×

‘ปฏิบัติการทางทหารของรัสเซีย’ กับจุดเปลี่ยนสำคัญ: รัสเซีย (จะ) พ่ายแล้วจริงหรือ?

16.09.2022
  • LOADING...
ปฏิบัติการทางทหารของรัสเซีย

HIGHLIGHTS

  • ดูเหมือนว่าในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาจะเริ่มมีการเคลื่อนไหวใหญ่จากทางฝั่งกองทัพยูเครนที่ผู้เชี่ยวชาญหลายท่านประเมินว่าจุดนี้คือ ‘จุดเปลี่ยน’ (Turing Point) ที่สำคัญของสงครามยูเครน-รัสเซีย
  • หากใช้แค่ปัจจัยด้านช่วงเวลาและฤดูกาลมาวิเคราะห์เท่านั้น เราจะพบว่าช่วงกันยายนเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อหรือเรียกกันว่า ‘Распутица – รัสปูติ๊ทซ่ะ’ ซึ่งเป็นช่วงที่สภาพภูมิประเทศในยุโรปตะวันออกอย่างรัสเซีย รวมไปถึงยูเครนจะมีลักษณะเป็นโคลน ด้วยเหตุนี้หากถนนหนทางกลายเป็นโคลนตมไปหมด จะส่งผลต่อการรุกคืบและการส่งกำลังบำรุง ซึ่งถือว่าเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดอีกอย่างหนึ่งในการไปสู่ชัยชนะของแต่ละฝ่าย
  • ณ ตอนนี้ยูเครนกำลังใช้กำลังพลทหารราบทุ่มลงมาเจาะแนวป้องกันที่รัสเซียยึดครองอยู่ เป็นลักษณะเหมือนเข็ม คือแคบๆ แต่ยาว ซึ่งเป้าหมายที่ยูเครนควรทำต่อไปคือการ ‘แหวก’ แนวเจาะที่ว่านี้ให้กว้างขึ้น เพื่อรองรับการส่งกำลังบำรุงในอนาคต
  • หากยูเครนยังคงครองความได้เปรียบแบบนี้ไปตลอดช่วงรัสปูติ๊ทซ่ะ โอกาสที่รัสเซียจะกลับมายึดคืนจุดที่ต้องสละไปก็ยากขึ้น และถ้ายูเครนกลับมาตีโต้จนยึดคืนแคว้นโดเนตสก์และลูฮันสก์ทั้งหมดได้ จะกลายเป็นบูมเมอแรงย้อนกลับไปเลื่อยขาเก้าอี้ของปูติน เพราะนั่นเท่ากับว่า 6-7 เดือนที่ผ่านมานั้นสูญเปล่าสำหรับรัสเซีย รวมไปถึงจะถูกตีความว่าเป็นความล้มเหลวของปูตินได้ทันที
  •  

ปฏิบัติการพิเศษ หรือ ‘Спецоперация – สเป็ทส์อะเปร้าทเซีย’ ของรัสเซียในยูเครนดำเนินมาสู่เดือนที่ 7 แล้ว และมีเหตุการณ์ต่างๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็นการกล่าวอ้างหลายๆ ครั้งเกี่ยวกับการจะตีโต้ของกองทัพยูเครนต่อแนวรบที่รัสเซียควบคุมพื้นที่ หรือการกล่าวโทษกันไปมาระหว่างรัสเซียและยูเครน เรื่องการโจมตีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ซาปอริซเซีย (Zaporizhia) ที่ทั้งโลกกำลังจับจ้องอยู่ด้วยเกรงมหันตภัยกัมมันตรังสีรั่วไหลจากความเสียหายของโรงไฟฟ้า 

 

แต่ดูเหมือนว่าในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาจะเริ่มมีการเคลื่อนไหวใหญ่จากทางฝั่งกองทัพยูเครนที่ผู้เชี่ยวชาญหลายท่านประเมินว่าจุดนี้คือ ‘จุดเปลี่ยน’ (Turing Point) ที่สำคัญของ ‘ปฏิบัติการทางทหาร’ ตามคำจำกัดความของฝั่งรัสเซียหรือในอีกชื่อคือ ‘สงครามรัสเซีย-ยูเครน’ ตามทรรศนะของผู้ที่คิดต่างไปจากฝ่ายรัสเซีย ยังไม่นับข่าวที่บรรดาสื่อตะวันตกตีข่าวว่าผู้นำเชชเนียพันธมิตรของ วลาดิเมียร์ ปูติน นั้นออกมา ‘สับเละ’ ฝ่ายตัวเอง ทุกอย่างเหมือนประเดประดังเข้ามาช่วงนี้พอดี

 

 

ปฏิบัติการทางทหารของรัสเซีย1

แฟ้มภาพ: Yuri Kadobnov / AFP

 

อันที่จริงถ้าตัดทุกอย่างออกไปแล้ว ใช้แค่ปัจจัยด้านช่วงเวลาและฤดูกาลวิเคราะห์เท่านั้น เราก็จะพบว่าช่วงกันยายนเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อหรือเรียกกันว่า ‘Распутица – รัสปูติ๊ทซ่ะ’ ซึ่งเป็นช่วงที่สภาพภูมิประเทศในยุโรปตะวันออกอย่างรัสเซีย รวมไปถึงยูเครนจะมีลักษณะเป็นโคลน อันเนื่องมาจากการเปลี่ยนจากฤดูร้อนเข้าสู่ฤดูใบไม้ร่วง ก่อนจะเข้าสู่หน้าหนาว ถามว่ามันสำคัญอย่างไร? ก็เพราะว่าถ้าหากถนนหนทางกลายเป็นโคลนตมไปหมดจะส่งผลต่อการรุกคืบและการส่งกำลังบำรุง ซึ่งถือว่าเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดอีกอย่างหนึ่งในการไปสู่ชัยชนะของแต่ละฝ่าย

 

นับว่าปรากฏการณ์ที่กองทัพยูเครนเริ่มตีโต้กลับครั้งใหญ่ซึ่งถือว่าเป็นครั้งแรก หลังจากที่สื่อตะวันตกและกองเชียร์ฝ่ายยูเครนประโคมมาหลายครั้งในรอบเกือบครึ่งปีที่ผ่านมานี้ และเรียกได้ว่าครั้งนี้ยูเครนเอาจริงเพราะเป็นการใช้กำลังทหารสูงถึง 50,000 นายในการเข้าโจมตีอาณาบริเวณแคว้นคาร์คอฟ (Kharkov) ซึ่งทหารรัสเซียที่คุมพื้นที่บริเวณนี้ต้องถอยร่นออกไป สื่อบางแห่งถึงกับใช้คำว่า ‘หนีหางจุกตูด’ กับทหารรัสเซียที่ถอยร่นไป แต่ทว่าแนวรบทางภาคใต้อย่างคีร์โซน (Kherson) นั้นถึงแม้ว่าจะมีความเคลื่อนไหวแต่ก็ยังสเกลไม่เท่าแนวรบภาคตะวันออก

 

ทั้งฝ่ายยูเครนและรัสเซียต่างมีข้อจำกัดของตัวเองในการทำศึกนี้ ฝ่ายยูเครนเองก็มีกำลังพลและอาวุธยุทโธปกรณ์ที่จำกัด ก็ต้องเลือกเข้าตีในโซนที่น่าจะได้เปรียบซึ่งก็คือภาคตะวันออกที่มีสภาพภูมิประเทศเป็นป่า เหมาะสำหรับการกำบังอำพรางเหล่าทหารราบจากการโจมตีทางอากาศของฝ่ายรัสเซีย เชื่อได้ว่าถ้าหากว่าแคมเปญของยูเครนในภาคตะวันออกประสบความสำเร็จ ภาคใต้ที่เป็นพื้นที่ราบเปิดกว้างคงเป็นเป้าหมายใหญ่ถัดมา ส่วนทางรัสเซียเองยังคงมีกรอบคำจำกัดความว่า ‘ปฏิบัติการทางทหาร’ มิใช่ ‘สงคราม’ ดังนั้น การระดมกำลังพลอย่างเป็นกระบวนการปกติ รวมไปถึงการประกาศสภาวะสงคราม เช่น เกณฑ์คนไปรบ เกณฑ์คนไปเป็นแรงงานผลิตอาวุธก็จะไม่มี เท่ากับว่ารัสเซียต้องใช้ทรัพยากรทหารที่มีอยู่ราวสองแสนนายในการดูแลพื้นที่ยึดครองที่มีกว่าแสนสองตารางกิโลเมตรหรือพอๆ กับพื้นที่ภาคอีสานของประเทศไทย นับว่าเป็นเรื่องที่ท้าทายมากและถือว่า ‘ตึงมือ’ รัสเซียอยู่เหมือนกัน 

 

ยิ่งเมื่อเราเจาะตัวเลขสองแสนกว่าของฝ่ายรัสเซียนี้จะพบว่าไม่ใช่มีแต่ทหารอาชีพจากกระทรวงกลาโหมรัสเซีย แต่ยังมีหน่วยอื่นๆ ประกอบอีก เช่น กองกำลังจากสาธารณรัฐโดเนตสก์และลูฮันสก์ กองทหารอาสาเชเชน โรสกวาร์เดีย โดยเฉพาะหน่วยหลังที่มีหน้าที่ในการดูแลความสงบเรียบร้อยคล้ายๆ ตำรวจหลังเข้ายึดครองพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งมากกว่า ตรงนี้คือความตึงมือของฝ่ายรัสเซียที่ไม่สามารถขยายเขตยึดครองไปมากกว่านี้ได้อีกแล้ว และก็ไม่ใช่ทุกพื้นที่ที่รัสเซียจะสามารถวางกำลังพลได้อย่างหนาแน่นเหมือนๆ กัน บางจุดจึงกลายเป็นจุดอ่อนที่เปิดช่องให้ยูเครนโจมตีกลับได้

 

แฟ้มภาพ: Ihor Tkachov / AFP

 

อย่างเช่นสมรภูมิเมืองอิซิอุม (Изюм – ลูกเกด) ที่ถือเป็นจุดยุทธศาสตร์ในการควบคุมพื้นที่รอยต่อระหว่างภูมิภาคคาร์คอฟ เส้นทางส่งกำลังบำรุงคูเปียนสก์จากชายแดนรัสเซีย และพื้นที่สาธารณรัฐโดเนตสก์และลูฮันสก์ที่ล่าสุดกองทัพยูเครนเข้ายึดคืนได้แล้ว ทำให้รัสเซียต้องถอยร่นเขยิบไปในทิศทางเข้าหาพรมแดนอยู่ที่แม่น้ำโอสกิล (Oskil River) ที่อยู่ไม่ไกลกันนัก แต่ก็ไม่ปลอดภัยต่อเส้นทางส่งกำลังบำรุงเท่ากับตอนที่ยึดอิซิอุมได้ และที่รัสเซียยอมสละเมืองอิซิอุมอย่างรวดเร็วนั้นก็เพราะว่าบริเวณโดยรอบนั้นดูแลโดยกองกำลังทหารเกณฑ์จากสาธารณรัฐโดเนตสก์และลูฮันสก์ที่ยังอ่อนประสบการณ์รบ

 

เมื่อพูดอย่างนี้เดี๋ยวจะได้ใจกันว่าพวกทหารฝ่ายโปรรัสเซียอ่อนปวกเปียกไปทั้งหมด ต้องทำความเข้าใจก่อนว่าทหารของฝ่ายสาธารณรัฐโดเนตสก์และลูฮันสก์สามารถแบ่งได้สองประเภทใหญ่ๆ คือ นักรบที่ปฏิบัติการมาตั้งแต่มีการปะทะกันรอบแรกในปี 2014 พวกนี้จะมีประสบการณ์สูง มีความชำนาญพื้นที่มากและมีขวัญกำลังใจเข้มแข็ง ส่วนอีกพวกคือทหารเกณฑ์ ด้วยความที่เพิ่งถูกเกณฑ์มา ความตั้งใจอยากรบมีไม่เท่าพวกแรก ประสบการณ์และขวัญกำลังใจยิ่งไม่ต้องพูดถึง ตรงนี้จึงเป็นจุดอ่อนของฝ่ายรัสเซียในการถูกโจมตีทะลวงกลับของยูเครน เมื่อพื้นที่โดยรอบที่ดูแลโดยทหารเหล่านี้เสียแก่ยูเครนรัสเซียจึงมีความจำเป็นต้องถอยอย่างรวดเร็ว มิฉะนั้นทหารรัสเซียเองจะเสี่ยงโดนปิดล้อมจากทิศทางเหนือ ตะวันตก และใต้

 

ให้เห็นภาพแบบเข้าใจง่ายๆ คือ ณ ตอนนี้ยูเครนกำลังใช้กำลังพลทหารราบทุ่มลงมาเจาะแนวป้องกันที่รัสเซียยึดครองอยู่ เป็นลักษณะเหมือนเข็ม คือแคบๆ แต่ยาว ซึ่งเป้าหมายที่ยูเครนควรทำต่อไปคือการ ‘แหวก’ แนวเจาะที่ว่านี้ให้กว้างขึ้น เพื่อรองรับการส่งกำลังบำรุงในอนาคต ส่วนสิ่งที่รัสเซียควรทำคือการถอยมาตั้งหลัก ถ่ายเทกำลังพลมาเสริมความแข็งแกร่งให้แนวรับใหม่ และพยายามตีโอบแนวที่ยูเครนเจาะและพยายามจะขยายออกนั้นให้หดแคบลง ถ้าให้ดีคือการตีโอบแบบคีมหนีบและล้อมกำลังพลยูเครนไว้ให้ได้ 

 

ทั้งนี้ทั้งนั้นสิ่งที่เกิดขึ้นอย่าเพิ่งดีใจไปก่อนว่าใครแพ้ใครชนะกันแล้ว ตอนนี้ยังไม่มีใครแพ้ใครชนะ สำหรับรัสเซียเองก็ถือว่าเป็นการถอยเพื่อตั้งหลักใหม่ แต่นับจากช่วงนี้เป็นต้นไปจนถึงราวเดือนพฤศจิกายนจะเป็นช่วง ‘รัสปูติ๊ทซ่ะ’ อีกครั้ง ที่การขยับเคลื่อนย้ายยุทโธปกรณ์หรือการส่งกำลังบำรุงจะกลับมายากลำบากอีกครั้ง เพราะสภาพภูมิประเทศกลับไปเป็นโคลนตมคล้ายๆ ช่วงเดือนเมษายน ที่เราเห็นว่า ณ ตอนนั้นรัสเซียบุกไม่ได้ไวเท่าที่ควร เราอาจจะเห็นความตะกุกตะกักทำนองนี้อีกครั้งก็เป็นได้

 

ปฏิบัติการทางทหารของรัสเซีย

ภาพ: Ivan Marc / Shutterstock

 

ปัจจัยภายนอกที่จะมีบทบาทในการกำหนดฉากทัศน์สงครามในอนาคตก็คือ เกมการเมืองระหว่างรัสเซีย-ยูเครน-โลกตะวันตก สำหรับการยึดคาร์คีฟและอิซิอุม โดยเฉพาะการที่ประธานาธิบดีโวโลดิเมียร์ เซเลนสกีเดินทางไปเยี่ยมและร่วมร้องเพลงชาติยูเครนที่อิซิอุม นอกจากจะเป็นการเรียกขวัญกำลังใจและความเชื่อมั่นจากชาวยูเครนเองแล้ว ยังเป็นการเรียกความเชื่อมั่นจากพันธมิตรอย่างสหรัฐอเมริกาและชาติตะวันตก ว่าบรรดาสรรพาวุธที่ส่งมาให้นั้นไม่ส่งมาแบบสูญเปล่าและยิ่งจะทำให้ท่อน้ำเลี้ยงทางอาวุธนั้นยังคงมีต่อไปได้เรื่อยๆ โดยเฉพาะ HIMARS หรือจรวดหลายลำกล้องของสหรัฐฯ ที่ผู้เชี่ยวชาญหลายท่านมองว่าเป็นปัจจัยสนับสนุนที่สำคัญที่ทำให้ยูเครนยึดคาร์คอฟและอิซิอุมเร็วกว่าที่คาดไว้ อย่างไรก็ตามทางสหรัฐเองก็ให้ยูเครนมากไปกว่านี้ไม่ได้ เพราะถ้าสหรัฐฯ ส่งมอบอาวุธร้ายแรงกว่านี้ เช่น ขีปนาวุธพิสัยไกลให้ยูเครนจะเป็นการก้าวข้ามเส้นแดงที่ทั้งสหรัฐฯ และรัสเซียต่างรู้กันอยู่ มิฉะนั้นแล้วความขัดแย้งก็อาจจะหลีกเลี่ยงการลุกลามออกนอกดินแดนยูเครนไม่ได้

 

ในขณะเดียวกันก็ไม่แปลกที่จะมีข่าวการสนับสนุนอาวุธให้กับรัสเซียจากพันธมิตร เช่น อิหร่านและเกาหลีเหนือ เนื่องจากรัสเซียใช้แต่ทรัพยากรของตัวเอง ที่ผ่านมา 6-7 เดือนก็ร่อยหรอลงไปเป็นธรรมดาแต่ก็ไม่สามารถเร่งผลิตได้ ก็ต้องย้อนกลับไปที่คำจำกัดความของทางรัสเซียว่าไม่ใช่ ‘สงคราม’ หากเป็น ‘การปฏิบัติการทางทหาร’ ที่เรียกเกณฑ์พลไปรบหรือเกณฑ์แรงงานมาเร่งผลิตอาวุธ เป็นต้น

 

ปฏิบัติการทางทหารของรัสเซีย

ภาพ: YAKOBCHUK V / Shutterstock

 

นโยบายการใช้พลังงานเป็นเครื่องมือต่อรองของฝั่งรัสเซียที่ผ่านมาในรอบ 6-7 เดือนถือว่ามีประสิทธิภาพมาก นอกจากการจำกัดอุปทานไปยังตลาดยุโรป การเดี๋ยวเปิดเดี๋ยวปิดท่อก๊าซก็ทำให้ยุโรปตกอยู่ในสภาวะความไม่มั่นคงทางพลังงาน แม้ว่าปากจะบอกว่าจะปรับสัดส่วนให้เป็นพลังงานทางเลือกมากขึ้น แต่ก็ขอย้ำอีกหลายๆ ทีว่ามันไม่สามารถอยู่ดีๆ จะเปลี่ยนได้ภายในไม่กี่เดือน ความเป็นจริงคือ ฤดูหนาวปีนี้อย่างไรก็ยังต้องพึ่งพาพลังงานจากรัสเซีย เราจึงเริ่มเห็นผู้คนในยุโรปไม่พอใจกับการรัดเข็มขัดพลังงานของแต่ละรัฐบาลในยุโรปผ่านการประท้วงต่างๆ ยิ่งตอนนี้กำลังจะเข้าหน้าหนาวอำนาจต่อรองรัสเซียจะยิ่งมากขึ้นอย่างไม่ต้องสงสัย ทั้งในแง่ของการกดดันให้ยุโรปลดการสนับสนุนหรือบีบให้ยูเครนยอมมาเจรจากับรัสเซียรวมไปถึงการลด ละ เลิกการแซงชันรัสเซีย ส่วนทางจีนนอกจากจะถูกบีบจากสหรัฐฯ กรณีไต้หวันก็ยิ่งทำให้เข้ามาใกล้ชิดกับรัสเซียมากขึ้นไปอีก ดูได้จากการซ้อมรบที่ยิ่งใหญ่และใกล้ชิดกัน และในกรณีพลังงานนี้ก็เหมือนส้มหล่นอีกเมื่อจีนกลายเป็นพ่อค้าคนกลางซื้อพลังงานรัสเซียในราคาถูกแล้วมาปล่อยให้ยุโรปในราคาแพงรับทรัพย์กันไป

 

บทสรุป

ช่วงระยะเวลา 2-3 เดือนข้างหน้านี้สภาพภูมิประเทศจะยิ่งทำให้การรบยากลำบาก ถ้าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งสามารถสร้างความได้เปรียบในช่วงนี้ได้ก่อนก็จะมีแต้มเป็นต่อ แต่พอเข้าฤดูหนาวความสามารถในการรบจะมีความสูสีกันทั้งรัสเซียและยูเครน เนื่องจากทั้งสองฝ่ายคุ้นชินกับสภาพอากาศที่หนาวจัดอยู่แล้ว แต่ปัจจัยที่จะสร้างความได้เปรียบคือ ท่อน้ำเลี้ยงด้านพลังงานซึ่งมองจากตรงนี้ก็เห็นได้ชัดแล้วว่ารัสเซียได้เปรียบ (ยูเครนอาจจะไม่ลำบากเท่ายุโรป เพราะยังมีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์อยู่บ้าง) ถ้าหากว่าในช่วง ‘รัสปูติ๊ทซ่ะ’ รัสเซียจะกลับมาตีโต้และยึดคืนจุดที่สละไปเมื่อไม่นานมานี้ได้อย่างที่ รามซาน คาดิรอฟ (Ramzan Kadyrov) ผู้นำสาธารณรัฐปกครองตนเองเชชเนีย ประกาศให้คำมั่นไว้ในฐานะผู้บัญชาการทหารอาสาเชเชนที่ถือว่าเก่งกาจ และสามารถรักษาแนวรบไปจนถึงฤดูหนาวได้รัสเซียก็ลอยตัว 

 

แต่ถ้าหากว่ายูเครนยังคงครองความได้เปรียบแบบนี้ไปตลอดช่วงรัสปูติ๊ทซ่ะก็จะเป็นความลำบากของฝ่ายรัสเซีย โอกาสที่จะกลับมายึดคืนจุดที่ต้องสละไปก็ยากขึ้น และถ้าหากเกิดเหตุการณ์พลิกผัน สมมุติว่ายูเครนกลับมาตีโต้จนกระทั่งบุกยึดคืนแคว้นโดเนตสก์และลูฮันสก์ทั้งหมดได้ จะกลายเป็นบูมเมอแรงย้อนกลับไปเลื่อยขาเก้าอี้ของประธานาธิบดีปูติน เพราะนั่นเท่ากับว่า 6-7 เดือนที่ผ่านมานั้นสูญเปล่าสำหรับรัสเซีย รวมไปถึงจะถูกตีความว่าเป็นความล้มเหลวของปูตินได้ในทันที 

 

ข่าวจากวงในว่าเมื่อไม่นานมานี้การประชุมสภาเมืองเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กได้มีการเสนอกันอย่างโจ่งแจ้งจากผู้แทนฝ่ายค้านนามว่า ดมิทรี ปาลิวกิน (Dmitry Palyugin) ให้กล่าวโทษต่อปูติน และให้ยุติการปฏิบัติการทหารให้ไวที่สุด เป็นอีกสัญลักษณ์หนึ่งของความไม่พอใจดังกล่าว ทั้งนี้รัสเซียอาจเสียคาร์คอฟได้ แต่ไม่อาจเสียโดเนตสก์และลูฮันสก์ รวมไปถึงไครเมีย (ที่เซเลนสกีเพิ่งประกาศว่าจะเอาคืนมาด้วย) อย่างเด็ดขาด เพราะนั่นคือความเป็นความตายของชีวิตทางการเมืองของปูตินเลยทีเดียว

 

สุดท้ายแล้วปลายทางของเรื่องนี้คงไม่พ้นการเจรจาแต่อยู่ที่ว่าด้วยปัจจัยและบริบทแวดล้อมดังกล่าว เมื่อถึงเวลาเจรจานั้นๆ ใครจะเหลืออำนาจต่อรองมากน้อยก็ต้องติดตามดูกันต่อไป

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising