รายงานจากเว็บไซต์ Turkishnavy.net ของตุรกี ซึ่งติดตามการเคลื่อนไหวของเรือรบต่างประเทศ เปิดเผยว่า ในช่วงเวลาที่รัสเซียเปิดฉากโจมตียูเครนนั้น ไม่ปรากฏเรือของชาติสมาชิกองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ หรือ NATO อยู่ในทะเลดำ แม้แต่ลำเดียว
ทะเลดำถือเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญ โดยมีน่านน้ำเชื่อมต่อกับทะเลเมดิเตอร์เรเนียน และมีพรมแดนติดกับรัสเซีย ยูเครน และสามประเทศสมาชิก NATO ได้แก่ ตุรกี บัลแกเรีย และโรมาเนีย ทะเลดำจึงเป็นเส้นทางทางทะเลที่ทำให้รัสเซียเข้าสู่ยุโรปตะวันออกได้ง่ายมากขึ้น
เว็บไซต์ Turkishnavy.net ระบุว่า ในช่วงที่รัสเซียบุกยูเครน เรือของชาติพันธมิตรหลักของ NATO ลำที่อยู่ใกล้ที่สุดนั้น อยู่ในทะเลเมดิเตอร์เรเนียน และระบุด้วยว่า เรือลำสุดท้ายของ NATO แล่นออกจากทะเลดำตั้งแต่เมื่อหนึ่งเดือนก่อน โดยเรือรบฝรั่งเศสลำหนึ่งเสร็จสิ้นภารกิจในทะเลดำเมื่อต้นเดือนมกราคม และไม่มีเรือจากชาติสมาชิกรายใหญ่ของ NATO ลาดตระเวนในน่านน้ำแห่งนี้ตั้งแต่นั้นมา ขณะที่ในช่วงเวลาเดียวกันกลับมีเรือรบ 16 ลำจากกองเรือของรัสเซีย ซึ่งรวมถึงเรือติดขีปนาวุธและเรือจอดรถถัง แล่นเข้าสู่ทะเลดำ ตามการรายงานของ Turkishnavy.net และแถลงการณ์ของกระทรวงกลาโหมรัสเซีย
แม้ NATO มีมติที่จะขัดขวางการรุกรานยูเครนของรัสเซีย แต่กลับไม่มีเรือรบของชาติพันธมิตรอยู่ในทะเลดำแม้แต่ลำเดียว ซึ่งเป็นการเปิดทางให้รัสเซียสร้างกองกำลังทางทะเลและบุกยูเครนได้โดยง่าย
หนึ่งในเหตุผลหลักที่ทำให้ NATO ไม่มียุทธศาสตร์ในทะเลดำนั้น เป็นเพราะความเห็นที่แตกต่างกันระหว่างชาติสมาชิกว่าควรจะท้าทายกองทัพเรือรัสเซียในทะเลดำหรือไม่ ตามการรายงานของสำนักข่าว Reuters ที่ได้สัมภาษณ์นักการทูต เจ้าหน้าที่ข่าวกรอง และแหล่งข่าวความมั่นคงจากชาติสมาชิก NATO รวมไปถึงนักยุทธศาสตร์การทหาร ผู้บัญชาการทหารที่เกษียณอายุราชการ และเจ้าหน้าที่อุตสาหกรรมการเดินเรือ
แหล่งข่าวเผยว่า ความเห็นต่างดังกล่าวรวมถึงการที่สมาชิก NATO บางประเทศ โดยเฉพาะตุรกี ไม่เห็นด้วยกับการลาดตระเวนในทะเลดำ เพราะเกรงว่าจะเป็นการยั่วยุมอสโก นอกจากนี้ยังมีปัจจัยอื่นๆ ประกอบ เช่น ข้อจำกัดด้านงบประมาณ
ตุรกี ซึ่งเป็นสมาชิกของ NATO มีกองทัพเรือที่ปฏิบัติการในภูมิภาคทะเลดำ ทำให้ NATO ต้องพึ่งพากองเรือของตุรกีเป็นอย่างมาก เนื่องจากสมาชิกอื่นๆ ที่มีพรมแดนติดกับทะเลดำอย่างบัลแกเรียและโรมาเนียมีกองทัพเรือขนาดเล็ก
“มันเหมือนกับงูเหลือมที่รัดคอของยูเครน” พล.ร.อ.เจมส์ ฟ็อกโก ของสหรัฐฯ ซึ่งบังคับบัญชากองเรือสหรัฐฯ และ NATO ในยุโรปมาเกือบทศวรรษจนถึงปี 2020 กล่าว “NATO จำเป็นต้องมียุทธศาสตร์ทางทะเล” ซึ่งสอดคล้องกับความคิดเห็นของนักการทูตจำนวนหนึ่งที่กล่าวว่า NATO ควรจัดตั้งภารกิจลาดตระเวนทางทะเลในทะเลดำได้แล้ว
ยูเครนไม่ใช่สมาชิกของ NATO ด้วยเหตุนี้ ชาติสมาชิกของ NATO จึงไม่มีพันธกรณีให้ต้องปกป้องยูเครนตามสนธิสัญญา
อย่างไรก็ดี NATO ปฏิเสธว่าไม่ได้ละเลยความมั่นคงในทะเลดำ โดยเมื่อต้นเดือนนี้ เยนส์ สโตลเทนเบิร์ก เลขาธิการ NATO กล่าวว่า การรักษาความมั่นคงในทะเลดำมีความสำคัญเชิงยุทธศาสตร์ต่อ NATO ทั้งนี้เนื่องจากสมาชิกสามประเทศและพันธมิตรที่ใกล้ชิดอีกสองประเทศ ซึ่งหนึ่งในนั้นรวมถึงยูเครน มีพรมแดนชายฝั่งติดกับทะเลดำ
ขณะที่ในการให้สัมภาษณ์กับสื่อเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว สโตลเทนเบิร์กกล่าวว่า NATO มีเรือจากชาติสมาชิกและพันธมิตรมากกว่า 120 ลำ และมีเครื่องบินมากกว่า 100 ลำที่เตรียมพร้อมรับสถานการณ์
ที่ผ่านมา มอสโกออกมาเตือนให้ NATO อยู่ห่างจากทะเลดำ โดยรัสเซียแสดงความกังวลมาโดยตลอดเกี่ยวกับการที่สหรัฐฯ และชาติพันธมิตรเพิ่มกิจกรรมทางทหารในทะเลดำ แม้ว่า NATO ระบุว่า กิจกรรมดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อการป้องกันเท่านั้น ไม่ใช่เพื่อรุกราน
ภาพ: เรือฟรีเกต TCG Barbaros ของกองทัพเรือตุรกี และเรือพิฆาต USS Roosevelt ของกองทัพเรือสหรัฐฯ ขณะฝึกซ้อมในทะเลดำ เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2020 (Ministry of National Defence of Turkey / Handout/Anadolu Agency via Getty Images)
อ้างอิง: