ผ่านมาแล้วสองสัปดาห์กับสงครามรัสเซีย-ยูเครน โดยสถานการณ์มีพลวัตที่รวดเร็วมาก เราได้เห็นฉากที่รัสเซียรุกไล่ในวันแรก ตามมาด้วยภาพการต้านทานอย่างแข็งขันของฝั่งยูเครนที่ได้รับการประสานเสียงสนับสนุนจากกลุ่มพันธมิตรตะวันตกและจากหลายๆ ภาคส่วนเกือบทั้งโลก จนดูเหมือนทางฝั่งรัสเซียมีการชะลอและล่าช้าในการรุกคืบตามเป้าหมายที่วางไว้ในเมืองต่างๆ ซึ่งก็มีการวิเคราะห์และวิจารณ์กันไปในมุมมองที่หลากหลาย เช่น ฝ่ายหนึ่งก็มองว่าที่รัสเซียเผด็จศึกตามจุดต่างๆ ช้า เพราะว่ายังไม่ได้ใช้กำลังรบเต็มกำลัง อีกฝ่ายก็มองว่าอาจเป็นเพราะฝั่งรัสเซียอ่อนกว่าที่คาดการณ์ไว้ ไม่ว่าจะอย่างไรก็แล้วแต่ ก็ยังมีการเจรจาของทั้งฝ่ายรัสเซียและยูเครนคู่ขนานกันไป
เงื่อนไขของรัสเซีย vs. ยูเครน
เงื่อนไขของรัสเซียในการหยุดยิงครั้งนี้คือ
- ยูเครนต้องเป็นกลาง
- ยูเครนต้องวางอาวุธและลดขนาดกองทัพ
- ยูเครนต้องรับรองไครเมียว่าเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซีย
- ยูเครนต้องรับรองความเป็นเอกราชของสองแคว้นดอนบาส
ในขณะที่ทางฝั่งยูเครนเองก็มีข้อเสนอที่แทบจะตรงกันข้ามคือ การให้รัสเซียถอนทหารออกไปให้พ้นจากเขตแดนของยูเครน ซึ่งตามความหมายของยูเครนแล้วนั่นหมายความถึงไครเมียและดอนบาสด้วย ดังนั้นแล้วจึงไม่มีข้อไหนเลยที่จะมองได้ว่าข้อเสนอของแต่ละฝ่ายนั้นมีจุดร่วมกันแม้แต่ข้อเดียว
จากมุมรัสเซีย อันที่จริงก่อนที่จะเกิดสงครามรัสเซียมีข้อเสนอข้อแรกเพียงข้อเดียวเท่านั้นคือ ยูเครนต้องเป็นกลาง ซึ่งอันที่จริงที่มาของข้อนี้เป็นเงื่อนไขตั้งแต่ในข้อตกลงมินสก์ฉบับสองเช่นกันที่ระบุให้ยูเครนแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อให้ยูเครนเปลี่ยนจากรัฐเดี่ยวเป็นรัฐรวม เพื่อให้มีการปกครองตนเองได้ ไม่ว่าจะดอนบาสที่โปรรัสเซียหรือแคว้นอื่นที่โปรตะวันตก ซึ่งจะเกิดการถ่วงดุลกันระหว่างสองฝ่าย และทำให้ยูเครนมีสถานะเป็นกลาง แต่กลับถูกผู้นำยูเครนเตะถ่วงมาโดยตลอด โดยเฉพาะในสมัย ประธานาธิบดีเปโตร โปโรเชนโก ที่ให้ข้ออ้างว่าไม่แก้ เพราะเกรงว่าประเทศจะแตก แต่กลับแก้รัฐธรรมนูญยูเครนให้ต้องเข้าร่วมสหภาพยุโรป (EU) และ NATO ได้ โดยมีโลกตะวันตกคอยสนับสนุน ทำให้รัสเซียไม่พอใจ
นอกจากนี้ในการเจรจากับยูเครน โดยเฉพาะกับสหรัฐฯ และพันธมิตรโลกตะวันตก ว่าด้วยการรับประกันความมั่นคง (Security Guarantees) ที่รัสเซียพยายามเรียกร้องมาโดยตลอด และทุกครั้งก็ถูกปฏิเสธ จนกระทั่งผู้นำรัสเซียตัดสินใจใช้ไพ่ใบสุดท้ายนั่นคือ การใช้กำลังทหาร เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงนโยบายยูเครนและหวังว่าจะใช้ไพ่ไบนี้เคลียร์ทุกอย่างที่คาราคาซังมาเกือบสิบปี อย่างกรณีผนวกไครเมียและรับรองสองแคว้นดอนบาสให้เป็นเอกราช โดยให้ยูเครนรับรองด้วยตัวเอง ซึ่งจะเป็นการเรียกคะแนนความชอบธรรมได้มากกว่า อีกทั้งในข้อหลังนี้จะเป็นประตูปิดตายการผนวกสองแคว้นนี้เข้ากับแผ่นดินใหญ่รัสเซียอีก เนื่องจากได้กลายเป็นสถานะ ‘รัฐกันชน’ (Buffer State) คล้ายกับสถานะของอับคาเซียและเซาท์ออสเซเตียในกรณีความขัดแย้งกับจอร์เจียในปี 2008
ส่วนยูเครนเองก็มองว่า รัสเซียรุกล้ำดินแดนอำนาจอธิปไตยของยูเครน มองว่ารัสเซียผู้เป็นผู้รุกราน ต้องถอนทัพอย่างไม่มีเงื่อนไขออกไปจากแผ่นดินยูเครน รวมถึงไครเมียและดอนบาส ซึ่งอันที่จริงสำหรับไครเมียแล้ว ยูเครนก็รู้ดีว่าไม่มีทางที่จะกลับคืนมาสู่ยูเครนได้แล้ว แม้กระทั่งพันธมิตรชาติตะวันตกเองก็มองเห็นความเป็นจริงข้อนี้อยู่ เพราะไครเมียได้ถูกรวมเข้ากับทั้งในระบบเศรษฐกิจและโครงสร้างพื้นฐานของรัสเซียแล้ว ที่สำคัญคือประชากรส่วนใหญ่ก็อยากเป็นคนรัสเซียมากกว่ายูเครน และคงไม่ยอมที่เขตการปกครองจะกลับไปสู่ใต้ร่มเงารัฐบาลเคียฟ สำหรับสองแคว้นดอนบาสอย่างโดเนตสก์กับลูฮันสก์ ถึงแม้ยังไม่ได้ถูกรวมเข้ากับระบบเศรษฐกิจและโครงสร้างพื้นฐานของรัสเซียอย่างครบร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ผู้คนเองก็คงจะไม่ยอมกลับไปอยู่กับยูเครนแบบเดียวกับคนไครเมีย
ปัจจัยที่จะทำให้แต่ละฝ่ายบรรลุเงื่อนไขที่พึงพอใจ-อำนาจต่อรอง
จากฝั่งรัสเซีย
แน่นอนที่สุด อำนาจต่อรองที่ถือว่าเป็นไพ่ใบหลักและใบสุดท้ายของรัสเซียคือ ‘การเลือกใช้กำลังทหารเต็มรูปแบบ’ จะเรียกได้ว่าเป็นสงครามครั้งใหญ่ที่สุดนับจากสงครามรัสเซีย-เชชเนียในช่วงรอยต่อยุค 90-2000 เลยก็ว่าได้ ใช้กำลังพลกว่า 150,000 นายจากมณฑลทหารภาคตะวันตก มณฑลทหารภาคใต้ และมณฑลทหารภาคตะวันออก สมทบกับนักรบท้องถิ่นในแคว้นดอนบาสอีกนับหมื่นนาย ยังไม่รวมถึงเครื่องจักรสงครามอื่นๆ อีกมายมาย ทั้งจรวดร่อน รถถัง เครื่องบิน เฮลิคอปเตอร์ ฯลฯ จากแนวรบทั้งด้านเหนือ ตะวันออก และใต้
ที่ผ่านมามีการวิพากษ์วิจารณ์ถึงศักยภาพของกองทัพรัสเซียว่าอาจจะอ่อนกว่าที่ประเมินกันไว้หรือไม่ เนื่องจากเคยมีการวิเคราะห์กันว่าแสนยานุภาพของกองทัพรัสเซียขนาดนี้คงจะยึดกรุงเคียฟได้ใน 3 วัน แต่จนแล้วจนรอดผ่านไป 1 สัปดาห์ก็แล้ว 2 สัปดาห์ก็แล้ว ก็ยังยึดกรุงเคียฟไม่ได้ แต่โดยรวมก็ได้มีการสร้างแนวเชื่อมส่งกำลังบำรุงในแนวรบแต่ละแนวได้สำเร็จเกือบหมดแล้ว
มองในระดับยุทธศาสตร์ อันที่จริงเราจะเห็นได้ว่าฝ่ายรัสเซียแบ่งระดับการรบออกเป็นเฟสๆ เฟสแรกยังคงออมมืออยู่ เป็นการตีตะล่อมเพื่อให้ทางฝ่ายยูเครนมาเจรจา แต่เมื่อเจรจาไม่เป็นผลก็เริ่มลงมือหนักขึ้นๆ ตามการเจรจาที่ไม่ได้ผลสำเร็จ ผ่านการเจรจา 3 ครั้ง ล้มเหลวทั้ง 3 ครั้ง แถมครั้งล่าสุดจะเห็นได้ว่าความเสียหายหนักขึ้นกว่าวันแรกๆ อย่างเช่น กรณีโรงพยาบาลแม่และเด็กที่ถูกลูกหลงรัสเซียถล่มจนราบ (โดยรัสเซียอ้างว่าฝ่ายกองกำลังขวาจัด ‘อะซอฟ’ ได้ใช้โรงพยาบาลดังกล่าวเป็นโล่มนุษย์) ซึ่งอยู่ในเมืองมารีอูปอล อันเป็นเมืองสุดท้ายที่จะเชื่อมแนวรบด้านใต้กับตะวันออกเข้าด้วยกันได้สำเร็จ
มองในระดับศักยภาพของกองกำลังแต่ละหน่วยที่มีประสบการณ์การรบจริงไม่เท่ากัน ในหมู่มณฑลทหารที่เข้าปฏิบัติการในยูเครนครั้งนี้มาจาก 3 มณฑลทหารที่ได้กล่าวไป ประสบการณ์ของมณฑลทหารภาคใต้มีมากกว่ามณฑลทหารตะวันตกและตะวันออก กล่าวคือแนวรบด้านใต้ที่บุกมาจากทางไครเมียและทะเลดำเป็นแนวรบที่ค่อนข้างประสบความสำเร็จกว่าแนวอื่น เนื่องจากมณฑลทหารนี้เคยมีประสบการณ์ในสงครามรัสเซีย-จอร์เจีย รวมไปถึงสงครามในซีเรีย ส่วนมณฑลทหารตะวันตกที่รับผิดชอบแนวรบด้านเหนือ เช่น คาร์คอฟ เชียร์นิกอฟ โดยเฉพาะกรุงเคียฟ แม้จะเป็นมณฑลทหารที่มักจะได้ ‘ของดี’ หรือ ‘ของใหม่’ ก่อนคนอื่น เพราะอยู่ในแนวที่เผชิญกับ NATO พอดี แต่ก็ผ่านเพียงการซ้อมรบ ส่วนมณฑลทหารตะวันออกที่ทั้งประสบการณ์น้อยกว่าและได้ของที่ไม่ใหม่เท่าคนอื่น จึงยังมีผลงานที่ไม่ค่อยน่าประทับใจเท่าไรในแนวรบด้านตะวันออก
แต่การที่เราเห็นเครื่องจักรสงครามรุ่นเก่า เช่น รถถังตระกูล T-72, T-80 ฯลฯ ในปฏิบัติการทางทหารครั้งนี้ ไม่ได้หมายความว่ารัสเซียมีปัญญาหามาได้แค่นี้ แต่รัสเซียยังมีเครื่องจักรสงครามรุ่นใหม่อีกหลายชนิดที่ยังไม่ได้เข้าร่วมปฏิบัติการ รัสเซียยังมีรถถังรุ่นใหม่ล่าสุด T-14 Amata รวมไปถึงฝูงบินรบอีกจำนวนหนึ่งที่ยังไม่ได้เอาออกมาชูโรง ทั้งนี้ ถ้าการเจรจารอบ 4 และรอบถัดๆ ไปไม่ได้ผล เราอาจเห็นของพวกนี้ในสนามรบมากขึ้นก็เป็นได้ ตราบเท่าที่สงครามยังคงเป็นเครื่องมือทางการเมืองเพื่อให้บรรลุผลในการเจรจา
โดยรวมแล้วรัสเซียก็ยังคงรุกคืบเข้ายึดเมืองต่างๆ เป็นไปตามแผน แต่ในเงื่อนไขเวลาที่อาจล่าช้ากว่าที่คาดการณ์ไว้ เนื่องจากมีการออมมือในตอนแรก ประกอบกับประสบการณ์รบและอาวุธยุทโธปกรณ์ที่ขณะนี้ยังไม่ได้เอา ‘ของใหม่’ มาใช้ อีกทั้งยังเจอการต่อต้านอย่างแข็งขันจากชาวยูเครนและสภาพอากาศที่ดินเริ่มเป็นโคลน จึงทำให้กองทัพรัสเซียเคลื่อนไปยังเป้าหมายได้ล่าช้ากว่าปกติ แต่ยังมีอีกหลายกลุ่มก้อนที่เตรียมพร้อมเข้ามาเสริมทัพได้อีกเรื่อยๆ และเข้าเติมเต็มแนวรบทุกด้านได้ ในที่สุดน้ำน้อยย่อมแพ้ไฟ
อำนาจการต่อรองด้านเศรษฐกิจที่รัสเซียในฐานะผู้ส่งออกรายใหญ่ในสินค้าโภคภัณฑ์ เช่น ก๊าซธรรมชาติ น้ำมัน แร่ธาตุต่างๆ ปุ๋ยเคมี ฯลฯ ที่ตอนนี้กระทบต่อซัพพลายตลาดโลก จนหลายอย่างราคาสูงขึ้นมาก โดยเฉพาะประเด็นเรื่องก๊าซธรรมชาติที่ขณะนี้ทำให้ยุโรปเกิดความเห็นที่แตกกันอย่างเห็นได้ชัด อย่างเยอรมนีที่ในตอนแรกระงับโครงการท่อส่งก๊าซ Nord Stream 2 เป็นการคว่ำบาตรต่อรัสเซีย แต่ต่อมาก็ได้กลับลำประกาศว่าการคว่ำบาตรพลังงานจากรัสเซียไม่เป็นผลดีต่อชาวยุโรป ซึ่งขัดแย้งกับสหราชอาณาจักรและสหรัฐฯ ที่ประกาศคว่ำบาตรทุกรูปแบบ
อีกอำนาจต่อรองที่น่าสนใจไม่แพ้กันคือ รัฐบาลรัสเซียเตรียมยึดกิจการของต่างชาติที่ปิดกิจการในรัสเซีย (Nationalize) เพื่อคว่ำบาตรเข้าเป็นของรัฐ เช่น Apple, Microsoft, McDonald’s, Volkswagen, Porsche, H&M, Uniqlo ฯลฯ แต่ก็อาจจะเป็นการตอบโต้ที่แก้เกี้ยวเรื่องแซงชั่น เพราะถึงแม้จะริบมาเป็นของรัฐ โจทย์ต่อไปคือจะทำอย่างไรกับ R&D และ Knowhow ของบรรดาวิสาหกิจที่ริบมาได้
จากฝั่งยูเครน
ยูเครนถึงจะเล็กกว่าก็เล็กแบบพริกขี้หนู สามารถต้านทานการบุกของรัสเซียได้ค่อนข้างดี ด้วยกำลังใจดีและมีความเข้าใจมายด์เซ็ตคนรัสเซีย ยุทธวิธีจึงค่อนข้างถูกจุด แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าด้วยจำนวนกำลังพลที่น้อยกว่า เทคโนโลยีเครื่องจักรสงครามยังตามหลังรัสเซียอยู่ 1 Generation สู้ไปเรื่อยๆ สายป่านก็จะขาดก่อนรัสเซียแน่ไม่ช้าก็เร็ว ตราบที่รัสเซียยังคงเอาของมาเติมได้เรื่อยๆ แบบไม่ขาด
แสนยานุภาพทางทหารของยูเครนอาจไม่ใช่เครื่องมือต่อรองที่ดีต่อรัสเซีย แต่การที่ยูเครนได้ใช้โซเชียลมีเดีย รวมไปถึงมีประธานาธิบดีที่เคยอยู่วงการบันเทิง ผู้รู้วิธีการนำเสนอที่ดีต่อสายตาผู้ชมนั้นทำอย่างไร ทำให้ดึงดูดความสนใจคนทั้งโลกมาที่ยูเครน และสร้างกระแสโลกล้อมรัสเซียได้ค่อนข้างสำเร็จ จนมีการคว่ำบาตรรวมไปถึงกระแสกดดัน ทุนต่างชาติใหญ่ๆ หลายรายถอนการลงทุนในรัสเซีย สร้างความเสียหายต่อมูลค่าทางเศรษฐกิจรัสเซียอย่างมหาศาล
กระแสการสนับสนุนยูเครนแพร่สะพัดไปทั่วโลกออนไลน์ รวมไปถึงท่าทีของพันธมิตรตะวันตกที่นำโดยสหรัฐฯ ก็ได้มีการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์และส่งอาวุธที่จำเป็นมาช่วยยูเครนต่อต้านรัสเซีย
สำหรับในเกมการเมืองที่มีการตัดสินชะตากรรมด้วยการทำสงครามนั้น เท่านี้ถือว่าน้อยมาก
ในช่วงเวลาก่อนหน้าที่รัสเซียจะส่งทหารเข้าไปในยูเครน ฝั่งพันธมิตรตะวันตก-NATO มีท่าทีขึงขัง ดุดัน และบอกยูเครนอยู่ตลอดเวลาว่าจะเป็นที่พึ่งให้กับยูเครนได้ หรือในอีกความหมายหนึ่งคือการพูดให้ท้ายยูเครนและพร้อมที่จะให้ยูเครนเป็นหนามยอกอกรัสเซียอยู่กลายๆ ไม่ต้องมองย้อนไปในรอบ 30 ปีที่ NATO รุกคืบมาทางตะวันออก มองเพียงในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา เราจะเห็นการซ้อมรบของยูเครนในน่านน้ำประชิดรัสเซีย การซ้อมรบของยูเครนร่วมกับ NATO บนแผ่นดินยูเครน โดยยูเครนได้ร่วมซ้อมรบกับ NATO ในทะเลดำที่อยู่ไม่ไกลจากน่านน้ำรัสเซียเช่นกัน รวมไปถึงการซ้อมรบที่ประชิดรัสเซียในเอสโตเนีย สิ่งนี้ปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นการยั่วยุรัสเซีย
เมื่อถึงเวลาที่รัสเซียเอาจริง ถล่มจริง ประชาชนยูเครนบาดเจ็บล้มตายจริง ประเทศพันธมิตร NATO และโลกตะวันตก ไม่สามารถที่จะรับประกันเอกราชของยูเครนได้เลย ทำได้เพียงการส่งอาวุธมาช่วยและไม่ต้องการที่จะกระทำสิ่งใดให้ความขัดแย้งบานปลายลุกลามมาสู่บรรดาประเทศสมาชิก ไม่ว่าจะเป็นการส่งทหารเข้าไปช่วยหรือเปิด No Fly Zone
นอกจากนี้เรายังเห็นการเกี่ยงกันช่วยเหลือ อย่างในกรณีการส่งมอบเครื่องบิน MiG-29 ของโปแลนด์ที่ยูเครนร้องขอ ซึ่งโปแลนด์ประกาศพร้อมส่งให้โดยมีเงื่อนไขส่งให้ฐานทัพสหรัฐฯ ในเยอรมนี แต่สหรัฐฯ ก็รีบออกมาบอกปัดทันที โดยมีข้ออ้างว่าไม่ต้องการยกระดับการเผชิญหน้ากับรัสเซีย สิ่งนี้พิสูจน์สิ่งที่ NATO และตะวันตก เคยประกาศไว้ และสิ่งที่ผู้นำยูเครนเชื่อว่าตะวันตกจะมาช่วยอย่างเต็มตัวนั้นเป็นเพียงมายาคติโดยสิ้นเชิง
พันธมิตรตะวันตกยังมีความเห็นขัดแย้งกันในประเด็นการใช้มาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจเพื่อกดดันรัสเซีย ในขณะที่ประเทศที่อยู่นอกชายฝั่งยุโรปอย่างสหรัฐฯ และสหราชอาณาจักรพยายามขยายขอบเขตการคว่ำบาตร แต่พี่ใหญ่แห่งยุโรปอย่างเยอรมนีกลับคัดค้าน โดยการคว่ำบาตรการนำเข้าพลังงานจากรัสเซียจะส่งผลกระทบสำคัญต่อเศรษฐกิจยุโรป และยังคัดค้านการขยายขอบเขตมาตรการคว่ำบาตรทางการเงินและการธนาคารของรัสเซียด้วย นี่อาจเป็นประเด็นความขัดแย้งครั้งใหม่ของกลุ่มประเทศโลกตะวันตก
ปัจจัยทางการเมืองภายในเองก็ไม่ได้มีเอกภาพอย่างที่เอาแน่เอานอนได้ เดนิส คีเรเยฟ หนึ่งในผู้แทนเจรจาของยูเครน ถูกหน่วยข่าวกรอง SBU ของยูเครนเองสังหารทิ้งด้วยข้อกล่าวหาทรยศ ยังไม่รวมข่าวลือที่ระบุว่า ผู้นำยูเครนได้หนีไปโปแลนด์ ถึงแม้ว่ากระแสข่าวจะมาจากฝั่งรัสเซีย แต่ผู้ที่ให้ข่าวนี้กลับเป็น ส.ส. ฝ่ายค้านของยูเครนอย่าง อิเลีย คีวา
ทางฝั่ง ประธานาธิบดีโวโลดิเมียร์ เซเลนสกี เองก็เริ่มเสียงอ่อนลง และเริ่มถอดใจที่จะเข้าเป็นสมาชิก NATO แล้วเช่นกัน
เมื่อลองเทียบอำนาจต่อรองจากทั้งสองฝ่ายแล้ว ไม่ว่าอย่างไรในพื้นที่ยูเครนจริง รัสเซียก็ยังคงมีความได้เปรียบ ทั้งในแง่แสนยานุภาพทางทหารและในแง่ของความเป็นเอกภาพของรัฐบาลที่มีเป้าหมายและวัตถุประสงค์ที่แน่นอนในการเปิดศึกครั้งนี้
การเจรจารอบ 4 ที่ตุรกีเป็นเจ้าภาพสิ้นสุดลงก็คว้าน้ำเหลว และรัสเซียคงเดินหน้าถล่มยูเครนต่อไปจนกว่าจะบรรลุเป้าหมาย
แต่ถึงแม้รัสเซียจะชนะในเกมนี้ แต่จะชนะใจชาวยูเครนผู้แบกรับบาดแผลสงครามได้หรือไม่ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง
อ้างอิง:
- https://www.aljazeera.com/news/2022/3/9/us-rejects-poland-offer-to-send-mig-29-fighter-jets-to-ukraine
- https://www.bloomberg.com/news/articles/2022-03-07/germany-signals-opposition-to-cutting-essential-russian-energy
- https://www.dailymail.co.uk/news/article-10582805/Ukrainian-peace-negotiator-shot-dead-amid-claims-Russian-spy.html
- https://edition.cnn.com/2022/03/08/politics/russian-energy-import-ban/index.html
- https://www.gazeta.ru/politics/news/2022/02/28/17359039.shtml
- https://sputniknews.com/20220304/zelensky-left-ukraine-for-poland-russian-state-duma-speaker-says-1093588232.html
- https://www.vedomosti.ru/politics/news/2022/03/01/911550-zelenskii-nazval-prekraschenie-ognya-usloviem