×

รู้จักแผน ‘ป้อมปราการรัสเซีย’ ยุทธศาสตร์ป้องกันคว่ำบาตรของปูตินที่ผู้เชี่ยวชาญมองว่า ‘ล้มเหลว’ ตั้งแต่ก่อนถูกตะวันตกคว่ำบาตร

21.03.2022
  • LOADING...
คว่ำบาตร

ตลอดหลายปีที่ผ่านมา รัสเซียพยายามอย่างยิ่งยวดที่จะทำให้เศรษฐกิจของตนเองนั้นแข็งแกร่งเพียงพอที่จะ ‘ยืนหยัดด้วยตัวเองได้’ ในขณะที่ค่อยๆ ถอยห่างจากการพึ่งพิงชาติตะวันตก โดยเฉพาะการลดการนำเข้าสินค้าและเทคโนโลยีต่างๆ 

 

ความพยายามดังกล่าวเห็นได้ชัดในปี 2014 หลังเกิดเหตุการณ์ที่รัสเซียตัดสินใจผนวกรวมสาธารณรัฐไครเมีย ซึ่งเดิมทีเป็นเขตปกครองตนเองในยูเครน เข้าเป็นดินแดนของตน อีกทั้งยังรุกรานภูมิภาคดอนบาสและสนับสนุนกลุ่มกบฏแบ่งแยกดินแดนทางตะวันออกของยูเครน 

 

ซึ่งผลที่ตามมาทันทีคือ มาตรการคว่ำบาตรอย่างรุนแรงจากสหรัฐฯ และพันธมิตรชาติตะวันตกอย่างสหภาพยุโรป (EU) ที่ทำให้เศรษฐกิจและค่าเงินรูเบิลทรุดลงอย่างหนัก อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของรัสเซียลดลงเหลือเพียงเฉลี่ย 0.3% ต่อปี ในขณะที่การเติบโตทางเศรษฐกิจทั่วโลกเฉลี่ยอยู่ที่ราว 2.3% ต่อปี

 

สิ่งที่เกิดขึ้นในตอนนั้นทำให้ วลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีของรัสเซีย ตัดสินใจใช้แผนปกป้องเศรษฐกิจจากการคว่ำบาตรและหันมาพึ่งตนเอง ซึ่งผู้เชี่ยวชาญเรียกกันว่า ‘แผนป้อมปราการรัสเซีย’ หรือ ‘Fortress Russia’ โดยมียุทธศาสตร์สำคัญ อาทิ

 

  • ลดภาระหนี้และการกู้ยืมเงินจากชาติตะวันตก 
  • ลดการนำเข้าสินค้าจากชาติตะวันตกและหันมาผลิตสินค้าในประเทศ เพื่อทดแทนสินค้านำเข้า
  • เพิ่มการจัดเก็บภาษีนำเข้าให้สูงขึ้น แม้จะไม่จูงใจในการค้าขายกับต่างชาติ

 

อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญชี้ว่า แผนการของรัสเซียโดยเฉพาะการลดนำเข้าสินค้านั้น ‘ไม่ได้ผล’ หรือพูดตรงๆ คือ ‘ล้มเหลว’ และยิ่งเห็นชัดเมื่อต้องเผชิญกับมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจระลอกล่าสุดที่สหรัฐฯ และชาติตะวันตก บังคับใช้ หลังกองทัพรัสเซียเปิดฉากทำสงครามบุกยูเครนตั้งแต่วันที่ 24 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

 

ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น?

  • ผลจากมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจของชาติตะวันตกล่าสุดสะท้อนชัดว่า ความพยายามของรัสเซียในการดำเนินยุทธศาสตร์เศรษฐกิจแบบพึ่งตนเองนั้นล้มเหลว โดยรัสเซียยังจำเป็นต้องพึ่งพิงสินค้าที่นำเข้าจากชาติตะวันตก ซึ่งมีความสำคัญต่อหลากหลายอุตสาหกรรมของรัสเซีย

 

  • หนึ่งในอุตสาหกรรมที่เป็นบทพิสูจน์คือ อุตสาหกรรมยานยนต์ของรัสเซีย โดยหลายบริษัทท้องถิ่นต้องปิดตัวไปเพราะขาดแคลนชิ้นส่วนอะไหล่ที่นำเข้าจากชาติตะวันตก ขณะที่บริษัทผู้นำในการผลิตเครื่องบินโดยสารไอพ่นภายในรัสเซียต้องใช้เครื่องยนต์และชิ้นส่วนที่สำคัญจากซัพพลายเออร์ต่างชาติ

 

  • เจนิส คลูจ ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจรัสเซียของสถาบันกิจการระหว่างประเทศและความมั่นคงในเยอรมนี ชี้ว่า รัสเซียนั้นล้มเหลวในความพยายามผลักดันการทดแทนสินค้านำเข้า เพื่อบรรลุเป้าหมายในการลดผลกระทบจากมาตรการคว่ำบาตรของชาติตะวันตก

 

  • “ความทะเยอทะยานของรัสเซียนั้นเริ่มต้นขึ้นด้วยการเป็นไปไม่ได้จริง เนื่องจากเศรษฐกิจขนาดเล็กอย่างรัสเซียไม่สามารถผลิตสินค้าที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงและซับซ้อนได้ด้วยตัวเอง มันเป็นไปไม่ได้เลย” เขากล่าว และชี้ว่า “การแทนที่สินค้าจากต่างประเทศนั้นอาจต้องใช้เวลาอีกหลายปี”

 

  • สำหรับการทดแทนสินค้านำเข้า (Import Substitution) คือการแทนที่สินค้าจากต่างชาติด้วยสินค้าที่ผลิตเองในประเทศ ซึ่งแม้นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่จะเตือนว่า การผลิตสินค้าทุกอย่างเองในประเทศนั้นจะทำให้สินค้ามีราคาแพงและไม่มีประสิทธิภาพ เมื่อเทียบกับสินค้านำเข้าจากต่างประเทศ แต่รัฐบาลเครมลินก็ตัดสินใจเลือกหนทางนี้ เพื่อปกป้องเศรษฐกิจของตนเองจากการคว่ำบาตรของชาติตะวันตกนับตั้งแต่ผนวกรวมไครเมีย โดยตั้งเป้าเป็นแผนระยะยาวที่ใช้เวลาหลายปี 

 

  • อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เกิดขึ้นจริงกลับกลายเป็นว่า อัตราการพึ่งพิงสินค้านำเข้าของรัสเซียนั้นนอกจากจะไม่ลดลง ยังคงสูงขึ้น หรือในอีกแง่คือ ‘เลวร้ายมากขึ้น’ ในช่วงหลายปีมานี้ 

 

  • โดยในปี 2021 ที่ผ่านมา ผู้ผลิตสินค้าในรัสเซียประมาณ 81% เปิดเผยว่า ไม่สามารถหาวัตถุดิบหรือผลิตภัณฑ์ที่ผลิตภายในประเทศ แบบเดียวกับที่นำเข้าจากต่างประเทศได้และเกินกว่าครึ่งไม่พอใจในคุณภาพการผลิตภายในประเทศ ซึ่งตัวเลขทั้งสองถือว่าสูงที่สุดนับตั้งแต่มีการสำรวจข้อมูลในปี 2015 โดยสถาบันไกดาร์เพื่อนโยบายเศรษฐกิจของรัสเซีย (Gaidar Institute for Economic Policy)

 

  • จากข้อมูลของมหาวิทยาลัยเศรษฐศาสตร์ชั้นสูง (Higher School of Economics) ในมอสโก พบว่า ยอดขายสินค้าอุปโภคบริโภคที่ไม่ใช่อาหารในตลาดค้าปลีกของรัสเซียในปี 2020 กว่า 75% เป็นสินค้านำเข้าจากต่างชาติ ขณะที่ยอดขายสินค้าประเภทอื่นๆ มีสัดส่วนสินค้านำเข้าที่สูงกว่า เช่น อุปกรณ์โทรคมนาคม ซึ่งเป็นสินค้านำเข้าถึง 86% 

 

  • ตัวเลขนำเข้าสินค้าของรัสเซียในปี 2020 มีมูลค่าสูงถึงประมาณ 1 ใน 5 ของ GDP ซึ่งสูงกว่าในประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่กว่าอย่างอินเดียหรือบราซิล หรือแม้กระทั่งจีนที่มีการนำเข้าสินค้าอยู่ที่ประมาณ 16%

 

รัสเซียยังต้องพึ่งเทคโนโลยีจากชาติตะวันตก

  • ผู้ผลิตรถยนต์ของรัสเซียได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการขาดส่วนประกอบรถยนต์ที่ต้องนำเข้า เช่น ชิปคอมพิวเตอร์ โดยก่อนหน้านี้ผู้นำภูมิภาคตาตาร์สถานของรัสเซียกล่าวเตือนในการแถลงผ่านทางโทรทัศน์ว่า บริษัทผลิตรถบรรทุกยี่ห้อ Kamaz กำลังเผชิญกับอัตราการผลิตที่ลดลงถึง 40% และพนักงานราว 15,000 คน อาจไม่ได้ทำงานจนกว่าปัญหาขาดแคลนวัตถุดิบของบริษัทจะได้รับการแก้ไข 

 

  • โฆษกของ Kamaz ชี้ว่า สถานการณ์ของบริษัทนั้นอยู่ในจุดเลวร้าย และบริษัทอาจต้องเปลี่ยนสายการผลิตไปเน้นผลิตรถบรรทุกที่ใช้ชิ้นส่วนอะไหล่ที่ผลิตในรัสเซียมากขึ้น

 

  • สำหรับผลิตภัณฑ์เทคโนโลยีรวมถึงเซมิคอนดักเตอร์ คอมพิวเตอร์ อุปกรณ์เลเซอร์ และเซ็นเซอร์ นั้นเป็นหนึ่งในสินค้าที่มีความสำคัญสำหรับรัสเซีย ซึ่งได้รับผลกระทบอย่างหนัก หลังชาติตะวันตกประกาศคว่ำบาตรและห้ามผู้ผลิตในประเทศของตนส่งออกไปยังรัสเซีย

 

  • อีกอุตสาหกรรมหลักของรัสเซียที่ได้รับผลกระทบคือ อุตสาหกรรมพลังงาน โดยรัสเซียพึ่งพาเทคโนโลยีของตะวันตกในอุตสาหกรรมการผลิตน้ำมันและก๊าซธรรมชาติมายาวนาน ซึ่งการคว่ำบาตรที่เกิดขึ้น ส่งผลให้บริษัทพลังงานของรัสเซียต้องชะลอหรือยกเลิกหลายโครงการ ขณะที่นักวิเคราะห์ชี้ว่า เทคโนโลยีในประเทศที่รัสเซียมีอยู่นั้นไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ

 

  • ทั้งนี้ ตั้งแต่ช่วงก่อนที่รัสเซียจะเปิดฉากสงครามในยูเครนพบว่า เศรษฐกิจของรัสเซียส่วนใหญ่ยังคงผูกติดกับเศรษฐกิจโลก ซึ่งการจะแยกเศรษฐกิจรัสเซียออกจากห่วงโซ่อุปทานระหว่างประเทศนั้นถือเป็นขั้นตอนที่ยุ่งยากและอาจทำได้อย่างเชื่องช้า

 

  • ขณะที่ประธานาธิบดีปูตินกล่าวต่อประชาชนรัสเซียเมื่อวันพุธที่ผ่านมา (16 มีนาคม) ยอมรับว่า การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเศรษฐกิจของรัสเซียนั้นไม่ง่าย และมีความยากลำบากรออยู่ข้างหน้า

 

“เศรษฐกิจของเราต้องการการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างอย่างลึกซึ้งในความเป็นจริงใหม่เหล่านี้ และผมจะไม่ปิดบังสิ่งนี้ว่ามันไม่ง่ายเลย” 

 

  • อย่างไรก็ตาม เอลวิรา นาบิอุลลินา ผู้ว่าการธนาคารกลางรัสเซีย กล่าวว่า บริษัทในรัสเซียจะได้ประโยชน์จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น โดยก่อนหน้านี้การผลิตสินค้าบางอย่างภายในประเทศไม่สามารถทำกำไรได้ แต่ทว่าตอนนี้ กลับกลายเป็นธุรกิจที่มีความน่าสนใจมากขึ้น แต่เธอยอมรับว่าสิ่งที่ตามมาจากการผลิตสินค้าเองในประเทศคือ ต้นทุนและค่าใช้จ่ายที่สูง รวมถึงภาวะเงินเฟ้อที่สูงขึ้นด้วย

 

  • จากข้อมูลพบว่า หลายบริษัทในรัสเซียพึ่งพิงผลิตภัณฑ์ที่นำเข้าจากต่างประเทศอย่างลึกซึ้ง โดยกว่า 90% ของธนาคารและบริษัทต่างๆ มีการใช้ซอฟต์แวร์ที่มาจากชาติตะวันตก ซึ่งการเปลี่ยนไปใช้ซอฟต์แวร์ที่พัฒนาในประเทศนั้นเป็นไปได้ยากและใช้เวลานาน

 

  • “มันเป็นไปได้ที่จะแทนที่สินค้าที่มีเทคโนโลยีต่ำ เช่น ท่อน้ำ หรือสิ่งที่ไม่จำเป็นต้องใช้ความรู้หรือการลงทุนวิจัยและพัฒนาที่มากมาย แต่อะไรก็ตามที่ใช้เทคโนโลยีชั้นสูงยังคงต้องพึ่งพาเทคโนโลยีของตะวันตก ซอฟต์แวร์ของตะวันตก และความรู้ของตะวันตก” มาเรีย ชากินา นักวิชาการอาวุโสจากสถาบันกิจการระหว่างประเทศของฟินแลนด์ กล่าว

 

  • ทั้งนี้ แม้แต่โครงการที่รัสเซียพยายามชูว่าเป็นตัวอย่างของการฟื้นฟูอุตสาหกรรมรัสเซีย ก็ยังมีความจำเป็นต้องพึ่งพิงการนำเข้าจากต่างประเทศ 

 

  • ตัวอย่างหนึ่งคือ การผลิตเครื่องบินโดยสาร Sukhoi Superjet 100 ที่เปิดตัวในปี 2007 ซึ่งเป็นความพยายามของรัสเซียในการฟื้นฟูอุตสาหกรรมการผลิตอากาศยานพลเรือนที่ประสบปัญหา แต่เจ้าหน้าที่รัสเซียเปิดเผยว่า ค่าใช้จ่ายในการผลิตเครื่องบินมากกว่าครึ่งมาจากส่วนประกอบที่นำเข้าจากต่างชาติ เช่น บริษัทด้านการบินและอวกาศของฝรั่งเศสอย่าง Safran SA ซึ่งผลิตเครื่องยนต์ เกียร์ลงจอด และฝาครอบเครื่องยนต์ของเครื่องบินไอพ่น 

 

  • โดยการคว่ำบาตรล่าสุดจากชาติตะวันตก ทำให้บริษัท Safran SA ต้องยุติการทำธุรกิจทั้งหมดในรัสเซีย ขณะที่แผนผลิตเครื่องบินรุ่นใหม่ที่ใช้ส่วนประกอบที่ผลิตในรัสเซียทั้งหมดนั้นยังไม่สามารถเริ่มการผลิตแบบจำนวนมากได้จนกว่าจะถึงปี 2024

 

การคว่ำบาตรกระทบผู้บริโภครัสเซียที่คุ้นชินกับสินค้านำเข้า

  • การคว่ำบาตรของชาติตะวันตกยังส่งผลกระทบโดยตรงต่อกลุ่มผู้บริโภคชาวรัสเซียที่เคยชินกับการใช้สินค้าที่นำเข้าจากต่างชาติ 

 

  • หนึ่งในสินค้าที่กระทบต่อผู้บริโภครัสเซียคือ อาหารสัตว์และยารักษาสำหรับสัตว์ที่ผลิตจากบริษัทจากชาติตะวันตก

 

  • โดย สเวตลานา รีอาโบวา ชาวกรุงมอสโก วัย 36 ปีที่ทำโครงการช่วยเหลือแมวจรจัด บอกว่า อาหารสัตว์และยารักษาสัตว์ที่นำเข้าจากต่างประเทศนั้นหาได้ยากขึ้น และบางยี่ห้อไม่มีขายในร้านต่างๆ ในขณะที่วัคซีนบางยี่ห้อที่ผลิตจากบริษัทยาจากชาติตะวันตกก็เริ่มขาดแคลนและหายาก ซึ่งเธอหวังว่าบรรดาผู้ผลิตในประเทศจะชดเชยภาวะขาดแคลนยาและอาหารสัตว์เหล่านี้ได้ 

 

ยุทธศาสตร์ที่ไม่ช่วยให้เศรษฐกิจรัสเซียดีขึ้น

  • ที่ผ่านมารัสเซียเดินหน้ายุทธศาสตร์ทดแทนสินค้านำเข้า ซึ่งครอบคลุมถึงสินค้าประเภทอาหารหลายรายการ เช่น ชีสฝรั่งเศส แฮมสเปน ตลอดจนอาหารอื่นๆ ที่ได้รับความนิยมในหมู่ชนชั้นสูงของรัสเซีย ขณะที่รัฐบาลเครมลินได้ขยายการทดแทนการนำเข้าไปยังสินค้าประเภทอื่นๆ รวมถึงเวชภัณฑ์และสินค้าเทคโนโลยี

 

  • ช่วงระหว่างปี 2015-2020 ทางการรัสเซียได้จัดสรรงบประมาณกว่า 2.9 ล้านล้านรูเบิล หรือประมาณ 27 พันล้านดอลลาร์ สำหรับใช้ในโครงการทดแทนการนำเข้าสินค้า ซึ่งถือเป็นงบประมาณที่สูงคิดเป็นกว่า 1.4% ของการใช้จ่ายงบประมาณในช่วงเวลาดังกล่าว และสะท้อนให้เห็นถึงความเอาจริงเอาจังของรัสเซียในการทดแทนสินค้านำเข้า

 

  • แต่ยุทธศาสตร์นี้ไม่ได้ช่วยกระตุ้นการเติบโตของเศรษฐกิจรัสเซีย ซึ่งได้รับผลกระทบหนักทั้งจากการคว่ำบาตรและราคาน้ำมันที่ตกต่ำตั้งแต่ปี 2014 โดยตัวเลข GDP ของรัสเซียนั้นเติบโตช้ากว่าตัวเลขเฉลี่ยทั่วโลก และทำให้รัสเซียจนลง โดยข้อมูลจนถึงสิ้นปี 2020 พบว่า รัสเซียมีรายรับจริงลดลงกว่า 9.3% เมื่อเทียบกับในปี 2013 

 

  • ขณะที่รัสเซียก็มีความสำเร็จในการทดแทนสินค้านำเข้าบางรายการ เช่นการพัฒนาอุตสาหกรรมนมวัวและเนื้อสัตว์ 

 

  • แต่การแบนนำเข้าอาหารทำให้ราคาอาหารในรัสเซียเพิ่มสูงขึ้นและเพิ่มภาระแก่ผู้บริโภค คิดเป็นมูลค่ากว่า 445 พันล้านรูเบิล หรือราว 4.1 พันล้านดอลลาร์ต่อปี

 

ไพ่ตายคือจีน

  • สำหรับไพ่ตายสำคัญของรัสเซียในการรับมือมาตรการคว่ำบาตรของชาติตะวันตกคือ ‘จีน’ ซึ่งเป็นคู่ค้ารายใหญ่ของรัสเซียที่สามารถเข้ามาแทนที่สหรัฐฯ และยุโรป ในฐานะซัพพลายเออร์ผู้ผลิตสินค้ามากมาย 

 

  • แต่การให้ความช่วยเหลือของจีนอาจหมายถึงการเสี่ยงทำลายความสัมพันธ์ทางการค้ากับชาติตะวันตกที่เป็นอีกคู่ค้ารายใหญ่ ขณะที่จีนเองยังไม่สามารถทดแทนการผลิตสินค้าบางรายการที่รัสเซียต้องการ เช่น ชิปเซ็ตหรือสินค้าเทคโนโลยีอื่นๆ

 

ทั้งนี้ แม้ว่ามาตรการคว่ำบาตรจากชาติตะวันตกจะส่งผลกระทบรุนแรงต่อรัสเซีย แต่ผู้นำเครมลินก็ยังคงพยายามอย่างเต็มที่ในการส่งเสริมระบบเศรษฐกิจแบบพึ่งพิงตนเอง โดยปูตินถึงขั้นชื่นชมรูปแบบของยุทธศาสตร์เศรษฐกิจในยุคสหภาพโซเวียต

 

“สหภาพโซเวียตนั้นอยู่ภายใต้การคว่ำบาตรอย่างแท้จริง แต่สามารถพัฒนาและประสบความสำเร็จได้อย่างมาก” ปูตินกล่าวในช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา

 

ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญบางรายไม่เห็นด้วยและมองว่า “เศรษฐกิจของรัสเซียอาจจะถดถอยไปไกลกว่าตอนนี้มาก” 

 

ภาพ: Photo by Matt Dunham / WPA Pool / Getty Images

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X