×

เด็กไทยซ้อนมอเตอร์ไซค์ไม่ใส่หมวกถึงร้อยละ 94 รถจักรยานยนต์ฮอนด้าส่งแคมเปญ สังคมหัวแข็ง ร่วมกระตุ้นให้คนไทยใส่ใจความปลอดภัย

01.09.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

4 Mins. Read
  • เด็กซ้อนท้ายมอเตอร์ไซค์ที่ไม่ใส่หมวกกันน็อก เมื่อเกิดอุบัติเหตุจะได้รับแรงกระแทกแรงกว่าที่เด็กจะรับได้ถึง 7 เท่า
  • ‘ระยะทางใกล้ๆ แล้วไม่ใส่หมวกกันน็อก’ เป็นพฤติกรรมส่วนใหญ่ของคนที่บาดเจ็บจากรถมอเตอร์ไซค์
  • รถจักรยานยนต์ฮอนด้า เดินหน้าต่อยอดแคมเปญ ‘สังคมหัวแข็งปี 2’ หวังคนไทยใส่หมวกทุกครั้งที่ใช้มอเตอร์ไซค์

     ด้วยระบบขนส่งมวลชนของไทยยังไม่พัฒนาไปไหนไกลนัก รถมอเตอร์ไซค์ จึงเป็นยานพาหนะยอดนิยมของคนไทย เพราะประหยัดทั้งเงินและเวลา ฝ่าการจราจรที่แสนติดขัดได้ไม่ยากเย็น สถิติจากกรมขนส่งทางบก มีรถจักรยานยนต์จดทะเบียนมากกว่า 20 ล้านคัน

     ผู้ผลิตรถมอเตอร์ไซค์ปัจจุบัน ก็ปรับปรุงทั้งดีไซน์ สมรรถนะ และความปลอดภัย ทำให้ปัจจุบันแนวโน้มความนิยมการใช้รถมอเตอร์ไซค์เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

     แต่กลับสวนทางกันกับสถิติการสวมใส่หมวกกันน็อกที่ลดลง ข้อมูลอย่างเป็นทางการล่าสุดจากรายงานอัตราการสวมหมวกนิรภัยของผู้ใช้รถจักรยานยนต์ในประเทศไทย ปี พ.ศ. 2557 โดยมูลนิธิไทยโรดส์ พบว่า ผู้ใช้รถมอเตอร์ไซค์นับรวมทั้งคนขับขี่และคนซ้อน สวมใส่หมวกกันน็อกไม่ถึงครึ่ง หรือแค่ร้อยละ 42

     นอกจากนี้ หากย้อนดูสถิติการสวมหมวกกันน็อกย้อนหลังตั้งแต่ปี 2554-2557 พบว่า มีตัวเลขลดลงเล็กน้อยจากร้อยละ 46 เมื่อปี 2554 เหลือร้อยละ 42 ในปี 2557

 

 

     และดูสถิติให้ลึกลงไปอีกหน่อย เราพบตัวเลขที่น่าตกใจไปกว่านั้น ผลสำรวจล่าสุดของการสวมหมวกกันน็อกให้เด็กเมื่อปี 2557 พบว่า เด็กที่ซ้อนมอเตอร์ไซค์ทั้งประเทศ สวมหมวกกันน็อกแค่ร้อยละ 6 เท่านั้น และเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปีที่ซ้อนมอเตอร์ไซค์ต้องสังเวยชีวิตไปก่อนวัยอันควรปีละกว่า 5,629 คน แน่นอนว่าสาเหตุหลักมาจากการไม่สวมหมวกกันน็อก

     โครงการวิจัยเรื่อง การศึกษาผลของลักษณะการนั่งมอเตอร์ไซด์เด็กต่อความรุนแรงของการบาดเจ็บที่เกิดจากการชนของมอเตอร์ไซค์ ของมูลนิธิไทยโรดส์ เผยผลการทดสอบที่น่าสนใจ โดยจำลองหุ่นเด็กซ้อนมอเตอร์ไซค์ครอบครัวที่นิยมใช้ทั่วไป ทั้งแบบซ้อนท้ายและแบบเด็กนั่งด้านหน้าคนขับ ชนเข้าด้านข้างของรถยนต์ขนาดเล็ก น้ำหนัก 950 กิโลกรัม

 

ภาพทดสอบหุ่นจำลอง (ภาพจาก มูลนิธิไทยโรดส์)

 

     การทดสอบหุ่นจำลองเด็กซ้อนท้ายมอเตอร์ไซค์ที่วิ่งด้วยความเร็ว 42.2 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ชนเข้ากับด้านข้างรถยนต์

 

 

     ผลที่ได้คือ หุ่นจำลองคนขับซึ่งสวมหมวกกันน็อกหัวกระแทกทะลุกระจกรถยนต์ ส่วนหุ่นเด็กที่ซ้อนมาจะพุ่งตามคนขับไปกระแทกกับเสาหน้าประตู แรงกระแทกที่เกิดขึ้นสูงกว่าระดับที่ศีรษะเด็กจะรับได้ถึง 7 เท่า

     ขณะที่ผลการทดสอบโดยให้หุ่นจำลองเด็กนั่งหน้าคนขับ วิ่งด้วยความเร็วต่ำกว่าครั้งแรกที่ 29.7 กิโลเมตรต่อชั่วโมง แต่ชนเข้าด้านข้างรถยนต์เช่นเดิม

 

 

     ผลคือหุ่นจำลองคนขับและเด็กจะพุ่งไปข้างหน้าอย่างไม่รู้ทิศทาง หน้าอกของหุ่นจำลองเด็กกระแทกเข้ากับแฮนด์รถมอเตอร์ไซค์ จากนั้นหุ่นคนขับจะตามมากระแทกซ้ำทั้งที่อกและศีรษะ ทำให้เด็กได้รับการกระแทก 2 รอบ

     เชื่อว่าทุกคนรู้ดีว่าหมวกกันน็อก ช่วยลดอัตราการบาดเจ็บและสูญเสีย โดยองค์การอนามัยโลกระบุว่า การสวมหมวกกันน็อกสามารถช่วยลดอุบัติเหตุได้ร้อยละ 40 และลดความเสี่ยงจากการบาดเจ็บสาหัสได้ประมาณร้อยละ 70

     เมื่อปีที่ผ่านมา ภาคเอกชนอย่าง ‘รถจักรยานยนต์ฮอนด้า’ มีโครงการ ‘ฮอนด้าเมืองไทยขับขี่ปลอดภัย’ พร้อมแคมเปญ ‘สังคมหัวแข็ง’ รณรงค์เปลี่ยนทัศนคติให้ทุกคนใส่หมวกกันน็อกทุกครั้งที่ขึ้นคร่อมรถมอเตอร์ไซค์ พร้อมกฎง่ายๆ จำขึ้นใจ ‘ขี่ซ้อนเราใส่ ใกล้ไกลเราใส่ และใครไม่ใส่เราไม่ยอม’

     โดยในปีนี้รถจักรยานยนต์ฮอนด้ายังให้ความสำคัญกับเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง ต่อยอดแคมเปญ ‘สังคมหัวแข็งปี 2’ หวังลดความสูญเสียจากอุบัติเหตุบนท้องถนน และให้เมืองไทยเป็นเมืองขับขี่ปลอดภัยจริงๆ เสียที

     อย่าให้อุบัติเหตุแบบในการทดลองเกิดขึ้นแล้วมาเสียใจทีหลัง เริ่มป้องกันตั้งแต่นาทีนี้ ใครไม่ใส่ (หมวก) เราไม่ยอม

 

     ร่วมสร้าง ‘สังคมหัวแข็ง’

 

 

อ้างอิง:

  • รายงานฉบับสมบูรณ์ โครงการวิจัยเรื่อง การศึกษาผลของลักษณะการนั่งมอเตอร์ไซด์เด็กต่อความรุนแรงของการบาดเจ็บที่เกิดจากการชนของมอเตอร์ไซค์ ของมูลนิธิไทยโรดส์
  • รายงานการศึกษาทางระบาดวิทยาการบาดเจ็บจากการจราจรทางถนนในผู้ใช้รถจักรยานยนต์และการทบทวนมาตรการเกี่ยวข้องเพื่อนำไปสู่ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข
  • รายงานอัตราการสวมหมวกนิรภัยของผู้ใช้รถจักรยานยนต์ในประเทศ ประจำปี 2557 มูลนิธิไทยโรดส์
FYI

     ไปใกล้ๆ ไม่ต้องใส่หมวกก็ได้ จริงหรือ?

     ข้อมูลของ สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ชี้ชัดว่า อุบัติเหตุรถจักรยานยนต์ที่เข้ามารักษาในโรงพยาบาลของสํานักระบาดวิทยา พบว่า การบาดเจ็บมักเกิดขึ้นภายในระยะทางจากจุดเริ่มต้นถึงจุดหมายปลายทางท่ีผู้บาดเจ็บต้ังใจจะไปในระยะ 2-5 กิโลเมตร หรือ การขับขี่ภายในระยะเวลาโดยเฉลี่ย 10 นาทีเท่านั้น

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X