×

รองประธานคณะกรรมาธิการยุโรปส่งสารถึงไทย ชี้การรุกรานของรัสเซียส่งผลกระทบทั่วโลก เชื่อผู้ก่อสงครามที่ไม่ชอบธรรมย่อมเป็นฝ่ายพ่ายแพ้

โดย THE STANDARD TEAM
03.03.2022
  • LOADING...
โจเซฟ บอเรลล์ ฟอนเทเยส

โจเซพ บอร์เรลล์ ฟอนเทเยส ผู้แทนระดับสูงด้านนโยบายต่างประเทศและความมั่นคง และรองประธานคณะกรรมาธิการยุโรป เขียนบทความหัวข้อ ‘อำนาจมิใช่ความชอบธรรม สงครามอันไม่ชอบธรรมจะต้องแพ้พ่ายไป’ โดยวิพากษ์วิจารณ์การรุกรานยูเครนของรัสเซีย พร้อมเรียกร้องให้มีการแยกแยะระหว่างข้อเท็จจริงกับข่าวลวงที่ปรุงแต่งเพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับฝ่ายที่รุกราน

 

เขากล่าวว่า “ท่ามกลางช่วงเวลาแห่งความมืดมน ในเวลาที่เราเป็นสักขีพยานการรุกรานของรัสเซียต่อยูเครนโดยที่ไม่ได้มีการยั่วยุก่อน เป็นเรื่องจำเป็นอย่างมากที่เราต้องแยกคำลวงที่ปรุงแต่งขึ้นมาเพื่อหาความชอบธรรมให้กับสงครามที่ไม่ชอบธรรมนี้ออกจากความจริง” 

 

ฟอนเทเยสระบุว่า ความจริงคือรัสเซีย ซึ่งเป็นมหาอำนาจนิวเคลียร์ ได้โจมตีและรุกรานประเทศเพื่อนบ้านที่รักสันติและเป็นประชาธิปไตย ประเทศที่ไม่เคยทำตัวเป็นภัยหรือยั่วยุรัสเซียแต่อย่างใด นอกจากนี้ ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ยังได้ขู่ว่าจะตอบโต้ประเทศต่างๆ ที่ให้ความช่วยเหลือแก่ชาวยูเครนอีก ซึ่งการใช้กำลังเพื่อบีบบังคับเช่นนี้ฟอนเทเยสมองว่าไม่อาจเกิดขึ้นในศตวรรษที่ 21 อีกแล้ว

 

รองประธานคณะกรรมาธิการยุโรประบุว่า สิ่งที่ประธานาธิบดีรัสเซียทำ ไม่เพียงแต่ละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศอย่างร้ายแรง แต่ยังเป็นการทำลายหลักการขั้นพื้นฐานในการอยู่ร่วมกันอย่างสันติของมนุษยชาติอีกด้วย ประธานาธิบดีปูตินเลือกที่จะนำสงครามมาสู่ยุโรป เขาได้นำ ‘กฎแห่งป่า’ ที่ซึ่งอำนาจคือความชอบธรรมกลับมาอีกครั้ง เป้าหมายของความรุนแรงในครั้งนี้ไม่ใช่เพียงแค่ยูเครนเท่านั้น แต่รวมถึงความมั่นคงของยุโรป ระเบียบของโลกที่วางอยู่บนหลักการของสหประชาชาติและกฎหมายระหว่างประเทศ ผลพวงของความรุนแรงนี้ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อยุโรปเท่านั้น แต่ยังส่งผลต่อเอเชียและที่อื่นๆ ในโลกนี้ รวมทั้งไทยอีกด้วย

 

บทความของฟอนเทเยสระบุว่า การรุกรานของปูตินได้คร่าชีวิตคนบริสุทธิ์และเหยียบย่ำความหวังของชาวยูเครนในการใช้ชีวิตอย่างสันติ พลเรือนกลายเป็นเป้าของการโจมตี ซึ่งถือว่าละเมิดกฎหมายด้านมนุษยธรรมระหว่างประเทศอย่างชัดเจน บังคับให้ประชาชนต้องอพยพหนีตาย 

 

“สิ่งที่เราเห็นคือภัยพิบัติด้านมนุษยชนที่กำลังก่อตัวขึ้น หลายเดือนที่ผ่านมา เราได้พยายามดำเนินขั้นตอนทางการทูตอย่างที่ไม่เคยทำมาก่อน แต่ผู้นำรัสเซียกลับโกหกทุกคนที่ได้เข้าพบ โดยแสร้งทำเป็นสนใจการหาทางออกอย่างสันติ แต่ที่จริงกลับเริ่มการรุกรานอย่างเต็มกำลัง เริ่มต้นก่อสงครามอย่างเต็มรูปแบบ” บทความระบุ

 

พร้อมกันนี้ ฟอนเทเยสเรียกร้องให้รัสเซียยุติปฏิบัติการทางทหารในทันที และต้องถอนกำลังออกจากเขตแดนทั้งหมดของยูเครนอย่างไม่มีเงื่อนไข เช่นเดียวกันนี้ เบลารุสต้องยุติการมีส่วนเกี่ยวข้องกับการรุกรานครั้งนี้ และต้องเคารพในพันธกรณีระหว่างประเทศ สหภาพยุโรปรวมกันเป็นหนึ่งในการสนับสนุนยูเครนและประชาชนชาวยูเครน นี่เป็นเรื่องของความเป็นและความตาย ซึ่งฟอนเทเยสได้เตรียมชุดมาตรการฉุกเฉินเพื่อสนับสนุนกองทัพยูเครนในการต่อสู้ของพวกเขาไว้แล้ว

 

เพื่อเป็นการตอบโต้ ประชาคมนานาชาติตกลงที่จะโดดเดี่ยวรัสเซียอย่างเต็มรูปแบบ เพื่อให้ประธานาธิบดีปูตินต้องรับผิดชอบต่อการรุกรานครั้งนี้ โดยสหภาพยุโรปกำลังคว่ำบาตรผู้ให้เงินสนับสนุนสงคราม ดำเนินการตัดขาดระบบธนาคารและการเข้าถึงเงินทุนสำรองระหว่างประเทศของรัสเซีย 

 

สหภาพยุโรปและพันธมิตรได้ดำเนินการคว่ำบาตรรัสเซียอย่างรุนแรง โดยมุ่งเป้าที่ผู้นำ ชนชั้นนำ และภาคส่วนทางยุทธศาสตร์ในระบบเศรษฐกิจที่ถูกควบคุมโดยรัฐบาลรัสเซีย จุดมุ่งหมายในครั้งนี้ไม่ใช่การทำร้ายประชาชนรัสเซีย แต่เป็นการลดทอนกำลังรัฐบาลรัสเซียในการสนับสนุนสงครามอันไร้ความชอบธรรม ในการนี้ สหภาพยุโรปได้ร่วมมือกับพันธมิตรอย่างใกล้ชิด ทั้งสหรัฐฯ สหราชอาณาจักร ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และออสเตรเลีย สหภาพยุโรปยังเห็นการประท้วงเพื่อปกป้องบูรณภาพแห่งดินแดนและอำนาจอธิปไตยของยูเครนในหลายประเทศทั่วโลก ซึ่ง EU ได้ยืนอยู่ข้างผู้บริสุทธิ์ที่เผชิญหน้ากับการโจมตีของรัสเซีย ‘ซึ่งบ่อนทำลายประเทศที่มีอิสระและมีอธิปไตย’ 

 

ฟอนเทเยสกล่าวว่า “เพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับอาชญากรรมที่ได้ก่อ รัฐบาลรัสเซียและบรรดาผู้สนับสนุนได้มีส่วนในปฏิบัติการข้อมูลข่าวสารขนานใหญ่มาหลายสัปดาห์แล้ว เราได้เห็นสื่อของรัฐบาลรัสเซียและเครือข่ายผลิตข้อมูลเท็จในสื่อสังคมออนไลน์โดยมุ่งเป้าที่จะหลอกลวงผู้คนให้หลงเชื่อ”

 

บทความระบุว่า บรรดานักโฆษณาชวนเชื่อในรัฐบาลรัสเซียเรียกการรุกรานครั้งนี้ว่าเป็น ‘ปฏิบัติการพิเศษ’ แต่การเลือกใช้คำแบบมีเล่ห์เหลี่ยมเช่นนี้ไม่สามารถปกปิดข้อเท็จจริงที่ว่าเรากำลังเห็นการรุกรานยูเครนอย่างเต็มรูปแบบ ด้วยวัตถุประสงค์ที่จะทำลายเสรีภาพ รัฐบาลอันชอบธรรม และโครงสร้างในระบอบประชาธิปไตยของยูเครน การเรียกรัฐบาลยูเครนว่าเป็น ‘กลุ่มนีโอนาซี’ และ ‘กลุ่มเกลียดกลัวรัสเซีย’ เป็นเรื่องที่ไม่มีมูลโดยสิ้นเชิง ในยูเครนมีกฎห้ามการแสดงออกถึงลัทธินาซี นอกจากนี้ในยูเครนยุคใหม่ นักการเมืองกลุ่มขวาจัดเป็นกลุ่มชายขอบที่แทบไม่ได้รับการสนับสนุนถึงขั้นที่ไม่สามารถมีผู้แทนในรัฐสภาได้ รัฐบาลยูเครนไม่ได้แบ่งแยกพื้นที่ดอนบาส หรือห้ามการใช้ภาษาและวัฒนธรรมรัสเซียในพื้นที่ พื้นที่โดเนตสก์และลูฮันสก์ก็ไม่ใช่สาธารณรัฐ แต่เป็นพื้นที่หนึ่งของยูเครนที่กลุ่มแบ่งแยกดินแดนติดอาวุธที่ได้รับการสนับสนุนจากรัสเซียควบคุมอยู่

 

“เรารู้เรื่องนี้และชาวรัสเซียหลายคนก็ทราบดีว่ามีการเดินขบวนประท้วงในเมืองต่างๆ ทั่วประเทศตั้งแต่ที่รัฐบาลรัสเซียตัดสินใจรุกรานยูเครน เพื่อเรียกร้องให้มีการยุติการใช้กำลังกับประเทศเพื่อนบ้านที่รักสันติ พวกเราได้ยินเสียงของบรรดาผู้ประท้วงและรับรู้ได้ถึงความห้าวหาญในการออกมาแสดงความคิดเห็นของพวกเขา เรายังได้เห็นบุคคลสาธารณะหลายคนในรัสเซียได้ร่วมประท้วงการรุกรานที่ไม่มีเหตุผลครั้งนี้ด้วย” ฟอนเทเยสระบุ

 

ฟอนเทเยสกล่าวว่า จะยังคงร่วมมือกับหุ้นส่วนทั่วโลกเพื่อดำเนินการร่วมกับประชาคมนานาชาติในการต่อต้านพฤติกรรมของรัฐบาลรัสเซีย เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ รัสเซียได้ใช้สิทธิ์ยับยั้งข้อมติของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติในญัตติที่ว่าด้วยการที่รัสเซียรุกรานยูเครน โดยจีน อินเดีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์งดออกเสียง ประเทศต่างๆ ทั่วโลกประณามการโจมตีของรัสเซีย และในที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ ประชาคมนานาชาติจำเป็นต้องร่วมมือกันผ่านข้อมติสหประชาชาติเพื่อหยุดการรุกรานของรัสเซีย สหภาพยุโรปยังขอบคุณแอลเบเนียที่เป็นผู้ร่วมร่างข้อมตินี้

 

ฟอนเทเยสกล่าวถึงไทยว่า “สำหรับคนไทยที่เป็นคนรักสงบ ท่านอาจสงสัยว่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นในประเทศที่ห่างไกลในยุโรปจะมีผลกระทบกับคนไทยอย่างไร

 

“คำตอบคือการรุกรานของรัสเซียมีผลกระทบทั่วโลก ประเทศไทยได้รับการปกป้องจากกฎบัตรสหประชาชาติที่ปกป้องหลักการเคารพอำนาจอธิปไตย บูรณภาพแห่งดินแดน และการแก้ไขข้อขัดแย้งด้วยสันติ เช่นเดียวกันกับประเทศอื่นๆ หลักการเหล่านี้ รวมทั้งระบบระหว่างประเทศกำลังถูกรัสเซียทำลาย หากเรื่องเช่นนี้เกิดขึ้นได้ที่ยูเครน เรื่องเช่นนี้ก็เกิดขึ้นกับประเทศใดก็ได้ ด้วยเหตุนี้ เรื่องนี้จึงส่งผลกระทบกับคนไทยด้วย”

 

ท้ายบทความ ฟอนเทเยสยังเรียกร้องให้มีการใช้ถ้อยคำเกี่ยวกับการสู้รบในยูเครนอย่างเหมาะสม โดยชี้ว่าการใช้ภาษาเป็นอีกประเด็นสำคัญ เพราะสถานการณ์ในขณะนี้ไม่อาจกล่าวได้ว่าเป็นการขอให้ ‘ทั้งสองฝ่าย’ ใช้การยับยั้งชั่งใจ หรือเรียกร้องให้ ‘ทั้งสองข้าง’ มีมาตรการเพื่อลดความรุนแรงของสถานการณ์ การกล่าวเช่นนี้เป็นการบอกเป็นนัยว่าทั้งสองฝ่ายมีส่วนสร้างเรื่องนี้ขึ้น ซึ่งเป็นการปฏิเสธข้อเท็จจริงที่ว่ารัสเซียรุกรานยูเครน ดังนั้นฟอนเทเยสจึงเห็นว่าควรใช้ภาษาที่ชัดเจนและเหมาะสมมากกว่านี้

 

“สงครามในยูเครนครั้งนี้จะทำให้โลกไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป ตอนนี้เป็นเวลาที่สังคมและพันธมิตรกลุ่มต่างๆ ต้องมาร่วมกันสร้างอนาคตที่ตั้งอยู่บนฐานของความเชื่อใจ ความยุติธรรม และเสรีภาพ ตอนนี้เป็นช่วงเวลาที่เราจะต้องยืนหยัดและแสดงความเห็นกันออกมาว่าอำนาจมิใช่ความชอบธรรม ไม่เคยเป็น และจะไม่มีวันเป็นเช่นนั้น” บทความระบุทิ้งท้าย

 

ทั้งนี้ รัสเซียอ้างเหตุผลด้านความมั่นคงแห่งชาติในการบุกยูเครน โดยมองว่าการขยายอิทธิพลของ NATO ไปทางตะวันออกรวมทั้งยูเครนนั้นเป็นภัยคุกคาม นอกจากนี้รัสเซียยังกล่าวหาว่าชาติตะวันตกพยายามแยกยูเครนออกจากรัสเซีย ตลอดจนให้การหนุนหลังการเคลื่อนไหวสนับสนุนประชาธิปไตยในยูเครน ที่เริ่มต้นตั้งแต่ช่วงเหตุการณ์ปฏิวัติสีส้ม หรือ Orange Revolution ในปี 2004 ซึ่งมีการประท้วงใหญ่เกิดขึ้นภายหลังการเลือกตั้งประธานาธิบดียูเครน

 

ภาพ: Pool / Getty Images

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X