ในขณะที่โลกกำลังเห็นว่า หลายเมืองของรัสเซียตกเป็นเป้าโจมตีจากอาวุธทำลายล้างของกองทัพรัสเซีย ทั้งปืนใหญ่ จรวด และขีปนาวุธ คงเป็นการยากที่จะไม่มองว่า ยูเครนนั้นกำลังเป็นเหยื่อของประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ที่ตั้งใจจะแสดงพลังอำนาจของรัสเซีย ด้วยการสั่งสอนยูเครนและชาติตะวันตก ซึ่งรวมถึงสหรัฐฯ และ NATO ที่พยายามขยายอิทธิพลมาทางยุโรปตะวันออกในช่วงหลายปีที่ผ่านมา
แต่มุมมองที่มีต่อการทำสงครามของรัสเซียนั้น อาจไม่ใช่แบบเดียวกับที่ผู้สนับสนุนรัสเซียมอง โดยเว็บไซต์สำนักข่าว ABC News ของออสเตรเลีย เผยแพร่บทความที่แสดงให้เห็น ‘ความคิด’ และ ‘ความเชื่อ’ ของหนึ่งในผู้สนับสนุนรัสเซีย ซึ่งมองว่าการทำสงครามในยูเครน เป็นไปเพราะความจำเป็นเพื่อปกป้องตัวเอง ในขณะที่ชาติตะวันตกโดยเฉพาะสหรัฐฯ นั้นเป็นฝ่ายเสแสร้ง
‘ปูติน’ ทำสงครามเพื่อปกป้องรัสเซีย มองยูเครนเป็นภัยคุกคามนิวเคลียร์
- ‘ดมิทรี’ ชายผู้ถือสองสัญชาติทั้งรัสเซียและออสเตรเลีย ที่อาศัยอยู่ในกรุงมอสโก และเป็นหนึ่งในคนที่สนับสนุนการเปิดฉากทำสงครามในยูเครน ให้สัมภาษณ์ต่อ ABC News ด้วยความเชื่อมั่นว่า สิ่งที่ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ทำลงไปในยูเครนนั้น เป็นสิ่งจำเป็นเพื่อปกป้องรัสเซีย
- ดมิทรีมองว่า ความกราดเกรี้ยวและไม่พอใจของชาติตะวันตกที่มีต่อการทำสงครามในยูเครนนั้นเป็นเพียงเรื่อง ‘เสแสร้ง’ โดยเปรียบเทียบกับกรณีของภูมิภาคดอนบาส ซึ่งเป็นพื้นที่ขัดแย้งทางตะวันออกของยูเครน ที่มีการสู้รบระหว่างกองทัพรัฐบาลยูเครนกับกลุ่มกบฏฝักใฝ่รัสเซีย มาตั้งแต่ปี 2014 ซึ่งดมิทรีมองว่า ชาติตะวันตกนั้นให้ความสนใจต่อความขัดแย้งดังกล่าวเพียงเล็กน้อย
- ขณะที่เขายังเชื่อว่า ยูเครนนั้นอาจเป็นภัยคุกคามสำคัญต่อรัสเซีย โดยอ้างถึงรายงานจากสถานีโทรทัศน์ท้องถิ่นของรัสเซีย ที่รายงานว่าในอีก 5 ปีข้างหน้า ยูเครนจะกลายเป็นประเทศฟาสซิสต์ (Facist) หรือประเทศที่สนับสนุนลัทธิอำนาจนิยมและชาตินิยม ด้วยการครอบครองอาวุธนิวเคลียร์
- คำกล่าวอ้างของดมิทรี ตีความจากถ้อยแถลงของโวโลดิเมียร์ เซเลนสกี ประธานาธิบดียูเครน ที่กล่าวในนครมิวนิกของเยอรมนี เมื่อสองสัปดาห์ที่แล้ว ก่อนจะเกิดสงคราม
- โดยเซเลนสกีกล่าวอ้างถึงสนธิสัญญาในปี 1994 ที่ยูเครนตกลงสละหัวรบนิวเคลียร์จำนวนมากกว่า 1,000 หัวรบ ที่ครอบครองไว้หลังการล่มสลายของสหภาพโซเวียต ซึ่งส่วนสำคัญของข้อตกลง หรือที่รู้จักในชื่อ “บันทึกข้อตกลงบูดาเปสต์” คือความปลอดภัยของยูเครน ควรได้รับการรับประกันจากสหรัฐฯ สหราชอาณาจักร และรัสเซีย
- แต่การรับรองความปลอดภัยที่ไม่ชัดเจนของทั้ง 3 ประเทศ ทำให้เซเลนสกี กล่าวว่า “ยูเครนมีสิทธิ์ทุกประการ ที่จะเชื่อว่าบันทึกข้อตกลงบูดาเปสต์นั้นใช้การไม่ได้ และการตัดสินใจทั้งหมดในปี 1994 นั้นกำลังเป็นที่สงสัย”
- ทันทีที่สื่อของรัสเซียเผยแพร่ถ้อยแถลงของเซเลนสกี ข้อความเหล่านี้ก็กลายเป็นประเด็นร้อนที่ถูกตีความว่า ยูเครนกำลังประกาศความต้องการที่จะหาอาวุธนิวเคลียร์มาครอบครองอีกครั้ง ซึ่งดมิทรีเผยว่า ประชาชนรัสเซียต่างช็อกต่อคำกล่าวเรื่องอาวุธนิวเคลียร์ของผู้นำยูเครน และมองว่านั่นเป็น “ข้อผิดพลาดใหญ่ที่สุด” ของเซเลนสกี
- นอกจากนี้ ช่วงหลายวันที่ผ่านมาสื่อท้องถิ่นของรัสเซียยังพยายามนำเสนอรายงานเกี่ยวกับการเลือกปฏิบัติที่เกิดกับชาวแอฟริกัน ในระหว่างที่พยายามหนีออกจากยูเครนไปยังประเทศเพื่อนบ้าน โดยสถานีโทรทัศน์ของรัฐบาลเครมลิน ระบุว่า รายงานเหล่านี้เป็นภาพประกอบของลักษณะการเหยียดเชื้อชาติ และสนับสนุนลัทธินาซีของรัฐบาลยูเครน ซึ่งดมิทรีเชื่อว่านี่เป็นอีกตัวอย่างความเสแสร้งของชาติตะวันตกที่ทำเป็นมองไม่เห็น
“ดังนั้นตอนนี้ชาวรัสเซียทุกคนก็รู้แล้วว่า ลัทธิเสรีนิยมทั้งหมดนั้นเป็นของปลอม” เขากล่าว
- ส่วนคลิปวิดีโอมากมายที่แสดงให้เห็นภาพบ้านเมืองยูเครนถูกทำลายจากฝีมือของกองทัพรัสเซียนั้น ดมิทรีเชื่อว่าทั้งหมดเป็นเพียงเรื่องลวงโลก
“เมื่อคุณเห็นการโจมตีด้วยระเบิด มันคือกองทัพยูเครนที่วางระเบิดไว้ภายในเมือง”
ชาวรัสเซียสนับสนุนการทำสงครามมากแค่ไหน?
- การสำรวจความเห็นของประชาชนในรัสเซียนั้น ถือเป็นสิ่งที่ค่อนข้างลำบาก และยากจะบอกได้ว่ามีคนที่คิดเหมือนดมิทรีมากแค่ไหน แต่ก็มีแนวโน้มที่อาจจะเป็นประชากรส่วนใหญ่
- รองศาสตราจาร์ยนิกิตา ซาวิน จากมหาวิทยาลัย HSE ในมอสโก ระบุว่าผลสำรวจอย่างเป็นทางการ แสดงให้เห็นว่าชาวรัสเซียราว 70% นั้นสนับสนุนให้ส่งทหารไปยังยูเครน แต่เขาชี้ว่า “มีเหตุผลมากมายที่เราไม่ควรเชื่อถือผลสำรวจเหล่านี้”
- ซาวินเชื่อว่าผลสำรวจทางการเมืองภายใต้รัฐบาลเผด็จการนั้นมีอคติ และเอนเอียงไปตามการตัดสินใจของรัฐบาล กล่าวคือการทำโพลสำรวจนั้นเป็นไปตามความต้องการของสังคมที่สอดคล้องกับความเห็นของคนส่วนใหญ่ และแน่นอนว่าเป็นไปตาม ‘ความกลัว’ ต่อการลงโทษ หากให้ผลตอบรับที่ผิดไปจากที่ต้องการ
“มันมีความเป็นไปได้สูง ที่ในความเป็นจริง การยอมรับปฏิบัติการทางทหารของรัสเซียในยูเครนนั้นจะน้อยกว่าที่มีการประกาศไว้”
- แต่ถึงแม้ผลสำรวจจะเป็นความจริงตามที่โพลภายใต้การสนับสนุนของรัฐต้องการ แต่ก็มีแนวโน้มที่ชาวรัสเซียส่วนใหญ่อาจสนับสนุนสงคราม ซึ่งดมิทรีเชื่อว่าการคว่ำบาตรรุนแรงของชาติตะวันตกและสหรัฐฯ ที่มีต่อรัสเซีย จะยิ่งทำให้ชาวรัสเซียสนับสนุนการทำสงครามในยูเครนมากขึ้น
- “การคว่ำบาตรต่อเจ้าหน้าที่รัฐและลูกๆ ของพวกเขาเหล่านี้ เป็นของขวัญชิ้นใหญ่ที่สุดที่คุณสามารถมอบให้เราได้” ดมิทรีกล่าว พร้อมทั้งชี้ว่าผลการคว่ำบาตรจะทำให้รัฐบาลเครมลินส่งข้อความอันทรงพลังไปยังประชาชนรัสเซียทั่วไปว่า “เราบอกคุณแล้ว ชาติตะวันตกนั้นเป็นโรคกลัวรัสเซีย นี่คือข้อพิสูจน์”
ความหวาดกลัวและการคอร์รัปชัน คือเครื่องมือของปูติน
- เป็นที่แน่นอนว่าการคว่ำบาตรของชาติตะวันตกที่มีต่อรัสเซียนั้น ส่งผลกระทบใหญ่หลวงต่อธุรกิจและชีวิตประจำวันของประชาชนแทบทุกด้าน แต่ คอนสแตนติน ฟอน เอกเกิร์ต นักวิเคราะห์และนักข่าวอิสระชาวรัสเซียเชื่อว่า การคว่ำบาตรเหล่านี้จะ (ยัง) ไม่กลายเป็นภัยคุกคามต่อรัฐบาลเครมลิน
- “ปัญหาหลักของชุมชนธุรกิจรัสเซีย คือพวกเขาทั้งหมดกลัว ความกลัวและการทุจริตเป็นเครื่องมือสองอย่างที่ปูตินใช้ในการปกครองรัสเซีย” เอกเกิร์ต อดีตหัวหน้าบรรณาธิการของสำนักข่าว BBC ในมอสโก ซึ่งอพยพออกจากรัสเซียไปยังลิทัวเนีย นับตั้งแต่ปี 2014 หลังรัสเซียผนวกรวมไครเมียกล่าว
- ขณะที่เอกเกิร์ตชี้ว่ากลุ่มชนชั้นนำในรัสเซียนั้นมีความรู้สึกกลัว แต่ไม่ได้หมายความว่าเขาจะกล้าดำเนินการใดๆ เพื่อต่อต้านรัฐบาลเผด็จการของปูติน
- แต่หากการประท้วงต่อต้านสงครามยังคงอยู่และการต่อสู้ยังยืดเยื้อ ก็มีโอกาสเป็นไปได้ที่ปูตินอาจจะถูกโค่นล้ม
- อย่างไรก็ตาม การครองอำนาจของปูตินนั้นค่อนข้างมีความมั่นคงและปลอดภัย ผู้เชี่ยวชาญที่ติดตามการทำงานของรัฐบาลเครมลิน เชื่อว่าการควบคุมอำนาจของปูตินนั้นเพิ่มขึ้น ในขณะที่เขายิ่งถูกโดดเดี่ยวมากขึ้นจากการนำพาประเทศสู่สงคราม
ผลจากการยึดมั่นอำนาจของปูติน
- แต่ถึงแม้ว่าปูตินจะถูกโค่นอำนาจลงก็ตาม เอกเกิร์ตเชื่อว่ามีความเป็นไปได้ที่รัสเซียจะไม่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งเป็นผลจากการรณรงค์ของปูติน เพื่อขจัดจุดอ่อนของการกุมอำนาจจากระบอบเสรีประชาธิปไตยตลอด 2 ทศวรรษที่ผ่านมา
“คุณต้องการการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ทางจิตวิทยา ในเยอรมนี (หลังสงคราม) การเปลี่ยนแปลงนั้นถูกบังคับโดยผู้ยึดครอง แต่ไม่มีใครที่จะเข้ายึดครองรัสเซีย” เขากล่าว
- ซึ่งในขณะที่สงครามในยูเครนกำลังรีเซ็ตความสงบเรียบร้อยทางเศรษฐกิจและความมั่นคงในยุโรป แต่เอกเกิร์ตเชื่อว่า ชาวรัสเซียประเภทที่จะช่วยก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางจิตวิทยา เช่น คนหนุ่มสาว คนเมือง และคนที่สนับสนุนประชาธิปไตยในรัสเซีย ก็กำลังหนีออกจากประเทศเพิ่มมากขึ้น
- ข้อมูลดังกล่าวสอดคล้องกับข่าวที่ว่า มีชาวรัสเซียจำนวนหนึ่งกำลังหลบหนีข้ามชายแดนไปยังฟินแลนด์ เนื่องจากกังวลต่อข่าวลือที่รัฐบาลเครมลินอาจประกาศกฎอัยการศึก และอาจมีการบังคับเกณฑ์ทหารหรือใช้อำนาจเผด็จการในการควบคุมประเทศ
แฟ้มภาพ: Photo by Fadel Itani / NurPhoto via Getty Images
อ้างอิง: