×

ปูตินลั่น ชาติตะวันตกคว่ำบาตรรัสเซียล้มเหลว รูเบิลยังแข็งแกร่ง การค้าไตรมาสแรกเกินดุลสูงเป็นประวัติการณ์ ขณะที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ-EU กลับเสื่อมถอย

19.04.2022
  • LOADING...
ปูติน

ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ของรัสเซีย แถลงผ่านทางโทรทัศน์เมื่อวานนี้ (18 เมษายน) ระหว่างการประชุมร่วมกับเจ้าหน้าที่ระดับสูงด้านเศรษฐกิจผ่านวิดีโอคอล โดยยืนยันว่า มาตรการคว่ำบาตรของชาติตะวันตกต่อรัสเซียเพื่อตอบโต้กรณีการทำสงครามบุกยูเครนนั้นประสบความล้มเหลว ในขณะที่ผลของการคว่ำบาตร กลับทำให้เศรษฐกิจของชาติตะวันตกเสื่อมถอย

 

ปูตินกล่าวว่า ชาติตะวันตกนั้นคาดหวังถึงผลลัพธ์จากมาตรการคว่ำบาตรดังกล่าว ว่าจะส่งผลให้สถานการณ์ด้านการเงินและเศรษฐกิจของรัสเซียนั้นย่ำแย่ลงอย่างรวดเร็ว ในขณะที่ก่อให้เกิดความตื่นตระหนกในตลาด และทำให้ระบบการธนาคารของรัสเซียล่มสลาย และเกิดภาวะขาดแคลนสินค้าในร้านค้าต่างๆ

 

เขาชี้ว่า ‘ยุทธศาสตร์จู่โจมด้านเศรษฐกิจแบบสายฟ้าแลบ’ ของชาติตะวันตก ที่รวมถึงการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจและการเงินขั้นรุนแรงชนิดที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนนั้นล้มเหลว และกลับส่งผลให้เศรษฐกิจของชาติตะวันตกเสื่อมถอยเสียเอง เนื่องจากการคว่ำบาตรนั้นส่งผลร้ายต่อสหรัฐฯ และพันธมิตรใน EU โดยเร่งอัตราเงินเฟ้อให้เพิ่มสูงเร็วขึ้นและทำให้มาตรฐานการครองชีพในประเทศเหล่านี้ลดลง

 

ปูตินยังยืนยันว่า รัสเซียสามารถยืนหยัดต่อแรงกดดันที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนนี้ได้ และโต้แย้งว่าสกุลเงินรูเบิลของรัสเซียยังแข็งแกร่ง ในขณะที่ตัวเลขเกินดุลการค้าของประเทศนั้นพุ่งสูงสุดเป็นประวัติการณ์กว่า 5.8 หมื่นล้านดอลลาร์ในไตรมาสแรกของปีนี้

 

อย่างไรก็ตาม เขายอมรับว่า ราคาสินค้าภายในประเทศนั้นพุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยตัวเลขในเดือนเมษายนพบว่าเพิ่มขึ้นกว่า 17.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ซึ่งเขาได้สั่งการให้รัฐบาลจัดทำดัชนีค่าจ้างและการใช้จ่ายอย่างอื่น เพื่อหาช่องทางลดผลกระทบจากภาวะเงินเฟ้อที่พุ่งสูง

 

ขณะที่เขามองว่า รัสเซียควรใช้งบประมาณเพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจและเสริมสภาพคล่องในเงื่อนไขการปล่อยสินเชื่อ แม้ว่าที่ผ่านมาจะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางแล้วก็ตาม พร้อมทั้งชี้ว่าควรเร่งรัดกระบวนการเพื่อใช้สกุลเงินรูเบิลในการค้าขายกับต่างประเทศภายใต้เงื่อนไขใหม่ที่รัฐบาลเครมลินกำหนดขึ้น

 

ภาพ: Photo by Sasha Mordovets / Getty Images

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X