×

ฟุตบอลรัสเซีย 101: จากชมรมกีฬาของชาวอังกฤษในรัสเซีย สู่การเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลกครั้งแรก (ตอนที่ 1)

04.06.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

13 MINS READ
  • สังคมฟุตบอลของรัสเซียในเวลานี้เต็มไปด้วยภาพลักษณ์ของความรุนแรง โดยเฉพาะเหตุการณ์ปะทะกับแฟนบอลอังกฤษในยูโร 2016 ที่ฝรั่งเศส
  • แต่แท้จริงแล้วจุดเริ่มต้นของฟุตบอลในรัสเซียมาจากชาวอังกฤษที่เข้ามาทำงานในรัสเซียช่วงปลายศตวรรษที่ 19 ในยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม พร้อมกับการสร้างระบบชมรมกีฬาที่เติบโตขึ้นมาเป็นสโมสรฟุตบอลของรัสเซียในปัจจุบัน
  • ไม่ใช่แค่การก่อตั้งสโมสรและระบบการแข่งขัน แต่แฟนบอลรัสเซียบางกลุ่มยังเรียนรู้วัฒนธรรมกองเชียร์กลุ่มหัวรุนแรง หรือฮูลิแกน จากกองเชียร์อังกฤษเมื่อปี 1970 อีกด้วย

รัสเซียกับฟุตบอล สิ่งแรกที่คุณคิดถึงในเวลานี้แน่นอนคือฟุตบอลโลกที่กำลังจะจัดขึ้นครั้งแรกในประเทศรัสเซียระหว่างวันที่ 14 มิถุนายน ถึง 15 กรกฎาคมนี้ สื่อต่างๆ ทั้งไทยและต่างประเทศเริ่มโหมรายงานสิ่งที่น่าสนใจในแง่มุมต่างๆ ของการเป็นเจ้าภาพครั้งนี้ แต่สิ่งหนึ่งที่สื่อต่างประเทศให้ความสำคัญมากที่สุดคือวัฒนธรรมฟุตบอลและความอันตรายในการเดินทางไปเข้าร่วมการแข่งขันฟุตบอลโลก 2018 ที่ประเทศรัสเซีย

   

 

สาเหตุที่หลายฝ่ายมีความกังวลต้องย้อนกลับไปในปี 2016 ในการแข่งขันฟุตบอลยูโรที่ประเทศฝรั่งเศส ในปีนั้นเหตุการณ์นอกสนามที่ทุกคนกล่างถึงคือความรุนแรงของกลุ่มกองเชียร์ทีมชาติรัสเซียที่เรียกตัวเองว่า ‘ฮูลิแกน’

 

กลุ่มแฟนบอลนี้ได้สร้างความรุนแรงนอกสนาม โดยเฉพาะการทะเลาะวิวาทกับกลุ่มกองเชียร์ทีมชาติอังกฤษจนส่งผลให้มีแฟนบอลชาวอังกฤษถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลเกือบ 30 คน สิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากนั้นคือหมอกควันแห่งคำวิพากษ์วิจารณ์ที่ทำให้ภาพลักษณ์ของฟุตบอลในประเทศรัสเซียเต็มไปด้วยความรุนแรงในสายตาของสื่อต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศอังกฤษ ซึ่งแฟนบอลจากประเทศพวกเขาได้รับผลกระทบโดยตรง

 

จากเหตุการณ์ดังกล่าว VICE สำนักข่าวจากสหรัฐอเมริกา ได้ทำสารคดีสำรวจเบื้องหลังการเตรียมพร้อมของฮูลิแกน กลุ่มแฟนบอลหัวรุนแรงในประเทศรัสเซีย ซึ่งสิ่งที่ค้นพบคือกลุ่มแฟนบอลเหล่านี้มีการฝึกฝนและเตรียมพร้อมสำหรับมหกรรมการแข่งขันฟุตบอลอย่างจริงจัง โดยกลุ่มแฟนบอลนี้มาจากผู้คนหลากหลายชนชั้น

 

 

มิสชา หนึ่งในสมาชิกของกลุ่มแฟนบอลฮูลิแกน ได้ตอบคำถามที่คาใจทุกคนว่าพวกเขาต่อสู้เพื่ออะไร

 

“การต่อสู้มันสนุกไง ในระหว่างการต่อสู้ อะดรีนาลีนและฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนจะหลั่งออกมา

 

“ครอบครัวคือจุดประสงค์หลักของการใช้ชีวิต และเราจะปกป้องครอบครัวของเราตลอดเวลา

 

“ไม่ใช่ทุกคนที่จำได้ว่าจูบแรกของคุณเป็นอย่างไร แต่ทุกคนจำได้ว่าการชกต่อยครั้งแรกเป็นอย่างไร”

 

พวกเขาเปิดเผยแผนก่อนการปะทะกับแฟนบอลอังกฤษ ซึ่งนำไปสู่การส่งแฟนบอลอังกฤษเกือบ 30 คนเข้าโรงพยาบาลว่า

 

“บนถนนมีพวกเราอยู่เพียง 150 คนในช่วงการแข่งขัน แต่เราเห็นแล้วว่าแฟนบอลอังกฤษมีมากขนาดไหนในเมืองนั้น เราจึงคิดว่าต้องไปสู้กันบนถนนแคบๆ เพราะเราจะเสียเปรียบถ้าปะทะกับพวกเขาในที่โล่ง นอกจากนี้เรายังควบคุมถนนรอบข้างเพื่อให้มั่นใจว่าพวกเขาจะไม่มาทำร้ายเราจากด้านหลัง”

 

ความรุนแรงที่ฝรั่งเศสในวันนั้นเกิดขึ้นทั้งก่อนและหลังที่ทั้งสองทีมจะลงสนามแข่งขันกัน โดยผลสกอร์ออกมาที่เสมอกัน 1-1 ในเกมแรกของกลุ่ม B เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2016 ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเศร้าใจเมื่อเราย้อนไปสำรวจจุดเริ่มต้นของฟุตบอลในประเทศรัสเซีย… ใช่แล้ว คนอังกฤษนั่นเองที่ริเริ่มให้คนในประเทศรัสเซียได้เริ่มต้นรู้จักกับ ‘ฟุตบอล’

 

 

จากอังกฤษสู่รัสเซียผ่านการปฏิวัติอุตสาหกรรม

การปฏิวัติอุตสาหกรรมในประเทศอังกฤษด้วยเครื่องจักรไอน้ำนำพามาซึ่งการผลิตสิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ ด้วยเครื่องจักรที่สามารถเพิ่มศักยภาพการผลิตเป็นจำนวนมากตามความต้องการของผู้คน เช่นเดียวกับศักยภาพในการเดินทางด้วยรถจักรหัวไอน้ำและเรือจักรไอน้ำที่นำพาผู้คนจากอังกฤษออกเดินทางได้สะดวกรวดเร็วขึ้น แต่ในขณะเดียวกัน วัฒนธรรมองค์กรของโรงงานในยุคอุตสาหกรรมก็เป็นบ่อกำเนิดของการก่อตั้งสโมสรฟุตบอลในประเทศอังกฤษด้วยการส่งเสริมให้เล่นกีฬาฟุตบอลในรูปแบบของสวัสดิการพนักงาน โดยมีจุดประสงค์หลักคือให้พนักงานมีสุขภาพที่แข็งแรงและสามารถเรียนรู้การทำงานเป็นทีมเพื่อเป้าหมายเดียวกัน  

 

การเริ่มส่งเสริมฟุตบอลจากโรงงานต่างๆ เป็นบ่อกำเนิดของสโมสรชื่อดังในประเทศอังกฤษ โดยการที่สโมสรฟุตบอลเริ่มมีระบบมากขึ้น วัฒนธรรมกองเชียร์จึงได้ตามมา หนึ่งในตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ก่อตั้งขึ้นในปี 1878 ในนามสโมสร Newton Heath LYR Football Club โดยบริษัท Lancashire and Yorkshire Railway บริษัทรถไฟในเมืองแมนเชสเตอร์ ประเทศอังกฤษ

 

ฟุตบอลเริ่มต้นที่ประเทศอังกฤษหรือไม่อาจจะเป็นที่ถกเถียงกันถึงทุกวันนี้ แต่ต้องยอมรับว่าอังกฤษมีส่วนสำคัญในการเผยแพร่วัฒนธรรมฟุตบอลไปทั่วยุโรป ยกตัวอย่างเช่น สโมสรอย่างแอธเลติก บิลเบา ในลาลีกา สเปน ใส่ชุดแข่งขันคล้ายกับสโมสรเซาแธมป์ตันในประเทศอังกฤษ และใช้คำว่า ‘athletic’ ซึ่งเป็นศัพท์ภาษาอังกฤษนำหน้าชื่อสโมสรเหมือนกัน ชื่อแรกที่ก่อตั้งขึ้นโดยชาวอังกฤษเมื่อปี 1898 ปีเดียวกับที่ฟุตบอลเกมแรกอย่างเป็นทางการได้เริ่มต้นขึ้นในประเทศรัสเซียภายในนครเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก ซึ่งเป็นเกมที่มีทั้งนักฟุตบอลจากประเทศรัสเซียและอังกฤษลงสนามร่วมกัน

 

ย้อนไป 1 ปีก่อนเกมนั้นจะเริ่มต้นขึ้น เซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก เมืองหลวงของประเทศรัสเซียในเวลานั้นได้ต้อนรับชาวต่างชาติ โดยเฉพาะผู้คนจากประเทศอังกฤษ ซึ่งนำพา ‘ฟุตบอล’ มาพร้อมกับพวกเขาด้วย โดยภายในอาณาจักรรัสเซีย กีฬาฟุตบอลเริ่มเติบโตขึ้นจากชาวต่างชาติที่จัดตั้งสปอร์ตคลับขึ้นมาเพื่อฝึกซ้อมกีฬาในเวลาว่าง

 

เช่นเดียวกัน เมืองใหญ่อย่างมอสโกในปี 1895 ชาวอังกฤษที่ทำงานอยู่ภายใน Hopper Plant ฝึกซ้อมฟุตบอลในที่ทำงาน หลังจากเวลาผ่านไป 1 ปี โรเบิร์ต ฟุลดา ผู้ที่ขึ้นชื่อว่าเป็นผู้บุกเบิกกีฬาในประเทศรัสเซีย ได้ร่วมกับผู้ที่มีความหลงใหลในกีฬา ก่อตั้งกลุ่ม Sokolniki Circle โดยมีกีฬา 2 ชนิดคือเทนนิสและฟุตบอล

 

จุดเริ่มต้นของฟุตบอลในช่วงเวลานั้นมีความวุ่นวายเป็นอย่างมาก เป็นการแข่งขันที่คน 10 คนวิ่งไล่ลูกฟุตบอลลูกเดียวโดยไม่มีรูปแบบเหมือนปัจจุบัน แต่ทุกอย่างก็เปลี่ยนไป เมื่อโรเบิร์ตตัดสินใจแปลกฎกติกาการแข่งขันเป็นภาษารัสเซีย

 

การเดินทางของฟุตบอลเริ่มกระจายไปทั่วประเทศรัสเซีย จนไปถึงจุดสูงสุดในด้านการพัฒนาและความนิยมในปี 1912

 

หนังสือพิมพ์ Sport ได้ลงบทความสัมภาษณ์พิเศษอดีตนักเตะ เขาได้เล่าถึงบรรยากาศของเกมฟุตบอลในปี 1904 ในวันที่เพื่อนของเขาเดินทางกลับมาจากยุโรปและเล่าให้เขาฟังเกี่ยวกับฟุตบอล ซึ่งวันต่อมาเด็กๆ ในพื้นที่ก็เริ่มเล่นฟุตบอลโดยสวมเสื้อสีแดงแข่งขันกับทีมเสื้อสีขาวที่สนามเด็กเล่นในโซโกลนิกิ

 

หลังจากประสบการณ์ครั้งนั้น พวกเขาจัดการแข่งขันนัดพิเศษขึ้นระหว่างนักเตะอังกฤษและรัสเซีย ซึ่งสุดท้ายเป็นอังกฤษชนะไป 8-0

 

ในปี 1905 หรือ 9 ปีหลังจากการก่อตั้ง Sokolniki Circle โรเบิร์ตก็ได้ก่อตั้ง Sokolniki Sport Club ซึ่งในช่วงเวลานั้นมีการก่อตั้งชมรมกีฬาเกิดขึ้นจากกลุ่มคนอังกฤษ ทั้งชมรม British Sport Circle หรือ The Union ขณะที่รัสเซียเริ่มต้นชมรมของตัวเองเช่นกัน และนี่ก็คือจุดเริ่มต้นการพัฒนาฟุตบอลอย่างเต็มรูปแบบในมอสโก

 

แต่แล้วปี 1909 ประวัติศาสตร์ของฟุตบอลในประเทศรัสเซียก็เริ่มต้นขึ้นอย่างเป็นทางการในออเรโคเว ซูเยโว ภายในโรงงาน Morozov ซึ่งตั้งอยู่ห่างจากมอสโก 89 กิโลเมตร

 

 

พี่น้องตระกูลชาร์น็อก กับจุดเริ่มต้นของฟุตบอลอาชีพในมอสโก

ในบริเวณออเรโคเว ซูเยโว พี่น้อง เคลเมนต์ และแฮร์รี ชาร์น็อก เกิดในแลงคาสเตอร์ ประเทศอังกฤษ และเติบโตในแบล็กเบิร์น ทั้งสองคนเป็นแฟนคลับของทีมท้องถิ่น แบล็กเบิร์น โรเวอร์ส ทีมที่คว้าแชมป์อังกฤษ 5 สมัยในปี 1884-1891  

 

เคลเมนต์ ชาร์น็อก ต้องย้ายมาออเรโคเว ซูเยโว ประเทศรัสเซีย เพื่อช่วยเหลือพ่อของเขาในธุรกิจสิ่งทอ เคลเมนต์เป็นแฟนบอลตัวยงและเป็นผู้ร่วมก่อตั้งสโมสรแบล็กเบิร์น โรเวอร์ส และในปี 1887 เขาได้พยายามจะก่อตั้งอีกสโมสร แต่แม้ว่าจะพยายามอยู่นาน สุดท้ายเขาก็ล้มเหลว และตัดสินใจเดินทางกลับประเทศอังกฤษในปี 1893

 

แต่ไม่นานหลังจากนั้น แฮร์รีก็ได้เดินทางมาประเทศรัสเซียและเริ่มฟื้นฟูไอเดียใหม่หลังจากเห็นการเติบโตของฟุตบอลในพื้นที่ ทั้งคนงาน หัวหน้าคนงาน วิศวกร และทีมผู้บริหารต่างเล่นฟุตบอลร่วมกันแบบเท่าเทียมกันหมด ซึ่งสร้างความสามัคคีและสามารถใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพ แต่พวกเขาก็พบเจอกับกระแสต่อต้านจากคนในพื้นที่ โดยเฉพาะกลุ่มอนุรักษนิยมส่วนหนึ่งของโบสถ์ออโธดอกซ์ รวมถึงผู้บริหารโรงงานบางส่วนก็มีความเชื่อแบบเดียวกัน

 

กลุ่มอนุรักษนิยมต่อต้านอิทธิพลจากต่างประเทศ โดยเฉพาะการที่ชาวต่างชาติบังคับให้เยาวชนเริ่มสวมกางเกงขาสั้น แฮร์รีได้ให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์ British Ally เมื่อปี 1946 ไว้ว่า

 

“เสื้อและรองเท้าฟุตบอลถูกนำเข้าจากประเทศอังกฤษ แต่กางเกงขาสั้นต้องทำโดยนักเตะเอง เราจึงเห็นนักเตะใส่กางเกงขาสั้นที่ยาวไปถึงข้อเท้าของพวกเขา”

 

แม้ว่าจะมีความพยายามชะลอการเติบโตของฟุตบอลในประเทศรัสเซียจากคนบางกลุ่ม แต่สุดท้ายก็ไม่สามารถหยุดยั้งอะไรได้ โดยในเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กและมอสโกนั้นมีจำนวนของสโมสรเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเมื่อโรเบิร์ต ฟุลดา แปลกติกาการแข่งขันมาเป็นภาษารัสเซีย ทำให้คนในพื้นที่ออเรโคเว ซูเยโว ได้รับโอกาสสร้างสโมสรฟุตบอลขึ้นมาอีกครั้ง

 

การเมืองและการแพทย์ ด่านสุดท้ายของตั้งทีมในออเรโคเว ซูเยโว

ในระหว่างที่แฮร์รีเดินหน้าสานฝันการสร้างสโมสรฟุตบอลให้มีภาพลักษณ์ที่แข็งแกร่งสอดคล้องกับเมืองอุตสาหกรรม การปฏิวัติรัสเซียในปี 1905 กับกระแสความเปลี่ยนแปลงก็เริ่มต้นขึ้นภายในเมืองอุตสาหกรรมต่างๆ ทั่วประเทศ และผู้มีอำนาจในเวลานั้นมีความกังวลว่าองค์กรกีฬาต่างๆ อาจเป็นการซ่อนการปฏิวัติอะไรบางอย่างไว้ภายในชมรม นอกจากนี้แฮร์รียังพบกับแรงเสียดทานจากแพทย์บางกลุ่มที่แสดงความกังวลว่าการเล่นกีฬาฟุตบอลมีปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรคปอด จนสุดท้ายแฮร์รีต้องเดินทางไปเข้าพบวลาดิเมียร์ ผู้ว่าราชการจังหวัด หรือ Regional Governor เพื่อโน้มน้าวให้เขาอนุญาตให้จัดตั้งสโมสรฟุตบอลขึ้นมา

 

เคล็ดลับของความสำเร็จในการเจรจาของวันนั้นคือการที่แฮร์รีนำเอาเอกสารจากนิตยสารอนุรักษนิยมของเยอรมนี Die Woche ที่แสดงให้เห็นว่าเจ้าชายของเยอรมนีกำลังเล่นฟุตบอล หลังจากนั้นภรรยาของผู้ว่าราชการจังหวัดก็บอกกับสามีของเธอว่า

 

“นี่น่าจะเป็นสิ่งที่ดีสำหรับสุขภาพนะ และเป็นวิธีการฝึกซ้อมที่ดี คุณน่าจะลองเล่นบ้าง!”

 

หลังจากนั้นทางผู้ว่าราชการจังหวัดก็ยอมรับและแสดงความเคารพต่อนวัตกรรมของชาวอังกฤษ และในวันที่ 16 พฤศจิกายน 1909 ชมรมกีฬาซึ่งประกอบไปด้วย ฟุตบอล เทนนิส คริกเก็ต และสเกตในออเรโคเว ซูเยโว ก็ได้ถือกำเนิดขึ้นภายใต้ชื่อ ออเรโคเว สปอร์ตส คลับ (Orekhovo Sports Club – OKS) โดยระบุสีประจำสโมสรคือสีน้ำเงิน-ฟ้า เหมือนกับสโมสรแบล็กเบิร์น โรเวอร์ส ทีมในดวงใจของแฮร์รีนั่นเอง

 

 

 

ภายในปีนั้น หลายทีมได้เข้าร่วมการแข่งขันฟุตบอลถ้วย Fulda Cup สำหรับทีมในมอสโก แต่ลีกอย่างเป็นทางการนั้นเริ่มต้นขึ้นในปี 1910 โดยมีทั้งหมด 3 ลีก มีทีมออเรโคเวเพียงทีมเดียวจากนอกมอสโกที่แข่งขันอยู่ในลีกสูงสุด โดยทุกทีมจะลงแข่งขันทั้งหมด 8 เกม ซึ่งทีมออเรโคเวชนะไปทั้งหมด 7 เกม และคว้าแชมป์ Muscovite สมัยแรกไปครอง

 

มิเคล รอมน์ หนึ่งในอดีตนักเตะรัสเซีย ได้เล่าถึงบรรยากาศการแข่งขันในทัวร์นาเมนต์นั้นไว้ว่า

 

“สนามเต็มไปด้วยแฟนบอล แม้กระทั่งต้นไม้ยังถูกปรับให้เป็นสแตนด์เฉพาะกิจสำหรับแฟนบอล กองเชียร์ของทีมออเรโคเวมีเอกลักษณ์ตรงที่เขาสวมใส่แจ็กเก็ต เสื้อทำงาน และรองเท้าบู๊ตที่เปื้อนโคลน ขณะที่กองเชียร์ทีมอื่นๆ จะแต่งตัวสะอาดพร้อมกับเสื้อโค้ตและหมวกโบวเลอร์ แฟนบอลมีส่วนร่วมกับทีมมาก พวกเขาเชียร์นักเตะตั้งแต่การเดินเข้าสนามเพื่อวอร์มอัพจนเดินออกจากสนาม พวกเขาช่วยสร้างให้ออเรโคเวเป็นทีมที่ยอดเยี่ยมที่สุดในมอสโก”

 

ด้วยฟอร์มการเล่นที่โดดเด่นของทีมออเรโคเว นักเตะของเขา 6 คนถูกเลือกให้เป็นตัวแทนมอสโกไปแข่งขันกับทีมจากเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก 2 เกมในเดือนกันยายน ปี 1910

 

ออเรโคเวยังคงรักษาตำแหน่งแชมป์ไปเป็นเวลา 3 ปีระหว่าง 1910-1914 ก่อนที่สงครามโลกครั้งที่ 1 จะเริ่มต้นขึ้น โดยทีมมีโครงสร้างที่แข็งแกร่งจากนักเตะอังกฤษ รวมถึงแฮร์รีก็เป็นหนึ่งในนั้น โดยข้อได้เปรียบของทีมคือระบบการบริหารทีม อุปกรณ์ ผู้จัดการทีมที่ดีที่สุด และแน่นอนที่สุด แฟนบอลที่เหนียวแน่น

 

ฟุตบอลทีมชาติรัสเซีย ปี 1912

 

แต่สุดท้ายเสียงสงครามที่เกิดขึ้นเพื่อยุติทุกสงครามไม่ได้เป็นไปอย่างที่หลายฝ่ายคาดการณ์ และสิ่งที่สงครามครั้งนั้นได้ยุติกลับเป็นการเติบโตของวงการฟุตบอลในประเทศรัสเซีย นักเตะจากออเรโคเวต้องสมัครเข้าร่วมรบ และสุดท้ายทีมของพวกเขาก็เสียแชมป์ให้กับทีมซามอสกวาเรตสกี (Zamoskvoretskyi) ในปี 1914

 

ลีกฟุตบอลดำเนินต่อไปผ่านสมรภูมิสงครามและปัญหาเศรษฐกิจในประเทศรัสเซีย แต่สิ่งที่หยุดยั้งการเจริญเติบโตที่แท้จริงคือการเมือง โดยในปี 1917 หลังจากการปฏิวัติรัสเซีย สโมสรปรับเปลี่ยนเป็นห้องน้ำชา และคนอังกฤษส่วนใหญ่เดินทางกลับประเทศ เหลือเพียงแค่แฮร์รีไว้เพียงคนเดียวในออเรโคเว

 

เขาอยู่ต่อในประเทศรัสเซีย ซึ่งต่อมากลายเป็นสหภาพโซเวียตระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 เขายังคงรับผิดชอบขนส่งสิ่งทอและรองเท้าในมอสโกจนเขาเสียชีวิตในปี 1947

 

ตำแหน่งสุดท้ายของเขาในปี 1946 ระหว่างทีมดีนาโม มอสโก เดินทางมาทัวร์ประเทศอังกฤษ เขาได้ตีพิมพ์หนังสือ The Dinamo and the Other ซึ่งเขาได้รับตำแหน่งรองประธานลีกการแข่งขันของมอสโก

 

ทีมออเรโคเว สปอร์ตส คลับ (OKS) ในปี 1923 ถูกบริหารร่วมโดยหน่วยงานตำรวจลับของโซเวียตเข้ามาบริหารสโมสร และเปลี่ยนชื่อเป็นดีนาโม มอสโก ในปัจจุบัน ซึ่งคงยังใช้สีเสื้อเดิมคือน้ำเงิน-ขาว โดยประสบความสำเร็จในลีกโซเวียตด้วยการคว้าแชมป์ไป 11 สมัย และผ่านเข้าสู่รอบชิงชนะเลิศยูฟ่าคัพในปี 1972

 

ทีมชาติโซเวียตในปี 1967

 

ฟุตบอลในสหภาพโซเวียต

สโมสรฟุตบอลรัสเซียซึ่งเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางในปัจจุบันมีจุดกำเนิดมาจากสหภาพโซเวียต หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 1 ผ่านพ้นไป สโมสรที่มีจุดเริ่มต้นจากชมรมสปอร์ตคลับต่างๆ เริ่มจางหายไป รวมถึงนักเตะชื่อดังหลายคนเสียชีวิตใน The Great War แต่ขณะเดียวกันในช่วงปี 1920 ลีกการแข่งขันเริ่มมีหลายระดับมากขึ้นระหว่างสโมสรที่ตั้งขึ้นโดยโรงงานหรือหน่วยงานรัฐ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของสโมสรปัจจุบันทั้งสปาร์ตัก, เซนิต, ดีนาโม และซีเอสเคเอ

 

และในช่วงปี 1950 และ 1960 เป็นยุคทองของฟุตบอลในสหภาพโซเวียต ในช่วงเวลาที่ทีมชาติโซเวียตเข้าร่วมแข่งขันฟุตบอลโลกเป็นครั้งแรกในปี 1958 โดยมีนักฟุตบอลระดับตำนานประดับวงการหลายคน โดยเฉพาะ เลฟ ยาชิน ผู้รักษาประตูเจ้าของฉายาแมงมุมดำ ผู้ที่อยู่บนโปสเตอร์โปรโมตการแข่งขันฟุตบอลโลก 2018 ที่รัสเซียครั้งนี้อีกด้วย

 

เลฟ ยาชิน กัปตันทีมดีนาโม มอสโก (ซ้าย) ยืนคู่กับ เซอร์ บ็อบบี้ ชาร์ลตัน ในการแข่งขันแมตช์อุ่นเครื่องพิเศษของฟีฟ่าระหว่างสโมสรดีนาโม มอสโก และทีมรวมดาวดังจากทั่วโลกของฟีฟ่า เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 1971 ที่กรุงมอสโก ประเทศรัสเซีย

 

แต่น่าเสียดายที่ระบบสโมสรและกติกาการแข่งขันฟุตบอลไม่ใช่สิ่งเดียวที่พวกเขาเรียนรู้จากอังกฤษ แต่วัฒนธรรมการเชียร์บอลแบบฮูลิแกนที่นิยมใช้ความรุนแรงเพื่อบ่งบอกถึงสถานะความแข็งแกร่งของกองเชียร์แต่ละทีมก็เดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลมาถึงรัสเซียอีกด้วย

 

โดยสารคดีของ BBC เกี่ยวกับกลุ่มกองเชียร์หัวรุนแรงของรัสเซีย ผู้สื่อข่าวได้เข้าไปสัมภาษณ์อดีตกองเชียร์ฮูลิแกนกลุ่มหนึ่ง ซึ่งยอมรับว่าพวกเขาต้องการเป็นเหมือนกองเชียร์อังกฤษในยุค 70s-80s พวกเขาเติบโตมากับการดูแฟนบอลอังกฤษผ่านโทรทัศน์

 

“เราต้องการเป็นเหมือนฮูลิแกนของอังกฤษ เราเลียนแบบวิธีการแต่งตัวและท่าทางของพวกเขา สำหรับพวกเรา แฟนบอลอังกฤษคือแรงบันดาลใจในรูปแบบของการเป็นกองเชียร์ ดังนั้นเวลาแฟนบอลอังกฤษมาที่มอสโกจึงเป็นเกียรติมากสำหรับเราที่จะได้ปะทะกับพวกเขา

 

“เรานับถือพวกเขามาก”

 

 

ตัวอย่างของแฟนบอลอังกฤษในช่วงเวลานั้นคือความรุนแรงที่แฟนบอลของทั้งสองทีมจะนัดมาสู้กันนอกสนามเหมือนกับในภาพยนตร์ Green Street Hooligans ซึ่งเป็นการนำเสนอความรุนแรงที่อยู่ในกลุ่มแฟนบอลสโมสรอังกฤษ แต่ข้อแตกต่างในวันนี้คือแฟนบอลฮูลิแกนรัสเซียมีการฝึกซ้อมศิลปะการต่อสู้ รวมถึงเป็นกลุ่มที่ดูแลรักษาสุขภาพเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการต่อสู้บนถนนหลังจบการแข่งขัน

 

 

แต่อย่างไรก็ตาม ฟุตบอลโลก 2018 ที่ประเทศรัสเซีย แม้ว่าหลายฝ่ายจะมีความกังวลว่าแฟนบอลกลุ่มนี้จะออกมาก่อความวุ่นวาย แต่ด้วยคำมั่นสัญญาจากทางประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ของรัสเซีย ที่เชื่อว่าฟุตบอลโลกครั้งนี้จะเป็นสถานที่ที่ปลอดภัยสำหรับแฟนกีฬาท่ีเดินทางมาร่วมชมการแข่งขัน

 

นอกจากนี้ในมหกรรมกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาว 2014 ที่โซชิ ประเทศรัสเซีย สื่อต่างประเทศหลายสำนักที่เดินทางไปเข้าร่วมการแข่งขันได้รายงานตรงกันว่าการเป็นเจ้าภาพครั้งนั้นถือว่าประสบความสำเร็จด้วยความปลอดภัยจากเจ้าภาพรัสเซีย

 

เช่นเดียวกับกลุ่มแฟนบอลรัสเซียทั่วไปที่ได้ออกมาให้สัมภาษณ์ขอความเป็นธรรมว่าอย่าตัดสินคนรัสเซียจากความรุนแรงของคนบางกลุ่ม และอยากให้ผู้คนมาสัมผัสประเทศรัสเซียก่อนที่จะตัดสินพวกเขาจากการรายงานข่าวของสื่อจากประเทศตะวันตก ซึ่งบางครั้งก็ไม่ใช่ความจริงทั้งหมดของประเทศรัสเซีย

 

 

ซึ่งไม่ว่าฝ่ายใดจะได้กล่าวสิ่งที่เป็นความจริง พวกเขาก็ได้รับโอกาสสำคัญในการเป็นเจ้าภาพมหกรรมกีฬาที่ใหญ่ที่สุดในโลกรายการหนึ่ง และในระหว่างวันที่ 14 มิถุนายน ถึง 15 กรกฎาคม 2018 นอกจากการพิสูจน์ฝีมือในสนามแล้ว พวกเขาจะได้โอกาสพิสูจน์ให้โลกเห็นว่าความจริงของสังคมฟุตบอลในรัสเซียเป็นอย่างไร

 

ฟุตบอลรัสเซีย 101 ตอนที่ 2 เราจะพาไปรู้จักกับเบื้องหลังของสโมสรชื่อดังต่างๆ ในรัสเซียซึ่งต่อยอดความสำเร็จของชมรมกีฬาในอดีตสู่ความสำเร็จและชื่อเสียงในปัจจุบัน รวมถึงดาร์บี้แมตช์ที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศระหว่างสองทีมยักษ์ในมอสโก ซึ่งทีมหนึ่งเป็นตัวแทนของประชาชน และอีกทีมเป็นตัวแทนของหน่วยราชการลับของสหภาพโซเวียต

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X