×

เซเลนสกีชี้ ชาวยูเครนไม่ไร้เดียงสา เราเชื่อมั่นในผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมเท่านั้น หลังรัสเซียลดสเกลสู้รบในกรุงเคียฟ

30.03.2022
  • LOADING...
Volodymyr Zelenskyy

วานนี้ (29 มีนาคม) แม้จะมีสัญญาณเชิงบวกเกิดขึ้นจากที่ประชุมหารือระหว่างผู้แทนรัสเซียและยูเครนครั้งล่าสุดที่จัดขึ้นที่เมืองอิสตันบูล ประเทศตุรกี โดยมีประธานาธิบดี เรเจป ไตยิป แอร์โดอัน ของตุรกี เป็นคนกลางในการเจรจา แต่อย่างไรก็ตาม ประธานาธิบดี โวโลดิเมียร์ เซเลนสกี ย้ำชัด ชาวยูเครนไม่ไร้เดียงสา เราเชื่อมั่นในผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมเท่านั้น หลังรัสเซียลดสเกลการสู้รบในกรุงเคียฟ เพื่อปูทางการเจรจาสันติภาพระหว่างผู้นำรัสเซียและยูเครน 

 

ด้าน อเล็กซานเดอร์ โฟมิน รัฐมนตรีช่วยกลาโหมของรัสเซีย ระบุ “เพื่อเพิ่มความไว้วางใจระหว่างกันและสร้างเงื่อนไขสำคัญเพื่อการเจรจาอื่นๆ ที่จะเกิดขึ้นอีกในอนาคต รวมถึงบรรลุเป้าหมายสูงสุดอย่างการลงนามรับรองความตกลงร่วมกัน โดยทางการรัสเซียตัดสินใจอย่างจริงจังที่จะลดกิจกรรมทางทหารภายในกรุงเคียฟและเมืองแชร์นีฮิว” ในขณะเดียวกันกลับไม่ได้พูดถึงพื้นที่อื่นๆ ที่สถานการณ์การสู้รบเป็นไปอย่างตึงเครียด ไม่ว่าจะเป็นเมืองมาริอูโปล, ซูมี, คาร์คีฟ, เคอร์ซอน และเมืองนีโคลาเยฟ

 

ขณะที่ประธานาธิบดียูเครนระบุ “ชาวยูเครนไม่ไร้เดียงสา พวกเขาเรียนรู้จากการถูกรุกรานตลอด 34 วันที่ผ่านมา รวมถึงการสู้รบในภูมิภาคดอนบาสในช่วงตลอด 8 ปีที่ผ่านมา สิ่งเดียวที่พวกเขาจะเชื่อมั่นได้คือผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรม”

 

ในที่ประชุมครั้งนี้ผู้แทนยูเครนได้เสนอข้อเรียกร้องระบุว่า ยูเครนจะไม่เข้าร่วมการเป็นพันธมิตรหรือยินยอมให้ต่างชาติมาตั้งกองกำลังภายในประเทศ หากยูเครนได้รับหลักประกันด้านความมั่นคงที่มีลักษณะคล้ายคลึงกับมาตราของ 5 สนธิสัญญา NATO ซึ่งยูเครนได้กล่าวถึงประเทศที่อาจมอบหลักประกันดังกล่าวให้ ไม่ว่าจะเป็นอิสราเอล, ประเทศสมาชิก NATO อย่างแคนาดา โปแลนด์ และตุรกี นอกจากนี้รัสเซีย, สหรัฐอเมริกา, สหราชอาณาจักร, เยอรมนี และอิตาลี จะต้องเข้ามาเกี่ยวพันกับหลักประกันดังกล่าวด้วย ซึ่งข้อเสนอดังกล่าวยังจะต้องได้รับการลงประชามติ ฟังเสียงประชาชนชาวยูเครน

 

นอกจากนี้ยังเสนอให้มีช่วงหารือถึงสถานะของแหลมไครเมียเป็นระยะเวลา 15 ปี หลังรัสเซียตัดสินใจผนวกแหลมไครเมียของยูเครนเข้าเป็นส่วนหนึ่งของประเทศเมื่อปี 2014 ขณะที่อนาคตของภูมิภาคดอนบาสจะเป็นประเด็นที่ประธานาธิบดีรัสเซียและยูเครนหารือกัน อีกทั้งรัสเซียจะต้องสนับสนุนยูเครนเข้าเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป โดย วลาดิเมียร์ เมดินสกี หัวหน้าผู้แทนคณะเจรจาของรัสเซีย จะนำเสนอแผนเรียกร้องดังกล่าวของยูเครนให้แก่ประธานาธิบดี วลาดิเมียร์ ปูติน เพื่อพิจารณา ซึ่งดูเหมือนว่าหนทางการเจรจาสันติภาพระหว่างสองผู้นำยังคงเป็นเรื่องที่อาจเกิดขึ้นได้ยากในช่วงเวลานี้

 

โดยสงครามรุกรานยูเครนในครั้งนี้ ส่งผลให้ยอดผู้ลี้ภัยออกจากยูเครนสูงกว่า 3.9 ล้านรายแล้ว ยังไม่นับรวมผู้พลัดถิ่นภายในประเทศอีกจำนวนมาก ซึ่งขอบเขตความเสียหายจากสงครามยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ด้านหน่วยงานด้านความมั่นคงในหลายชาติตะวันตกประกาศเตรียมพร้อมและเฝ้าจับตาการขยายสเกลการสู้รบของกองทัพรัสเซียในพื้นที่อื่นๆ ในยูเครน 

 

ภาพ: Laurent Van der Stockt for Le Monde / Getty Images

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising