เป็นธรรมเนียมปฏิบัติตั้งแต่ปี 1996 ที่รัสเซียจัดพิธีสวนสนามอย่างยิ่งใหญ่ในวันที่ 9 พฤษภาคมของทุกปี ณ จัตุรัสแดงกลางกรุงมอสโก เพื่อเฉลิมฉลองวันแห่งชัยชนะ (Victory Day) ที่กองทัพโซเวียตมีชัยเหนือกองทัพนาซีในสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อปี 1945 สำหรับปีนี้ก็เช่นเดียวกัน กองทัพรัสเซียได้แสดงแสนยานุภาพให้โลกได้ประจักษ์เหมือนครั้งก่อนๆ
ไฮไลต์สำคัญที่ทั่วโลกจับตาในงานนี้คือ การที่กองทัพรัสเซียขนฮาร์ดแวร์ล้ำสมัยมาอวดสายตาชาวโลก ประหนึ่งเป็นเวทีแสดงและเปิดตัวยุทโธปกรณ์ใหม่ๆ เพื่อประกาศความเกรียงไกรของกองทัพ และงานปีนี้ยังจัดขึ้นในช่วงเวลาที่รัสเซียกำลังเผชิญแรงบีบคั้นจากบรรยากาศการเมืองระหว่างประเทศที่ไม่เป็นมิตรอีกด้วย
พาเหรด V-Day ครั้งที่ 73 ในปีนี้สำคัญอย่างไร
หลังสหภาพโซเวียตล่มสลายพร้อมๆ กับความถดถอยของรัสเซียทั้งในมิติของเศรษฐกิจและอำนาจการเมืองบนเวทีโลก รัสเซียจึงจำเป็นต้องจัดพิธีรำลึกวันแห่งชัยชนะในมหาสงครามผู้รักชาติ (Great Patriotic War) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสงครามโลกครั้งที่ 2 ด้วยจุดประสงค์ที่จะปลุกกระแสความรักชาติในหมู่ประชาชน
ข้อมูลจากทางการรัสเซียระบุว่า สงคราม Great Patriotic War ที่กินเวลาเกือบ 4 ปี ระหว่างปี 1941-1945 มีชาวโซเวียตเสียชีวิตมากถึง 26.6 ล้านคน โดยศึกครั้งนี้มีทหารราว 8-13 ล้านคนเข้าร่วมสู้รบตามสมรภูมิต่างๆ ตั้งแต่เหนือสุดที่ทะเลแบเรนต์ส จนจรดใต้สุดที่ทะเลดำ ใช้รถถังและปืนใหญ่อัตตาจร 6,000-20,000 คัน ปืนใหญ่และปืนครก 85,000-165,000 กระบอก และเครื่องบิน 7,000-19,000 ลำ
สำหรับปีนี้งานสวนสนามจัดขึ้นในช่วงเวลาที่รัสเซียกำลังถูกกดดันจากสหรัฐฯ และชาติสมาชิกองค์การนาโต ทั้งจากกรณีพิพาทเรื่องอาวุธเคมีในสงครามกลางเมืองซีเรีย ปมขัดแย้งเรื่องความพยายามลอบสังหารอดีตสายลับรัสเซียที่แปรพักตร์ไปอยู่อังกฤษ ไปจนถึงกรณีแทรกแซงการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ เมื่อปี 2015
อีกหนึ่งความพิเศษของการสวนสนามปีนี้ยังอยู่ที่การปรากฏตัวของนายกรัฐมนตรีเบนจามิน เนทันยาฮู แห่งอิสราเอล ซึ่งเป็นแขกพิเศษที่เดินทางมาชมขบวนพาเหรดของกองทัพรัสเซียครั้งนี้ด้วย
ที่ต้องบอกว่าพิเศษก็เพราะรัสเซียกับอิสราเอลมีความสัมพันธ์ที่ซับซ้อน เนื่องจากรัสเซียเป็นพันธมิตรกับทั้งอิสราเอลและอิหร่าน แต่ในขณะเดียวกัน อิหร่านกับอิสราเอลกลับเป็นศัตรูคู่อาฆาตที่บาดหมางกันมาช้านาน
การเยือนของเนทันยาฮูมีขึ้นในช่วงที่ข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่านส่อเค้าล่มทุกขณะ เนื่องจากประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ของสหรัฐฯ ประกาศถอนตัวจากข้อตกลง เพราะเห็นว่าเงื่อนไขที่อิหร่านรับปาก 6 ชาติมหาอำนาจเพื่อแลกกับการไม่ถูกคว่ำบาตรเมื่อปี 2015 นั้นมีข้อบกพร่องมากมาย และข้อตกลงนี้จะไม่สามารถหยุดยั้งอิหร่านให้พัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ต่อไปได้
ขณะที่อิสราเอลเป็นประเทศที่ออกมาเปิดโปงเอกสารลับที่บ่งชี้ว่าอิหร่านโกหกและแอบลักลอบพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์โดยละเมิดต่อข้อตกลงระหว่างประเทศ ซึ่งสวนทางกับเจตนารมณ์ของรัสเซียที่ต้องการให้สหรัฐฯ และนานาชาติผ่อนปรนความเข้มงวดต่ออิหร่าน
งานยิ่งใหญ่ตระการตา
พิธีสวนสนามแบ่งออกเป็น 3 ช่วง ช่วงแรกเป็นการเดินสวนสนามอย่างเป็นระเบียบของทหารจากเหล่าทัพต่างๆ ทั้งกองทัพบก กองทัพอากาศ และกองทัพเรือ ต่อด้วยการเดินสวนสนามของกองกำลังกึ่งทหาร และทหารผ่านศึก และปิดท้ายด้วยการแปรขบวนของรถถังและยานรบต่างๆ สำหรับสวนสนามครั้งนี้ใช้บุคลากรทั้งหมดกว่า 13,000 คน ยานพาหนะ 159 คัน และเครื่องบิน 75 ลำ
สีสันที่ขาดไม่ได้ในพิธีเฉลิมฉลองวัน V-Day คือการสวนสนามทางอากาศของฝูงบินผาดแผลง Strizhi และ Russian Knights ของรัสเซีย ซึ่งประกอบด้วยเครื่องบินขับไล่แบบ Su-30 และ MiG-29
นอกจากนี้ยังมีเครื่องบินไอพ่น Su-25 ที่บินแปรขบวน พร้อมปล่อยควันเป็นสีธงไตรรงค์ของรัสเซียเหนือจัตุรัสแดงด้วย
อีกหนึ่งเหตุการณ์น่าประทับในงานคือการปรากฏตัวของรถถัง T-34 สมัยโซเวียต เพื่อเป็นเกียรติแก่รถถังรุ่นเก๋าที่ผ่านสมรภูมิสงครามโลกมาอย่างโชกโชน
อาวุธเด่นน่าจับตา
แน่นอนสิ่งที่ขาดไม่ได้ของงานสวนสนามรัสเซียคือการโชว์เขี้ยวเล็บใหม่ของกองทัพ ซึ่งครั้งนี้เรียกได้ว่ารัสเซียจัดเต็มเช่นเคยทั้งเครื่องบินรบ โดรน รถถัง ยานรบทหารราบ ยานหุ้มเกราะ ปืนใหญ่อัตตาจร และขีปนาวุธทางยุทธศาสตร์
Su-57 พญาหมีติดปีกล่องหน
Su-57 เป็นเครื่องบินขับไล่ยุค 5 ที่พัฒนาโดยบริษัท Sukhoi ทดสอบบินครั้งแรกในปี 2010 ด้วยจุดเด่นที่เทคโนโลยีสเตลธ์ ซึ่งออกแบบมาให้สามารถหลบเลี่ยงการตรวจจับของระบบเรดาร์ได้
ถึงแม้รัสเซียจะยังไม่ได้นำ Sukhoi Su-57 เข้าประจำการในกองทัพอากาศอย่างเป็นทางการ แต่กระทรวงกลาโหมรัสเซียเปิดเผยว่า พวกเขาได้ส่งเครื่องบินรบ Su-57 จำนวน 2 ลำไปซีเรียเพื่อปฏิบัติภารกิจทดสอบสู้รบเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา
สำหรับคู่ต่อกรของ Su-57 ที่เทียบชั้นเฉพาะเครื่องบินขับไล่แบบสเตลธ์ด้วยกันมีเพียงไม่กี่รุ่นในโลก ประกอบด้วย F-22 Raptor และ F-35 Lightning II จากค่ายล็อกฮีด มาร์ตินของสหรัฐฯ และ J-20 ที่จีนเพิ่งนำเข้าประจำการในหน่วยรบแนวหน้าเมื่อไม่นานมานี้
Kinzhal อาวุธปล่อยนำวิถีความเร็วระดับไฮเปอร์โซนิก
Kinzhal เป็นอาวุธปล่อยนำวิถีพิสัยไกลที่สามารถเคลื่อนที่ในอากาศได้เร็วกว่า 10 เท่าของความเร็วเสียง หรือไฮเปอร์โซนิก เปิดตัวโดยประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูตินในระหว่างแถลงนโยบายประจำปีต่อรัฐสภาเมื่อวันที่ 1 มีนาคมที่ผ่านมา
สำหรับงานสวนสนามครั้งนี้ Kinzhal ได้อวดโฉมบนตำบลติดอาวุธของเครื่องบินรบแบบ MiG-31K
ส่วนสมรรถนะของ Kinzhal นั้น ยูริ บอริซอฟ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหมรัสเซียระบุว่า เป็นอาวุธล้ำสมัยที่ไร้เทียมทาน โดยสามารถทะลวงแนวป้องกันขีปนาวุธของข้าศึกและโจมตีเป้าหมายได้อย่างแม่นยำ
Yars ขีปนาวุธข้ามทวีปทรงอานุภาพ
RS-24 Yars หรือ Topol-MR เป็นระบบขีปนาวุธข้ามทวีปที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง สามารถติดตั้งหัวรบนิวเคลียร์ได้ถึง 10 หัว และมีพิสัยทำการไกลถึง 12,000 กิโลเมตร
Yars ทดสอบยิงครั้งแรกเมื่อปี 2007 ในโครงการพัฒนาอาวุธลับของรัสเซีย ปัจจุบันรัสเซียมีขีปนาวุธ RS-24 Yars จำนวน 73 หน่วย แบ่งเป็นขีปนาวุธที่ติดตั้งบนแท่นยิงเคลื่อนที่ 63 หน่วย และในหลุมไซโล 10 หน่วย
Armata ม้าเหล็กชำนาญศึก
T-14 Armata เป็นรถถังประจัญบานหลัก (MBT) ในโครงการ Universal Combat Platform เปิดตัวในงาน V-Day ครั้งแรกเมื่อปี 2015
จุดเด่นของ Armata อยู่ที่การเคลื่อนที่ได้อย่างคล่องแคล่ว และมีระบบอาวุธทันสมัย ประกอบด้วยป้อมปืนอัตโนมัติขนาดลำกล้อง 125 มม. ปืนกลยิงเร็วอัตโนมัติขนาด 12.5 มม. และระบบต่อต้านจรวดทำลายรถถังที่มากับเทคโนโลยีป้องกันเชิงรุก หรือ Active Protection System (APS) ด้วยระบบเซนเซอร์และเรดาร์ที่ทันสมัย
ทั้งนี้กองทัพรัสเซียคาดว่าจะรับมอบรถถัง Armata เข้าประจำการจำนวน 100 คันภายในปี 2020
Uran-9 รถถังโดรนจิ๋วแต่แจ๋ว
Uran-9 รถถังหุ่นยนต์ขนาดเล็กแต่มีความคล่องตัวสูง ถูกออกแบบมาให้สามารถทำลายยานเกราะของข้าศึกได้ โดยติดตั้งป้อมปืนขนาดลำกล้อง 30 มม. ที่สามารถยิงรัวได้ถึง 400 นัดต่อนาที
นอกจากนี้ Uran-9 ยังติดตั้งจรวดต่อต้านรถถังที่ยิงได้ไกล 4 กิโลเมตร ด้วยความแม่นยำในการโจมตีเป้าหมายสูงถึง 90%
S-400 ระบบขีปนาวุธสอยอากาศยานทรงประสิทธิภาพ
S-400 Triumf ระบบขีปนาวุธต่อต้านอากาศยานที่ทันสมัยที่สุดของกองทัพรัสเซีย สามารถเทียบชั้นได้กับระบบป้องกันขีปนาวุธแบบ Patriot ของสหรัฐฯ ส่วนความสามารถของมันคือการสกัดกั้นขีปนาวุธและจรวดร่อนนำวิถีบนอากาศ รวมถึงยิงทำลายเครื่องบินรบและอากาศยานไร้นักบินได้ด้วยรัศมีทำการไกลถึง 400 กิโลเมตร
ด้วยพิษสงรอบตัวของ S-400 รัสเซียจึงวางใจส่งไปปกป้องน่านฟ้าซีเรีย ซึ่งเป็นประเทศพันธมิตรหลักของรัสเซีย รวมถึงดินแดนไครเมียที่รัสเซียผนวกเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของประเทศจนเกิดข้อพิพาทกับยูเครนและนานาชาติ
ระบบ S-400 กลายเป็นอาวุธส่งออกที่สำคัญของรัสเซีย โดยปัจจุบันมีลูกค้าที่สั่งซื้อแล้ว 2 รายคือจีนและอินเดีย นอกจากนี้ยังมีอีกหลายประเทศ ซึ่งรวมถึงซาอุดีอาระเบียและตุรกีที่ให้ความสนใจและกำลังเจรจาเพื่อขอซื้อไปอัปเกรดระบบป้องกันภัยทางอากาศ
นอกจากยุทโธปกรณ์ที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว ยังมีระบบอาวุธนำวิถีจากพื้นสู่อากาศแบบ Buk-M2, รถถัง T-72, ยานหุ้มเกราะ Tigr-M, ยานรบทหารราบ Kurganets-25, เครื่องบินทิ้งระเบิด Tu-160 และ Tu-22M3, โดรน Katran และ Korsar, เฮลิคอปเตอร์ทหาร Mi-26, Mi-8, Mi-28N, Ka-52 Alligator และ Mi-24P ที่โชว์ตัวในงานสวนสนามครั้งนี้ด้วย
อ้างอิง: