การจัดงานครั้งนี้ตอกย้ำให้เห็นถึงความตั้งใจจริงในการขับเคลื่อนทัพเทคโนโลยีและนวัตกรรม โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อนำเสนอโซลูชันที่ตรงกับความต้องการผ่านการออกแบบนวัตกรรมที่ใช้ลูกค้าเป็นศูนย์กลาง เพื่อยกระดับประสบการณ์ของลูกค้าให้ดียิ่งขึ้น ข้อมูลคือหัวใจหลักเพื่อให้เราสามารถเข้าใจและเข้าถึงลูกค้าได้
อันที่จริงกรุงศรีตั้งเป้าและวางกลไกเพื่อก้าวสู่โลกของ Digital Banking มาตั้งแต่ปี 2560 โดยไม่ได้มองแค่เรื่องของการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมทางการเงินเท่านั้น แต่ยังมุ่งไปที่การสร้างวัฒนธรรมให้กับบุคลากรในองค์กร สนับสนุนการคิดสร้างสรรค์ที่เอื้อต่อการเปลี่ยนแปลง เปิดรับความคิดใหม่ๆ ท้าทายความคิดเดิมๆ เพราะบุคลากรคือกำลังหลักที่จะทำให้กรุงศรีสามารถสร้างนวัตกรรมที่แข็งแกร่งและมีความยั่งยืนได้
“กรุงศรีเราตื่นตัวและอัปเดตเทรนด์ดิจิทัลตลอดเวลา เพื่อเตรียมความพร้อมที่จะก้าวสู่การเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมการเงินของประเทศที่มีเสถียรภาพและยั่งยืน” สายสุนีย์ หาญประเทืองศิลป์ ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านนวัตกรรมดิจิทัลและข้อมูล ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) กล่าว
กรุงศรีทรานส์ฟอร์มตัวเองด้วยการปั้นทีม Digital Innovation and Data Group ขับเคลื่อนธุรกิจด้วยนวัตกรรมและดาต้าภายใต้พันธกิจ ‘Human-Centric Innovations’ ยึดความต้องการของลูกค้าเป็นหลัก ควบคู่กับการสร้างและส่งมอบประสบการณ์ที่ง่าย เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าทุกกลุ่ม สอดคล้องกับคำมั่นสัญญาจากกรุงศรี Make Life Simple ‘ชีวิตง่าย ได้ทุกวัน’
การจะไปถึงเป้าหมายได้อย่างราบรื่น อาวุธสำคัญที่จะเป็นตัวเคลื่อนเทคโนโลยีและนวัตกรรมคือ ‘คน’ ที่ไม่เพียงเชี่ยวชาญด้านการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม แต่จะต้องมี DNA ที่แข็งแกร่งของการเป็นผู้สร้าง และทำงานโดยใช้ข้อมูลเป็นแกนหลักในการขับเคลื่อน
ภารกิจอันยิ่งใหญ่ซึ่งมาพร้อมกับความรับผิดชอบอันใหญ่ยิ่งนี้จึงถูกมอบให้กับคุณสายสุนีย์ หรือคุณซันนี่ ชื่อที่ทุกคนในกรุงศรีเรียก สะท้อนถึงความเป็นกันเองและเข้าถึงง่าย ซึ่งโปรไฟล์ของคุณซันนี่ก็ไม่ธรรมดา หลังคว้าปริญญาด้าน Computer Science สาขา Mathematics / Statistics จาก Deakin University ประเทศออสเตรเลีย เธอได้ทำงานในฐานะผู้ขับเคลื่อนและที่ปรึกษาให้กับองค์กรชั้นนำ ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศในหลากหลายกลุ่มธุรกิจ อาทิ ธุรกิจสินเชื่อเพื่อรายย่อย ธุรกิจประกัน และธุรกิจโทรคมนาคม สั่งสมประสบการณ์ ความรู้ ความเชี่ยวชาญด้านการทรานส์ฟอร์มธุรกิจและเทคโนโลยี รวมทั้งวางแผนและพัฒนาระบบ ไปจนถึงการวางกลยุทธ์ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ก่อนจะย้ายมาอยู่ใต้ร่มกรุงศรีและขยับขึ้นแท่นประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านนวัตกรรมดิจิทัลและข้อมูล ดูแลรับผิดชอบในการขับเคลื่อนด้านนวัตกรรมดิจิทัลและข้อมูลให้กับกรุงศรี ครอบคลุมทุกเรื่องที่เกี่ยวกับดิจิทัล โครงสร้างและแพลตฟอร์มต่างๆ ไปจนถึงการสร้าง Innovative & Data-Centric DNA ให้กับคนในองค์กร
“พันธกิจของทีมนวัตกรรมดิจิทัลและข้อมูลคือ การค้นหา ทดลอง ทดสอบ เรียนรู้ และผสมผสานสิ่งเหล่านั้นมานำเสนอเป็นโซลูชันผ่านการออกแบบนวัตกรรมที่ใช้ลูกค้าเป็นศูนย์กลาง เพื่อสร้างชีวิตที่ง่ายได้ทุกวันให้กับลูกค้า”
คุณซันนี่เล่าต่อว่า เป้าหมายของทีม Digital และ Innovation & Data คือการส่งมอบโซลูชันที่ตอบโจทย์ความต้องการและมอบประสบการณ์ที่ดีให้กับลูกค้า หรือ ‘Human-Centric Innovations’ ซึ่งการจะไปสู่เป้าหมายนั้นได้ต้องสร้างฐานรากที่แข็งแกร่ง สิ่งนั้นคือ ‘คน’ เพราะคนจะทำหน้าที่ขับเคลื่อนเทคโนโลยี
“การสร้างคนที่มีแนวคิดของนวัตกรต้องเริ่มจากการสร้างวัฒนธรรมของการสร้างสิ่งใหม่ๆ หรือที่เรียกว่า Innovation Culture โดยต้องมีข้อมูลมาช่วยในการตัดสินใจ”
จุดเริ่มต้นของแหล่งบ่มเพาะเมล็ดพันธุ์สายเทค
เมื่อ ‘คน’ คือเมล็ดพันธุ์ตั้งต้นที่องค์กรมองหา คุณซันนี่จึงโฟกัสไปที่ ‘Tech Talent’ เพราะเมื่อโลกเดินเข้าสู่ยุคดิจิทัล องค์กรที่มีเมล็ดพันธุ์ที่ดีก็เหมือนกำชัยชนะไปแล้ว จึงเป็นจุดเริ่มต้นให้เธอตัดสินใจใช้ประสบการณ์การทำงานและทักษะที่มีบุกเบิก ‘กรุงศรี นิมเบิล’ (Krungsri Nimble) เป็นการแยกจากบ้านใหญ่แล้ววางตำแหน่งองค์กรให้เป็นเครื่องมือช่วยสร้างบุคลากรสายเทคและดูแลโซลูชันด้านไอที (IT Solutions Hub) รวมถึงพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมทางการเงิน เพื่อเฟ้นหาตัวจริงในสายฟินเทคมาร่วมฟอร์มทีมกับบ้านกรุงศรี
แม้ว่าการก่อตั้งกรุงศรี นิมเบิล จะมีเป้าหมายเพื่อบ่มเพาะเมล็ดพันธุ์คนเทค แต่ระหว่างทางของการทำงาน คุณซันนี่มุ่งสร้างวัฒนธรรมที่ ‘สนับสนุนการเปลี่ยนแปลงและเปิดกว้างเพื่อรับความคิดใหม่ ไม่หยุดพัฒนา และอยากเรียนรู้เสมอ’ ผ่านการส่งต่อทักษะการทำงานของตัวเธอเองไปสู่คนรุ่นต่อไป
“กรุงศรี นิมเบิล เปรียบเสมือนสนามเด็กเล่นให้คนในทีมได้ทดลองทำงานภายใต้โครงสร้างการทำงานที่เรียบง่าย (Flat Organization) มีความยืดหยุ่นและทำงานแบบเปิดกว้าง สามารถแสดงความคิดเห็นและโยนไอเดียกันได้เต็มที่ เราเชื่อว่าการสร้างสภาพแวดล้อมให้คนในองค์กรได้ทดสอบและเรียนรู้นวัตกรรมใหม่ๆ อย่างไร้ขอบเขต จะช่วยดึงดูดคนเก่งให้อยากมาทำงาน
“กรุงศรี Work from Anywhere มาตั้งแต่ก่อนเกิดโควิด-19 เพราะเรามีแนวคิดที่ว่าทำงานจากที่ไหนก็ได้ และคนเก่งไม่ได้มีอยู่แค่ในกรุงเทพฯ เท่านั้น เราจึงพยายามเฟ้นหา Tech Talent จากทั่วประเทศ และให้เขาทำงานจากที่ไหนก็ได้ หรือคนที่มีใจรักแต่ขาดความรู้ เราก็พร้อมที่จะช่วยเตรียมความพร้อมเสริมทักษะให้เขาเติบโตไปด้วยกัน เพราะเรามีทั้ง Knowledge และ Knowhow ที่จะมอบให้
“เราเชื่อว่าประเทศไทยมีคนที่มีความสามารถเยอะ แต่การจะเข้าถึงพวกเขาจะทำได้อย่างไร ดังนั้นอีกหนึ่งวิธีของเราคือการออกไปหา Talent ในจังหวัดต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น เชียงใหม่หรือขอนแก่น ซึ่งเป็นแหล่งที่มี Tech Startup เยอะ จึงเป็นที่มาของการสร้าง Krungsri Innovation Center ที่หัวเมืองหลัก”
โดย Krungsri Innovation Center จะทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางเพื่อช่วยอำนวยความสะดวกในการสร้างสรรค์ พัฒนาทางด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านการเงินอย่างเต็มรูปแบบสำหรับชุมชนสายเทคและพันธมิตรของกรุงศรี โดยฮับแห่งแรกเปิดตัวที่เชียงใหม่ในชื่อโครงการ ‘Krungsri Innovation x Chiang Mai’ และมีแผนขยายไปยังหัวเมืองสำคัญๆ ที่มีศักยภาพอย่างขอนแก่นและภูเก็ตต่อไป
การเสาะหา Tech Talent ของกรุงศรี ยังทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัย เช่น การจับมือกับอุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หรือ STeP เปิดตัวโครงการ ‘Krungsri UPcelerator’ ภายใต้แนวคิด ‘Accelerating the Sustainable Future’ บ่มเพาะธุรกิจสตาร์ทอัพไทย เพื่อแสดงจุดยืนที่จะเข้าไปมีส่วนร่วมกับการสร้างเด็กรุ่นใหม่และสตาร์ทอัพ เพื่อให้เขาเริ่มต้นอย่างถูกต้อง
คุณซันนี่มองว่าการจะทำให้ Tech Talent พัฒนาสิ่งใหม่ๆ เพื่อตอบโจทย์พันธกิจหลักของทีมและขององค์กรจำเป็นต้องปลูกฝัง DNA เดียวกัน จึงตัดสินใจสร้างทีม ‘Stellar by krungsri’ เพื่อทำหน้าที่ขับเคลื่อน ‘คน’ ด้วยนวัตกรรมต่างๆ ผ่านการทำงานร่วมกับทีมที่เกี่ยวข้องทั้งภายในองค์กรและพันธมิตรทางธุรกิจต่างๆ เพื่อพัฒนาหรือต่อยอดไอเดียทางนวัตกรรมที่ตอบโจทย์ความท้าทายทางธุรกิจอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงการค้นคว้าและทดลองเทคโนโลยีใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อคว้าโอกาสการเติบโตของธุรกิจอย่างยั่งยืน
เพราะ ‘คน’ คือหัวใจสำคัญของการขับเคลื่อนธุรกิจด้วยนวัตกรรม ทีม Stellar by krungsri จะทำหน้าที่ในการบ่มเพาะและพัฒนาให้พนักงานกรุงศรีขยับชั้นขึ้นมาเป็นนวัตกรได้อย่างเต็มภาคภูมิ หากพนักงานคนไหนมีไอเดียอะไรที่น่าสนใจ เราต้องสานฝันให้เขาตั้งแต่จุดเริ่มต้น โดยที่พวกเขายังคงความเป็นเจ้าของไอเดียนั้นอยู่ แม้จะยังไม่รู้ว่าไอเดียที่ได้มานั้นจะสามารถผลักดันไปได้ถึงจุดไหน เราก็จะช่วยผลักดันให้สุดทาง ทั้งการสนับสนุนในแง่ขององค์ความรู้ คำแนะนำ หรือการลงทุน ภายใต้สภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยและยอมรับความผิดพลาด ถ้าสุดท้ายแล้วไอเดียของเขาสามารถต่อยอดจนกลายเป็นโซลูชันที่ตอบโจทย์ลูกค้าได้ สร้างเป็นธุรกิจใหม่ หรือสามารถใช้กับคนในองค์กรได้ เราก็จะช่วยทำให้มันเกิดขึ้นได้จริง
‘Data Centric’ ประตูสู่การเข้าใจลูกค้า เพื่อส่งมอบ Human-Centric Innovations ได้อย่างแท้จริง
อย่างที่คุณซันนี่เล่าไปทั้งหมด การเสาะหาเมล็ดพันธุ์ใหม่ที่พร้อมจะเติบโตก็ดีหรือการสร้างนวัตกรที่มีแนวคิด ‘คิดใหม่ ทำใหม่ เปิดกว้าง รับฟังความคิดเห็น และไม่หยุดพัฒนาและอยากเรียนรู้เสมอ’ ก็ตาม ล้วนแต่เป็นเส้นทางที่จะนำไปสู่เป้าหมายเดียวกันนั่นคือ การส่งมอบโซลูชันที่ตอบโจทย์ความต้องการ พร้อมมอบประสบการณ์ที่ดีให้กับลูกค้า (Human-Centric Innovations) แต่เส้นทางนี้จะสมบูรณ์ได้ย่อมต้องมีการทำงานที่ใช้ข้อมูลเป็นแกนกลาง (Data-Centric) ที่แข็งแกร่ง
คุณซันนี่มองว่า ในอนาคตธนาคารกำลังก้าวสู่ Intelligence Banking จะมีเรื่องของปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence Automation: AI Automation) หรือนวัตกรรมบล็อกเชน (Blockchain) ซึ่งเข้ามาพลิกโฉมอุตสาหกรรมการเงินการธนาคาร อีกทั้งยังพฤติกรรมของลูกค้าที่เปลี่ยนไป การรู้จักลูกค้าให้มากที่สุดเพื่อนำเสนอโซลูชันที่ตอบโจทย์ที่สุดจึงเป็นเรื่องสำคัญ กรุงศรีลงทุนในเรื่องของข้อมูล รวมไปถึงการสร้างพนักงานให้ได้เรียนรู้และมีความสามารถในการใช้ประโยชน์จากข้อมูลหรือการสร้างพลเมืองดิจิทัล (Data Citizenship) เพื่อที่ว่าในท้ายที่สุดพนักงานของเราจะได้มีความรู้ความเข้าใจ และนำข้อมูลไปต่อยอดเพื่อการสร้างผลิตภัณฑ์และโซลูชันให้กับลูกค้าได้อย่างตรงใจ
“ทุกวันนี้กรุงศรีพยายามเสริมความรู้ด้านข้อมูลให้กับพนักงาน ช่วยยกระดับความสามารถใหม่ๆ (Upskill) ผ่านคอร์สอบรมต่างๆ จัดการแข่งขัน Hackathon หรือการออกไปพบกับทีมต่างๆ ภายในกรุงศรี เพื่อค้นหาเป้าหมายที่จะเข้าไปสนับสนุนธุรกิจ เราพยายามจะนำข้อมูลไปใส่ให้กับทีมต่างๆ ของกรุงศรี และให้เขานำข้อมูลเหล่านี้ รวมถึงเครื่องมือไปประมวลผลเพื่อใช้ในการตัดสินใจที่แม่นยำกับการทำงานในทุกๆ วันของทีม ซึ่งถือเป็นวิธีการทำงานที่ทำให้เราเก่งขึ้น นี่คือบทบาทหน้าที่ของทีม Data”
คุณซันนี่เชื่อว่า จากนี้ไปการให้บริการของธนาคารจะต้องเพิ่มขีดความสามารถที่เรียกว่า ‘รู้ใจ’ และสามารถให้บริการที่เหมาะสมกับลูกค้าแต่ละราย ในขณะที่พฤติกรรมของลูกค้าก็เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอด เรื่องของ Generation Banking หรือการให้บริการทางการเงินที่เหมาะสมกับแต่ละกลุ่มอายุลูกค้า อาจเป็นรูปแบบตั้งต้นเพื่อต่อยอดไปดูว่าพฤติกรรมการทำธุรกรรมทางการเงินของแต่ละกลุ่มอายุลูกค้ามีความต้องการเป็นแบบไหน
“เราจะก้าวเข้าสู่ Intelligence Banking โดยใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI Automation) หรือการจับข้อมูลที่น่าสนใจ (IOT Sensor) เพื่อให้เห็นข้อมูลได้อย่างรอบด้าน และต่อยอดนำไปประมวลผลให้เกิดประโยชน์ ทำให้ธนาคารมีศักยภาพได้มากขึ้น อีกทั้งยังสามารถสร้างประสบการณ์การใช้งานที่ดีให้กับลูกค้า
“กรุงศรีเป็นหนึ่งในองค์กรแรกๆ ที่รวมข้อมูลให้เข้ามาอยู่ในทีมเดียว โดยเราได้เตรียมความพร้อมสำหรับการใช้ข้อมูลและยกระดับมาตรฐานการจัดเก็บรักษาคลังข้อมูลที่สอดคล้องตามมาตรฐานของสถาบันกำกับควบคุมต่างๆ (Regulators)
“นอกจากนั้นเรายังมีทีม Data Scientist ที่ดูแลในส่วนของการพัฒนาวิเคราะห์ข้อมูลและปัญญาประดิษฐ์ (AI/ ML) และมีทีม Data as a Service (DaaS) ที่ดูแลในส่วนของการพัฒนาการประมวลผลข้อมูล ซึ่งทีมทั้งหมดที่เล่ามาจะดูตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำออกมาเป็น Data Service ที่สามารถนำมาปรับใช้ในภาคธุรกิจได้จริง สร้างประโยชน์ สะดวกรวดเร็ว เพิ่มประสิทธิภาพในการทำธุรกิจ และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ด้วยการขับเคลื่อนของเทคโนโลยีและพลังของข้อมูล ตอบโจทย์ทุกความต้องการของทุกธุรกิจในหลากหลายความต้องการให้กับลูกค้า พาร์ตเนอร์ และองค์กร ได้อย่างมีประสิทธิภาพ” คุณซันนี่กล่าว
อีกจุดที่สำคัญไม่น้อยไปกว่าข้อมูลคือ การดูแลกระบวนการทำงานต่างๆ ภายในธนาคาร ที่เน้นการนำเอาเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาปรับเปลี่ยนกระบวนการทำงาน เพื่อให้รวดเร็ว ลดความผิดพลาด ประหยัดต้นทุน และปลดล็อกประสิทธิภาพการทำงาน คือหน้าที่ที่สำคัญของอีกทีมที่ดูเรื่องของ Digital Transformation คุณซันนี่บอกว่า ตอนนี้มุ่งไปที่กลุ่มลูกค้าธุรกิจ SMEs เพื่อหาโซลูชันที่จะทำอย่างไรให้ชีวิตของพวกเขาสามารถทำงานได้ง่ายมากยิ่งขึ้น
เพราะวันนี้การให้บริการทางการเงินการธนาคารก็ไม่มีความจำเป็นต้องจำกัดอยู่แค่ในรูปแบบธนาคาร เราจึงเปลี่ยนแปลงขยับเข้าไปใกล้ลูกค้ามากยิ่งขึ้น หน้าที่นี้คืออีกทีมที่สำคัญที่ดูแลในเรื่องของ Open Banking และ API ที่ทำหน้าที่สร้างโซลูชันที่ตอบโจทย์ลูกค้า ‘มุ่งมั่นพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่พร้อมให้บริการทางการเงินด้านต่างๆ ผ่านการเชื่อมต่อกับระบบต่างๆ ไม่เพียงแต่ภายในธนาคาร หากพร้อมสำหรับการเชื่อมต่อกับระบบพาร์ตเนอร์ภายนอกอย่างไร้รอยต่อ” คุณซันนี่บอกว่า นี่จะเป็นตัวทรานส์ฟอร์มธนาคารไปสู่โลกอนาคต
ยกตัวอย่าง Payment as a Service คุณซันนี่อธิบายว่า การมี Open Banking จะสะท้อนให้เห็นถึงความสามารถในการให้บริการด้านดิจิทัล ความสามารถในการเชื่อมต่อกับระบบพาร์ตเนอร์ภายนอกธนาคารผ่านบริการการชำระเงิน (Payment) ที่พร้อมรองรับการทำงานอย่างมีมาตรฐาน โดยที่ไม่ต้องไปเริ่มต้นสร้างระบบการชำระเงินด้วยตนเอง (Payment Gateway) ให้ยุ่งยาก หรือใช้ระยะเวลาการพัฒนาด้วยตนเองที่ยาวนานอีกต่อไป อีกทั้งยังคงความสามารถเพื่อส่งมอบประสบการณ์การให้บริการทางการเงินแก่ลูกค้าที่สะดวก ง่าย จบได้ภายในตนเองได้อย่างครบวงจร
อีกตัวอย่างคือ Krungsri The Living Room แพลตฟอร์มที่รวบรวมบริการธุรกรรมออนไลน์เต็มรูปแบบและนวัตกรรมทางการเงินต่างๆ ของกรุงศรี สำหรับลูกค้าธุรกิจ SMEs มาไว้ในที่เดียวโดยรวมตั้งแต่ Krungsri Biz Online, Krungsri Business Link, Krungsri Digital Supply Chain และ E-FX Confirmation เพื่อให้ลูกค้าสามารถบริหารจัดการธุรกรรมต่างๆ ได้ง่ายและรวดเร็วยิ่งขึ้นในแพลตฟอร์มเดียว ซึ่งก็สะท้อนถึงคำมั่นสัญญาของธนาคาร ที่เราต้องการทำให้ชีวิตของลูกค้าทุกคนง่ายขึ้นและสามารถใช้เวลาไปกับสิ่งที่สำคัญในชีวิต
อีกส่วนงานที่คุณซันนี่พูดถึงคือ กรุงศรี ฟินโนเวต (Krungsri Finnovate) โดยมีแนวคิดที่ว่า เทคโนโลยีบางอย่างใช้เวลานานในการพัฒนา ต้องอาศัยวิธีการที่ทำให้เราไปได้ยิ่งขึ้น ดังนั้นเป้าหมายของกรุงศรี ฟินโนเวต จึงจัดตั้งขึ้นเพื่อเฟ้นหาฟินเทคและสตาร์ทอัพที่โดดเด่น ผ่านการระดมทุนเพื่อเข้าร่วมเป็นพันธมิตรดำเนินการโครงการต่างๆ ซึ่งสุดท้ายจะได้นำไปสู่การต่อยอดพัฒนานวัตกรรมและผลิตภัณฑ์ทางการเงินต่างๆ ของธนาคารในอนาคต
ทรานส์ฟอร์มคนให้สำเร็จ ผู้นำต้องทำก่อน
คุณซันนี่บอกว่า สุดท้ายแล้วการจะทรานส์ฟอร์มคนได้สำเร็จนั้น สิ่งสำคัญคือผู้บริหารจะต้องเป็นผู้ริเริ่มการเปลี่ยนแปลงก่อน แล้วค่อยถ่ายทอดการเปลี่ยนแปลงลงมา ขาดไม่ได้คือ ‘พูดแล้วต้องทำ’ ให้เห็นเป็นตัวอย่าง ส่งเสริมแนวคิดการทำงานไปสู่พนักงาน รวมถึงเงินทุนในการพัฒนานวัตกรรม ซึ่งทั้งหมดนี้คือสิ่งที่คุณซันนี่ยึดถือและปฏิบัติงานมาตลอดระยะเวลาของการสร้างทีม Digital, Innovation & Data
“เราพยายามสร้างวัฒนธรรมการเรียนรู้ (Learning Culture) อยู่ตลอดเวลาให้กับทีมและมีแนวคิดที่ถูกต้องในการเลือกเทคโนโลยีมาใช้งาน เพราะหัวใจสำคัญไม่ได้อยู่ที่การเป็นผู้นำ (Trendsetter) หรือการพยายามใช้เทคโนโลยีที่ล้ำสมัยที่สุดเสมอไป หากแต่อยู่ที่การผสมผสานและการประยุกต์ใช้ เพื่อสร้างความแตกต่างและส่งมอบประสบการณ์การใช้งานที่รู้ใจให้กับลูกค้า อย่างที่เราเน้นย้ำตลอดเรื่อง Human-Centric Innovations”
มองผ่านสายตาคนนอก การสร้างทีม Digital, Innovation & Data โดยทำให้ทุกคนสามารถขับเคลื่อนเป้าหมายไปในทิศทางเดียวกันนั้นไม่ง่าย แม้เธอจะเป็นหนึ่งใน ‘หัวเรือใหญ่’ แต่คุณซันนี่กล่าวอย่างถ่อมตัวว่า เธอมองตัวเองเป็นเพียงคนที่คอยกรุยทาง หรือ ‘Facilitator’ เพื่อช่วยให้ทุกคนในทีมมี ‘ชีวิตการทำงานที่ง่ายและทำงานได้สะดวกขึ้น’
“ในฐานะผู้บริหารเรามองว่า ตัวเองเป็นผู้ช่วยเพื่อนำพามากกว่าที่จะเป็นผู้กำหนดทิศทางหรือควบคุมความต้องการของพวกเขา เมื่อโลกของเทคโนโลยีและนวัตกรรมเปลี่ยนไปเร็วมาก เป็นเรื่องยากที่เราจะคาดเดาได้ว่าเทคโนโลยีใดที่จะได้รับการยอมรับก่อนหรือหลัง แต่สิ่งที่เราทำได้คือการเตรียมความพร้อมให้แก่องค์กร ซึ่งสิ่งที่เราให้ความสำคัญเป็นอันดับต้นๆ คือการเตรียมความพร้อมให้กับหัวใจขององค์กร ซึ่งก็คือพนักงาน” คุณซันนี่กล่าวทิ้งท้าย
วันนี้หากมองเข้าไปยังบ้านกรุงศรี โดยเฉพาะพื้นที่ที่เป็นแหล่งบ่มเพาะนวัตกรรม เราอาจได้เห็นรากไม้ที่แข็งแกร่ง รอวันเติบโต เพื่อส่งมอบคุณค่าที่ดีให้กับลูกค้าและพนักงานของกรุงศรีอย่างยั่งยืนต่อไป