วานนี้ (15 มีนาคม) กระทรวงการต่างประเทศของรัสเซียประกาศคว่ำบาตร โจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา และ จัสติน ทรูโด นายกรัฐมนตรีแคนาดา พร้อมกับเจ้าหน้าที่หลายคนเพื่อตอบโต้มาตรการของชาติตะวันตก
มาตรการดังกล่าวยังนำไปใช้กับ แอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ และ ลอยด์ ออสติน รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม โดยแถลงการณ์จากรัสเซียระบุว่า “เป็นผลพวงของนโยบายเกลียดกลัวรัสเซีย (Russophobic) อย่างยิ่งยวด” ที่ดำเนินโดยสหรัฐอเมริกา
ในแถลงการณ์ที่แยกออกมา กระทรวงการต่างประเทศของรัสเซียยังประกาศมาตรการลงโทษชาวแคนาดา 313 คน รวมทั้งทรูโดและรัฐมนตรีอีกหลายคนของเขา
ทั้งนี้ รัสเซียไม่ได้ระบุลักษณะที่แน่นอนของมาตรการ ซึ่งเรียกว่า ‘การคว่ำบาตรส่วนบุคคล’ และ ‘Stop List’ โดยระบุว่ามาตรการดังกล่าวจะอยู่บนฐานของ ‘หลักการตอบแทนซึ่งกันและกัน’
นอกจากนี้ ในรายชื่อของรัสเซียยังมีบุคคลของสหรัฐฯ อีกหลายราย เช่น พล.อ. มาร์ก มิลลีย์ ประธานคณะเสนาธิการร่วม, เจค ซัลลิแวน ที่ปรึกษาความมั่นคงแห่งชาติ, วิลเลียม เบิร์นส์ ผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองกลาง (CIA) และ เจน ซากี โฆษกทำเนียบขาว, ดาลีป ซิงห์ รองที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติ, ซาแมนธา พาวเวอร์ ผู้อำนวยการองค์การเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐฯ, อเดวาเล อาดีเยโม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง และ รีตา โจ ลูอิส ประธานธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งสหรัฐฯ
รัสเซียยังสั่งแบน ฮิลลารี คลินตัน อดีตรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศและผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีจากพรรคเดโมแครต รวมถึง ฮันเตอร์ ไบเดน ลูกชายของ โจ ไบเดน ด้วย
กระทรวงการต่างประเทศรัสเซียยังเตือนว่า อีกไม่นานรัสเซียจะประกาศมาตรการคว่ำบาตรเพิ่มเติมต่อเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ, เจ้าหน้าที่ทหาร, สมาชิกฝ่ายนิติบัญญัติ, นักธุรกิจ และสื่อมวลชน
อนึ่ง ในการตอบโต้การแทรกแซงทางทหารของรัสเซียในยูเครน สหรัฐฯ ได้สั่งแบนประธานาธิบดีรัสเซีย วลาดิเมียร์ ปูติน และ เซอร์เกย์ ลาฟรอฟ รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศรัสเซีย และใช้มาตรการคว่ำบาตรส่วนใหญ่ตัดรัสเซียออกจากส่วนอื่นๆ ของโลกในด้านการเงิน
และเมื่อวานนี้เช่นกันที่รัสเซียประกาศว่าจะถอนตัวจากสภายุโรป (Council of Europe) ซึ่งเป็นหน่วยเฝ้าระวังด้านสิทธิมนุษยชนของทวีปยุโรป แต่เป็นคนละหน่วยงานกับรัฐสภายุโรป (European Parliament) และแยกต่างหากจากสหภาพยุโรป การประกาศถอนตัวดังกล่าวเป็นการดำเนินการเพื่อป้องกันการขับไล่ออกจากสภาที่คาดว่าจะเกิดขึ้นหลังจากการโจมตียูเครน
รัสเซียถือเป็นประเทศที่สองที่ออกจากสภาแห่งยุโรปถัดจากกรีซเคยทำแบบเดียวกันนี้มาก่อนในปี 1969 เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้ถูกขับไล่ หลังจากกลุ่มนายทหารเข้ายึดอำนาจในการทำรัฐประหาร กรีซกลับเข้ามาร่วมในสภายุโรปอีกครั้งหลังจากฟื้นฟูประชาธิปไตยในอีก 5 ปีต่อมา
Reuters รายงานว่าการถอนตัวของรัสเซียจากองค์กรแห่งนี้ ซึ่งเป็นผู้วางอนุสัญญาสิทธิมนุษยชนยุโรป และช่วยชาติต่างๆ ในยุโรปตะวันออกเพื่อทำให้ระบบการเมืองของตนเป็นประชาธิปไตยหลังจากการล่มสลายของลัทธิคอมมิวนิสต์นั้นถือเป็นน้ำหนักเชิงสัญลักษณ์
อย่างไรก็ตาม การตัดสินใจดังกล่าวของรัสเซีย ซึ่งถูกประกาศเมื่อหลายชั่วโมงก่อนการลงคะแนนเสียงเรื่องการขับไล่รัสเซียออกจากสภายุโรปนั้นก็มีผลที่ตามมาอย่างเป็นรูปธรรมเช่นกัน โดยอนุสัญญาสิทธิมนุษยชนยุโรปจะหยุดใช้กับรัสเซียและชาวรัสเซียจะไม่สามารถยื่นร้องต่อศาลสิทธิมนุษยชนแห่งยุโรปได้อีกต่อไป
รัสเซียอธิบายการออกจากสภาดังกล่าว โดยกล่าวหาประเทศตะวันตกว่าบ่อนทำลายสภายุโรป โดยสภายุโรปเองก่อนหน้านี้ก็ได้ระงับการเป็นสมาชิกของรัสเซียเมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา หนึ่งวันหลังจากบุกยูเครน
และจากนั้นบรรดาผู้นำของสภายุโรปได้ออกแถลงการณ์ร่วมระบุว่า การรุกรานที่ไม่เป็นธรรมและปราศจากการยั่วยุนี้นำไปสู่การตัดสินใจของคณะกรรมการรัฐมนตรีและสมัชชารัฐสภาเพื่อเริ่มต้นขั้นตอนการขับไล่สหพันธรัฐรัสเซียจากสภายุโรปตามมาตรา 8 ของธรรมนูญ
“ในกรอบนี้ คืนนี้สมัชชารัฐสภามีมติเป็นเอกฉันท์ว่าสหพันธรัฐรัสเซียไม่ควรเป็นรัฐสมาชิกขององค์การอีกต่อไป” แถลงการณ์ร่วมระบุ พร้อมบอกว่าคณะกรรมการรัฐมนตรีจะจัดให้มีการประชุมวิสามัญในเช้าวันพรุ่งนี้ จากการแจ้งความประสงค์ถอนตัวจากสภายุโรปของรัสเซีย
ภาพ: SAUL LOEB / AFP (แฟ้มภาพจากปี 2021)
อ้างอิง: