×

ปูตินประกาศให้ ‘ประเทศที่ไม่เป็นมิตร’ ซื้อน้ำมันและก๊าซธรรมชาติด้วยสกุลเงินรูเบิล ตอบโต้มาตรการคว่ำบาตรชาติตะวันตก

24.03.2022
  • LOADING...
ปูตินประกาศให้ ‘ประเทศที่ไม่เป็นมิตร’ ซื้อน้ำมันและก๊าซธรรมชาติด้วยสกุลเงินรูเบิล ตอบโต้มาตรการคว่ำบาตรชาติตะวันตก

ปูตินประกาศให้ ‘ประเทศที่ไม่เป็นมิตร’ ซื้อน้ำมันและก๊าซธรรมชาติด้วยสกุลเงินรูเบิล ตอบโต้มาตรการคว่ำบาตรชาติตะวันตก

 

ประธานาธิบดี วลาดิเมียร์ ปูติน ประกาศว่า รัสเซียจะขอให้บรรดา ‘ประเทศที่ไม่เป็นมิตร’ ใช้เงินสกุลรูเบิลในการซื้อน้ำมันและก๊าซธรรมชาติจากรัสเซีย ซึ่งก่อให้เกิดความกังวลต่อวิกฤตด้านพลังงานในยุโรป และส่งผลให้ราคาก๊าซในบางประเทศยุโรปพุ่งสูงขึ้นทันที

 

ท่าทีของปูตินมีขึ้นระหว่างการประชุมทางไกลกับบรรดารัฐมนตรีที่มีการถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์วานนี้ (23 มีนาคม) ซึ่งถือเป็นการส่งข้อความที่ชัดเจนในการตอบโต้การคว่ำบาตรสกุลเงินรูเบิลของชาติตะวันตกและพันธมิตร แม้จะยังไม่แน่ชัดว่ารัสเซียมีอำนาจที่จะเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขในสัญญาซื้อขายก๊าซที่มีอยู่หรือไม่ ซึ่งในสัญญาเดิมที่ทำกับสหภาพยุโรป (EU) นั้น รัสเซียตกลงที่จะรับชำระด้วยสกุลเงินยูโร

 

ปูตินเปิดเผยต่อที่ประชุมถึงสาเหตุการตัดสินใจดังกล่าว โดยกล่าวว่า “ประเทศตะวันตกจำนวนหนึ่งตัดสินใจที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายในการอายัดทรัพย์สินของรัสเซีย ซึ่งก่อให้เกิดเส้นแบ่งต่อความน่าเชื่อถือในสกุลเงินของประเทศเหล่านั้น และบ่อนทำลายความน่าเชื่อถือสำหรับสกุลเงินเหล่านั้น

 

“มันไม่สมเหตุสมผลเลยที่จะส่งสินค้าของเราไปยังสหภาพยุโรปหรือสหรัฐฯ และรับการชำระเงินเป็นดอลลาร์ ยูโร หรือสกุลเงินอื่นๆ” 

 

รัฐบาลและธนาคารกลางรัสเซียมีเวลา 1 สัปดาห์ในการหาทางดำเนินการตามคำสั่งของปูติน เพื่อเปลี่ยนการรับชำระเงินไปเป็นรูเบิล โดยบริษัท Gazprom ยักษ์ใหญ่ด้านพลังงานของรัสเซีย จะได้รับคำสั่งเพื่อเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขในสัญญา

 

ขณะที่ปูตินยืนยันว่า รัสเซียจะยังคงจัดส่งก๊าซตามปริมาณและราคาที่กำหนดไว้ในสัญญาเดิม และการเปลี่ยนแปลงจะส่งผลกระทบเฉพาะสกุลเงินที่ใช้ในการชำระเงินเท่านั้น 

 

การเปิดฉากสงครามในยูเครนเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ส่งผลให้รัสเซียเผชิญการคว่ำบาตรทางด้านเศรษฐกิจและการเงินขั้นรุนแรงจากสหรัฐฯ สหภาพยุโรป และชาติพันธมิตร ซึ่งส่งผลให้สกุลเงินรูเบิลอ่อนค่าลงอย่างหนัก โดยนักเศรษฐศาสตร์หลายคนมองว่า การตัดสินใจของปูตินครั้งนี้เป็นความพยายามเพื่อพยุงค่าเงินรูเบิล

 

ผลจากประกาศอันน่าตกใจของปูตินส่งผลให้สกุลเงินรูเบิลแข็งค่าขึ้นสูงสุดในรอบ 3 สัปดาห์ อยู่ที่ 95 รูเบิล ต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ ระหว่างการซื้อขายวานนี้ ก่อนจะปิดตลาดลงมาอยู่ที่ 97.7 รูเบิล ต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งถือว่าอ่อนค่าลงจากช่วงก่อนสงครามกว่า 22% ขณะที่ราคาขายส่งก๊าซในบางประเทศยุโรปพุ่งขึ้นสูงถึง 30% 

 

ปัจจุบัน EU พึ่งพิงก๊าซธรรมชาติในการผลิตไฟฟ้า ให้ความอบอุ่น และใช้ในอุตสาหกรรม โดยมีการนำเข้าจากต่างประเทศกว่า 90% ในจำนวนนี้ราว 40% เป็นการนำเข้าจากรัสเซีย และเฉพาะในปีนี้ EU นำเข้าก๊าซจากรัสเซียอยู่ที่ระหว่าง 200-800 ล้านยูโรต่อวัน 

 

ก่อนหน้านี้คณะกรรมาธิการยุโรปประกาศว่า มีแผนที่จะตัดลดการพึ่งพิงก๊าซจากรัสเซียลง 2 ใน 3 ภายในปีนี้ และจะยุติการนำเข้าก๊าซจากรัสเซียก่อนปี 2030 ซึ่งเป็นการแสดงท่าทีสอดคล้องกับมาตรการคว่ำบาตรด้านพลังงานของสหรัฐฯ และสหราชอาณาจักรที่มีต่อรัสเซีย

 

ทางด้าน โรเบิร์ต ฮาเบ็ค รัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐกิจของเยอรมนี กล่าวว่า ข้อเรียกร้องของปูตินนั้นถือเป็นการละเมิดกฎการชำระเงินที่กำหนดไว้ในสัญญาซื้อขายก๊าซปัจจุบัน

 

ขณะที่โฆษกของ Eneco บริษัทก๊าซเนเธอร์แลนด์ ซึ่งซื้อก๊าซ 15% จาก Wingas GmbH บริษัทลูกของ Gazprom ในเยอรมนี กล่าวว่า ทางบริษัทมีสัญญาซื้อขายก๊าซในระยะยาวด้วยสกุลเงินยูโร และยังไม่มีแนวทางจะยอมรับการเปลี่ยนแปลงใดๆ เกี่ยวกับการชำระเงินด้วยสกุลเงินรูเบิล

 

ลีออน อิซบิคกิ ผู้เชี่ยวชาญจาก Energy Aspects บริษัทวิเคราะห์และให้คำปรึกษาด้านพลังงานที่มีสำนักงานในนิวยอร์กและลอนดอน มองความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นว่า “ยังไม่มีความชัดเจนว่าลูกค้าชาวยุโรปจะเปลี่ยนการชำระเงินของพวกเขาไปเป็นเงินรูเบิลได้ง่ายเพียงใด เมื่อพิจารณาจากขนาดการซื้อขายเหล่านี้” 

 

ซึ่งเขามองว่า ธนาคารกลางของรัสเซียอาจสามารถเสริมสภาพคล่องให้กับตลาดแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ และจะช่วยให้ลูกค้าและธนาคารในยุโรปสามารถจัดหาสกุลเงินรูเบิลได้ตามที่ต้องการ

 

อย่างไรก็ตาม เลียม พีช นักเศรษฐศาสตร์จาก Capital Economics ให้ความเห็นว่า มาตรการที่ปูตินประกาศออกมานี้อาจถูกตีความว่า ‘เป็นการยั่วยุ’ และอาจเพิ่มความเป็นไปได้ที่ชาติตะวันตกจะเพิ่มการคว่ำบาตรพลังงานของรัสเซียอย่างเข้มงวด 

 

ภาพ: Photo by Igor Golovniov / SOPA Images / LightRocket via Getty Images

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X