×

พระพุทธรูปอุลตร้าแมน ลบหลู่ศาสนาหรือท้าทายอำนาจรัฐ

09.09.2019
  • LOADING...
พระพุทธรูปอุลตร้าแมน

HIGHLIGHTS

4 MINS. READ
  • กรณีภาพเขียนศิลปะพระพุทธรูปอุลตร้าแมน ผลงานของนักศึกษาสาขาศิลปศึกษา คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา โดนโจมตีจากชาวพุทธไทยในโลกโซเซียลอย่างหนักหน่วง คำถามที่น่าสนใจคือ อะไรกันแน่ที่เป็นปัญหา ระหว่างตัวงานศิลปะ หรือชุดความคิดเกี่ยวกับพุทธศาสนาแบบไทย 
  • เหตุผลหนึ่งที่ทำให้เกิดกระแสการต่อต้านกรณีพระพุทธรูปอุลตร้าแมน คืองานศิลปะนี้ไปกระทบและสั่นคลอนชุดความคิดอันเป็นอุดมคติเกี่ยวกับพระพุทธรูปของชาวพุทธไทยและพุทธศาสนาของรัฐ ที่จะต้องเป็นพระพุทธรูปที่อยู่ภายในพื้นที่ที่เรียกว่า ‘พื้นที่ของความศักดิ์สิทธิ์’ ที่ไม่ควรมาเกี่ยวข้องกับเรื่องทางโลก 
  • สิ่งที่ทำให้กรณีงานศิลปะพระพุทธรูปอุลตร้าแมนเป็นปัญหา จึงไม่ได้อยู่ที่รูปลักษณ์หรือเรื่องราวเพียงอย่างเดียว

​ครั้งหนึ่งเมื่อปี พ.ศ. 2539 ในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมาหรือโคราช เคยเกิดเหตุการณ์การประท้วงต่อต้านครั้งใหญ่เกิดขึ้น จากกรณีหนังสือการเมืองในอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี ของอาจารย์สายพิน แก้วงามประเสริฐ โดยหนังสือเล่มนี้ปรับปรุงมาจากวิทยานิพนธ์เรื่อง ภาพลักษณ์ของท้าวสุรนารีในประวัติศาสตร์ไทย 

 

วิทยานิพนธ์เล่มนี้ พบว่าเรื่องราวประวัติศาสตร์ของท้าวสุรนารีหรือคุณหญิงโมที่รับรู้กันเป็นเรื่องที่ถูกสร้างขึ้นให้เป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ชาตินิยม และพบว่าวีรกรรมย่าโมที่ทุ่งสัมฤทธิ์นั้นไม่ได้มีอยู่จริง วีรกรรมดังกล่าวเป็นสิ่งที่ถูกสร้างขึ้นจากรัฐ เพื่อสร้างสำนึกชาตินิยมไทย 

 

การค้นพบดังกล่าวส่งผลโดยตรงต่อชุดความคิดและความศรัทธาของชาวโคราชที่มีต่อท้าวสุรนารีและความเป็นชาติ จึงเกิดการประท้วงต่อต้านครั้งใหญ่ ประณามผู้เขียนวิทยานิพนธ์ว่าเป็นผู้ทำลายเกียรติภูมิชาวโคราช ถึงขั้นเรียกร้องให้ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยผู้เป็นต้นสังกัดงานวิทยานิพนธ์ฉบับนี้ เรียกคืนวุฒิการศึกษาของผู้เขียนวิทยานิพนธ์ ร้ายที่สุดถึงขั้นมีการขับไล่เจ้าของหนังสือออกจากพื้นที่จังหวัดด้วย

 

พระพุทธรูปอุลตร้าแมน

 

​มาครั้งนี้ เกิดกรณีภาพเขียนศิลปะพระพุทธรูปอุลตร้าแมน อันเป็นผลงานของนักศึกษาสาขาศิลปศึกษา คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ซึ่งเกิดเหตุการณ์ที่มีลักษณะคล้ายกันในพื้นที่จังหวัดเดียวกัน แต่กรณีนี้โดนโจมตีจากชาวพุทธไทยในโลกโซเซียลอย่างหนักหน่วง 

 

ภาพเขียนศิลปะนี้ถูกชาวพุทธไทยบางกลุ่มมอง และกล่าวหาว่าลบหลู่ดูหมิ่นพระพุทธศาสนา มีการเรียกร้องให้เจ้าของศิลปะชิ้นนี้ออกมากล่าวขอขมาต่อชาวพุทธ และเข้ากราบขอขมาต่อเจ้าคณะจังหวัดนครราชสีมาด้วย คำถามที่น่าสนใจคือ อะไรกันแน่ที่เป็นปัญหาในกรณีพระพุทธรูปอุลตร้าแมน ระหว่างตัวงานศิลปะ หรือชุดความคิดเกี่ยวกับพุทธศาสนาแบบไทย 

เหตุผลหนึ่งที่ทำให้เกิดกระแสการต่อต้านกรณีพระพุทธรูปอุลตร้าแมน คืองานศิลปะนี้ไปกระทบและสั่นคลอนชุดความคิดอันเป็นอุดมคติเกี่ยวกับพระพุทธรูปของชาวพุทธไทยและพุทธศาสนาของรัฐ โดยพระพุทธรูปในอุดมคติของชาวพุทธไทย จะต้องเป็นพระพุทธรูปที่อยู่ภายในพื้นที่ที่เรียกว่า ‘พื้นที่ของความศักดิ์สิทธิ์’ ที่ไม่ควรมาเกี่ยวข้องกับเรื่องทางโลก 

 

พระพุทธรูปอุลตร้าแมน

 

ดังนั้นกรณีการนำเอาพระพุทธรูปอันเป็นสิ่งที่อยู่ในอุดมคติของชาวพุทธไทย มาสร้างผูกโยงกับอุลตร้าแมนซูเปอร์ฮีโร่ แม้เจ้าของผลงานศิลปะจะกล่าวว่า ผลงานชิ้นนี้ต้องการจะสื่อให้พระพุทธเจ้าเปรียบเสมือนซูเปอร์ฮีโร่ก็ตาม แต่สิ่งเหล่านี้ก็เป็นสิ่งที่สัมพันธ์กับทางโลก และอยู่นอกเหนือพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ งานศิลปะชิ้นนี้จึงถูกมองว่าเป็นสิ่งแปลกปลอม และเป็นสิ่งที่ดูหมิ่นศาสนา ไม่เป็นไปตามครรลองลักษณะของพระพุทธรูปที่ถูกต้อง

 

​อย่างไรก็ตามในปัจจุบันเราจะเห็นว่า ในวงการพุทธศาสนาไทยเราก็พบเห็นพระพุทธรูปที่มีรูปลักษณะที่แปลกประหลาดอยู่จำนวนมาก และตอบสนองคุณค่าที่สัมพันธ์กับเรื่องทางโลก ไม่ว่าจะเรื่องร่ำรวยเงินทอง การค้าขาย โชคลาง ความรัก เช่น พระพุทธรูปเศรษฐีนวโกฐิ ที่มีรูปลักษณะที่ออกจะแปลกประหลาด เพราะเป็นพระพุทธรูปที่มีเศียรหลายเศียร หรือพระพุทธรูปที่มีชื่อและนามที่สัมพันธ์กับคุณค่าในทางโลก เช่น พระมหาเศรษฐี พระโคตรทันใจ พระซูเปอร์รวย พระมหาโชคมหาลาภ อะไรก็ว่ากันไป 

 

พระพุทธรูปอุลตร้าแมน

 

หรือแม้แต่การสร้างพระพุทธรูปให้เป็นส่วนหนึ่งเพื่อตอบสนองกระแสการท่องเที่ยว ไม่ว่าพระพุทธรูปที่วัดพระธาตุผาซ่อนแก้ว พระพุทธรูปใหญ่ที่สุดในโลกจำนวนมากที่โฆษณากัน หรือแม้แต่ใส่ความเป็นคนให้กับพระพุทธรูปโดยการเติมคำว่า ‘หลวงพ่อ’ ให้กับพระพุทธรูป เช่น หลวงพ่อโสธร หลวงพ่อทันใจ ฯลฯ แต่พระพุทธรูปเหล่านี้ยังคงอยู่ในพื้นที่ของความศักดิ์สิทธิ์ตามชุดความคิดเกี่ยวกับพระพุทธรูปของชาวพุทธไทย หรือพระพุทธในอุดมคติของชาวพุทธไทยนั่นเอง 

 

ดังนั้นไม่ว่าพระพุทธรูปเหล่านี้จะมีลักษณะแปลกประหลาดอย่างไร จะมีกี่สิบเศียร จะทำท่าทางหรือมีชื่อแปลกประหลาดอย่างไร เกี่ยวพันเกี่ยวโยงกับเรื่องทางโลกอย่างไร หากยังอยู่ในพื้นที่ความศักดิ์สิทธิ์อยู่ ก็จะไม่ถือว่าเป็นการลบหลู่ดูหมิ่นศาสนาของชาวพุทธและพุทธศาสนาแห่งรัฐไทย

พระพุทธรูปอุลตร้าแมน

 

หากลองเทียบกรณีของพระพุทธรูปอุลตร้าแมนนี้ กับกรณีเหตุการณ์อื่นๆ ที่เกิดขึ้นทั้งทางพุทธศาสนา หรือการเมืองเรื่องการเขียนประวัติศาสตร์ ก็มีลักษณะที่เหมือนคล้ายคลึงกัน ไม่ว่าจะกรณีวัดพระธรรมกาย หรือกรณีหนังสือการเมืองในอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี 

 

ในกรณีวัดพระธรรมกาย แน่นอนว่าอาจจะคล้ายคลึงมากหากเทียบกับกรณีของพระพุทธรูปอุลตร้าแมน เพราะในกรณีวัดพระธรรมกายมีลักษณะของการสร้าง และการนำเสนอองค์กรสงฆ์ขึ้นมาในโลกยุคสมัยใหม่ ที่ทลายกรอบพระพุทธศาสนาในอุดมคติของชาวไทยแท้แทบทั้งสิ้น ไม่ว่าจะลักษณะของการตีความพระธรรมวินัย ที่มีการนำพระไตรปิฎกจากหลายที่มาสอบทานกันตามหลักการทำงานวิชาการในโลกสมัยใหม่ การสร้างโครงสร้างการบริหารจัดการองค์กรที่สัมพันธ์กับเรื่องของการตลาด การใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ช่วยเผยแพร่คำสอน หรือรูปแบบโครงสร้างสถาปัตยกรรม อาคารลูกแก้ว มหาธรรมกายเจดีย์ ที่หลายคนล้อเลียนกันว่าเป็นจานบิน UFO สิ่งเหล่านี้ท้าทายต่อชุดความคิดอันเป็นอุดมคติของพุทธศาสนาแห่งรัฐ และท้าทายต่ออำนาจการกุมอำนาจคำอธิบายความถูกต้องดีงามที่รัฐสร้างขึ้น หรือกล่าวง่ายๆ กระทบต่ออำนาจการนิยามความถูก-ผิด ความแท้-เทียม ซึ่งรัฐเป็นผู้ควบคุม ดังนั้นกรณีวัดพระธรรมกายจึงถือเป็นสิ่งแปลกปลอมทางศาสนาที่มีภัยต่อความมั่นคงแห่งรัฐ

 

พระพุทธรูปอุลตร้าแมน

 

​ถึงแม้ในวัดอื่นๆ จะเห็นว่าก็มีการสร้างวัด ตีความอะไรต่ออะไร ที่หวือหวาอลังการไม่ต่างกัน ไม่ว่าจะเพื่อจุดขายของวัดหรือของสำนัก ทั้งวัดอลังการๆ แบบครูบา วัดป่าแบบพระอีสาน วัดแบบ ว.วชิรเมธี หรือวัดพุทธพาณิชย์อีกจำนวนมาก ก็ไม่ถูกมองว่าเป็นสิ่งแปลกปลอม เพราะสิ่งเหล่านี้ไม่กระทบต่อชุดความคิดเรื่องวัดในอุดมคติของชาวพุทธไทย และไม่กระทบต่อภาพลักษณ์วัดและพุทธศาสนาในอุดมคติของรัฐ และที่รัฐสร้างขึ้นจนกลายเป็นความคิดวัดและศาสนาในอุดมคติของชาวพุทธในสังคมไทย 

 

กล่าวง่ายๆ แม้จะแปลกแต่ยังอยู่ภายใต้ และสยบยอมต่ออำนาจของรัฐก็ถือว่ายังไม่ผิด

 

​เช่นกัน ในกรณีหนังสือการเมืองในอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี ดังที่กล่าวไว้ข้างต้น ก็มีลักษณะคล้ายคลึงกัน เพราะหนังสือเล่มนี้ได้ท้าทายสิ่งที่เรียกว่าการเมืองเรื่องการเขียนประวัติศาสตร์ ซึ่งมีผลกระทบและท้าทายต่อชุดความรู้อันเป็นอุดมคติของคนในพื้นที่ และต่ออำนาจการเขียนประวัติศาสตร์ที่ควบคุมด้วยรัฐ หรือที่เรียกว่า ประวัติศาสตร์แบบชาตินิยม จนกลายเป็นชุดความรู้ ความเชื่อ และความศรัทธาของผู้คนในสังคม เช่นเดียวกับกรณีพระพุทธรูปแปลกประหลาดต่างๆ จำนวนมาก หรือ วัดพุทธพาณิชย์ทั้งหลาย หากประวัติศาสตร์ที่สร้างขึ้นมาใหม่ ไม่ว่าจะถูกผลิตออกมาในรูปแบบใด หวือหวาอลังการ ตีความ ตัดต่อ ดัดแปลง แต่งเติม เสริมแต่งอย่างไร หากประวัติศาสตร์เหล่านี้ไม่กระทบต่อชุดความรู้ และอำนาจการควบคุมคำอธิบายหลักของรัฐ สิ่งเหล่านั้นก็ไม่ถือว่าเป็นสิ่งแปลกปลอม ​

 

​ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่า สิ่งที่ทำให้กรณีงานศิลปะพระพุทธรูปอุลตร้าแมนเป็นปัญหา จึงไม่ได้อยู่ที่รูปลักษณ์หรือเรื่องราวเพียงอย่างเดียว 

 

พระพุทธรูปอุลตร้าแมน

 

แต่ปัญหาเกิดขึ้นเพราะผลงานศิลปะอันสวยงามชิ้นนี้ไปกระทบ และท้าทายชุดความคิดและอุดมคติเกี่ยวกับพระพุทธรูปแบบชาวพุทธไทย รวมถึงไปกระทบและท้าทายต่ออำนาจการควบคุมการอธิบายความถูก-ผิด แท้-เทียม หรือชุดความคิดทางศาสนาอันเป็นอุดมคติที่รัฐไทยสร้างขึ้น และเป็นผู้กุมอำนาจทิศทางในการอธิบายความ 

 

ดังนั้นสิ่งที่เป็นปัญหาจึงไม่ได้อยู่ที่งานศิลปะ แต่ปัญหาอยู่ที่ชุดอุดมคติที่คับแคบนั้นต่างหาก ไม่ว่าจะกรณีไหน ไม่ว่าจะกรณีหนังสือการเมืองในอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี หรือกรณีของวัดพระธรรมกาย สิ่งเหล่านี้จึงถูกมองว่าเป็นสิ่งแปลกปลอม และเป็นการลบหลู่ดูหมิ่นไม่ต่างกัน

 

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

อ้างอิง:

  • กาญจนี ละอองศรี, กรณีหนังสือเรื่อง ‘การเมืองในอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี’ สงครามศักดิ์ศรีของชาวโคราช, วารสารธรรมศาสตร์, ปีที่ 22 ฉบับที่ 3 (กันยายน-ธันวาคม) , 2539.
  • ธงชัย วินิจจะกุล, ออกนอกขนบประวัติศาสตร์ไทย, สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน: กรุงเทพฯ, 2562.
  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X