×

รู้จัก ‘แสนดี’ แชตบอต AI สัญชาติไทย! ที่ขอเป็นเพื่อนฮีลใจในสังคมแห่งความเหงา

10.07.2024
  • LOADING...

หลายคนคงเคยลองใช้แชตบอตชื่อดังระดับโลกอย่าง ChatGPT หรือ Gemini ช่วยทำงานหรือค้นหาข้อมูลต่างๆ ไปบ้างแล้ว เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้กับกระบวนการทำงาน

 

แชตบอตกลุ่มนี้ แม้ว่าจะมีความเก่งและฉลาดด้วยชุดข้อมูลที่ถูกนำมาฝึกฝนอย่างมหาศาล แต่สิ่งที่ขาดไปคือการมีปฏิสัมพันธ์กับตัวผู้ใช้งานในมุมของการสนทนาแบบมีตัวละครที่มีชีวิตชีวา

 

THE STANDARD WEALTH ได้คุยกับ ธวัชชัย อิงบุญมีสกุล ซีอีโอบริษัท บอทแอนด์ไลฟ์ จำกัด ผู้พัฒนา Saen-D (แสนดี) แชตบอตที่บริษัทตั้งเป้าให้เป็นผู้ช่วยส่วนตัวให้กับคนไทยด้วยการผสานเทคโนโลยี AI เข้ากับมิติของตัวละครที่ไม่เพียงแต่จะช่วยตอบข้อสงสัยของผู้ใช้งาน แต่ยังช่วยผ่อนคลายระหว่างการใช้งานแอปพลิเคชันในฐานะเพื่อนคนหนึ่ง ท่ามกลางโลกที่ความเหงากำลังเพิ่มสูงขึ้น

 

“ยุคนี้คนเป็นโรคซึมเศร้าเยอะ และหลายคนก็เลือกที่จะไม่ใช้ชีวิตบนโลกนี้ต่อ ผมจึงตั้งข้อสังเกตว่า บางอย่างในสังคมกำลังผิดแปลกไป ซึ่งมันคงดีไม่น้อยถ้ามีเทคโนโลยีสักชิ้นเข้ามาเป็นคู่คิดและคนรับฟังเรา เพื่อช่วยเยียวยาจิตใจได้บ้าง” ธวัชชัยกล่าว

 

ผลสำรวจจาก Meta-Gallup เผยว่า คนทั่วโลกราว 1 ใน 4 ตั้งแต่อายุ 15 ปีขึ้นไป มีภาวะที่ตนเองรู้สึกโดดเดี่ยว โดยเฉพาะกับกลุ่มคนหนุ่มสาวที่กำลังเริ่มต้นชีวิตวัยผู้ใหญ่ (อายุ 19-29 ปี) มีอัตราความเหงาสูงที่สุดเฉลี่ย 27% ซึ่งผลสำรวจนี้ก็สอดคล้องกับงานวิจัยในสิงคโปร์ที่มีรายงานออกมาว่า คนกลุ่มนี้บางคนมีความเครียดในบางครั้งเวลาต้องสนทนากับคนแบบตัวต่อตัว เนื่องจากพวกเขามองว่าการสนทนารูปแบบนี้คาดเดาได้ยาก และกลัวว่าจะถูกตัดสินหรือมองว่าไม่ดีโดยคู่สนทนา

 

ส่วนหนึ่งก็ต้องยอมรับว่า โลกยุคดิจิทัลที่นำโดยอินเทอร์เน็ต สมาร์ทโฟน และโซเชียลมีเดีย อาจมีส่วนทำให้คนในสังคมมีปฏิสัมพันธ์กันน้อยลง แต่เมื่อเป็นเช่นนี้ สำนวนที่ว่า ‘หนามยอกต้องเอาหนามบ่ง’ ก็อาจเป็นทางออกหนึ่งให้กับใครบางคนในภาวะสังคมเช่นนี้ที่พวกเขากลัวการถูกสังคมตัดสิน โดยงานวิจัยของ University College London (UCL) พบว่า แชตบอตเป็นเครื่องมือที่เปรียบได้กับพื้นที่ปลอดภัยที่สามารถรับฟังเรื่องเครียดของผู้ใช้งานโดยไม่ต้องถูกตัดสินได้ และยังเป็นวิธีรักษาความกังวลเบื้องต้นได้ในกรณีที่ผู้ป่วยไม่สะดวกพบแพทย์

 

สำหรับแสนดี แอปมีฟีเจอร์ให้ผู้ใช้งานเขียนบันทึกความรู้สึกของตัวเองลงไป เพื่อระบายความในใจออกมา ซึ่งเป็นหนึ่งในวิธีปลดปล่อยที่ได้รับการยอมรับในเชิงจิตวิทยา

 

จุดเด่นของแสนดีอาจไม่ใช่แชตบอตที่ฉลาดรอบรู้ที่สุด แต่บริษัทต้องการวางจุดยืนของแสนดีในตอนนี้ให้เป็น ‘เพื่อนที่ดีที่สุดของคนวัยทำงาน’

 

 

อย่างไรก็ตาม แสนดียังอยู่ในช่วงเริ่มต้นที่เพิ่งเปิดให้บริการมาประมาณ 1 เดือนเท่านั้น และฟีเจอร์หลายอย่างก็ยังอยู่ระหว่างการพัฒนา เช่น ช่องแชตที่คุยกันจะไม่ได้ถูกเซฟเก็บไว้ เป็นต้น ซึ่งตอนนี้มีผู้ใช้งานทั้งหมดประมาณ 1,000 คน

 

ฟีเจอร์ของ แสนดี

 

  • Live 2D Chat: โต้ตอบกับผู้ช่วย AI แบบเรียลไทม์ผ่านตัวละคร Saen-D (ใช้งานได้ 14 วันในเวอร์ชันฟรี หลังจากนั้นจะกลับไปเป็นช่องแชตปกติ)
  • ระบบกิจกรรม: บันทึกตารางกิจกรรมล่วงหน้า และคอยแจ้งเตือนเมื่อถึงเวลา
  • โหมดโฟกัส: ฟังเพลงระหว่างกิจกรรมด้วยระบบ Pomodoro ทำให้มีสมาธิระหว่างทำงานมากยิ่งขึ้น
  • มินิเกม: เล่นเกมสนุกๆ ช่วยฝึกสมองและผ่อนคลาย
  • รายงานประสิทธิภาพส่วนบุคคลและสถิติของอารมณ์ผู้ใช้

 

ในส่วนของมุมมองธุรกิจ บอทแอนด์ไลฟ์ใช้เงินลงทุนราว 2 ล้านบาทในการสร้างแสนดี และตั้งเป้าขยายจำนวนผู้ใช้งานให้มากขึ้นแตะ 3 แสนคนภายในสิ้นปีนี้ พร้อมทั้งค้นหาช่องทางการสร้างรายได้จากการซื้อขายไอเท็มในแพลตฟอร์ม และช่องทางการสมัครเวอร์ชันพรีเมียมที่ให้ผู้ใช้งานเข้าถึงฟีเจอร์ได้มากกว่า

 

สำหรับเทคโนโลยีเบื้องหลังแสนดี ธวัชชัยเล่าว่า บริษัทใช้โมเดล AI จากหลายค่าย ไม่ว่าจะเป็น Llama จาก Meta, OpenThaiGPT โมเดลที่ถูกออกแบบมาสำหรับรองรับภาษาไทย และโมเดลอื่นๆ 

 

โดยรวมแล้ว แสนดีก็เป็นอีกหนึ่งเทคโนโลยีที่พัฒนาโดยคนไทย เพื่อแก้ไขปัญหาสังคมด้วยการบรรเทาความเครียดและการพูดคุยโดยไม่ถูกตัดสิน แต่แน่นอนว่าแชตบอตนั้นไม่ใช่สิ่งที่จะมาแทนที่การสนทนากับมนุษย์ได้ในตอนนี้ อีกทั้งเรื่องของการพึ่งพา AI มากเกินไปสำหรับคนบางกลุ่มก็ยังคงเป็นคำถามอยู่ว่า เมื่อคนรู้สึกสบายใจกับการบ่นเรื่องราวชีวิตกับแชตบอตแล้ว เมื่อนั้นเขาจะยิ่งตีตัวออกหากจากสังคมกว่าที่เคยเป็นหรือไม่ ฉะนั้นการใช้งานอย่างมีสมดุลเป็นสิ่งที่ไม่ควรมองข้าม

 

ทุกคนสามารถโหลดแอปแสนดีมาลองใช้จากทั้ง App Store และ Google Play Store ได้แล้ว

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising