×

ผลประชามติแก้รัฐธรรมนูญของเบลารุส ยกเลิกสถานะ ‘ปลอดนิวเคลียร์’ ของประเทศ

28.02.2022
  • LOADING...

 

 

ผลการลงประชามติวานนี้ (27 กุมภาพันธ์) ปรากฏว่าชาวเบลารุสอนุมัติรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ยกเลิกสถานะรัฐปลอดนิวเคลียร์ ซึ่งจากรัฐธรรมนูญใหม่นี้อาจทำให้เราได้เห็นอาวุธนิวเคลียร์บนแผ่นดินของเบลารุสเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เบลารุสหยุดการใช้อาวุธนิวเคลียร์หลังการล่มสลายของสหภาพโซเวียต

 

การลงประชามติดังกล่าวเกิดขึ้นในขณะที่ยูเครนกำลังถูกโจมตีจากกองทหารรัสเซีย และคณะผู้แทนจากรัสเซียและยูเครนคาดว่าจะพบกันเพื่อเจรจาที่พรมแดนเบลารุส อเล็กซานเดอร์ ลูกาเชนโก ผู้นำของเบลารุสระบุที่หน่วยลงคะแนนว่า หากชาติตะวันตกส่งอาวุธนิวเคลียร์ให้กับโปแลนด์หรือลิทัวเนีย หรือส่งมาที่ชายแดนของเบลารุส เขาจะขอให้ วลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย ส่งคืนอาวุธนิวเคลียร์ที่เขาเคยส่งมอบให้ในอดีตกลับมาโดยไม่มีเงื่อนไข

 

สำนักข่าวของรัสเซียรายงานว่า อิกอร์ คาร์เพนโก หัวหน้าคณะกรรมการการเลือกตั้งกลางกล่าวว่า ผู้มาใช้สิทธิลงประชามติร้อยละ 65.16 โหวตเห็นชอบกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญดังกล่าว และร้อยละ 10.07 ไม่เห็นด้วย และมีผู้ออกมาใช้สิทธิอยู่ที่ร้อยละ 78.63

 

การแก้ไขรัฐธรรมนูญจะต้องได้รับคะแนนเสียงสนับสนุนอย่างน้อยร้อยละ 50 และมีผู้ออกมาใช้สิทธิลงประชามติเกินกว่าครึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิลงประชามติทั้งหมด

 

ลูกาเชนโก ผู้นำของเบลารุส ซึ่งอยู่ในอำนาจมาตั้งแต่ปี 1994 ให้คำมั่นว่าจะมีการลงประชามติหลังจากการประท้วงครั้งประวัติศาสตร์ เพื่อต่อต้านการเลือกตั้งที่มีข้อพิพาทในปี 2020 ซึ่งในการเลือกตั้งครั้งนั้นเขาได้ชัยชนะเป็นสมัยที่ 6 ขณะที่คู่แข่งหลักของเขา สเวตลานา ติคานอฟสกายา ถูกบังคับให้ลี้ภัยในลิทัวเนียที่อยู่ใกล้เคียง

 

การแก้ไขรัฐธรรมนูญดังกล่าวจะทำให้การจำกัดจำนวนวาระการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี ซึ่งก่อนหน้านี้ลูกาเชนโกยกเลิกไปนั้นกลับคืนมา โดยจะจำกัดวาระการดำรงตำแหน่งไม่เกิน 2 วาระ วาระละ 5 ปี แต่จะมีผลเฉพาะกับประธานาธิบดีที่มาจากการเลือกตั้งคนต่อไปเท่านั้น ซึ่งหากลูกาเชนโกลงสมัครรับเลือกตั้งใหม่ในปี 2568 เขาก็สามารถอยู่ในอำนาจต่อไปได้อีกสิบปี นอกจากนี้ การแก้รัฐธรรมนูญดังกล่าวยังให้ภาวะคุ้มกันแก่อดีตผู้นำสำหรับอาชญากรรมที่เกิดขึ้นระหว่างดำรงตำแหน่ง

 

ขณะที่สำนักงานของติคานอฟสกายาในลิทัวเนียได้โจมตีการลงคะแนนเสียงประชามติดังกล่าว โดยกล่าวว่าการปราบปรามเสียงเห็นต่างใดๆ นับตั้งแต่การเลือกตั้งในปี 2563 ทำให้ไม่สามารถหารือเกี่ยวกับข้อเสนอได้อย่างแท้จริง ขณะที่ Reuters รายงานว่า ชาติตะวันตกได้ระบุไว้แล้วว่าจะไม่ยอมรับผลการลงประชามติดังกล่าว และนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนระบุว่า การลงประชามตินี้จุดชนวนให้เกิดการประท้วงต่อต้านสงครามในหลายเมือง มีผู้ถูกควบคุมตัวอย่างน้อย 290 คน

 

รัสเซียเป็นพันธมิตรสำคัญของเบลารุส และเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ลูกาเชนโกอนุญาตให้กองทหารรัสเซียใช้ดินแดนเบลารุสเพื่อบุกยูเครนจากทางเหนือ

 

ภาพ: SERGEI SHELEG / BELTA / AFP

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X