หอภาพยนตร์เตรียมนำ สาย สีมา นักสู้สามัญชน มาฉายให้รับชมในวันที่ 14 ตุลาคม รอบพรีเมียร์เวลา 20.00 น. หลังจากที่ภาพยนตร์ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกภาพยนตร์ของชาติ ประจำปี 2564 เมื่อวันที่ 4 ตุลาคมที่ผ่านมา ซึ่งเป็นวันอนุรักษ์ภาพยนตร์ไทย
สาย สีมา นักสู้สามัญชน คือภาพยนตร์ที่สร้างจากนวนิยายเรื่อง ปีศาจ โดย เสนีย์ เสาวพงศ์ (นามปากกาของ ศักดิ์ชัย บำรุงพงศ์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ปี 2533) เล่าเรื่องราวของ สาย สีมา ทนายความผู้หันหลังให้กับการงานที่กำลังรุ่งโรจน์เพื่อมาช่วยเหลือชาวบ้าน เขาได้พบรักกับ รัชนี หญิงสาวจากตระกูลชนชั้นนำ และต้องเผชิญหน้ากับครอบครัวของเธอที่พูดจาดูถูกลูกหลานคนชนชั้นสามัญอย่างเขา
บทประพันธ์อันทรงคุณค่าเรื่องนี้ถูกตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 2500 และหยุดไปชั่วคราวภายใต้ระบอบเผด็จการทหาร ก่อนจะกลับมาตีพิมพ์ใหม่อีกครั้งในช่วงก่อน 14 ตุลา 2516 เหตุการณ์ครั้งสำคัญบนหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทย ที่นักเรียน นักศึกษา และประชาชน ต่างลุกขึ้นมาเรียกร้องประชาธิปไตยที่พวกเขาพึงมี
“ผมเป็นปีศาจที่กาลเวลาได้สร้างขึ้นมาหลอกหลอนคนที่อยู่ในโลกเก่า ความคิดเก่า ทำให้เกิดความละเมอหวาดกลัว และไม่มีอะไรที่จะเป็นเครื่องปลอบใจท่านเหล่านี้ได้ เท่ากับไม่มีอะไรหยุดยั้งความรุดหน้าของกาลเวลาที่สร้างปีศาจเหล่านี้ให้มากขึ้นทุกที
“ท่านอาจจะเหนี่ยวรั้งอะไรไว้ได้บางสิ่งบางอย่างชั่วครั้งชั่วคราว แต่ท่านไม่สามารถจะรักษาทุกสิ่งทุกอย่างไว้ได้ตลอดไป โลกของเราเป็นคนละโลก โลกของผมเป็นโลกของธรรมดาสามัญชน”
วรรคทองของ สาย สีมา ในฉากจำบนโต๊ะอาหารร่วมกับเหล่าชนชั้นนำ จึงเป็นตัวแทนความคิดของสามัญชนผู้ขบถต่อความอยุติธรรมได้เป็นอย่างดี และในช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นไล่เลี่ยกันนั้นก็ส่งผลต่อวงการภาพยนตร์ไทย ให้เกิดเป็นยุคทองของหนังสะท้อนสังคม เช่น เขาชื่อกานต์ (2516), เทพธิดาโรงแรม (2517), เทวดาเดินดิน (2518), ครูบ้านนอก (2521) เป็นต้น
เช่นเดียวกับนักเขียนและนักหนังสือพิมพ์กลุ่มหนึ่ง นำโดย เจญ เจตนธรรม หรือ เจน จำรัสศิลป์ เจ้าของโรงพิมพ์พิฆเณศ และ ขรรค์ชัย บุนปาน ผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์ มติชน ที่ได้หยิบนวนิยายเรื่องนี้มาสร้างเป็นภาพยนตร์ในปี 2524 ภาพยนตร์ที่เป็นสื่อเพื่อความบันเทิงจึงกลายมามีบทบาทในฐานะเครื่องมือสะท้อนสภาวะสังคมและการเมืองมากขึ้น โดยเฉพาะเรื่องของความเหลื่อมล้ำ การกดขี่ทางชนชั้น ที่ประชาชนยังคงต้องต่อสู้กันมาจนถึงปัจจุบัน
และจนถึงวันนี้ วันที่ 14 ตุลาคม 2564 วาทกรรมในผลงานอมตะชิ้นนี้ก็ยังคงถูกหยิบมากล่าวถึงในทุกการเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตย เพราะ ‘ปีศาจแห่งกาลเวลา’ ไม่ใช่แค่เพียงใครคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นผลผลิตของยุคสมัยที่จะตามหลอกหลอนบุคคลผู้หวาดกลัวสายลมแห่งการเปลี่ยนแปลง ซึ่งไม่มีใครหยุดยั้งได้
รับชม สาย สีมา นักสู้สามัญชน ทางช่อง YouTube ของหอภาพยนตร์ วันที่ 14 ตุลาคม รอบพรีเมียร์ เวลา 20.00 น. ที่
อ้างอิง: