สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า ราคาพลังงานที่ปรับตัวพุ่งทะยานขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา ส่งผลให้หลายประเทศผู้ส่งออกน้ำมันกลายเป็นจุดหมายปลายทางยอดนิยมของนักลงทุนทั่วโลกในเวลานี้ โดยเฉพาะ รัสเซีย ซึ่งมีรายงานว่า ค่าเงินรูเบิล แข็งค่ามากกว่าค่าเงินของประเทศอื่นๆ ในกลุ่มตลาดเศรษฐกิจเกิดใหม่ (Emerging Market) นับเป็นการเปลี่ยนแปลงทิศทางการลงทุนอย่างกะทันหันของนักลงทุนในกลุ่มตลาดเศรษฐกิจเกิดใหม่ที่เกิดขึ้นในช่วง 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมา
นอกจากนี้ นักลงทุนยังหันหน้าเข้าหาประเทศกำลังพัฒนาที่ส่งออกพลังงานเป็นหลัก อย่างรัสเซีย เพราะความกังวลเกี่ยวกับความเสี่ยงที่เกิดจากการผิดนัดชำระหนี้ของ Evergrande บริษัทอสังหาริมทรัพย์ยักษ์ใหญ่ในจีน และแนวโน้มที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) จะลดการซื้อคืนพันธบัตรรัฐบาลรายเดือนตามที่ได้มีการวางแผนไว้
Ali Akay ประธานเจ้าหน้าที่ด้านการลงทุนจากกองทุนเฮดจ์ฟันด์ Carrhae Capital ระบุว่า ราคาพลังงานจะยังคงสูงขึ้น ทำให้บริษัทในประเทศส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์อย่างน้ำมันจะได้รับผลประโยชน์มาก เนื่องจากทั่วโลกต่างเร่งจัดหาสินค้าที่เกี่ยวข้องกับพลังงาน เพื่อป้องกันไม่ให้เศรษฐกิจหยุดชะงัก
ขณะเดียวกัน ราคาพลังงานที่ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นยังกระตุ้นให้ความกังวลเรื่องภาวะเงินเฟ้อทวีความรุนแรงขึ้นตามไปด้วย โดย The Economic Times รายงานว่า ธนาคารกลางในหลายประเทศทั่วโลกต่างเริ่มหวาดวิตกต่อภาวะเงินเฟ้อสูงที่มีแนวโน้มจะลากยาวกว่าที่คาดการณ์กันไว้ เห็นได้จากการที่ธนาคารกลางส่วนหนึ่งเริ่มผ่อนคันเร่ง เลิกนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจที่นำมาใช้พยุงเศรษฐกิจในช่วงวิกฤตโรคโควิดระบาด
ทั้งนี้ ขณะที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) เตรียมที่จะลดการใช้นโยบายผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ธนาคารกลางในนอร์เวย์, บราซิล, เม็กซิโก, เกาหลีใต้ และนิวซีแลนด์ ได้ตัดสินใจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อรับมือกับภาวะเงินเฟ้อเรียบร้อยแล้ว
นักวิเคราะห์มองว่า ความเคลื่อนไหวของธนาคารกลางเหล่านี้ สะท้อนให้เห็นสัญญาณความหวาดกลัวต่ออัตราเงินเฟ้อที่น่าจะลากยาวยืดเยื้อออกไป ท่ามกลางความตึงเครียดของห่วงโซ่อุปทาน ราคาสินค้าโภคภัณฑ์อย่างน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ความต้องการบริโภคสินค้าที่ฟื้นขึ้นมาหลังหลายประเทศคลายมาตรการล็อกดาวน์ การเดินหน้าใช้นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง และปัญหาขาดแคลนแรงงาน
รายงานระบุว่า ความท้าทายของธนาคารกลางทั่วโลกในขณะนี้ก็คือการเร่งหาสมดุลในการใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยที่ไม่กระทบต่อตัวเลขเงินเฟ้อ รวมถึงหลีกเลี่ยงภาวะ Stagflation โดยการกำหนดเป้าหมายเงินเฟ้อด้วยนโยบายการเงินที่เข้มงวดขึ้นจะเพิ่มแรงกดดันต่อเศรษฐกิจ แต่การพยายามกระตุ้นอุปสงค์อาจทำให้ราคาพุ่งสูงขึ้น
อย่างไรก็ตาม ยังมีธนาคารกลางบางส่วน เช่น ธนาคารกลางยุโรป (ECB) และธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ที่ยังคงมาตรการกระตุ้นไม่เปลี่ยนแปลง โดยเชื่อมั่นว่าภาวะเงินเฟ้อน่าจะคลี่คลายลงสู่ตัวเลขเป้าหมายที่กำหนดไว้ ขณะที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดการณ์ว่า เงินเฟ้อของประเทศในกลุ่มพัฒนาแล้วน่าจะปรับลดลงมาอยู่ที่ราว 2% ได้ในไม่ช้านี้
อ้างอิง:
- https://www.bloomberg.com/news/articles/2021-10-10/world-s-energy-chaos-turns-russia-into-top-emerging-market-pick
- https://economictimes.indiatimes.com/markets/stocks/news/central-bankers-are-spooked-by-signs-that-inflation-lingering-for-longer/articleshow/86906577.cms
ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH
Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP