×

สงครามรัสเซีย-ยูเครนฉุด GDP โลกโตต่ำ-เสี่ยงเข้าสู่ภาวะถดถอย

28.03.2022
  • LOADING...
สงครามรัสเซีย-ยูเครนฉุด GDP โลกโตต่ำ-เสี่ยงเข้าสู่ภาวะถดถอย

ครบ 1 เดือนแล้วหลังจากที่รัสเซียส่งกองกำลังทหารเข้ารุกรานยูเครน แต่ดูเหมือนว่าไฟสงครามในครั้งนี้ยังไม่มีทีท่าจะสงบลงได้ในเร็ววัน นอกจากความสูญเสียต่อชีวิตและทรัพย์สินแล้ว การสู้รบที่เกิดขึ้นยังสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจไปทั่วโลก

 

การประกาศคว่ำบาตรรัสเซียอย่างรุนแรงของชาติตะวันตกส่งผลให้ราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์ที่รัสเซียเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่พุ่งทะยานขึ้นอย่างต่อเนื่อง กระทบต่อต้นทุนการผลิตและการขนส่งของภาคอุตสาหกรรม รวมถึงค่าครองชีพของผู้บริโภคในทุกประเทศอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

 

GDP โลกชะลอตัว

 

สถานการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้หน่วยงานทางเศรษฐกิจและสำนักวิจัยต่างๆ เริ่มมีมุมมองต่อการเติบโตของเศรษฐกิจโลกในปีนี้ไปในเชิงลบมากขึ้น โดยการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (UNCTAD) ได้ปรับลดคาดการณ์ GDP โลกในปีนี้ลงจาก 3.6% มาอยู่ที่ 2.6% พร้อมประเมินว่าเศรษฐกิจกลุ่มยูโรโซนจะชะลอตัวลงแรงที่สุด GDP อาจขยายตัวได้เพียง 1.7% จากคาดการณ์เดิมที่ 3.4% เนื่องจากพึ่งพาการนำเข้าพลังงานจากรัสเซียในสัดส่วนที่สูง

 

ขณะที่ธนาคาร Barclays ของอังกฤษได้ปรับลดคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกในปีนี้ลงเหลือ 3.3% จากเดิมที่คาดไว้ที่ 4.4% พร้อมปรับเพิ่มคาดการณ์เงินเฟ้อทั่วโลกจากเดิม 3.2% เป็น 5.6% 

 

ล่าสุด Kristalina Georgieva ผู้จัดการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้ออกมาระบุว่า IMF จะมีการปรับลดตัวเลขคาดการณ์ GDP โลกในปีนี้ลงอีกในเดือนหน้า จากที่ในช่วงต้นปีที่ผ่านมาได้ปรับลดจาก 4.9% ลงมาอยู่ที่ 4.4% ไปแล้ว 1 รอบ 

 

โดย Georgieva ยังแสดงความกังวลว่าราคาอาหารและพลังงานที่พุ่งสูงขึ้นจากการคว่ำบาตรรัสเซีย ประกอบกับการเร่งขึ้นดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อของธนาคารกลางในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว จะส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาทั่วโลก

 

“สิ่งที่เราพยายามผลักดันให้เกิดตลอดช่วงที่ผ่านมาคือ การขยายตัวของเศรษฐกิจในอัตราที่สูงขึ้นในขณะที่ปัญหาเงินเฟ้อค่อยๆ ลดลง แต่สถานการณ์ในขณะนี้กำลังเป็นไปในทิศทางตรงกันข้าม เพราะเศรษฐกิจกำลังชะลอตัวในขณะที่เงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้น” Georgieva ระบุ

 

อย่างไรก็ดี ผู้บริหาร IMF ยังเชื่อว่าภาพรวมเศรษฐกิจโลกในปีนี้จะยังขยายตัวได้เป็นบวกท่ามกลางปัจจัยลบต่างๆ ที่เกิดขึ้น แต่เศรษฐกิจในบางประเทศที่มีความเปราะบางเป็นทุนเดิมอยู่ก่อนหน้าแล้วอาจต้องเผชิญกับความเสี่ยงในการเข้าสู่ภาวะถดถอยที่เพิ่มขึ้น ซึ่งหนึ่งในปัจจัยชี้วัดสำคัญคือความยืดเยื้อของสถานการณ์สู้รบในยูเครน ที่ยิ่งลากยาวมากเท่าไร ความเสียหายของเศรษฐกิจโลกก็จะยิ่งเพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว

 

เสี่ยงเข้าสู่ภาวะถดถอย

 

ไม่กี่วันที่ผ่านมา Lutz Kilian และ Michael Plante นักเศรษฐศาสตร์ของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) สาขาดัลลัส ได้ออกมาเตือนว่าเศรษฐกิจโลกอาจไม่สามารถหลีกเลี่ยงการเข้าสู่ภาวะถดถอยได้ หากอุปทานน้ำมันในส่วนที่เคยเป็นของรัสเซียในตลาดโลกไม่ได้รับการผลิตชดเชยจากแหล่งอื่น

 

“ถ้าอุปทานน้ำมันขนาดใหญ่ของรัสเซียหายไปจากตลาด การชะลอตัวลงของเศรษฐกิจโลกจะเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ และมีโอกาสที่การถดถอยของเศรษฐกิจโลกในรอบนี้อาจจะยาวนานกว่าการถดถอยในปี 1991 ที่อิรักบุกโจมตีคูเวตจนทำให้เกิดวิกฤตราคาน้ำมัน” ทั้งสองคนกล่าว

 

Kilian และ Plante ประเมินว่าการเพิ่มอุปทานน้ำมันจากแหล่งอื่นเข้ามาชดเชยน้ำมันของรัสเซียในเวลานี้ดูยังไม่น่าจะเกิดขึ้นได้ หากพิจารณาจากท่าทีของซาอุดีอาระเบียและยูเออีที่ส่งสัญญาณชัดว่าจะไม่เพิ่มกำลังการผลิตของตัวเอง ขณะที่การผลิตน้ำมันจากชั้นหินดินดาน (Shale Oil) ของสหรัฐฯ ก็ยังประสบปัญหาคอขวดในห่วงโซ่การผลิต การขาดแคลนแรงงาน และผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ที่ทำให้นักลงทุนหลีกเลี่ยงที่จะลงทุน

 

“ปัญหาที่เกิดขึ้นทำให้ประเทศผู้นำเข้าน้ำมันเริ่มมองหาช่องทางการชำระเงินในรูปแบบอื่นแทนการใช้เงินดอลลาร์ เพื่อให้การซื้อน้ำมันจากรัสเซียยังดำเนินต่อไปได้ เพราะราคาน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้นกำลังกดดันสถานการณ์เงินเฟ้อและกำลังซื้อของผู้บริโภคในหลายประเทศ” Kilian และ Plante กล่าว

 

นักเศรษฐศาสตร์ทั้งสองรายนี้ยังประเมินด้วยว่าหากปัญหาการขาดแคลนน้ำมันจากรัสเซียยังไม่ได้รับการดูแล จะทำให้ราคาน้ำมันในตลาดโลกยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่องและยืนอยู่ในระดับสูงยาวนานจนถึงจุดที่เป็น Demand Destruction 

 

เศรษฐกิจยุโรปกระอัก

 

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ KKP Research กล่าวว่า ปัจจุบันรัสเซียมีอัตราการผลิตน้ำมันดิบอยู่ที่ 8-9 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนราว 8-9% ของปริมาณการใช้น้ำมันในโลก ขณะเดียวกันรัสเซียยังเป็นผู้ส่งออกก๊าซธรรมชาติรายใหญ่ให้กับยุโรปถึง 1 ใน 3 ดังนั้นสิ่งที่หลายฝ่ายกังวลกันมากในขณะนี้ คือ หากสถานการณ์สู้รบในยูเครนและการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจลุกลามจนถึงขั้นที่รัสเซียต้องปิดท่อก๊าซ จะทำให้เศรษฐกิจยุโรปกระทบอย่างรุนแรง

 

“ราคาพลังงานที่เพิ่มสูงขึ้นก็ถือเป็นแรงกดดันแล้วระดับหนึ่ง แต่สิ่งที่คนกลัวกันมากกว่าคือของขาด เกิดรัสเซียปิดท่อก๊าซยุโรปจะทำอย่างไร ถ้าไม่มีพลังงาน กิจกรรมทางเศรษฐกิจก็เดินหน้าไม่ได้ เศรษฐกิจยุโรปอาจถูกกระตุกให้เข้าสู่ภาวะถดถอยได้เลย ซึ่งถ้ายุโรปถดถอยก็จะจุดชนวนให้โลกถดถอยตามไปด้วย จากความเชื่อมโยงของห่วงโซ่การผลิตและการค้าระหว่างกัน” พิพัฒน์กล่าว

 

พิพัฒน์กล่าวว่า นอกจากผลกระทบในด้านราคาพลังงานแล้ว การคว่ำบาตรรัสเซียยังส่งผลกระทบไปยังราคาสินค้าอื่นๆ เช่น อาหาร อาหารสัตว์ ปุ๋ย และแร่สำคัญอีกหลายชนิด ซึ่งส่งผลให้ต้นทุนการผลิตของภาคอุตสาหกรรมทั่วโลกพุ่งสูงขึ้น และต้องส่งผ่านต้นทุนนั้นมายังผู้บริโภค เกิดเป็นปัญหาเงินเฟ้อ โดยแรงกดดันเงินเฟ้อจะบีบให้ธนาคารกลางต้องขึ้นดอกเบี้ย ทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจชะลอลง เกิดเป็นภาวะที่คล้ายกับ Stagflation

 

ขณะที่ บุรินทร์ อดุลวัฒนะ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ ทีมเศรษฐกิจ และกลยุทธ์ ธนาคารกรุงเทพ กล่าวว่า แม้ว่าภาพรวมเศรษฐกิจโลกในปีนี้จะยังมีแนวโน้มเติบโตได้ในอัตราที่ชะลอลง แต่ความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะถดถอยก็เริ่มมีสูงขึ้นจากปัญหาคอขวดของห่วงโซ่การผลิตและความผันผวนของราคาน้ำมัน ที่ทำให้ความเชื่อมั่นต่อภาวะเศรษฐกิจในระยะข้างหน้าของภาคธุรกิจและผู้บริโภคปรับตัวลดลง

 

“ความไม่แน่นอนของสถานการณ์สงครามในยูเครนและความเสี่ยงเรื่องภูมิรัฐศาสตร์ในระยะข้างหน้า ทำให้เกิดภาวะที่ภาคธุรกิจที่ไม่ได้ Hedge ความเสี่ยงต่างๆ ไว้ ขาดความเชื่อมั่น ไม่กล้าวางแผน ไม่กล้ารับออร์เดอร์ ขณะที่ผู้บริโภคก็ไม่กล้าใช้จ่ายและไม่มีเงินจะไปใช้จ่ายในสินค้าฟุ่มเฟือยต่างๆ ทำให้โอกาสเศรษฐกิจจะเข้าสู่ภาวะถดถอยเริ่มมีมากขึ้น” บุรินทร์กล่าว

 

อย่างไรก็ดี บุรินทร์ยังประเมินว่าปัญหาความขัดแย้งและการสู้รบที่เกิดขึ้นน่าจะหาข้อสรุปกันได้ในเร็วๆ นี้ เนื่องจากยุโรปเองก็ไม่ต้องการให้สถานการณ์ยืดเยื้อ เพราะจะสร้างความลำบากให้ตัวเอง และมีความเสี่ยงที่เศรษฐกิจจะถดถอยจากการพึ่งพาพลังงานจากรัสเซียสูง

 

โดย Bloomberg ประเมินว่า ในกรณีที่สงครามในยูเครนลากยาวต่อไปภายใต้ระดับความขัดแย้งปัจจุบัน จะส่งผลกระทบต่อ GDP ของกลุ่มยูโรโซน 1.6% สูงกว่าผลกระทบต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ และจีน ที่ GDP จะถูกกระทบเพียง 0.5% และ 0.4% ตามลำดับ แต่ในกรณีที่ความขัดแย้งยกระดับขึ้น GDP ของกลุ่มยูโรโซนอาจถูกกระทบมากถึง 3.3% ขณะที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ และจีนจะถูกกระทบเพิ่มขึ้นเป็น 0.9% และ 1.1% ตามลำดับ

 

อ้างอิง:

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising