×

ทางการสหรัฐฯ เตรียมพิจารณาอนุมัติแพ็กเกจช่วยเหลือยูเครน มูลค่าราว 4.5 แสนล้านบาท

11.03.2022
  • LOADING...
Joe Biden

Joe Biden

 

วานนี้ (10 มีนาคม) สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า ทางการสหรัฐอเมริกาเตรียมพิจารณาและอนุมัติแพ็กเกจช่วยเหลือยูเครน มูลค่า 1.36 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 4.5 แสนล้านบาท) เพื่อสนับสนุนกิจการด้านความมั่นคงและส่งมอบความช่วยเหลือด้านมนุษธรรม หลังกองทัพรัสเซียเดินหน้ารุกรานยูเครนต่อเนื่องเป็นสัปดาห์ที่ 2 แล้ว

 

โดยสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ ลงมติผ่านร่างแพ็กเกจดังกล่าว เมื่อวันพุธ (9 มีนาคม) ที่ผ่านมา คาดวุฒิสภาสหรัฐฯ จะอนุมัติร่างแพ็กเกจดังกล่าวภายในสัปดาห์นี้ ซึ่งแพ็กเกจช่วยเหลือนี้ใช้งบประมาณสูงขึ้นจากเดิมที่เคยคาดการณ์ไว้ที่ 1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ

 

คาดการณ์ว่า เงินจำนวนราว 6.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ จะนำไปใช้ในกิจการด้านการทหาร เพื่อเคลื่อนย้ายกองกำลังสหรัฐฯ ไปยังภูมิภาคดังกล่าวและส่งอาวุธยุทโธปกรณ์ช่วยเหลือยูเครน ขณะที่มากกว่า 4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ คาดว่าจะนำไปใช้สนับสนุนการส่งมอบควมช่วยเหลือด้านสิทธิมนุษยธรรม ช่วยเหลือผู้ลี้ภัย ผู้พลัดถิ่น จัดเตรียมอาหารและสิ่งของจำเป็นที่ต้องใช้ในสถานการณ์ฉุกเฉิน ส่วนอีกราว 1.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ จะนำไปใช้ในการกระตุ้นภาคเศรษฐกิจของยูเครนและประเทศเพื่อนบ้านที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักช่วงสงคราม รวมถึงสนับสนุนประเด็นด้านความมั่นคงทางไซเบอร์และพลังงาน

 

นอกจากนี้ร่างแพ็กเกจดังกล่าวยังจัดสรรงบราว 25 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สนับสนุนการทำงานของ US Agency for Global Media ที่ทำหน้าที่ต่อสู้กับข่าวที่คลาดเคลื่อนหรือผิดไปจากความเป็นจริงในวงการข่าวสารโลก และอีกราว 120 ล้านดอลลาร์สหรัฐจะสนับสนุนนักเคลื่อนไหวท้องถิ่นและสื่อมวลชนชาวยูเครนอีกด้วย

 

โดยทางการสหรัฐฯ ส่งมอบความช่วยเหลือแก่ยูเครนตลอดหลายปีที่ผ่านมา และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น หลังจากที่รัสเซียผนวกแหลมไครเมียเข้าเป็นส่วนหนึ่งของตน เมื่อปี 2014 ซึ่งมีมูลค่ารวมกว่า 5.6 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐแล้ว โดยเฉพาะแค่ในปี 2021 ที่ผ่านมา ทางการสหรัฐฯ ภายใต้การนำของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ส่งมอบเงินช่วยเหลือการพัฒนาประชาธิปไตยและเศรษฐกิจของยูเครนกว่า 300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และอีกกว่า 650 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่งมอบสนับสนุนด้านกิจการความมั่นคง 

 

ภาพ: Anna Moneymaker / Getty Images

อ้างอิง: 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X