×

สถาบันไทยเชื่อปมศึก ‘รัสเซีย-ยูเครน’ กระทบสินทรัพย์เสี่ยงน้อย ชูหุ้นตลาดเกิดใหม่รับ Fund Flow เพิ่ม

15.02.2022
  • LOADING...
รัสเซีย-ยูเครน

นักลงทุนสถาบันไทยเชื่อตลาดหุ้นทั่วโลกรับผลกระทบจากความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนน้อย ระบุนโยบาย Fed และเงินเฟ้อสหรัฐฯ ยังกดดันมากกว่า พร้อมมองเป็นโอกาสเข้าลงทุนในจังหวะที่ตลาดหุ้นย่อตัว ชูตลาดเกิดใหม่ในเอเชียน่าสนใจมากสุดจากการไหลเข้าของเงินทุนต่างชาติ 

 

ปมขัดแย้งะระหว่างรัสเซียและยูเครนได้สร้างความหวาดวิตกไปทั่วโลกแม้จะยังไม่เกิดความรุนแรงใดๆ ขึ้นมา แต่ตลาดหุ้นทั่วโลกได้ตอบรับความตึงเครียดกันอย่างถ้วนหน้า เริ่มตั้งแต่ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ที่ปรับลดลงตั้งแต่เมื่อวันศุกร์ที่ 11 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ขณะที่ตลาดหุ้นฝั่งเอเชียก็ปรับตัวลดลงเซ่นความกังวลดังกล่าวเช่นเดียวกัน 

 

จิติพล พฤกษาเมธานันท์ นักกลยุทธ์การลงทุน บลจ.ยูโอบี (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า ปัจจัยความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนนั้นทำให้ตลาดเกิดความไม่แน่ใจ จึงเกิดแรงขายเพื่อลดความเสี่ยงออกมาก่อน เห็นได้จากการปรับฐานของตลาดหุ้นสหรัฐฯ ในช่วงที่ผ่านมา ต่อเนื่องถึงตลาดเอเชีย ขณะที่ตลาดเองก็เริ่มรับรู้ข้อมูลข่าวสารแล้วว่าใน 1-2 วันนี้อาจจะมีการทำสงคราม โดยที่ฝั่งรัสเซียเป็นฝ่ายบุก แต่สุดท้ายก็อาจไม่ได้เป็นเช่นนั้น 

 

“การปรับตัวของตลาดรอบนี้คือขายออกไปก่อน เพื่อลดความเสี่ยงและติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เราจึงได้เห็นภาพตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปรับตัวลดลง แต่ก็เป็นภาพระยะสั้นเท่านั้น โดยน่าจะดีดกลับเมื่อได้เห็นผลลัพธ์ เช่น มีผู้แพ้-ชนะเกิดขึ้นแล้ว หรือได้เห็นทางออกจากการกระทำของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง”​ จิติพลกล่าว 

 

จิติพลกล่าวด้วยว่า ในช่วงที่กระแสข่าวเกี่ยวกับการทำสงครามมีมากขึ้น ราคาสินทรัพย์ปลอดภัยทั้งหลายได้ปรับตัวเพิ่มขึ้น ที่เห็นชัดสุดคือราคาทองคำ ขณะเดียวกันราคาสินค้าโภคภัณฑ์ โดยเฉพาะราคาพลังงานก็ปรับขึ้น ซึ่งเป็นผลมาจากความกังวลด้านซัพพลายที่อาจจะออกสู่ตลาดได้ลดลงหากมีการทำสงครามขึ้นจริง 

 

อย่างไรก็ตาม ทั้งราคาทองคำและราคาพลังงานปรับเพิ่มขึ้นมาระยะหนึ่งแล้ว อันเป็นผลมาจากความกังวลทางด้านเศรษฐกิจ จึงประเมินว่าแนวโน้มราคาอาจจะปรับเพิ่มขึ้นได้อีกไม่มากนัก 

 

มองกระทบตลาดเงินทั่วโลกระยะสั้น 

 

จิติพลกล่าวเพิ่มว่า ในทุกๆ การเกิดสงครามหรือความขัดแย้ง ตลาดเงินทั่วโลกจะปรับตัวลดลงในระยะสั้นเสมอ ซึ่งจังหวะในการขายเพื่อทำกำไรและลดความเสี่ยงจะเกิดขึ้นสั้นๆ ทำให้นักลงทุนปรับพอร์ตไม่ทัน แต่เมื่อเวลาผ่านไปราว 1-2 วัน ตลาดก็จะปรับขึ้นมาอยู่ที่เดิม ฉะนั้นจึงมองว่าการถือและรอติดตามสถานการณ์ยังเป็นกลยุทธ์ที่เหมาะสม

 

อย่างไรก็ตาม มีกรณีที่การเกิดสงครามทำให้สินทรัพย์เสี่ยงทั่วโลกผันผวนระยะยาวเช่นกัน ซึ่งมักจะเป็นสงครามหรือความขัดแย้งที่ 

 

  1. คู่ขัดแย้งเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่และมีนัยสำคัญต่อเศรษฐกิจโลก

 

  1. ความขัดแย้งเกิดขึ้นในระยะเวลาที่ยาวนาน 

 

“รอบนี้ที่เป็นความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน จึงมองว่าไม่น่าจะกระทบต่อตลาดเงินรุนแรง เพราะทั้ง 2 ประเทศไม่ได้มีจุดยืนทางเศรษฐกิจที่มีนัยสำคัญต่อเศรษฐกิจโลก แต่อาจจะสร้างผลกระทบต่อราคาพลังงานอยู่บ้าง”​ จิติพลกล่าว 

 

ขณะเดียวกันหากมองในระยะยาวโดยไม่นับรวมกรณีเกิดการทำสงครามระหว่างประเทศ ความเสี่ยง Geopolitics จะทำให้ความร่วมมือระหว่างประเทศเกิดขึ้นได้ยากในอนาคต เร่งให้กระแส Deglobalization เกิดเร็วขึ้นทั่วโลก กลุ่มธุรกิจการค้าระหว่างประเทศก็จะไม่ดีเหมือนในอดีต 

 

ตลาดเกิดใหม่รับ Fund Flow ไหลเข้า

สำหรับผลกระทบต่อตลาดหุ้นเอเชีย ประเมินว่าจะมีตลาดหุ้นเกิดใหม่บางประเทศได้รับอานิสงส์เชิงบวกจากเงินทุนไหลเข้ามากขึ้น ซึ่งเป็นเงินทุนที่ไหลออกจากตลาดเกิดใหม่ที่อยู่ใกล้กับพื้นที่ขัดแย้ง 

 

“หุ้นไทยก่อนหน้านี้ปรับตัวเพิ่มขึ้นโดยได้รับอิทธิพลจากราคาน้ำมัน ซึ่งจากนี้ก็น่าจะได้อานิสงส์เพิ่มอีก เพราะท่ามกลางตลาดเกิดใหม่ด้วยกัน หากประเทศใดเริ่มมีปัญหา เงินก็ไหลออกแล้วไปหาตลาดเกิดใหม่อื่นๆ ทดแทน นอกจากนี้ตลาดหุ้นไทยยังมีธีม Reopenning ที่น่าสนใจในจังหวะนี้ด้วย” จิติพลกล่าว  

 

ประเมินตลาดสับสนช่วงสั้น

วิน พรหมแพทย์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงานลูกค้าไฮเน็ตเวิร์ธ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา กล่าวว่า สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนนั้นเชื่อว่าน่าจะตึงเครียดถึงขั้นสุด แต่จะไม่เกิดสงคราม และความกังวลจากนักลงทุนก็น่าจะสะท้อนสู่ดัชนีราคาแต่ละสินทรัพย์ไปแล้วบางส่วน โดยราคาทองคำได้ปรับเพิ่มขึ้นในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ขณะที่ Bond Yield ปรับขึ้นเล็กน้อย 

 

ทั้งนี้ยอมรับว่าความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนทำให้ตลาดเกิดความสับสนมากขึ้น เนื่องจากความขัดแย้งครั้งนี้ทำให้ราคาพลังงานปรับเพิ่มขึ้น ส่งผลให้เงินเฟ้อเร่งตัวขึ้น ซึ่งจะกระทบต่อการดำเนินนโยบายการเงินของ Fed โดยตลาดเริ่มมีความกังวลมากขึ้นว่า Fed อาจจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยแรงและเร็วขึ้น ในขณะเดียวกันความกังวลต่อภาวะสงครามก็ทำให้ Bond Yield ปรับลดลง 

 

เขากล่าวว่า การตอบรับของตลาดจากนี้ไปอาจจะต้องดูตามสถานการณ์ความขัดแย้งที่กำลังจะเกิดขึ้น อย่างไรก็ตาม กลุ่มหุ้นที่น่าจะช่วยลดความเสี่ยงได้คือหุ้นเติบโตสูง หรือ Growth Stock แต่ราคาอาจจะปรับเพิ่มขึ้นไปบ้างแล้ว จึงควรรอให้ย่อตัวแล้วค่อยพิจารณาลงทุนอีกครั้ง 

 

“ถ้าพิจารณาจากเหตุการณ์ความขัดแย้งระหว่างประเทศ เช่น ความขัดแย้งระหว่างอิรัก-อิหร่าน ตลาดหุ้นก็ไม่ได้ตอบรับเชิงลบมากนัก และมีจังหวะให้นักลงทุนทยอยเข้าลงทุนในช่วงที่ลาดย่อตัว กรณีความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครน จึงเชื่อว่ายังไม่ต้องรีบร้อนปรับพอร์ต” วินกล่าว 

 

หวั่นราคาน้ำมันกดดันมาร์จิ้น บจ. 

นาวิน อินทรสมบัติ รองกรรมการผู้จัดการ สายงานจัดการลงทุนต่างประเทศ บลจ.กสิกรไทย กล่าวว่า ผลจากความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนที่เห็นชัดที่สุด คือ ราคาพลังงานที่ปรับเพิ่มขึ้นไปถึงระดับ 90 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ซึ่งพลังงานเป็นต้นทุนทางเศรษฐกิจส่วนมาก ทำให้เกิดแรงกดดันต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของแต่ละประเทศ ขณะที่เงินเฟ้อก็ยังคงอยู่ในระดับสูง 

 

อย่างไรก็ตาม ไม่สามารถประเมินได้ว่าราคาพลังงานและเงินเฟ้อจะปรับเพิ่มขึ้นอีกมากน้อยเพียงใด เพราะยังต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด 

 

“ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนจะเป็นอย่างไรก็ต่อก็ต้องติดตาม แต่ถ้าอยู่แบบนี้นานๆ ไป จะส่งผลระยะยาวให้เงินเฟ้อทรงตัวในระดับสูงและเกินเป้าหมายไปเรื่อยๆ ซึ่งจะทำให้ความเป็นไปได้ที่ Fed จะขึ้นดอกเบี้ยแรงและเร็วกว่าคาด คือ 0.50% ในเดือนมีนาคมนี้ มีมากขึ้น” นาวินกล่าว  

 

ชูหุ้นจีนและเอเชียโดดเด่น 

เขากล่าวเพิ่มว่า ปัจจัยความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนนี้ ตลาดยังซึมซับไปไม่มาก เว้นแต่ตลาดหุ้นสหรัฐฯ​ ที่มีความผันผวนชัดเจน ขณะที่ตลาดหุ้นเอเชียยังตอบรับความเสียงไม่มาก ส่วนหนึ่งเป็นเพราะอยู่ในพื้นที่ห่างไกลจากพื้นที่ขัดแย้ง 

 

ดังนั้นจึงมองว่าตลาดหุ้นเอเชียน่าสนใจลงทุนมากกว่าเมื่อเทียบกับตลาดหุ้นสหรัฐฯ โดยเฉพาะตลาดหุ้นจีนที่ราคาค่อนข้างถูก หลังจากเผชิญความเสี่ยงด้านการจัดระเบียบเชิงนโยบายและปมปัญหาตลาดอสังหาริมทรัพย์ไปมากพอสมควร 

 

เช่นเดียวกับตลาดหุ้นไทยที่ประเมินว่ามีความน่าสนใจ จากปัจจัยบวกกรณีที่เศรษฐกิจจีนฟื้น ซึ่งส่งผลดีต่อประเทศเอเชียโดยรอบที่มีการค้าขายกับประเทศจีนในสัดส่วนที่มาก 

 

“ตลาดหุ้นสหรัฐฯ แพงมาระยะใหญ่แล้ว และต้องเผชิญกับอัตราเงินเฟ้อที่กดดันมาร์จิ้นของบริษัทจดทะเบียน นอกจากนี้ยังได้รับผลกระบเชิงลบจากค่าจ้าง อัตราการว่างงาน การชะตัวทางเศรษฐกิจ ขณะที่ตลาดหุ้นจีนกำลังได้อานิสงส์จากการอัดฉีดสภาพคล่องและลดการตั้งสำรองให้กับภาคธนาคาร การเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยังดีอยู่ และราคาหุ้นปรับลดลงราว 20% การลงทุนในตลาดหุ้นจีนจึงโดดด่นมากกว่า” นาวินกล่าว

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising