนั้นมา เราเห็นเงินที่ให้มาแต่ละปีมันน้อย แล้วเวลาไปดีเฟนด์ มันได้มาไม่เพียงพอกับการทำให้มันดี

สโลแกนกรุงเทพฯ ชีวิตดีๆ ที่ลงตัว ตอนนี้เหมือนจะกลายเป็นมีมตลกที่ทำให้คน กทม. มาล้อเลียนกันเอง เวลา กทม. มีปัญหาหรือมีข่าวแย่ๆ คิดอย่างไรกับสโลแกนนี้ 

 

ผมมองว่าอยู่ที่มุมมอง เมืองใหญ่ๆ ทุกเมือง ไม่เฉพาะ กทม. มีทั้งภาพสวยงามและภาพไม่ดี แต่ถ้าเราจะจ้องทำให้เรื่องที่มันไม่ดีทุกเรื่องกลายเป็นศูนย์เลย เป็นไปไม่ได้ เพราะความเป็นเมืองใหญ่มันจุกจิกมาก แต่ถ้าภาพรวมโดยรวมมันทำได้ดี ผมว่ามันโอเคในส่วนนั้น และผมคิดว่าแต่ละคนก็พยายามอยู่แล้ว แต่อย่างที่ผมบอก มันทำได้ดีกว่านี้อีก อย่างน้อยต้องพยายามทำให้เป็นศูนย์ เหมือนกับเรื่องอุบัติเหตุจะทำให้เป็นศูนย์ช่วงเทศกาล มันทำไม่ได้ แต่ว่าเราต้องทำให้มันน้อยที่สุด แล้วมันอยู่ที่มุมมองของคนว่าจะมองอย่างไร

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X