กระทรวงกลาโหมรัสเซียเปิดเผยว่า รัสเซียมอบรางวัลเชิดชูเกียรติให้กับนักบิน 2 นายที่เกี่ยวข้องในเหตุการณ์เผชิญหน้ากับโดรนของสหรัฐฯ เหนือทะเลดำ ซึ่งเป็นการส่งสัญญาณชัดเจนถึงจุดยืนที่แข็งกร้าวของรัสเซียต่ออากาศยานสอดแนมของสหรัฐฯ
เมื่อวันศุกร์ (17 มีนาคม) เซอร์เก ชอยกู รัฐมนตรีกลาโหมรัสเซีย มอบรางวัลให้กับนักบินประจำเครื่องบินขับไล่ Su-27 พร้อมยกย่องความสำเร็จของพวกเขาในการป้องกันไม่ให้โดรนของสหรัฐฯ บินเข้าไปในพื้นที่ใกล้กับแหลมไครเมียซึ่งเป็นเขตหวงห้ามของรัสเซีย
กระทรวงกลาโหมรัสเซียระบุในแถลงการณ์ว่า “โดรนบินโดยไม่เปิดช่องสัญญาณติดต่อ ซึ่งเป็นการละเมิดขอบเขตของน่านฟ้าชั่วคราวที่กำหนดขึ้นสำหรับปฏิบัติการทางทหารพิเศษ และสื่อสารกับผู้ใช้น่านฟ้าสากลทุกราย” The Moscow Times รายงานข้อความในแถลงการณ์ของกระทรวงกลาโหมรัสเซีย
เซอร์เก มาร์คอฟ นักวิเคราะห์การเมืองที่สนับสนุนเครมลิน กล่าวว่า รางวัลสำหรับนักบินเหล่านี้เป็น ‘สัญญาณที่ชัดเจนว่ารัสเซียจะเดินหน้าสกัดกั้นโดรนของสหรัฐฯ ต่อไป’
“การตัดสินใจนี้จะได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่จากสังคมรัสเซียที่ต้องการให้รัฐบาลเข้มงวดกับนโยบายของตนมากขึ้น” มาร์คอฟเขียนในบทวิจารณ์
การมอบรางวัลเชิดชูเกียรตินักบินของรัสเซียมีขึ้นหนึ่งวันหลังจากที่กองบัญชาการยุโรปของสหรัฐฯ เผยแพร่คลิปวิดีโอการเผชิญหน้าระหว่างโดรนตรวจการณ์ MQ-9 Reaper ของสหรัฐฯ กับเครื่องบินขับไล่ Su-27 ของรัสเซียเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา (14 มีนาคม) ขณะที่บินอยู่เหนือทะเลดำ ซึ่งภาพจากกล้องที่ติดตั้งใต้ลำตัวทางด้านหลังของโดรน แสดงให้เห็นว่าเครื่องบินขับไล่รัสเซียบินผ่านมาในระยะประชิด และปล่อยสิ่งที่ดูเหมือนเป็นเชื้อเพลิงออกมาขณะเข้าใกล้ ก่อนที่เครื่องบินขับไล่ของรัสเซียจะชนโดรนสหรัฐฯ จนท้ายที่สุดตกลงในทะเลดำ
ส่วนหนึ่งของคลิปวิดีโอเผยให้เห็นว่า เครื่องบินขับไล่รัสเซียบินผ่านโดรนสหรัฐฯ ในระยะใกล้ถึง 2 รอบ และในรอบที่ 2 ได้ปล่อยเชื้อเพลิงออกมา ก่อนที่ภาพจากคลิปวิดีโอจะหยุดชะงักไป เนื่องจากเครื่องบินขับไล่รัสเซียชนเข้ากับโดรน จนทำให้ใบพัดเสียหาย และเมื่อภาพกลับมาปรากฏว่าใบพัดด้านหลังของโดรนงอจนผิดรูป ส่งผลให้ผู้ควบคุมโดรนของสหรัฐฯ ต้องบังคับโดรนทิ้งในทะเลดำ บริเวณน่านน้ำสากล ทางตะวันตกเฉียงใต้ของแหลมไครเมีย
ด้านรัสเซียปฏิเสธว่าเครื่องบินขับไล่ของตนไม่ได้ชนโดรน อีกทั้งการชนปะทะกันเกิดขึ้นภายหลังจากที่มีความพยายามจะหลบหลีกอย่างสุดความสามารถแล้ว
เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ ระบุว่า การเก็บกู้ซากโดรนทำได้ยาก เนื่องจากน้ำในทะเลดำลึก แต่สื่อของทางการรัสเซียรายงานว่า กองทัพเรือรัสเซียตรวจพบซากโดรนห่างจากเมืองท่าเซวาสโตโพลในไครเมียประมาณ 60 กิโลเมตร ที่ความลึก 850-900 เมตร ตามรายงานของ The Moscow Times
ขณะที่ล่าสุด เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ เปิดเผยเมื่อวันศุกร์ (17 มีนาคม) ว่าสหรัฐฯ ได้กลับมาบินโดรนตรวจการณ์เหนือทะเลดำแล้ว โดยเจ้าหน้าที่ 2 คนเผยกับสำนักข่าว Reuters ว่า RQ-4 Global Hawk บินไปปฏิบัติภารกิจเมื่อวันศุกร์ ซึ่งเป็นการกลับมาบินโดรนครั้งแรกนับตั้งแต่เกิดเหตุโดรนตกเมื่อวันอังคาร (14 มีนาคม)
ภาพ: United States European Command / Anadolu Agency via Getty Images
อ้างอิง: