เจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีคลังสหรัฐฯ กล่าวว่า สถานการณ์การระบาดของโควิดและสงครามความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครน บ่งชี้ถึงความเป็นไปได้ที่จะเกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่ในอนาคต ก่อนเสริมว่า ภาวะถดถอยมีแนวโน้มที่จะท้าทายเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจสหรัฐฯ ต่อไป
ความเห็นข้างต้นของเยลเลนมีขึ้นในระหว่างที่เจ้าตัวขึ้นกล่าวสุนทรพจน์ในงานแห่งหนึ่งที่สถาบัน Brookings ที่กระตุ้นให้นักลงทุนและบุคคลทั่วไปต้องเรียนรู้ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำจากอดีตที่ผ่านมา พร้อมย้ำว่า ประเทศต่างๆ จำเป็นต้องสร้างมาตรการเยียวยา เพื่อปกป้องผู้คนทั่วโลกในอนาคตได้ต่อไป
เยลเลนกล่าวว่า ด้วย ‘ผลกระทบเชิงลบครั้งใหญ่’ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหลายได้เรียนรู้จากภาวะถดถอยครั้งใหญ่ (The Great Recession) ในอดีตที่ผ่านมาว่าเป็นเรื่องจำเป็นที่จะต้องรีบหาทางออกจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้
“ประเทศต่างๆ จะดีขึ้นหากเศรษฐกิจของพวกเขามีความยืดหยุ่นเพิ่มขึ้นและความเปราะบางน้อยลง ขณะเดียวกันด้วยความเข้าใจที่ดีขึ้นเกี่ยวกับการหยุดชะงักในห่วงโซ่อุปทาน, การเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าโภคภัณฑ์, การระเบิดของฟองสบู่ของสินทรัพย์ การกระแทกด้านแรงงานและประสิทธิภาพการทำงาน สามารถช่วยผู้กำหนดนโยบายดำเนินการปฏิรูปที่หนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของตนเองได้
ทั้งนี้ ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลทั่วโลกจำเป็นต้องงัดนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจชุดใหญ่ ซึ่งนักเศรษฐศาสตร์มองว่ามีส่วนทำให้ระดับเงินเฟ้อทำจุดสูงสุดในรอบ 4 ทศวรรษ และตอนนี้สงครามในยูเครนได้ส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อราคาพลังงานและราคาอาหารโลก ตลอดจนสินค้าโภคภัณฑ์อื่นๆ
ขณะเดียวกันรัฐมนตรีคลังสหรัฐฯ ยังใช้โอกาสการขึ้นกล่าวสุนทรพจน์ในครั้งนี้เรียกร้องให้มีความช่วยเหลือด้านความปลอดภัยที่อยู่อาศัยระหว่างผู้เช่าและเจ้าของบ้าน และชื่นชมการปรับปรุงล่าสุดในระบบประกันการว่างงานและเงินกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเน้นย้ำถึงความสำคัญของนโยบายการฟื้นตัวของสหรัฐฯ ที่ย่นระยะเวลาของภาวะถดถอยและบรรเทาความเจ็บปวดทางเศรษฐกิจ
นอกจากนี้เยลเลนยังได้แสดงจุดยืนสนับสนุนความพยายามของรัฐบาลประธานาธิบดี โจ ไบเดน ในการลดการพึ่งพาพลังงานน้ำมัน และผลักดันให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ เป็นอิสระด้านพลังงานมากขึ้น ควบคู่ไปกับสนับสนุนการเปลี่ยนไปใช้แหล่งพลังงานที่สะอาดขึ้น ซึ่งจะลดความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับภัยธรรมชาติและสภาวะโลกร้อนได้
ด้านบรรยากาศตลาดหุ้น Wall Street ของสหรัฐฯ วานนี้ (28 เมษายน) ฟื้นกลับมาปิดตลาดในแดนบวกได้สำเร็จ โดยได้แรงหนุนสำคัญจากรายงานผลประกอบการประจำไตรมาสแรกของบรรดาบริษัทในสหรัฐฯ ที่แข็งแกร่งกว่าที่คาด โดยเฉพาะหุ้นของ Meta บริษัทแม่ของ Facebook ที่ช่วยดันให้หุ้นในกลุ่มเทคโนโลยีปรับตัวเพิ่มขึ้นทั้งหมด และช่วยคลายข้อกังวลของนักลงทุนที่มีต่อการฟื้นตัวเติบโตของเศรษฐกิจในไตรมาสแรกของปีนี้
ทั้งนี้ ดัชนีอุตสาหกรรม Dow Jones ปรับตัวเพิ่มขึ้น 614.46 จุด หรือ 1.85% ปิดที่ 33,916.39 จุด ดัชนี S&P 500 เพิ่มขึ้น 103.54 จุด หรือ 2.47% ปิดที่ 4,287.50 จุด และดัชนี Nasdaq เพิ่มขึ้น 382.59 จุด หรือ 3.06% ปิดที่ 12,871.53 จุด
หุ้นของ Meta เป็นหุ้นที่มีความเคลื่อนไหวโดดเด่นที่สุดในการซื้อขายวานนี้ โดยหุ้นของของ Meta ปรับตัวพุ่งแรงถึง 17.6% หลังจากที่บริษัทสามารถทำกำไรได้มากกว่าที่คาดหมายกันไว้ก่อนหน้า บวกกับสัญญาณการเติบโตที่ดีที่จำนวนผู้ใช้เริ่มขยับฟื้นตัวเพิ่มขึ้น
นอกจากนี้หุ้นของบริษัทชั้นนำในกระดานเทคโนโลยีต่างปรับตัวเพิ่มขึ้นทั่วหน้า รวมถึงหุ้นของ Apple Inc. บริษัทที่มีมูลค่าตลาดสูงที่สุดในโลก และ Amazon.com ยักษ์ใหญ่อีคอมเมิร์ซ ต่างขยับขึ้นมามากกว่า 4%
อย่างไรก็ตาม แม้จะเป็นความเคลื่อนไหวในแดนบวก แต่ดัชนีทั้งสามตลาดโดยรวมยังคงอยู่ในช่วงขาลง โดยเฉพาะดัชนี Nasdaq ที่อยู่ในช่วงขาลงที่เลวร้ายที่สุดนับตั้งแต่เดือนมีนาคม ปี 2020 โดยนับตั้งแต่ต้นปีจนถึงขณะนี้ ดัชนี Nasdaq ปรับตัวลงไปแล้วรวม 9.5% ขณะที่อุตสาหกรรม Dow Jones ร่วงลงเกือบ 5.4% และดัชนีอุตสาหกรรม Dow Jones ลดลง 2.2%
ในส่วนของราคาน้ำมัน ความขัดแย้งของสงครามที่ยกระดับทวีความตึงเครียดไปอีกขั้น ส่งผลให้ราคาน้ำมันวานนี้ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากท่าทีของเยอรมนีที่ยกมือไม่คัดค้านมาตรการห้ามนำเข้าน้ำมันรัสเซียอีกต่อไป ซึ่งอาจซ้ำเติมภาวะอุปทานโลกตึงตัว
ทั้งนี้ ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส งวดส่งมอบเดือนมิถุนายน เพิ่มขึ้น 3.34 ดอลลาร์ ปิดที่ 105.36 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ด้านน้ำมันดิบเบรนต์ทะเลเหนือ งวดส่งมอบเดือนมิถุนายน เพิ่มขึ้น 2.27 ดอลลาร์ ปิดที่ 107.59 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล
ความเคลื่อนไหวของราคาน้ำมันวานนี้เป็นผลสืบเนื่องจากการที่รัฐบาลเยอรมนีจะไม่คัดค้านมาตรการแบนการนำเข้าน้ำมันจากรัสเซียเต็มรูปแบบของทางสหภาพยุโรป (EU) อีกต่อไป แต่ต้องแลกกับกรอบเวลาที่ช่วยยื้อให้เยอรมนีมีเวลามากพอที่จะสรรหาแหล่งอุปทานน้ำมันรายใหญ่ของประเทศ
ก่อนหน้านี้ โรเบิร์ต ฮาเบค รัฐมนตรีเศรษฐกิจเยอรมนี กล่าวว่า เศรษฐกิจยักษ์ใหญ่ของ EU อาจรับมือได้กับมาตรการแบนนำเข้าน้ำมันรัสเซียของ EU และหวังว่าเยอรมนีจะสามารถพบหนทางทดแทนน้ำมันรัสเซียด้วยแหล่งอุปทานอื่นๆ
ส่วนราคาทองคำในวันพฤหัสบดี (28 เมษายน) ปิดตลาดปรับบวกเล็กน้อย ฟื้นตัวจากระดับต่ำสุดในรอบ 2 เดือน เมื่อหนึ่งวันก่อนหน้านี้ โดยราคาทองคำโคเม็กซ์ งวดส่งมอบเดือนมิถุนายน เพิ่มขึ้น 5.50 ดอลลาร์ ปิดที่ 1,891.30 ดอลลาร์ต่อออนซ์
อ้างอิง:
- https://apnews.com/article/russia-ukraine-business-europe-economy-janet-yellen-356153601cd404a0967c26e7a50875ac
- https://www.cnbc.com/2022/04/27/-stock-market-futures-open-to-close-news.html