×

รัสเซียประกาศกฎอัยการศึกใน 4 แคว้นที่ผนวกรวมจากยูเครน หมายความว่าอะไร และจะส่งผลอะไรบ้าง?

20.10.2022
  • LOADING...
รัสเซีย

วานนี้ (19 ตุลาคม) เกิดความเคลื่อนไหวสำคัญขึ้นในรัสเซีย หลังประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ตัดสินใจประกาศกฎอัยการศึกใน 4 ดินแดนที่ยึดครองมาจากยูเครนและผนวกรวมไปเมื่อไม่นานนี้ ได้แก่ โดเนตสก์ ลูฮันสก์ เคอร์ซอน และซาปอริซเซีย 

 

การผนวกดินแดนที่เกิดขึ้น แม้จะไม่ได้รับการยอมรับจากนานาชาติ แต่รัสเซียถือเอาเองว่า 4 ดินแดนดังกล่าวนั้นอยู่ภายใต้อธิปไตยและการคุ้มครองของตน และการประกาศกฎอัยการศึกนี้แน่นอนว่ามีขึ้นเพื่อคุ้มครองดินแดนและพลเรือนจากการโจมตีของกองทัพยูเครนที่กำลังรุกคืบอย่างหนักหน่วงและรวดเร็ว โดยเฉพาะในภูมิภาคเคอร์ซอน ซึ่งตอนนี้ทหารรัสเซียถูกจู่โจมหนักจนต้องล่าถอย ขณะที่เมืองหลักในชื่อเดียวกันก็กำลังเสี่ยงที่จะถูกบุกยึดคืนในอีกไม่นานนี้ ตามคำยืนยันของผู้นำท้องถิ่นที่รัสเซียแต่งตั้งมา

 

การประกาศกฎอัยการศึกของปูตินครั้งนี้ถือว่ามีความสำคัญและต้องจับตามอง เนื่องจากที่ผ่านมารัฐบาลเครมลินไม่เคยประกาศใช้กฎอัยการศึกเลยแม้แต่ครั้งเดียวนับตั้งแต่ปี 2002 โดยเงื่อนไขสำคัญในการบังคับใช้ก็ต่อเมื่อรัสเซียเผชิญ ‘การรุกราน’ หรือ ‘ภัยคุกคามจากการรุกราน’ 

 

และนี่คือรายละเอียดและสิ่งที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจากการบังคับใช้กฎอัยการศึกของปูติน

 

การระดมพล

 

  • กฎอัยการศึกของรัสเซียกำหนดให้มีการระดมกำลังพลสำรองทั้งแบบ ‘ทั่วไป’ หรือแบบ ‘บางส่วน’ ได้โดยอัตโนมัติ

 

  • อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ปูตินได้ประกาศระดมกำลังพลสำรองบางส่วนในรัสเซียไปแล้ว และการประกาศกฎอัยการศึกรอบนี้เป็นการขยายการระดมพลครอบคลุมใน 4 ดินแดนที่ผนวกรวม ซึ่งยังไม่แน่ชัดว่าจำนวนของกำลังพลสำรองที่จะถูกเรียกระดมพลนั้น จะเพิ่มขึ้นจาก 3 แสนนายที่ระดมพลไปในรัสเซียหรือไม่

 

  • ภายใต้กฎอัยการศึกดังกล่าว ทางการจะมีอำนาจในการกำหนดมาตรการต่างๆ เพื่อ ‘บรรลุเป้าหมายตามที่กองทัพรัสเซียต้องการ’ และจะดำเนินการเพื่อ ‘ป้องกันดินแดน

 

  • วิตาลี คิม (Vitaliy Kim) ผู้ว่าการภูมิภาคมิโคลาอีฟ ทางตอนใต้ใกล้กับเคอร์ซอน เชื่อว่าการประกาศกฎอัยการศึกของปูตินมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้กองทัพรัสเซียสามารถระดมกำลังพลจากประชาชนยูเครนที่ยังอาศัยอยู่ในดินแดนที่ถูกผนวกรวม

 

  • ขณะที่การบังคับหรือจูงใจให้พลเรือนรับใช้กองทัพที่ใช้อำนาจเข้ายึดครองนั้น ถือเป็นการละเมิดอนุสัญญาเจนีวาว่าด้วยการปฏิบัติในสงคราม

 

เคอร์ฟิวและควบคุมการเคลื่อนไหว

 

  • การบังคับใช้กฎอัยการศึกจะอนุญาตให้ทางการสามารถจำกัดความเคลื่อนไหวและกำหนดเคอร์ฟิว เพื่อห้ามประชาชนออกจากบ้าน

 

  • โดย พาเวล ชิคอฟ นักกฎหมายสิทธิมนุษยชนชาวรัสเซีย ชี้ว่า การบังคับใช้กฎอัยการศึกดังกล่าวยังหมายถึงการตั้งจุดตรวจและตรวจสอบยานพาหนะ ขณะที่ทางการยังมีอำนาจกักตัวประชาชนได้นานถึง 30 วัน

 

  • สำหรับในภูมิภาคเคอร์ซอนที่กำลังถูกกองทัพยูเครนรุกคืบอย่างหนัก ตอนนี้พบว่าเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นที่รัสเซียแต่งตั้งมาได้ประกาศห้ามไม่ให้พลเรือนเข้ามาในพื้นที่เป็นเวลาอย่างน้อย 7 วัน 

 

  • สำนักข่าว TASS สื่อกระบอกเสียงของทางการรัสเซีย รายงานข้อมูลจาก วลาดิเมียร์ ซัลโด หัวหน้าฝ่ายบริหารในเคอร์ซอนที่รัสเซียเป็นผู้แต่งตั้ง ที่ระบุว่าการประกาศเคอร์ฟิวในภูมิภาคยังไม่จำเป็นสำหรับตอนนี้ โดยความเห็นของซัลโดมีขึ้นเพียงไม่นาน ก่อนที่เขาจะส่งมอบอำนาจให้แก่กองทัพรัสเซีย 

 

เปิดทางอพยพ

 

  • ชิคอฟชี้ว่า มาตรการต่างๆ ภายใต้กฎอัยการศึก อาจจะอนุญาตให้มีการบังคับเคลื่อนย้ายพลเรือนไปยังภูมิภาคอื่นๆ ตามที่กองทัพรัสเซียกำหนด

 

  • โดยกฎหมายของรัสเซียอนุญาตให้ประชาชนสามารถ ‘ตั้งถิ่นฐานชั่วคราว’ ได้ในพื้นที่ปลอดภัย และสามารถอพยพหรือโยกย้ายสิ่งต่างๆ ที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมได้

 

  • สำหรับในเคอร์ซอน ซัลโดได้ประกาศเมื่อวานนี้ (19 ตุลาคม) ว่าจะอพยพประชาชนราว 5-6 หมื่นคนออกจากพื้นที่ในอีก 6 วันข้างหน้า เพื่อหนีอันตรายจากการบุกโจมตีของกองทัพยูเครน ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในเร็วๆ นี้

 

  • รายงานจาก TASS ยังเผยข้อความของ นิโคไล ปาทรุชเยฟ หัวหน้าคณะมนตรีความมั่นคงแห่งรัสเซีย ที่กล่าวเมื่อวานนี้ว่า ช่วงไม่กี่ปีมานี้มีประชาชนกว่า 5 ล้านคนในภูมิภาคดอนบาสและพื้นที่อื่นๆ ทางตะวันออกเฉียงใต้ของยูเครน ที่พบพื้นที่สำหรับหลบภัย จากการประหัตประหารและคุกคามโดยทหารเคียฟ

 

  • ทางด้านยูเครนกล่าวหารัสเซียว่าพยายามที่จะเนรเทศประชาชนยูเครนออกจากดินแดนที่เข้ายึดครอง โดยนักการทูตสหรัฐฯ รายหนึ่ง เผยเมื่อเดือนกันยายนว่า รัสเซียอาจดำเนินการบังคับเนรเทศชาวยูเครนราว 9 แสน – 1.6 ล้านคน ออกจากพื้นที่อาศัย พร้อมกล่าวหาว่าเป็นการ ‘ก่ออาชญากรรมสงคราม’

 

ภาพ: Sergei Ilyin / SPUTNIK / AFP

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X