สหภาพยุโรป (EU) ได้เพิ่มมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่อเบลารุส และขึ้นบัญชีดำนายทหารระดับสูง 22 รายจากบทบาทของเบลารุสในการช่วยเหลือรัสเซียบุกยูเครน
กองทัพรัสเซียใช้เบลารุสเป็นฐานปล่อยจรวดที่สำคัญสำหรับการโจมตีภาคพื้นดินและทางอากาศต่อยูเครนที่อยู่ใกล้เคียง
“การมีส่วนร่วมของเบลารุสในการรุกรานทางทหารต่อยูเครนซึ่งปราศจากการยั่วยุและไม่ยุติธรรมนั้นจะมีราคาสูง” โจเซฟ บอร์เรลล์ หัวหน้าฝ่ายนโยบายต่างประเทศของสหภาพยุโรป กล่าวในแถลงการณ์
“ด้วยมาตรการเหล่านี้ เรากำลังกำหนดเป้าหมายไปยังบุคคลในเบลารุสที่ร่วมมือกับการโจมตีเหล่านี้ต่อยูเครน และจำกัดการค้าในภาคส่วนสำคัญจำนวนหนึ่ง”
การคว่ำบาตรครั้งใหม่ต่อเบลารุสเกิดขึ้นหลังจากการคว่ำบาตรรัสเซีย 3 รอบ ซึ่งมีเป้าหมายที่เศรษฐกิจ, บรรดาผู้นำที่ไปจนถึงประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน, ภาคการบิน ตลอดจนสื่อของรัฐที่ออกอากาศในยุโรป
EU ระบุว่ากำลังเพิ่มความเข้มงวดของการคว่ำบาตร โดยกำหนดเป้าหมายไปยังภาคส่วนสำคัญของเศรษฐกิจเบลารุส ตัดการส่งออกที่สำคัญของเบลารุสอย่างปุ๋ยโปแตช และกระทบภาคส่วนหลักอื่นๆ ภาคส่วนเหล่านี้รวมถึงผลิตภัณฑ์จากไม้ ซีเมนต์ เหล็กและเหล็กกล้า และยาง และยังรวมถึงการควบคุมที่เข้มงวดยิ่งขึ้นสำหรับสินค้าที่สามารถใช้ได้ทั้งสำหรับการใช้งานของพลเรือนและทางทหาร
นอกจากนี้ EU ยังเพิ่มนายพล 6 นาย และนายพัน 16 นายของเบลารุส เข้าไปในบัญชีดำสำหรับการอายัดทรัพย์สินและแบนวีซ่า สำหรับ “การเข้าร่วมในการรุกรานที่ปราศจากการยั่วยุต่อยูเครนของรัสเซีย โดยปล่อยให้กองทัพรุกรานจากอาณาเขตของตน”
อเล็กซานเดอร์ ลูกาเชนโก ประธานาธิบดีเบลารุส กล่าวเมื่อวันพุธ (2 มีนาคม) ว่ากองกำลังของเขาไม่ได้มีส่วนร่วมในการโจมตียูเครน แต่ได้สั่งทหารไปยังพรมแดนระหว่างเบลารุสกับยูเครนและโปแลนด์เพิ่มเติม
ย้อนไปเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว EU ได้ขึ้นบัญชีดำบุคลากรทางทหารของเบลารุส 20 คน พร้อมกับชาวรัสเซียระดับสูงอีกจำนวนหนึ่งในการบุกโจมตียูเครน
EU เริ่มบังคับใช้มาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจรายภาคส่วนต่อเบลารุสครั้งแรกเมื่อเดือนมิถุนายนปีที่แล้ว เพื่อตอบโต้การปราบปรามฝ่ายตรงข้ามและเหตุการณ์บังคับเครื่องบินโดยสารให้ลงจอดเพื่อจับกุมนักข่าวผู้เห็นต่าง และคว่ำบาตรเบลารุสหลายระลอกอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่ลูกาเชนโกเริ่มการปราบปรามผู้ประท้วงที่ออกมาประท้วงการเลือกตั้งที่มีข้อพิพาทในปี 2020
สำนักข่าว AFP ระบุว่า ลูกาเชนโกและลูกชายของเขาอยู่ในบัญชีดำดังกล่าว
ลูกาเชนโกพึ่งพาวลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซียมากขึ้นเรื่อยๆ ในการเผชิญกับการแยกตัวจากนานาชาติ และเมื่อไม่นานมานี้ได้ดูแลการเปลี่ยนแปลงในรัฐธรรมนูญที่อาจทำให้รัสเซียสามารถตั้งกองกำลังและอาวุธนิวเคลียร์ในประเทศได้อย่างถาวร
ภาพ: motioncenter / Shutterstock
อ้างอิง: AFP