มูลนิธิ Wikimedia เจ้าของเว็บไซต์สารานุกรม Wikipedia ได้ยื่นอุทธรณ์ต่อคำตัดสินของศาลพิพากษารัสเซีย หลังจากที่มีคำสั่งให้ลบข้อมูลที่เกี่ยวกับการบุกยูเครนออกจาก Wikipedia ซึ่งทางมูลนิธิโต้แย้งว่า ประชาชนมีสิทธิที่จะได้รับรู้ข้อเท็จจริงของสงคราม
โดยศาลในกรุงมอสโกสั่งปรับมูลนิธิ Wikimedia เป็นจำนวนเงิน 5 ล้านรูเบิล หรือราว 88,000 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 3 ล้านบาท) ในความผิดฐานปฏิเสธที่จะลบสิ่งที่เรียกว่า ‘ข้อมูลบิดเบือน’ จากบทความเกี่ยวกับสงครามที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ Wikipedia ภาษารัสเซีย ซึ่งรวมถึงบทความเรื่อง ‘การรุกรานยูเครนของรัสเซีย’, ‘อาชญากรรมสงครามระหว่างที่รัสเซียบุกยูเครน’ และ ‘การสังหารหมู่ในเมืองบูชา’
สตีเฟน ลาปอร์ต รองที่ปรึกษาทั่วไปของมูลนิธิ Wikimedia กล่าวในแถลงการณ์ว่า “การตัดสินใจนี้บ่งบอกเป็นนัยว่า ข้อมูลความรู้ที่มีแหล่งที่มาและได้รับการตรวจสอบอย่างดีบน Wikipedia นั้นไม่สอดคล้องกับเรื่องราวบิดเบือนที่รัฐบาลรัสเซียสร้างขึ้น”
ขณะที่ Wikipedia ซึ่งระบุตนเองว่าเป็นเว็บไซต์ร่างประวัติศาสตร์ฉบับที่ 2 เป็นหนึ่งในแหล่งตรวจสอบข้อเท็จจริงภาษารัสเซียที่สำคัญเพียงไม่กี่แหล่งที่เหลืออยู่สำหรับชาวรัสเซีย หลังจากที่รัฐบาลเครมลินเดินหน้าปราบปรามสื่อท้องถิ่นหลายสำนักที่รายงานข้อมูลสงครามในยูเครนไม่สอดคล้องกับข้อมูลของรัฐ
“รัฐบาลรัสเซียกำลังกำหนดเป้าหมายข้อมูลที่มีความสำคัญต่อชีวิตของผู้คนในช่วงเวลาวิกฤต เราขอเรียกร้องให้ศาลพิจารณาใหม่อีกครั้ง เพื่อสนับสนุนสิทธิของทุกคนในการเข้าถึงความรู้และการแสดงออกอย่างเสรี” ลาปอร์ตกล่าว
ทั้งนี้ ศาลมอสโกโต้แย้งว่า ข้อมูลที่บิดเบือนบน Wikipedia นั้นก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชนในรัสเซีย และมูลนิธิ Wikimedia ซึ่งแม้จะมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่นครซานฟรานซิสโก รัฐแคลิฟอร์เนียของสหรัฐฯ แต่ก็ดำเนินการอยู่ในรัสเซีย
สำหรับคดีของ Wikipedia เป็นการยื่นฟ้องโดยหน่วยงาน Roskomnadzor ผู้ควบคุมการสื่อสารของรัสเซีย โดยมูลนิธิ Wikimedia ถูกดำเนินคดีตามกฎหมายเนื่องจากความล้มเหลวในการลบข้อมูลที่ถูกแบนในรัสเซีย
ขณะที่คำอุทธรณ์ของ Wikipedia ซึ่งยื่นไปเมื่อวันที่ 6 มิถุนายนที่ผ่านมา แย้งว่าการลบข้อมูลออกจากเว็บไซต์ถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน และกล่าวว่ารัสเซียไม่มีเขตอำนาจศาลเหนือมูลนิธิ Wikimedia ซึ่งให้บริการทั่วโลกกว่า 300 ภาษา
ภาพ: Photo Illustration by Rafael Henrique / SOPA Images / LightRocket via Getty Images
อ้างอิง: