×

‘จุรินทร์’ เผยสงครามรัสเซีย-ยูเครนเริ่มส่งผลกระทบต้นทุนการผลิตอาหารกระป๋อง-อาหารสัตว์ เตรียมหารือกระทรวงเกษตรฯ เร่งแก้ปัญหา

14.03.2022
  • LOADING...
อาหารกระป๋อง-อาหารสัตว์

จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เผยสงครามรัสเซีย-ยูเครนเริ่มส่งผลกระทบต้นทุนการผลิตอาหารกระป๋อง-อาหารสัตว์ แต่ราคาสินค้าอุปโภคบริโภค 18 หมวดสำคัญยังทรงตัว สั่งปลัดกระทรวงเร่งหารือกระทรวงเกษตรและสหกรณ์แก้ปัญหา

 

รมว.พาณิชย์ เปิดเผยว่า จากการสั่งการให้กรมการค้าภายในรายงานราคาสินค้าทุกวัน โดยเฉพาะสินค้าที่สำคัญต่อการอุปโภคบริโภค 18 หมวด ล่าสุดสินค้าส่วนใหญ่เกือบทั้งหมดราคาทรงตัว โดยเฉพาะหมวดอาหารสด ราคาหมูเนื้อแดงเฉลี่ยทั่วประเทศอยู่ที่ประมาณ 150 บาทต่อกิโลกรัม ที่ห้างสำคัญ เช่น แม็คโคร โลตัส และบิ๊กซี ขณะที่ราคาไก่ยังทรงตัว และเมื่อเทียบกับเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ส่วนราคาไข่ไก่เฉลี่ยอยู่ที่ราคา 3.46 บาทต่อฟองสำหรับไข่ไก่เบอร์ 3  

 

นอกจากนี้ยังพบว่าบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปยังไม่ปรับราคาขึ้น โดยราคาปลีกยังอยู่ที่ซองละ 6 บาท สำหรับสินค้าในหมวดอาหารกระป๋องขณะนี้ยังไม่อนุญาตให้ปรับขึ้นราคา แต่ยอมรับว่าต้นทุนกระป๋องสูงขึ้นเพราะราคาเหล็กสูงขึ้น 40-45% โดยประมาณ ซึ่งเป็นการปรับขึ้นของราคาเหล็กในตลาดโลกมีผลมาจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน 

 

ขณะที่ข้าวสารถุงราคาทรงตัว ซอสปรุงรสราคาทรงตัว น้ำอัดลมไม่ขึ้นราคา นมและผลิตภัณฑ์จากนม มีหนึ่งยี่ห้อที่ขออนุญาตปรับขึ้นแต่ไม่อนุญาตให้ปรับขึ้น หมวดเครื่องใช้ไฟฟ้าไม่ปรับราคาขึ้น แต่จัดโปรโมชันลดราคาโดยต่อเนื่อง และหมวดซักล้างไม่ปรับราคาขึ้น

 

“สำหรับอาหารสัตว์ต้องยอมรับว่าต้นทุนสูงขึ้นจริง ต้นทุนขึ้นอยู่กับส่วนผสม 3 ส่วนหลัก คือ 1. ข้าวสาลี 2. ข้าวโพด 3. ปลาป่น ซึ่งข้าวโพดราคาสูงขึ้น เมื่อก่อนกิโลกรัมละ 6-8 บาท ขณะนี้ 11-12 บาทต่อกิโลกรัม เกษตรกรพอใจ แต่กระทบต้นทุนอาหารสัตว์ ส่วนปศุสัตว์ไม่ค่อยพอใจ เพราะต้นทุนการเลี้ยงสัตว์เพิ่มขึ้นจะส่งผลต่อราคาเนื้อสัตว์ ข้าวสาลีราคาปรับสูงขึ้นเยอะ เพราะแหล่งผลิตข้าวสาลีรายใหญ่ของโลกคือยูเครนอยู่ในภาวะสงคราม ส่งผลต่อปริมาณในตลาดโลก” จุรินทร์กล่าว

 

รมว.พาณิชย์ กล่าวอีกว่า ขณะนี้ได้มอบหมายให้ปลัดกระทรวงพาณิชย์กับปลัดกระทรวงเกษตรฯ เร่งหารือร่วมกันเพื่อแก้ปัญหาราคาข้าวสาลีที่เพิ่มสูงขึ้นมาก โดยเข้าไปลึกถึงต้นทุนและมาตรการต่างๆ ที่ควรนำมาใช้ให้ต้นทุนการผลิตด้านปศุสัตว์ปรับลงมาได้ 

 

“ในภาวะนี้ทุกฝ่ายเริ่มเข้าใจแล้วว่าภาวะสงครามแม้จะไม่เกิดบ้านเราแต่มีผลกระทบไปทั่วโลก การแก้ปัญหาต้องอาศัยความร่วมมือ ซึ่งผู้ประกอบการต้องลดกำไรบางส่วน ซึ่งทำได้ระดับหนึ่ง ถ้าทำตลอดไปผู้ประกอบการก็อยู่ไม่ได้ ของก็จะขาดเพราะการผลิตถูกยกเลิก ต้องมาดูว่าความพอดีอยู่ตรงไหนและขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริง ให้อยู่ได้ด้วยกันทั้ง 3 ฝ่าย ทั้งเกษตรกร ผู้ประกอบการ และผู้บริโภค อย่างเดือดร้อนน้อยที่สุดและได้ประโยชน์ร่วมกันมากที่สุด โดยกระทรวงจะพิจารณาเป็นหมวดสินค้าและเป็นรายๆ ไป โดยพิจารณาจากข้อมูลและข้อเท็จจริงและเอกสารที่เป็นข้อเท็จจริงมีผลตามกฎหมาย เชื่อว่ามีทั้งราคาปรับขึ้น ทรงตัว และลดลง” จุรินทร์กล่าว

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH


Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X