×

ฝ่าปมร้อนสงคราม ‘รัสเซีย-ยูเครน’ และ ‘เงินเฟ้อสูง’ กับโอกาสลงทุนระยะยาว

04.03.2022
  • LOADING...
Inflation and investment opportunities

ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา หลายๆ คนคงเคร่งเครียดกับพอร์ตหุ้นที่ออกอาการสีแดงๆ กันแน่แท้ หลังจากช็อกกับสงครามรัสเซีย-ยูเครน ตั้งแต่วันที่ 24 กุมภาพันธ์เป็นต้นมา ฉุดตลาดหุ้นทั่วโลกดิ่งลงแรง แม้แต่ตลาดหุ้นไทยก็ร่วงรูดราว 30-40 จุด หรือกว่า 1% ในวันเดียว แต่โชคดีในวันถัดมาก็ปรับตัวกลับขึ้นมาได้บ้าง แต่ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ (SET) ก็หลุด 1,700 จุดไปเรียบร้อยแล้ว

 

จนถึงเวลานี้ ยิ่งตอกย้ำความผันผวนที่พร้อมเกิดขึ้นได้เสมอ และเชื่อว่านักลงทุนส่วนใหญ่ยังมึนงงและปรับอารมณ์ไม่ทันกับสภาวะตลาดที่ปรวนแปรตามกระแสโลกที่ข่าวสารหมุนเปลี่ยนได้ตลอดเวลา 

 


 

บทความที่เกี่ยวข้อง

 


 

สถานการณ์ล่าสุด องค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (North Atlantic Treaty Organisation: NATO) หรือนาโต ได้ใช้มาตรการตอบโต้ (Sanction) ชุดใหม่ต่อรัสเซีย ด้วยการตัดระบบการโอนเงินข้ามประเทศ (SWIFT) ซึ่งแน่นอนว่า ส่งผลกระทบต่อตลาดการเงิน และลามไปถึงความเสี่ยงของระบบการเงินของโลกด้วยราคาสินทรัพย์ที่เป็น Safe Haven ก็ปรับตัวสูงขึ้นไม่ว่าจะเป็นพันธบัตร ทองคำ เงินดอลลาร์และเงินเยน

 

ส่วนการ Sanction ด้านสินค้าส่งออกของรัสเซีย จากข้อมูลการส่งออกของรัสเซียช่วง 10 เดือนในปี 2564 มีมูลค่ารวม 3.88 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยสินค้าส่งออกหลักๆ ได้แก่ น้ำมันและด้านพลังงานมีสัดส่วน 54% ตามด้วยเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก สัดส่วน 11% เคมีภัณฑ์ 8% สินค้าผลิตผลทางการเกษตร 7% และเครื่องจักรและอุปกรณ์ 6%

 

หากองค์กรนาโตทำการ Sanction ด้านพลังงาน จะเกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจยุโรปหนักเหมือนกัน และเป็นประเด็นที่หลายๆ ประเทศฝั่งยุโรปก็วิตกกังวลกันมาก เนื่องจากพึ่งพาน้ำมันและก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียเป็นสัดส่วนสูงถึง 40% ของสินค้าพลังงานรวม ซึ่งทุกคนต่างภาวนาอย่าให้เกิดขึ้นเลย เพราะหากมีการ Sanction น้ำมันและก๊าซกันจริงๆ ทั่วโลกจะระส่ำกับราคาน้ำมันที่ปรับพุ่งสูงขึ้นกว่าทุกวันนี้อย่างแน่นอน และผลที่จะเกิดขึ้นตามมาคือทั้งสหรัฐฯ และประเทศต่างๆ จะเจอปัญหาเงินเฟ้อพุ่งสูงกว่าเวลานี้และตามมาด้วยการทรงตัวของเงินเฟ้อในระดับสูงที่นานกว่าในทันที ซึ่งหมายถึงแรงกดดันต่อการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของหลายๆ ประเทศ ให้เกิดขึ้นเร็วและแรงกว่าที่คาดแน่ๆ ครับ

 

เพราะฉะนั้น เวลานี้ตลาดจึงเชื่อและคาดหวังว่า ทั้งสหรัฐฯ และยุโรป ไม่น่าจะใช้มาตรการห้ามซื้อน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติจากรัสเซีย แต่สถานการณ์ในทุกวันนี้มีแต่ความไม่แน่นอน และอาจจะเกิดอะไรขึ้นก็ได้ในระยะข้างหน้า

 

อีกปัญหาใหญ่ที่เลี่ยงไม่ได้ คือด้าน Supply Chain เนื่องจากรัสเซียและยุโรปเป็นฐานการผลิตและจำหน่ายวัตถุดิบที่สำคัญๆ โดยเฉพาะเหล็ก เพราะฉะนั้นหากมีการ Sanction สินค้านี้ขึ้นมา ย่อมกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมต่างๆ ในยุโรป โดยเฉพาะเยอรมนีที่จะต้องเผชิญกับปริมาณการผลิตที่ลดลงและต้นทุนการผลิตสูงขึ้นตามความเสี่ยง

 

นี่คือผลกระทบที่พร้อมจะเกิดขึ้น หากมีการมาตรการตอบโต้รุนแรง แน่นอนว่าตลาดหุ้นรับรู้ข่าวเหล่านี้ และกำลังย่อยข่าวต่างๆ อย่างละเอียด

 

ตลาดจึงมีแต่คำถามว่า สถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครนจะจบเร็วหรือยืดเยื้อ ผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก สหรัฐฯ ยุโรป และประเทศต่างๆ เป็นอย่างไร และเศรษฐกิจไทยจะได้รับผลกระทบทางอ้อมอย่างไรบ้าง ซ้ำเติมด้วยข่าวลบ ทั้งการยกระดับความรุนแรงโรคโควิดขึ้นเป็นระดับ 4 และกระแสเลือกตั้งใหม่

 

ผมเชื่อว่า ทุกคนทำการบ้านอย่างหนัก หาคำตอบจากกูรูต่างๆ ที่วิเคราะห์สถานการณ์หลังจากนี้ บางคนก็มองวิกฤตเป็นโอกาสการลงทุน ส่องหาสินทรัพย์ประเภทไหนบ้างที่ได้รับผลบวกหรือทำกำไรได้บ้าง และซื้อตอนไหนดี ส่วนคนที่ขาดทุนอ่วมอรทัยจะทำอย่างไรดี ผมเข้าใจคนที่ตกอยู่ในสถานการณ์เหล่านี้ดีครับ

 

ย้อนสถิติตลาดหุ้นได้รับผลกระทบจากสงคราม

 

เคสเลวร้ายที่สุดคือ สงครามเกิด ตลาดหุ้นโลกจะเป็นอย่างไร หากดูสถิติตลาดหุ้นทั่วโลกย้อนหลังจากดัชนี MSCI และ ACWI ในช่วงสงครามที่เกิดขึ้นในอดีต ดูเหมือนว่า ‘สงครามจะไม่ได้ทำให้ตลาดหุ้นทั่วโลกตกรุนแรงสักเท่าไร’ และสิ่งที่น่าสนใจคือ ‘ดัชนีเป็นขาขึ้นซะส่วนใหญ่’ ส่วนหนึ่งเพราะว่าสงครามในช่วงกว่า 30 ปีที่ผ่านมา จำกัดอยู่แต่ในวงแคบๆ เฉพาะบางพื้นที่ของโลก แตกต่างจากสมัยสงครามโลกครั้งที่ 1 และครั้งที่ 2 ที่กินพื้นที่วงกว้าง ส่งผลให้ดัชนี S&P 500 ตกลงมาจากจุดสูงสุดราว 60% (สมัยนั้นยังไม่มีดัชนี MSCI และ ACWI) และหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 จบลง ตลาดหุ้นฟื้นตัวกลับมาได้ที่จุดเดิมภายในระยะเวลากว่า 3 ปี

 

Inflation and investment opportunities

 

ซึ่งหากความขัดเย้งรอบนี้ จุดชนวนเป็นสงครามโลกครั้งที่ 3 ตลาดหุ้นน่าจะร่วงหนักเหมือนที่เกิดขึ้นตอนสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้เช่นกัน

 

แต่เราก็คาดหวังว่าสงครามครั้งนี้จำกัดอยู่ในวงแคบแค่ 2 ประเทศ เป็นเพียงโต้ตอบกันไปมาและจบ ไม่ลุกลามเป็นสงครามโลกครั้ง 3 สิ่งที่คาดว่าจะเกิดขึ้น คือราคาน้ำมันและก๊าซธรรมชาติที่พุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง หลังจากที่ได้พุ่งขึ้นมาติดต่อกัน 8-9 สัปดาห์ ทำนิวไฮในรอบ 7 ปี ซึ่งทราบดีว่ารัสเซียเป็นประเทศที่ส่งออกน้ำมันและก๊าซธรรมชาติรายใหญ่ของโลก แม้ว่าปัจจุบัน ประเทศใหญ่ๆ เช่น สหรัฐฯ ได้สำรวจพบแหล่งน้ำมันดิบในประเทศของตัวเองก็ตาม และได้ลดการนำเข้าน้ำมันดิบลง บางประเทศถึงขั้นพลิกเป็นได้ประโยชน์จากราคาน้ำมันดิบที่สูงขึ้นตามไปด้วย ซึ่งการใช้พลังงานทดแทนก็ช่วยลดผลกระทบได้อีกทาง

 

นอกจากนี้ ยังมีสินค้าอื่นที่ได้รับผลกระทบจนทำให้ราคาสูงขึ้น เช่น ข้าวสาลี ข้าวโพด ข้าวบาร์เลย์ ถั่วเหลือง ปุ๋ยเคมีที่ทั้งรัสเซียและยูเครนเป็นผู้ส่งออกหลักของโลกด้วย อีกทั้งแร่หายาก (Rare Earth) ที่กำลังเป็นสิ่งล้ำค่าของโลกยุคนี้ด้วย เพราะใช้ในการผลิตเทคโนโลยีหลายอย่าง ซึ่งในรัสเซียมีเป็นจำนวนมาก ผลพวงจากราคาสินค้าต่างๆ ที่ปรับตัวพุ่งขึ้นตามมา คือปัญหาเงินเฟ้อที่สูงอยู่แล้วในหลายๆ ประเทศก็จะทรงตัวในระดับสูงอยู่นานขึ้นไปอีก หรืออาจจะสูงขึ้นอีก กลายเป็นประเด็นที่กดดันการเข้าสู่ภาวะดอกเบี้ยขาขึ้นที่เร่งตัวขึ้นกว่าเดิม 

 

‘ปัญหาเงินเฟ้อท่วมโลก-ดอกเบี้ยขาขึ้นมาเร็วและมากกว่าเดิม’ หากสงครามรัสเซีย-ยูเครนยืดเยื้อ ล้วนเป็นปัจจัยใหญ่ที่มีผลต่อปัจจัยพื้นฐานเศรษฐกิจและตัวธุรกิจต่างๆ ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงจากเดิมแน่นอน

 

พลิกวิกฤตเป็นโอกาส กับ 3 กลยุทธ์ลงทุนระะยะยาว

 

อย่างไรก็ตาม แม้สุดท้ายต้องตกอยู่ในสถานการณ์เช่นนี้อย่างเลี่ยงไม่ได้ ก็ยังไม่ใช่จุดจบของตลาดหุ้นอยู่ดี ผมกลับมองว่าถือเป็นจุดเริ่มต้นของการมองหาโอกาสในการลงทุนระยะยาวกับระลอกใหม่ของโลกที่เปลี่ยนแปลง ผมจึงมีกลยุทธ์การรับมือสำหรับนักลงทุนที่ชื่นชอบการลงทุนระยะยาว มาแชร์กันครับ

 

กลยุทธ์แรก ผมขอแนะนำให้นักลงทุนทุกคน ‘นิ่งสงบ สยบความเคลื่อไหว’ พูดง่ายๆ คือให้ ‘อยู่เฉยๆ’ ครับ หากคุณมั่นใจว่าได้เลือกลงทุนในสินทรัพย์คุณภาพดี ราคาเหมาะสมตามหลักการลงทุนที่ดีแล้ว อีกสิ่งที่คุณจะต้องมี คือทำจิตใจให้เข้มแข็ง อย่าหวั่นไหวตามคนหมู่มากหรือวิ่งตามกระแสตื่นตระหนก (Panic) ของอารมณ์ตลาด อย่างเช่นสถานการณ์ตอนนี้ แม้จะต้องเผชิญกับการเกิดสงคราม ราคาน้ำมัน เงินเฟ้อและดอกเบี้ยสูง หรือการระบาดใหญ่ของโควิด แต่เชื่อว่าสถานการณ์ระยะสั้นๆ ที่เกิดขึ้นทำอะไรผลตอบแทนระยะยาวของคุณไม่ได้ เพราะในตลาดหุ้น คนที่เคาะซื้อๆ ขายๆ มักจะแพ้ให้กับคนที่อดทนต่อการสวิงของตลาดหุ้น เพราะตลาดหุ้นมีความผันผวนเป็นธรรมชาติอยู่แล้ว

 

กลยุทธ์ที่สอง พลิกวิกฤตเป็นโอกาส ผมอยากบอกว่า ในช่วงที่ทุกคนหวาดผวาไปกับปัญหาที่ถาโถมเข้ามา แต่คุณสามารถมองเห็น ‘โอกาส’ ที่แอบซ่อนไว้ หากคุณกล้าลงทุนกับโอกาสที่ว่านี้ มันจะทำให้พอร์ตของคุณเติบโตได้ดียิ่งกว่าคนที่หวาดกลัว ไม่กล้าทำอะไรมากนัก

 

คุณปู่วอร์เรน บัฟเฟตต์ เคยกล่าวคำคมสอนใจเชิงปรัชญาการลงทุนไว้ว่า “จงกลัวเมื่อคนอื่นโลภ และจงโลภเมื่อคนอื่นกลัว” และอีกสิ่งที่คุณปู่ทำมาตลอด 65 ปี คือลงทุนผ่านทั้งช่วงสงคราม เงินเฟ้อระดับเลข 2 หลัก และดอกเบี้ยสูงมาแล้ว ยังทำสถิติผลตอบแทนย้อนหลังได้เป็นเบอร์ต้นๆ ของโลก ทั้งๆ ที่ไม่ได้ทำกำไรได้ทุกปีก็ตาม

 

ผมขอยกตัวอย่างเช่น ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ราคาหุ้นบริษัทวัคซีน โรงพยาบาล อุปกรณ์การแพทย์ และหุ้นเทคโนโลยีทั่วโลกพุ่งติดจรวด เพราะได้ประโยชน์เต็มๆ ช่วงที่โควิดกำลังระบาดหนัก ถ้าคุณเป็นคนหนึ่งที่มองเห็นโอกาสเข้าซื้อตอนที่ทุกคนหวาดกลัวขายหุ้นหนีออกไปจากตลาดกันหมด วันนี้พอร์ตของคุณจะโตได้แค่ไหน? คุณลองกลับไปทบทวนดู พอร์ตของคุณเคยคว้าโอกาสจากวิกฤตหรือยัง หากคว้าแล้วผลตอบแทนเป็นอย่างไร หากเป็นบวกและฝ่าทุกความผันผวนสั้นๆ มาได้ สะท้อนว่าหลักการเลือกลงทุนของคุณมาถูกทางแล้ว แต่หากเป็นลบ คงต้องกลับไปดูหุ้นที่คุณเลือก สอดรับกับหลักการลงทุนระยะยาวหรือไม่ 

 

กลยุทธ์ที่สาม การเอาตัวรอดจากความผันผวน ด้วยการมีวินัยและการกระจายความเสี่ยงจากการลงทุน ซึ่งหนึ่งในวิธีการที่ดีที่สุด คือการเพิ่มทุน หรือ DCA (Dollar Cost Averaging) เพื่อเฉลี่ยต้นทุน ถือเป็นกลยุทธ์ที่ดี เมื่อเวลาผ่านไปหลายปี จะเห็นราคาหุ้นในพอร์ตปรับตัวสูงขึ้น ถึงแม้ระหว่างปีจะเกิดความผันผวนหรือราคาไหลลงบ้างก็ตาม แต่ผลรวมจากการทำ DCA สุดท้าย จะสร้างผลตอบแทนที่ดีในอนาคตได้ 

 

ผมเคยได้ยินคนพูดกันว่า “อยู่ในตลาดหุ้นมานาน ทุกปีมันมีโอกาสอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าทำได้หรือไม่ได้ เพราะทุกปีไม่ว่าตลาดหุ้นจะลงแค่ไหนก็ตาม มันก็มีหุ้นที่ขึ้นอยู่เสมอ”

 

รวบสูตรเอาตัวรอดจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน เงินเฟ้อ ดอกเบี้ย

 

มุมมองส่วนตัวผมเอง ในเมื่อช่วงนี้ตลาดหุ้นอยู่ในภาวะผันผวนขาลงจากแรงช็อกของสงครามรัสเซีย-ยูเครน ก็ควรมองหาโอกาสลงทุนหุ้นดีราคาถูก ตามหลักการลงทุนระยะยาวของหุ้นคุณค่า (Value Investing: VI) สไตล์คุณปู่วอร์เรนกันดีกว่าครับ

 

ผมจึงรวบสูตรลงทุนระยะยาวในหุ้น VI แบบก้าวข้ามเงินเฟ้อ โจทย์ใหญ่ของหลายๆ ประเทศที่ได้เผชิญในช่วงหลายปีนี้ครับ นั่นก็คือ การเน้นเลือกหุ้นที่มีกิจการมั่นคงแข็งแรงและสร้างกระแสเงินสดได้อย่างสม่ำเสมอมากกว่า ซึ่งหุ้นคุณค่าเหล่านี้มักอยู่ในอุตสาหกรรมที่จำเป็น เช่น อาหารและเครื่องดื่ม ของใช้ส่วนตัว สาธารณูปโภค ในยามที่ต้นทุนสูงขึ้นจากเงินเฟ้อก็สามารถปรับขึ้นราคาได้โดยที่ยอดขายไม่ตกมาก แม้จะอยู่ในช่วงเศรษฐกิจชะลอตัวลง ซึ่งหุ้นคุณค่าแบบนี้จะเป็นที่ต้องการของนักลงทุนในช่วงเวลานี้ครับ เพราะมักทำผลประกอบการได้ดี และส่งต่อราคาหุ้นให้ปรับตัวสูงขึ้นตามกลไกตลาดด้วย สุดท้ายพอร์ตของคุณก็จะสามารถเอาตัวรอดได้จากปัญหาความขัดแย้งเชิงภูมิรัฐศาสตร์ ราคาน้ำมัน เงินเฟ้อ และดอกเบี้ยขาขึ้น ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ยากลำบากตามวัฏจักรเศรษฐกิจไปได้ และสร้างผลตอบแทนพอร์ตเติบโตเอาชนะตลาด

 

นี่คือความสำเร็จจากการทำการบ้านของคุณในการเลือกหุ้นคุณภาพใส่พอร์ต ถือเป็นหัวใจสำคัญของการลงทุนระยะยาวครับ ไม่ว่าจะเจอความผันผวนหรือความไม่แน่นอนกี่ครั้งก็จะยืดหยัดอยู่ได้ หรือลงน้อยกว่าตลาดเมื่อตลาดหุ้นกลับเข้าสู่ภาวะปกติ ส่วนในยามที่ตลาดหุ้นขึ้นแรง หุ้นเหล่านี้ก็จะได้กำไรเยอะกว่าตลาดครับ

 

พอร์ตแกร่ง ความผันผวนทำอะไรผลตอบแทนระยะยาวไม่ได้

 

ผมขอให้ความมั่นใจสำหรับคนที่ลงทุนระยะยาว หากเรือ (พอร์ต) ของคุณแข็งแกร่ง ไม่ว่าจะเผชิญกับความผันผวนหรือวิกฤตกี่รอบ คุณก็จะผ่านไปได้แน่นอนครับ

 

ขอให้นักลงทุนเข้าใจว่า ไม่มีอะไรเป็นจุดจบของการลงทุนในตลาดหุ้น เพราะในทุกวิกฤตมีโอกาสซ่อนอยู่เสมอครับ ขอให้โชคดีกับการลงทุนทุกท่านครับ

 

และผมมั่นใจเสมอว่า กลยุทธลงทุนระยะยาวในตลาดหุ้น ไม่ว่าระหว่างทางจะเกิดสงคราม ราคาน้ำมันพุ่ง เงินเฟ้อและดอกเบี้ยสูง หรือแม้แต่โรคระบาดใหญ่อย่างโควิด หากคุณลงทุนอย่างมีหลักการ มรสุมเหล่านี้ก็จะทำอะไรผลตอบแทนระยะยาวของคุณไม่ได้ครับ

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH


Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising