×

สงครามยูเครน-รัสเซียเข้าสู่สัปดาห์ที่ 4 มอง 5 ฉากทัศน์ความขัดแย้งจะไปถึงจุดไหนได้บ้าง

โดย THE STANDARD TEAM
19.03.2022
  • LOADING...
สงครามยูเครน-รัสเซีย

การทำสงครามรุกรานยูเครนดำเนินสู่สัปดาห์ที่ 4 แล้ว หลังประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน สั่งกองกำลังรัสเซียบุกประเทศเพื่อนบ้านอดีตรัฐสหภาพโซเวียตเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ ซึ่งแม้การสู้รบส่อเค้ายืดเยื้อจนกระทบทรัพยากรทางทหาร แต่ทัพรัสเซียก็ยังไม่ลดละโจมตีเมืองต่างๆ ท่ามกลางการกดดันจากชาติตะวันตกที่ออกมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจหลายระลอก

 

สหประชาชาติประเมินว่ามีพลเรือนเสียชีวิตแล้วมากกว่า 600 คน นับตั้งแต่สงครามปะทุขึ้น แต่ตัวเลขจริงอาจสูงกว่านั้นมาก ขณะที่ทหารของสองฝ่ายสูญเสียไม่แพ้กัน เสียชีวิตแล้วหลายพันคน

 

แต่แม้สงครามยังไม่ทีท่าว่าจะสิ้นสุดในเวลาอันใกล้ สองฝ่ายก็ยังแง้มบานประตูเจรจาสันติภาพไว้โดยหวังหาทางออกด้วยสันติวิธี แต่การเจรจาหลายรอบในช่วงที่ผ่านมาก็ยังไม่มีข้อตกลงที่เป็นชิ้นเป็นอัน ยกเว้นการจัดตั้งฉนวนมนุษยธรรมเพื่ออพยพพลเมืองยูเครนออกจากสมรภูมิ

 

และนี่คือ 5 ฉากทัศน์ที่เป็นไปได้ว่า บทสรุปความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครนจะออกมาในรูปไหนได้บ้าง

  • การทหารติดหล่ม

แม้รัสเซียครองความได้เปรียบทางอากาศ แต่ยูเครนก็ไม่ยอมจำนน ยังคงต้านทานการรุกคืบอย่างเต็มที่ ระบบป้องกันภัยทางอากาศของยูเครนยังคงใช้การได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การขับไล่พลร่มของรัสเซียที่พยายามจะเข้ายึดกรุงเคียฟในช่วงวันแรกๆ ของการโจมตี ในขณะเดียวกัน ชาติตะวันตกก็ส่งขีปนาวุธต่อต้านยานเกราะและต่อต้านอากาศยานแบบพกพาได้ให้แก่ยูเครนอย่างต่อเนื่อง

 

“การรุกรานของรัสเซียหยุดชะงักเป็นส่วนใหญ่ในทุกแนวหน้า” กระทรวงกลาโหมของสหราชอาณาจักรเปิดเผยข้อมูลเมื่อวันพฤหัสบดี

 

แต่ แฟรงก์ เลดวิดจ์ อาจารย์อาวุโสด้านยุทธศาสตร์และขีดความสามารถของกองทัพ จากมหาวิทยาลัยพอร์ตสมัธในอังกฤษ กล่าวในการให้สัมภาษณ์กับ Al Jazeera ว่า “สิ่งที่เกิดขึ้นคือ การโจมตีของรัสเซียมาถึงที่สุดแล้ว ในแง่ของการทหาร

 

“พวกเขาไปไกลเท่าที่สามารถทำได้ด้วยการขนส่ง และด้วยอาวุธที่นำเข้ามาในยูเครน แต่นั่นไม่จำเป็นจะต้องหมายความว่าการโจมตีได้หยุดชะงักลง” เลดวิดจ์กล่าว

 

The New York Times รายงานว่า หน่วยข่าวกรองสหรัฐฯ ประเมินว่า ทหารรัสเซียเสียชีวิต 7,000 นาย แต่บรรดาผู้เชี่ยวชาญเตือนว่า ควรพิจารณาคำพูดหรือตัวเลขต่างๆ ที่ถูกกล่าวอ้างอย่างระมัดระวัง

 

เมื่อวันพุธที่ผ่านมา ประธานาธิบดีโจ ไบเดน แห่งสหรัฐฯ ได้ประกาศความช่วยเหลือทางทหารชุดใหญ่แก่ยูเครน ซึ่งรวมถึงโดรนกามิกาเซ่ที่ชื่อว่า ‘สวิตช์เบลด’ 100 ตัว และขีปนาวุธอีกหลายพันลูก

 

อย่างไรก็ตาม การต่อต้านทางทหารก็ทำให้ยูเครนต้องสูญเสียพลเรือนไปเป็นจำนวนมาก ขณะที่เมืองต่างๆ เช่น มาริอูโปล และเคอร์สัน เสียหายยับเยิน 

  • เห็นพ้องข้อตกลงสันติภาพ

ผู้เจรจาจากทั้งสองฝ่ายเริ่มพูดคุยกันหลังสงครามเปิดฉากไปได้ไม่กี่วัน ครั้งแรกที่ชายแดนเบลารุส-ยูเครน จากนั้นในตุรกี และต่อมาในเคียฟ

 

ความสูญเสียที่เพิ่มขึ้นในสนามรบ และการตัดแขนตัดขารัสเซียของชาติตะวันตกด้วยการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจแบบคอมโบเซ็ต อาจทำให้ปูตินต้องหาทางยุติความขัดแย้งแบบที่ต้องรักษาหน้าตัวเองเอาไว้ด้วย

 

สำนักข่าว AFP รายงานอ้างข้อความของ ร็อบ จอห์นสัน ผู้เชี่ยวชาญด้านการสงครามจากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดว่า “ยูเครนอาจบีบให้รัสเซียต้องเลือก คือ เลือกที่จะดึงดันต่อไป และจำทนรับความสูญเสียที่ไม่สามารถแก้ไขได้ หรือเลือกที่จะล้มเลิกความตั้งใจ และบรรลุสันติภาพซึ่งพอจะชดเชยความสูญเสียได้บ้าง”

 

เซอร์เก ลาฟรอฟ รัฐมนตรีต่างประเทศของรัสเซีย กล่าวเมื่อวันพุธว่า ทั้งสองฝ่าย “ใกล้จะตกลงกันได้” ภายใต้ข้อตกลงที่ยูเครนจะยอมรับสถานะเป็นกลาง แบบเดียวกับสวีเดนและออสเตรีย

 

ประธานาธิบดีโวโลดีเมียร์ เซเลนสกี แห่งยูเครน ยอมรับแล้วว่า ยูเครนจะไม่เข้าร่วมเป็นสมาชิกขององค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ หรือ NATO ซึ่งเป็นข้อเรียกร้องหลักจากเครมลิน

 

อย่างไรก็ดี แม้ว่าโอกาสในการบรรลุข้อตกลงจะเพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา แต่ถึงกระนั้นก็ยังไม่มีวี่แววว่าทั้งสองฝ่ายจะหยุดยิง โดยยูเครนต้องการให้รัสเซียถอนกำลังทั้งหมดออกไปจากประเทศ พร้อมรับประกันความปลอดภัยในอนาคต

 

นักวิจารณ์ปูตินบางคนระแวงว่า การเจรจาทางการทูตนั้นเป็นแค่ ควันพรางตัว

 

“ขอเตือนว่า สำหรับปูตินแล้วนั้น ‘การหยุดยิง’ หมายถึง ‘การบรรจุกระสุนใหม่’” แกร์รี คาสปารอฟ นักการเมืองรัสเซีย และอดีตแชมป์หมากรุก โพสต์ข้อความบน Twitter

  • ปูตินถูกโค่น

ปูตินควบคุมสังคมรัสเซียอย่างสนิทแนบแน่น โดยการปราบปรามสื่ออิสระและผู้ให้บริการข่าวต่างประเทศยิ่งตอกย้ำให้เห็นว่า สังคมรัสเซียถูกครอบงำด้วยสื่อที่ภักดีต่อรัฐบาล

 

ผู้ประท้วงต่อต้านสงครามหลายพันคนถูกจับกุม ขณะที่กฎหมายฉบับใหม่ขู่ว่าจะจำคุกสูงสุด 15 ปีฐานเผยแพร่ ‘ข่าวปลอม’ เกี่ยวกับกองทัพ

 

อย่างไรก็ดี มีสัญญาณของรอยร้าวในชนชั้นปกครอง โดยผู้มีอำนาจและ ส.ส. บางคน และแม้แต่กลุ่มบริษัทน้ำมันเอกชนอย่าง Lukoil ได้ออกโรงเรียกร้องการหยุดยิงหรือยุติการสู้รบ

 

ขณะที่บรรณาธิการหญิงชาวรัสเซียรายหนึ่งถือป้ายประท้วงว่า ‘ไม่เอาสงคราม’ ในระหว่างรายการข่าวไพรม์ไทม์ที่ออกอากาศทางช่องทีวีของรัฐบาลในสัปดาห์นี้

 

แม้มองดูแล้วไม่น่าเป็นไปได้ในขณะนี้ แต่การที่ปูตินจะถูกโค่นล้มจากปฏิกิริยาสะท้อนกลับอย่างรุนแรง หรือแม้แต่การทำรัฐประหาร ก็เป็นประเด็นที่ไม่สามารถตัดทิ้งไปได้

 

เอเลียต เอ โคเฮน จากศูนย์ยุทธศาสตร์ศึกษาและวิเทศศึกษา ซึ่งเป็นหน่วยงานวิจัยในวอชิงตัน กล่าวว่า “การรักษาความปลอดภัยของปูตินนั้นดีมาก และจะดีมากไปจนถึงจุดหนึ่งก็จะไม่เป็นเช่นนั้นอีก 

 

“มันเคยเกิดขึ้นมาแล้วหลายครั้งในประวัติศาสตร์ของโซเวียตและรัสเซีย”

  • ความสำเร็จของกองทัพรัสเซีย

ด้วยอาวุธที่เหนือชั้นของรัสเซีย แสนยานุภาพทางอากาศ และการระดมยิงปืนใหญ่อย่างไม่เลือกหน้า นักวิเคราะห์ด้านการทหารจากฟากตะวันตกจึงเชื่อว่า กองกำลังของรัสเซียสามารถบดขยี้ไปข้างหน้าได้

 

เจ้าหน้าที่ทหารระดับสูงของยุโรปเตือนว่า อย่าประเมินความสามารถในการเสริมกำลังและการปรับยุทธวิธีของรัสเซียต่ำเกินไป 

 

แม้ดูเหมือนว่ากองทัพรัสเซียประสบปัญหาด้านการขนส่งและขวัญกำลังใจ ขาดแคลนน้ำมันดีเซล และแม้กระทั่งน้ำมันหล่อลื่นเครื่องยนต์ “แต่คุณต้องมองในภาพรวม ทั้งหมดนี้ไม่ได้เปลี่ยนแปลงความจริงที่ว่า กองทัพรัสเซียนั้นเหนือกว่า” เจ้าหน้าที่ทหารยุโรปรายหนึ่งกล่าว

 

มอสโกกำลังประกาศเปิดรับสมัครทหารรับจ้างจากซีเรียเพื่อเสริมกำลัง อีกทั้งยังใช้บริการทหารรับจ้างเอกชนของ Wagner Group ซึ่งเป็นบริษัทรักษาความปลอดภัยส่วนบุคคลของรัสเซียอีกด้วย  

 

อย่างไรก็ดี ถึงแม้มอสโกจะสามารถยึดเมืองยุทธศาสตร์ เช่น เคียฟ หรือเมืองท่าโอเดสซาทางตอนใต้ได้ แต่ปูตินก็ต้องเผชิญกับความท้าทายในการเข้าครอบครองเมืองเหล่านี้

  • ความขัดแย้งลุกลาม

รัสเซียมีพรมแดนติดกับอดีตรัฐโซเวียตสามรัฐ ซึ่งปัจจุบันเป็นสมาชิกของ NATO ที่มีข้อผูกพันว่า การโจมตีสมาชิกประเทศใดประเทศหนึ่งจะถือเป็นการโจมตีสมาชิกทั้งหมด

 

ความโหยหาอดีตสหภาพโซเวียตและคำมั่นสัญญาที่จะปกป้องชนกลุ่มน้อยรัสเซีย ซึ่งกระจายอยู่ในรัฐบอลติก (เป็นชื่อรวมเรียกสามประเทศทางตะวันออกเฉียงเหนือของทะเลบอลติก ประกอบด้วย ลิทัวเนีย ลัตเวีย และเอสโตเนีย) ทำให้เกิดการตั้งคำถามเกี่ยวกับความทะเยอทะยานของปูตินที่จะบุกยึดครองดินแดนที่เคยเป็นส่วนหนึ่งของโซเวียต

 

อย่างไรก็ดี มีเพียงไม่กี่คนที่คาดว่าปูตินจะโจมตีสมาชิก NATO อย่างเปิดเผย ซึ่งมีความเสี่ยงที่จะเป็นการโจมตีและตอบโต้ด้วยอาวุธนิวเคลียร์ หลังจากที่ปูตินได้สั่งให้กองกำลังยับยั้งนิวเคลียร์ของรัสเซียเตรียมพร้อมในระดับสูง ขณะที่ลาฟรอฟ รมว.ต่างประเทศ ยังเตือนด้วยว่า สงครามโลกครั้งที่ 3 คงต้องเป็นสงครามนิวเคลียร์เท่านั้น  

 

ด้านนักวิเคราะห์ชาติตะวันตกมองว่า คำเตือนดังกล่าวเป็นการขัดขวางไม่ให้สหรัฐฯ และยุโรปพิจารณาแนวคิดต่างๆ เช่น การกำหนด ‘เขตห้ามบิน’ เหนือยูเครน

 

ภาพ: Stringer / Anadolu Agency via Getty Images

อ้างอิง: 

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X