สถานการณ์ตึงเครียดระหว่างรัสเซียและยูเครนปะทุถึงจุดที่หลายฝ่ายหวั่นวิตกว่าอาจบานปลายเป็นสงครามได้ทุกเมื่อ หลังประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ของรัสเซีย ตัดสินใจก้าวล่วงอธิปไตยของยูเครนอีกครั้ง ด้วยการประกาศลงนามรับรองเอกราชให้แก่แคว้นลูฮันสก์และโดเนตสก์ ซึ่งเป็นพื้นที่ขัดแย้งภายใต้การควบคุมของกลุ่มกบฏแบ่งแยกดินแดนในภูมิภาคดอนบาส ทางตะวันออกของยูเครน
โดยสหรัฐฯ และชาติตะวันตกต่างจับตามองความเคลื่อนไหวนี้ของมอสโก ซึ่งอาจกลายเป็นก้าวแรกก่อนนำไปสู่ปฏิบัติการที่ใหญ่กว่าคือการทำสงครามบุกยึดยูเครนทั้งประเทศ
ซึ่งผู้เชี่ยวชาญทางทหารหลายคนเห็นตรงกันว่า กำลังทหารที่รัสเซียวางไว้ใกล้แนวชายแดนยูเครนกว่า 190,000 นาย ทำให้รัสเซียมีตัวเลือกในการบุกยูเครนได้จากหลายทิศทาง แต่มี 3 เส้นทางยุทธศาสตร์ที่มีความเป็นไปได้สูง ได้แก่
1. เส้นทางเบลารุสและชายแดนทางทิศเหนือ
- ไมเคิล คอฟแมน นักวิเคราะห์จากองค์กรวิจัย CNA ในสหรัฐฯ วิเคราะห์ว่า หากเป้าหมายของรัสเซียคือการเปลี่ยนแปลงการปกครองของยูเครน การโจมตีจากทางเหนือนั้นมีความเป็นไปได้สูง เนื่องจากสามารถยกทัพข้ามแดนจากเบลารุสและเข้าโจมตีกรุงเคียฟที่อยู่ไม่ไกลจากแนวชายแดนได้ในเวลาไม่นาน
- โดยปัจจุบันรัสเซียมีกำลังทหารที่ถูกส่งไปร่วมฝึกซ้อมรบในเบลารุสและยังประจำการอยู่กว่า 30,000 นาย พร้อมทั้งมีอาวุธยุทโธปกรณ์อย่างขีปนาวุธพิสัยใกล้ อิสกันเดอร์ (Iskander) เครื่องยิงจรวด เครื่องบินขับไล่ Su-35 และเครื่องบินรบโจมตีภาคพื้นดิน Su-25
- บอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีแห่งสหราชอาณาจักร เปิดเผยเมื่อวันอาทิตย์ (20 กุมภาพันธ์) ว่า ได้รับทราบข้อมูลข่าวกรองที่บ่งชี้ว่ารัสเซียกำลังวางแผนเปิดฉากโจมตียูเครนจากทางเบลารุส
- คอฟแมนยังชี้ว่า รัสเซียมีกำลังพลของกองทัพที่ 41 ปักหลักรออยู่ในพื้นที่ชายแดนทางตะวันออก โดยการเคลื่อนพลจากเบลารุสบุกกรุงเคียฟนั้นยังมีข้อดีที่สามารถหลบเลี่ยงพื้นที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชอร์โนบิลได้
- ขณะที่ เซท โจนส์ ผู้เชี่ยวชาญจากศูนย์ศึกษายุทธศาสตร์และการศึกษานานาชาติ มองว่ากองทัพรัสเซียอาจเคลื่อนกำลังพลจากเมืองชายแดนอย่างนอวาย ยูร์คอวิชี (Novye Yurkovichi) และเทรบรอตเนอ (Troebrotno) ที่ติดกับชายแดนทางตะวันออกเฉียงเหนือของยูเครน
2. เส้นทางคาบสมุทรไครเมีย
- เบน แบร์รี นักวิเคราะห์จากสถาบันระหว่างประเทศเพื่อการศึกษาเชิงยุทธศาสตร์ (IISS) ของสหราชอาณาจักร เชื่อว่ารัสเซียจะเปิดฉากบุกยูเครนจากทางคาบสมุทรไครเมียค่อนข้างแน่นอน
- โดยสงครามภาคพื้นดินจะเกี่ยวข้องกับขบวนรถหุ้มเกราะที่มีปืนใหญ่สนับสนุน เพื่อการรุกคืบเข้าสู่ดินแดนชั้นในของยูเครนอย่างรวดเร็ว ซึ่งการเคลื่อนกำลังพลจากคาบสมุทรไครเมียไปยังกรุงเคียฟ อาจทำให้ทหารยูเครนจำนวนมากติดอยู่ในพื้นที่ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำนีเปอร์ และเมื่อกองทัพรัสเซียเคลื่อนพลจากทางทิศตะวันตก ตะวันออก และทางตอนเหนือ รวมถึงคาบสมุทรไครเมีย จะส่งผลให้กองทัพยูเครนนั้นถูกปิดล้อม
- กองทหารรัสเซียอาจพยายามบุกยึดเมืองเคอร์ซอน (Kherson) และเมืองโอเดซา (Odesa) ในเส้นทางทิศตะวันตก และยึดเมืองมายลิโทปอล (Melitopol) และเมืองมาริยูปอล (Mariupol) ในเส้นทางทิศตะวันออก เพื่อสร้างสะพานแผ่นดิน (Land Bridge) เชื่อมระหว่างคาบสมุทรไครเมียกับพื้นที่ควบคุมของกลุ่มกบฏฝักใฝ่รัสเซีย
- นอกจากนี้คาดว่ากองทัพรัสเซียอาจใช้กองทัพเรือที่ประจำการในทะเลดำในการบุกจากคาบสมุทรไครเมีย ซึ่งเรือยกพลขึ้นบกสามารถบรรทุกทั้งกำลังพลและรถหุ้มเกราะ รวมถึงรถถังเพื่อบุกเข้าสู่ยูเครนได้
3. เส้นทางบุกจากทางตะวันออกของยูเครน
- สำหรับเส้นทางจากพื้นที่ขัดแย้งทางตะวันออกของยูเครน โดยเฉพาะแคว้นลูฮันสก์และโดเนตสก์ ที่อยู่ภายใต้การยึดครองของกลุ่มกบฏสนับสนุนรัสเซียมาตั้งแต่ปี 2014 ก็มีความเป็นไปได้เช่นกัน
- ปัจจุบันคาดว่ากลุ่มกบฏนั้นมีกองกำลังติดอาวุธราว 15,000 คน หรือมากกว่านั้น ที่อาจช่วยเป็นกำลังเสริมให้รัสเซียในการบุกยูเครนได้ ขณะที่กองทัพรัสเซียเองมีกำลังทหารราว 10,000 นาย ประจำการถาวรอยู่บริเวณแนวชายแดนในภูมิภาครอสตอฟ (Rostov) และมีการเสริมกำลังเพิ่มมากขึ้นอีกในช่วงไม่นานมานี้
- หากรัสเซียตัดสินใจบุกจากทางตะวันออกของยูเครน ก็เป็นไปได้ที่กองทัพรัสเซียจะเคลื่อนกำลังทหารผ่านทางไครเมียและสร้างสะพานแผ่นดินเชื่อมชายฝั่งทางตะวันออกเฉียงใต้ หรือเคลื่อนกำลังพลจากเมืองเบลโกรอด (Belgorod) ในฝั่งรัสเซีย ไปยังเมืองคาร์คิฟ (Kharkiv) ในฝั่งยูเครน และเดินทัพต่อไปยังเมืองเครเมนชุก (Kremenchuk) ที่อยู่ใจกลางประเทศ
- รัสเซียอาจพยายามหาเหตุผลและความชอบธรรมในการเริ่มต้นบุกจากพื้นที่ขัดแย้งทางตะวันออกของยูเครน โดยอ้างว่าเป็นการปกป้องประชาชนในพื้นที่ซึ่งส่วนใหญ่พูดภาษารัสเซีย
อย่างไรก็ตาม แบร์รีชี้ว่า แม้รัสเซียจะเปิดฉากการรบแบบจำกัดพื้นที่ แต่ก็มีแนวโน้มที่อาจจะใช้การระเบิดเพื่อทำลายระบบป้องกันทางอากาศต่างๆ ตลอดจนทำลายโครงสร้างพื้นฐานทางทหารในศูนย์บัญชาการที่สำคัญของกองทัพยูเครน
โดยนักวิเคราะห์ยังมองว่าเป็นไปได้ที่รัสเซียอาจเลือกบุกจากหลายทิศทางพร้อมกัน ในขณะที่ใช้การโจมตีทางไซเบอร์และการทำสงครามข่าวสาร ไปจนถึงการโจมตีด้วยขีปนาวุธ
ซึ่งตัวเลือกที่จำกัดผลกระทบมากที่สุดอาจเป็นการโจมตีทางไซเบอร์ เพื่อทำให้ระบบโครงสร้างพื้นฐานของยูเครนเป็นอัมพาต และไม่ต้องส่งกำลังทหารบุกเข้ายึดโดยตรง
ขณะที่คอฟแมนชี้ว่า การตัดสินใจโจมตีในเส้นทางหรือยุทธวิธีใดๆ นั้น จะขึ้นอยู่กับเป้าหมายทางการเมืองที่รัสเซียต้องการ ซึ่งยากที่จะคาดเดาว่าจะออกมาในรูปแบบใด
ภาพประกอบ: ฉัตรชัย เฉยชิต
อ้างอิง: