×

รัสเซียกับท่าทีที่สวนทางประชาคมโลก ทำไมกองทัพเมียนมาจึงยกให้เป็นมิตรแท้

30.03.2021
  • LOADING...
รัสเซียกับท่าทีที่สวนทางประชาคมโลก ทำไมกองทัพเมียนมาจึงยกให้เป็นมิตรแท้

HIGHLIGHTS

4 mins. read
  • รัสเซียเป็นเพียงประเทศเดียวที่ส่งผู้แทนระดับรัฐบาลเข้าร่วมพิธีวันก่อตั้งกองทัพเมียนมาที่กรุงเนปิดอว์ เมื่อวันที่ 27 มีนาคม สะท้อนนัยของ ‘การให้ความชอบธรรมต่อความเป็นรัฏฐาธิปัตย์ของกองทัพเมียนมาที่ยึดอำนาจรัฐบาลพลเรือน’ 
  • ท่าทีของรัสเซียครั้งนี้สะท้อนความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศในฐานะที่เป็นพันธมิตรใกล้ชิดกันแบบ ‘เงียบๆ’ มานานกว่าครึ่งศตวรรษ ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมารัสเซียให้ความสำคัญกับเมียนมาเป็นอย่างมาก
  • แต่พลังของคนยุคใหม่ที่ไม่สยบยอมต่อระบอบทหารดังเช่นยุคก่อนๆ สร้างแรงกระเพื่อมของความเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างมาก ซึ่งอาจทำให้ภาพลักษณ์รัสเซียติดลบในมุมมองของประชาชนเมียนมา เพราะไม่มีคำบรรยายใดที่จะอธิบายความชอบธรรมจากท่าทีเช่นนี้ของรัสเซีย

รัสเซียจัดว่าท็อปฟอร์มมากที่สุดในบรรดา 8 ประเทศที่ส่งผู้แทนทางทหารไปเข้าร่วมพิธีวันก่อตั้งตั๊ดมาดอว์ (กองทัพเมียนมา) ถึงกรุงเนปิดอว์ เมื่อวันที่ 27 มีนาคมที่ผ่านมา ท็อปฟอร์มมากถึงขนาดที่ว่าสถานทูตรัสเซียในย่างกุ้งอาจตกเป็นเป้าของผู้ชุมนุมในอนาคตอันใกล้ เนื่องจากกระแสความไม่พอใจของประชาชนชาวเมียนมาผู้สนับสนุนประชาธิปไตย

 

ทำไมถึงจะเป็นเช่นนั้น? เพราะรัสเซียเป็นเพียงประเทศเดียวที่ส่งผู้แทนระดับรัฐบาลมาร่วมคือ พล.อ. อเล็กซานเดอร์ โฟมิน (Gen. Col. Alexander Fomin) รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหมรัสเซีย ซึ่งถือว่าเป็นการส่งบุคคลระดับสูงมาเข้าร่วมพิธี สะท้อนนัยของ ‘การให้ความชอบธรรมต่อความเป็นรัฏฐาธิปัตย์ของกองทัพเมียนมา ที่ยึดอำนาจรัฐบาลพลเรือน’ 

 

อีกทั้งยังออกแถลงการณ์ร่วมยกเครดิตให้เมียนมาว่าเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ (Strategic Partner) จน พล.อ. อาวุโส มิน อ่อง หล่าย ผู้บัญชาการทหารสูงสุดกองทัพเมียนมาและผู้นำรัฐประหารกล่าวชมว่า ‘รัสเซียคือมิตรแท้’ แม้ว่าโดยทั่วไปแล้วแถลงการณ์ในลักษณะดังกล่าวจะเป็นระเบียบวิธีปฏิบัติของรัสเซียอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเดินทางไปเยือนประเทศไหนก็ตาม 

 

ในขณะที่อีก 7 ประเทศ โดยเฉพาะจีน ที่เป็นพันธมิตรที่มีส่วนได้ส่วนเสียมากที่สุด (Potential Partner) ยังดูเหมือนจะสงวนท่าทีและไม่ทำอะไรให้เป็นจุดเด่นมากนัก ไม่นับที่เหลือที่ต่างส่งผู้แทนไปเข้าร่วมพิธีอย่างเงียบๆ เมื่อเปรียบเทียบกันแล้ว รัสเซียจึงดูท็อปฟอร์มมากที่สุดในเหตุการณ์นี้

 

เราจะเห็นได้ว่าในช่วงแรกทั้งรัสเซียและจีน ถึงแม้จะวีโต้ (Veto) คัดค้านการคว่ำบาตรเมียนมาในฐานะ 2 ใน 5 ประเทศสมาชิกถาวรของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UNSC) แต่ทั้งสองประเทศต่างก็สงวนท่าทีไม่ได้ให้การรับรองรัฐบาลใหม่ที่มาจากการรัฐประหารในทันที ท่าทีของผู้แทนรัสเซียในวันกองทัพเมียนมาที่ผ่านมาจึงดูเป็นสิ่งที่เกินคาดพอควรและเผยไต๋ชัดเจนว่าตนอยู่ข้างใคร

 

ท่าทีของรัสเซียครั้งนี้สะท้อนความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศในฐานะที่เป็นพันธมิตรใกล้ชิดกันแบบ ‘เงียบๆ’ มานานกว่าครึ่งศตวรรษ ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมารัสเซียให้ความสำคัญกับเมียนมาเป็นอย่างมาก จะเห็นได้จากการที่ทูตรัสเซียประจำย่างกุ้ง นิโคลัย ลิสโตปาดอฟ (Nikolai Listopadov) เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านเมียนมาอย่างแท้จริง สามารถฟัง พูด อ่าน เขียนภาษาเมียนมาได้อย่างทะลุปรุโปร่ง 

 

ในบริบททางประวัติศาสตร์ เมียนมาถือเป็นหนึ่งในประเทศกำลังพัฒนาที่เพิ่งจะเป็นเอกราชจากจักรวรรดินิยมและเป็นเป้าหมายของมหาอำนาจใหม่สองขั้วอำนาจทั้งสหภาพโซเวียตและสหรัฐอเมริกาในการสร้างกลุ่มพันธมิตรของตน

 

สหภาพโซเวียตและสหภาพเมียนมาสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตในปี 1948 ทันทีที่เป็นเอกราชจากอังกฤษ และผู้นำหมายเลขหนึ่งของสหภาพโซเวียตอย่างเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์แห่งสหภาพโซเวียต ควบตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอย่าง นิกิตา ครุสชอฟ (Nikita Khrushchev) ก็เคยเดินทางมาเยือนเมียนมาด้วยตนเอง พร้อมกับสนับสนุนการลงทุนด้านโครงสร้างขั้นพื้นฐาน (Infrastructure) ต่างๆ ทั้งวิทยาลัยเทคนิค โรงแรม โรงพยาบาล ฯลฯ โดยสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นในสมัยรัฐบาลพลเรือนของอูนุ

 

ความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศยิ่งใกล้ชิดขึ้น หลัง พล.อ. เนวิน ยึดอำนาจ พร้อมสถาปนาระบอบ BSPP (Burma Socialist Program Party) ประหนึ่งระบอบทหารที่สวมเสื้อคลุมสังคมนิยม โดยระบอบนี้ได้ปิดประเทศและเนรเทศชาวตะวันตกออกไปจากเมียนมา เปิดโอกาสให้มหามิตรใหม่หลังยุคอาณานิคมอย่างสหภาพโซเวียตเข้ามามีอิทธิพลจนถึงปัจจุบัน แน่นอนว่าหนึ่งในวาระสำคัญที่ไม่พูดถึงไม่ได้คือการค้าขายอาวุธ

 

จากมุมมองโซเวียต-รัสเซีย ผ่านภูมิรัฐศาสตร์เมียนมาที่ตั้งอยู่บนจุดเชื่อมต่อภูมิภาคและมหาอำนาจในยุคสงครามเย็นก็เลือกให้เมียนมาเป็นอีกจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญที่เอาไว้ปิดล้อมจีนได้จากทางใต้ และเป็นจุดยุทธศาสตร์ในการขยายอิทธิพลมาสู่มหาสมุทรอินเดีย

 

แต่อย่างไรก็ตาม พลังของคนยุคใหม่ที่ไม่สยบยอมต่อระบอบทหารดังเช่นยุคก่อนๆ สร้างแรงกระเพื่อมของความเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างมากจากการใช้กรอบมุมมองแบบสภาพจริงนิยม (Realism) ในแง่ของการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่มักจะให้ความสำคัญกับตัวแสดงที่เป็นรัฐ รวมไปถึงรัฏฐาธิปัตย์นั้นๆ และไม่ได้มองในมุมภาคประชาสังคม แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าปฏิกิริยาการต่อต้านอำนาจใหม่ในเมียนมานั้นขยายเป็นวงกว้างอย่างมาก ตั้งแต่ระดับประชาชนไปจนถึงเจ้าหน้าที่รัฐระดับสูง และการต่อต้านจากคนทุกระดับก็มีความเป็นเอกภาพกันอย่างมาก แม้แต่สื่อของรัฐบาลรัสเซียเองก็ยังรายงานว่าประชาชนชาวเมียนมาเสียชีวิตจากการใช้กำลังความรุนแรงของเจ้าหน้าที่รัฐทุกวัน 

 

หากรัสเซียยังคงแสดงท่าทีในทำนองนี้ต่อไป ก็คงไม่แคล้วที่เครดิตประเทศในมุมมองของประชาชนชาวเมียนมาจะติดลบ เพราะไม่มีคำบรรยายใดที่จะอธิบายความชอบธรรมจากท่าทีเช่นนี้ของรัสเซียและชาวเมียนมา รวมถึงประชาคมโลกเองก็คงอดไม่ได้ที่จะมองและตั้งข้อสังเกตว่ารัสเซียคือหนึ่งในผู้ให้ความร่วมมือทางอ้อมกับการปราบปรามประชาชนด้วยความรุนแรงในลักษณะที่เป็นการก่ออาชญากรรมโดยรัฐ (State Crime) หรือการก่อการร้ายโดยรัฐ (State Terrorism) ซึ่งก็ดูเหมือนจะพูดไม่เกินความเป็นจริงไปนัก

 

ภาพ: STR / AFP

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X