×

สันติภาพรัสเซีย-ยูเครนเป็นไปได้ แต่หนทางอีกยาวไกล

14.02.2025
  • LOADING...
สันติภาพรัสเซีย-ยูเครน

โดนัลด์ ทรัมป์ เดินหน้าในสิ่งที่เขาเซ็ตเป็น Priority หลัก นั่นคือการยุติสงครามในยูเครนให้จงได้ 

 

หลังต่อสายตรงคุยกันนานเกือบ 1 ชั่วโมงครึ่งกับ วลาดิเมียร์ ปูติน เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา สองฝ่ายเห็นพ้องให้เริ่มขั้นตอนเจรจาเพื่อหยุดสงครามที่กำลังดำเนินสู่ปีที่ 4 ทันที 

 

ไม่ใช่แค่ฝ่ายมอสโกเท่านั้น แต่ฝ่ายเคียฟก็รับลูกแล้วเช่นกัน โดย โวโลดิเมียร์ เซเลนสกี ประธานาธิบดีของยูเครน ได้พูดคุยกับทรัมป์เกี่ยวกับไอเดียสร้างสันติภาพ ‘ที่ยั่งยืนและเชื่อถือได้’ แต่มีข้อแม้ว่า ยูเครนต้องมีส่วนร่วมด้วย มิเช่นนั้นยูเครนจะไม่ยอมรับข้อตกลง

 

มีการคาดหมายกันว่า การประชุมสุดยอดระหว่างทรัมป์และปูตินที่ซาอุดีอาระเบีย (ยังไม่กำหนดวันเวลา) จะเป็นหมุดหมายสำคัญในการประกาศความคืบหน้าเกี่ยวกับการเจรจายุติสงคราม ซึ่งนักวิเคราะห์หลายคนมองว่าเป็นสัญญาณบวกที่อาจนำไปสู่การยุติสงครามได้ในบ้ันปลาย แต่ยังต้องใช้เวลาอีกพอสมควรกว่าจะเจรจากันสำเร็จ เพราะยังมีอีกหลายเรื่องต้องตกลงกัน

 

ยูเครนเสียมากกว่าได้?

 

ที่ผ่านมารัสเซียและยูเครนไม่ยอมตั้งโต๊ะเจรจา เป็นเพราะต่างฝ่ายต่างก็ไม่ยอมถอยในเงื่อนไขที่กำหนดไว้ 

 

รัสเซียต้องการให้ยูเครนรับรองดินแดนที่รัสเซียผนวกเข้ามาใหม่และดินแดนที่เพิ่งยึดครองได้ รวมถึงยื่นคำขาดว่า ยูเครนจะต้องไม่เข้าร่วม NATO และประกาศตัวเป็นกลาง เพื่อที่ยูเครนจะมีสถานะเป็นรัฐกันชนของรัสเซียกับสมาชิก NATO ต่อไป อย่างไรก็ตามเคียฟยืนยันจะเข้า NATO ให้ได้ และต้องการให้มอสโกถอนทหารออกไปทั้งหมด รวมถึงพื้นที่ที่รัสเซียยึดครองและผนวกก่อนหน้านี้ เช่น ไครเมีย ด้วย ซึ่งทำให้การเจรจาไม่เคยเกิดขึ้น 

 

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคง ให้ความเห็นว่า การที่รัสเซียและยูเครนไม่มีจุดประนีประนอม ทำให้การเจรจาสันติภาพในเบื้องต้นไม่สามารถขยับไปข้างหน้าได้ แม้จะมีหลายฝ่ายพยายามเข้ามาเป็นคนกลางด้วยความหวังที่จะเปิดการเจรจาระหว่างคู่สงคราม แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ

 

แต่จากท่าทีล่าสุดของสหรัฐฯ ดูเหมือนว่ายูเครนจำต้องก้มหน้ายอมรับความเป็นจริงว่าดินแดนของตนอาจถูกเฉือนออก และโอกาสเข้าร่วม NATO ก็ดูจะริบหรี่ลงเรื่อยๆ หรือแทบจะปิดประตูความหวังไปแล้ว

 

ทรัมป์เองยอมรับกับผู้สื่อข่าวที่ทำเนียบขาวว่า มี ‘ความเป็นไปได้น้อย’ ที่ดินแดนและเส้นพรมแดนของยูเครนจะกลับมาเป็นเหมือนเดิมก่อนปี 2014 

 

เรื่องนี้ รศ. ดร.ปิติ ศรีแสงนาม ผู้เชี่ยวชาญด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มองว่ายูเครนไม่มีทางเลือก ขณะเดียวกันเซเลนสกีก็จำเป็นต้องหาทางลงให้ตัวเอง เพราะการมาของทรัมป์พร้อมจุดยืนไม่สนับสนุนยูเครนทำสงครามต่อนั้น ทำให้เคียฟขาดท่อน้ำเลี้ยงสำคัญ และเวลานี้ยุโรปก็อ่อนแอเกินกว่าจะอุ้มยูเครนได้หากปราศจากการมีส่วนร่วมของสหรัฐฯ

 

ปัจจุบันท่าทีของเซเลนสกีอ่อนลงไปมากจากที่เคยยืนกรานเสียงแข็งว่าจะไม่ยอมเสียดินแดนแม้แต่ตารางเมตรเดียว เขาสูญเสียความชอบธรรมในฐานะผู้นำมากขึ้น โดยต้องขยายกฎอัยการศึกออกไปเรื่อยๆ เพื่อต่ออำนาจให้ตัวเองในการทำสงครามต่อต้านผู้รุกราน แต่เมื่อเวลาผ่านไป ยูเครนสูญเสียทั้งดินแดน กำลังพล ชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนผู้บริสุทธิ์ ทั้งหมดมีมูลค่ามหาศาลเกินกว่าจะประเมินได้

 

นอกจากนี้การที่สหรัฐฯ และพันธมิตรยุโรปยื่นมือเข้าช่วย ก็ไม่ใช่การช่วยแบบฟรีๆ ยูเครนยังมีหนี้ที่ต้องจ่ายให้กับประเทศเหล่านี้ ซึ่งพันธมิตรที่ว่านี้ต่างก็จับจ้องไปที่แหล่งพลังงานและสินแร่หายาก หรือ ‘แรร์เอิร์ธ’ ในยูเครน ซึ่งยูเครนจะต้องเสียทรัพยากรอีกมหาศาลกับสิ่งที่แลกมาเพื่อทำสงคราม

 

หลายฝ่ายประเมินว่า การยุติการให้ความช่วยเหลือจะเป็นแรงกดดันทำให้กองทัพยูเครนไม่สามารถรบได้ต่อไป เพราะสหภาพยุโรปอาจจะแบกรับไม่ได้ทั้งหมด แต่ ดร.สุรชาติ ชวนตั้งข้อสังเกตว่า อะไรคือสิ่งที่ทรัมป์นำมาต่อรองเพื่อแลกกับการให้รัสเซียยอมเปิดการเจรจาสันติภาพ ส่วนการที่ผู้นำยูเครนมีท่าทีอ่อนลงและยอมเปิดการเจรจานั้น ก็น่าจะมีข้อเรียกร้องให้สหรัฐฯ และสหภาพยุโรปต้องมีการค้ำประกันสันติภาพยูเครน 

 

ดร.สุรชาติ กล่าวว่า ทรัมป์ต้องการผลประโยชน์ตอบแทนจากยูเครน เพราะถือว่าสหรัฐฯ ลงทุนไปมาก จึงต้องการแรร์เอิร์ธที่มีมูลค่ามหาศาลจากยูเครน ซึ่งถ้ามีการให้สัมปทานสินแร่หายากนี้ สหรัฐฯ ก็อาจมีบทบาทในการคุ้มครองยูเครน เพราะมีผลประโยชน์ที่เป็นรูปธรรมในการอธิบายกับสังคมอเมริกัน

 

มีความหวังอยู่บ้างว่า ยูเครนอาจได้ดินแดนกลับคืนมาบางส่วน โดย ดร.ปิติ ชี้ว่าขึ้นอยู่กับการเจรจาหลังจากนี้ ซึ่งก็จะเป็นบทสรุปด้วยว่าเซเลนสกีจะหาทางลงให้ตัวเองได้สวยขนาดไหน 

 

แต่มีความเป็นไปได้สูงว่ารัสเซียจะยังครอบครอง 4 แคว้นที่ประกาศผนวกไปก่อนหน้านี้ ได้แก่ โดเนตส์ก ลูฮันสก์ เคอร์ซอน และซาปอริซเซีย รวมถึงเมืองท่าสำคัญต่างๆ ซึ่งจะทำให้ยูเครนกลายเป็นประเทศที่ไม่มีทางออกสู่ทะเล เซเลนสกีอาจถูกตราหน้าว่าเป็นผู้นำที่ย่ำแย่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของยูเครนก็เป็นได้

 

ขณะที่ รศ.ปณิธาน วัฒนายากร ผู้เชี่ยวชาญความมั่นคงและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เชื่อว่าการเจรจารอบนี้รัสเซียจะไม่ยอมแลกดินแดนที่ได้มาจากการบุกยูเครนเกือบ 120,000 ตารางกิโลเมตรกลับคืนไปให้ยูเครน ในขณะเดียวกันก็ยังไม่ชัดเจนว่า ดินแดนที่ยูเครนยึดมาจากรัสเซีย 450 ตารางกิโลเมตร จะรักษาไว้อยู่หรือไม่

 

ส่วน ดร.สุรชาติ ชี้ว่า ยูเครนอาจนำเอาดินแดนรัสเซียที่ฝ่ายตนยึดครองมาเป็นประเด็นต่อรองแลกเปลี่ยนกับดินแดนที่รัสเซียยึดครอง แต่จนถึงปัจจุบันยังไม่มีความชัดเจนในเรื่องแผนสันติภาพของทรัมป์ และไม่ชัดเจนว่าบทบาทของยุโรปอยู่ตรงจุดใหนในแผนสันติภาพนี้

 

ยุโรปแตกตื่น

 

ดร.ปิติ มองว่าในกรณีของสงครามยูเครนนั้น สหภาพยุโรปมีทางเลือกไม่มากหากขาดการสนับสนุนจากสหรัฐฯ ในขณะเดียวกันพวกเขาก็เริ่มตระหนักและยอมรับความจริงที่ว่าการดึงดันดึงยูเครนมาสู่อ้อมอก NATO ให้ได้นั้น กลับกลายเป็นการนำปัญหามาสู่ตัว และเพิ่มความเสี่ยงมาสู่ NATO มากกว่าจะได้ประโยชน์ 

 

ขณะที่ ดร.ปณิธาน เชื่อว่าประตูสู่ NATO ของยูเครนได้ปิดลงไปแล้ว โดยทรัมป์ รวมถึง พีท เฮกเซธ รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯ พูดชัดกับ NATO และยูเครนไปแล้วในเรื่องนี้ รวมถึงเรื่องที่สหรัฐฯ ต้องการให้ยุโรปมีบทบาทนำในการปกป้องยูเครนหลังจากนี้ นอกจากนี้ทรัมป์ยังเน้นย้ำให้สมาชิก NATO ต้องเพิ่มงบประมาณป้องกันจากเดิม 2% เป็น 5% ของ GDP ด้วย

 

ส่วนความเคลื่อนไหวล่าสุดของทรัมป์ในการพูดคุยกับปูตินและเซเลนสกีรอบนี้ ดร.ปณิธาน มองว่าทำให้ยุโรปตื่นตระหนกไม่น้อย โดยเฉพาะฝรั่งเศส เยอรมนี และโปแลนด์ เพราะเรื่องนี้ทรัมป์ไม่ได้ปรึกษาหารือกับพันธมิตรตะวันตกมาก่อน ถือเป็นเรื่องแปลกใหม่ ซึ่งทำให้เกิดความกังวลตามมาด้วยว่า ยุโรปอาจถูกกันออกจากวงเจรจารอบนี้ ขณะที่หลายประเทศกลัวภัยคุกคามจากรัสเซียและมีบางประเทศเพิ่งประกาศตนเป็นปฏิปักษ์ต่อมอสโกอย่างชัดแจ้ง

 

ผู้นำยุโรปจึงเตรียมประชุมด่วนเพื่อหาทางแทรกตัวเข้ามาในวงเจรจาด้วย ซึ่งการปรับนโยบายต่อมอสโกของวอชิงตันอย่างกะทันหันเช่นนี้ ได้บีบให้บรัสเซลส์ต้องหาทางรับมือ ขณะเดียวกันก็อาจบีบให้ต้องปรับเปลี่ยนนโยบายใหม่ด้วย

 

ทรัมป์เร่งปิดดีล สร้างผลงานหวังผลเลือกตั้งกลางเทอม

 

ต้องยอมรับว่าคนที่ได้เครดิตว่าทำให้เกิดการเจรจายุติสงครามยูเครนได้สำเร็จคือทรัมป์ แต่การที่เขาดูเร่งรีบก็เพราะมีเหตุผลทางการเมือง ดร.ปิติ ชี้ว่า ทรัมป์กลัวเสียรังวัด หากไม่สามารถยุติสงครามได้สำเร็จภายใน 100 วันแรกหลังรับตำแหน่งตามที่หาเสียงไว้ 

 

หากทรัมป์ทำไม่สำเร็จ แน่นอนว่าพรรคเดโมแครตอาจหยิบยกมาโจมตีในช่วงเลือกตั้งกลางเทอม แต่ถ้าสำเร็จทรัมป์ก็จะประกาศได้ว่าเป็นผลงานในช่วงหาเสียง ซึ่งเขาหวังเป็นอย่างยิ่งว่าพรรครีพับลิกันจะครองเสียงข้างมากทั้งในสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาอีกครั้ง เพื่อที่จะผลักดันนโยบายและผ่านกฎหมายต่างๆ ในช่วงเวลาที่เหลืออีก 2 ปีได้อย่างราบรื่น

 

ดร.ปิติ เชื่อว่า ภายใน 100 วันแรกจะให้เกิดข้อตกลงที่รูปธรรม แต่ในความเป็นจริงการเจรจาอาจใช้เวลานานกว่านั้น 

 

เช่นเดียวกับ ดร.ปณิธาน ที่เชื่อว่า ในระยะสั้นจะเห็นความคืบหน้าที่เป็นรูปธรรม แต่การเจรจาระหว่างรัสเซียกับยูเครนจะเกิดขึ้นอีกหลายรอบ โดยเฉพาะเรื่องพรมแดนที่ต้องใช้เวลาเจรจานานเพราะมีความซับซ้อน นอกจากนี้ยังต้องพูดคุยในประเด็นการฟื้นฟูด้วย

 

นอกจากเรื่องแร่หายากหรือแรร์เอิร์ธที่เซเลนสกีตอบตกลงทรัมป์ไปแล้ว ยังมีรายละเอียดอีกหลายเรื่องที่ยังต้องหารือกันนอกรอบ เช่น การวางกำลังป้องกันยูเครน ที่เวลานี้ยังไม่ได้ข้อสรุปชัดเจนว่าสหรัฐฯ จะส่งทหารมาเท่าไร และยุโรปจะส่งมาช่วยอีกจำนวนเท่าไร

 

จับตาบทบาทจีนและซาอุดีอาระเบีย

 

แม้ไม่มีชื่อของจีนเป็นหัวหอกการเจรจายุติสงครามยูเครนรอบนี้ แต่ทั้ง ดร.ปณิธานและ ดร.ปิติ เชื่อว่าจีนมีบทบาทสำคัญอยู่เบื้องหลัง และทำให้ซัมมิตทรัมป์-ปูตินที่ซาอุดีอาระเบียเป็นเจ้าภาพเกิดขึ้นได้

 

ดร.ปณิธาน เชื่อว่าทรัมป์มีความต้องการดึงจีนเข้ามามีบทบาทช่วยฟื้นฟูทั้งในรัสเซียและยูเครน เนื่องจากทรัมป์ไม่อยากให้สหรัฐฯ แบกรับค่าใช้จ่ายไว้เอง ดังนั้นจึงดึงจีนเข้ามาช่วย ซึ่งยังไม่แน่ชัดว่าจีนจะยอมตกลงหรือไม่ 

 

นอกจากจีนแล้ว ซาอุดีอาระเบียก็เฉิดฉายขึ้นมาในฐานะเจ้าภาพจัดซัมมิตระหว่างทรัมป์กับปูติน โดย ดร.ปิติ มองว่าซาอุดีอาระเบียกำลังแสดงให้ความเป็นมหาอำนาจระดับกลาง (Middle Power) ที่มีศักยภาพ ต้องการเป็นผู้นำภูมิภาคมากขึ้น และมีความเข้มแข็งในเวทีระหว่างประเทศ โดยเวลานี้ มกุฎราชกุมาร มุฮัมมัด บิน ซัลมาน ได้รับการจับตาอย่างมากกับนโยบาย Outward Looking ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่า การที่จีนมีบทบาทเป็นกาวใจประสานรอยร้าวระหว่างซาอุดีอาระเบียกับอิหร่าน ทำให้ซาอุดีอาระเบียไม่ต้องพะวงกับภัยคุกคามจากอิหร่านอีกต่อไป และทำให้ซาอุดีอาระเบียสามารถให้ความสำคัญกับนโยบายต่างประเทศมากขึ้น

 

ขณะที่ ดร.ปณิธาน มองว่า มกุฎราชกุมาร บิน ซัลมาน เป็นอีกผู้เล่นที่น่าสนใจในเวทีระหว่างประเทศ ปัจจุบันนโยบายต่างประเทศสมัยใหม่ของซาอุดีอาระเบียมีความหลากหลายขึ้น โดยลดการพึ่งพิงสหรัฐฯ ลง ที่ผ่านมาซาอุดีอาระเบียแสดงจุดยืนไม่เห็นด้วยกับทรัมป์ในบางเรื่อง เช่น การยึดครองกาซาและการเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมัน แต่ในขณะเดียวกันบิน ซัลมาน ก็มีความพยายามฟื้นฟูความสัมพันธ์กับรัฐบาลทรัมป์หลังจากที่ตกต่ำลงในสมัยไบเดน นอกจากนี้ซาอุดีอาระเบียก็มีความสนใจที่จะขยายความร่วมมือกับจีนและรัสเซีย เพื่อสร้างสมดุลใหม่ด้วย

 

การแข่งขันทางภูมิรัฐศาสตร์ที่กำลังให้ผลตอบแทนรัสเซีย?

 

ดร.สุรชาติ มองว่าอนาคตของยูเครนหลังจากนี้น่าจะอยู่ในมือของทรัมป์และปูติน จนต้องติดตามว่าปี 2025 จะเป็นปียุติสงครามยูเครนได้จริงหรือไม่ และหน้าตาของยูเครนใหม่จะเป็นอย่างไร 

 

“แต่ไม่ว่าการเจรจาจะเดินหน้าได้หรือไม่ รัสเซียพร้อมจะรบต่อ แต่สหรัฐฯ ไม่พร้อมที่จะต่อสู้ในสงครามนี้แล้ว

 

“ดูเหมือนการแข่งขันทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ยูเครนกำลังให้ผลตอบแทนแก่รัสเซีย แม้ว่ารัสเซียจะมีท่าทีเพลี่ยงพล้ำในสงครามระหว่างปี 2022-2023 ก็ตาม ทั้งหมดนี้อาจตอบเราว่าเกมสงครามกำลังจะพลิกที่ยูเครน และเป็นการพลิกที่ไม่เป็นประโยชน์แก่ฝ่ายตะวันตกด้วย” ดร.สุรชาติ กล่าว

 

จากนี้น่าจับตาว่า การเจรจาเพื่อยุติสงครามในยูเครนที่ยืดเยื้อสู่ปีที่ 4 จะดำเนินไปอย่างไร ท่ามกลางความถดถอยของยุโรป และการผงาดขึ้นมาของมหาอำนาจระดับกลาง หรือ Global South อย่างซาอุดีอาระเบีย และที่ขาดไม่ได้คือ การทูตระหว่าง 3 ผู้นำประเทศมหาอำนาจ (ทรัมป์ ปูติน และสีจิ้นผิง) ที่จะเซ็ตโทนและทิศทางการเมืองโลกหลังจากนี้

 

ภาพ: Reuters, Borshch Filipp via ShutterStock / Getty Images

อ้างอิง: 

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising