ทางการรัสเซียเปิดเผยว่า โดรนของยูเครนได้รุกเข้ามาโจมตีลึกถึงกรุงมอสโก ขณะที่นักการเมืองรายหนึ่งกล่าวว่านี่คือการโจมตีเมืองหลวงที่อันตรายที่สุดนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 ส่งผลให้อาคารบางแห่งได้รับความเสียหาย ขณะที่มีผู้บาดเจ็บ 2 คนด้วยกัน
กระทรวงกลาโหมของรัสเซียออกมากล่าวถึงเหตุโจมตีทางอากาศที่เกิดขึ้นในกรุงมอสโกเมื่อช่วงเช้าวานนี้ (30 พฤษภาคม) ว่ายูเครนได้ส่งโดรนจำนวน 8 ลำเข้ามาในเมืองหลวงของรัสเซียซึ่งพุ่งเป้าโจมตีไปยังพลเรือน แต่ทางการรัสเซียสามารถยิงสกัดหรือเปลี่ยนเส้นทางของโดรนได้ด้วยอุปกรณ์รบกวนสัญญาณอิเล็กทรอนิกส์
มิคาอิโล โปโดลยัค ที่ปรึกษาประธานาธิบดียูเครน ปฏิเสธว่าเคียฟไม่มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรง แต่กล่าวว่า “เรายินดีที่จะเฝ้าดูเหตุการณ์ต่างๆ” และคาดการณ์ว่าจะเกิดการโจมตีในลักษณะนี้มากขึ้น
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 2 คน ขณะที่มีการสั่งอพยพคนในอพาร์ตเมนต์บางแห่งด้วย ชาวบ้านในกรุงมอสโกบอกว่าพวกเขาได้ยินเสียงดังโครมคราม ตามด้วยกลิ่นน้ำมัน บางคนถ่ายภาพโดรนที่ถูกยิงตกและควันพวยพุ่งไว้ได้ โดยทางการรัสเซียเผยว่า โดรนพุ่งเป้าไปยังเขตที่มีชื่อเสียงที่สุดของมอสโก ซึ่งรวมถึงเขตที่พักอาศัยของประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน และบรรดาผู้ที่มีอิทธิพลในประเทศ
แม็กซิม อิวานอฟ สมาชิกสภานิติบัญญัติของรัสเซีย เรียกเหตุการณ์นี้ว่าเป็นการโจมตีมอสโกครั้งร้ายแรงที่สุดนับตั้งแต่การรุกรานของนาซีเยอรมนีในสงครามโลกครั้งที่ 2 พร้อมกล่าวด้วยว่าไม่มีชาวรัสเซียคนใดที่สามารถหลีกเลี่ยง ‘ความจริงใหม่’ นี้ได้
ด้านปูตินกล่าวว่า การโจมตีด้วยโดรนครั้งใหญ่ที่สุดของยูเครนที่เกิดขึ้นในกรุงมอสโกคือความพยายามที่จะยั่วยุและขู่ขวัญรัสเซีย และการป้องกันทางอากาศรอบเมืองหลวงจะถูกยกระดับให้แข็งแกร่งขึ้นกว่าเดิม
นับตั้งแต่ที่รัสเซียส่งทหารหลายหมื่นนายเข้ารุกรานยูเครนเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2022 การสู้รบส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นแค่ในดินแดนของยูเครนเท่านั้น แต่ล่าสุดการโจมตีทางอากาศในเป้าหมายที่อยู่ห่างออกไปจากเขตแนวหน้าการสู้รบได้เริ่มทวีความรุนแรงมากขึ้น ขณะที่การต่อสู้ทางภาคพื้นก็รุนแรงไม่แพ้กัน
หนึ่งในสถานที่สำคัญทางยุทธศาสตร์ที่กองกำลังรัสเซียสามารถยึดครองไว้ได้ตั้งแต่ช่วงแรกๆ ของการสู้รบคือโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ซาปอริซเซีย (Zaporizhzhia) ซึ่งวานนี้ทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA) ได้เรียกร้องให้ทั้งยูเครนและรัสเซียเคารพต่อหลักการ 5 ประการในการปกป้องโรงไฟฟ้าดังกล่าวเพื่อเลี่ยงไม่ให้เกิดหายนะรุนแรงตามมา แต่ถึงเช่นนั้นก็ไม่มีฝ่ายใดที่แสดงความมุ่งมั่นที่จะปฏิบัติตามหลักการดังกล่าว
ตลอดช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ราฟาเอล กรอสซี ผู้อำนวยการ IAEA พยายามที่จะให้ทั้งสองฝ่ายทำข้อตกลงเพื่อลดความเสี่ยงของอุบัติเหตุทางนิวเคลียร์ที่รุนแรงจากกิจกรรมทางทหารใดๆ ใกล้กับพื้นที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ซาปอริซเซีย ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ใหญ่ที่สุดในยุโรป
ในการบรรยายสรุปต่อคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UNSC) กรอสซีกล่าวว่า “สถานการณ์ด้านความปลอดภัยและความมั่นคงทางนิวเคลียร์ของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ซาปอริซเซียยังคงเปราะบางและเป็นอันตรายอย่างยิ่ง กิจกรรมทางทหารยังคงดำเนินต่อไปในภูมิภาคนี้ และอาจเพิ่มขึ้นอย่างมากในอนาคตอันใกล้”
ภาพ: Evgenii Bugubaev / Anadolu Agency via Getty Images
อ้างอิง: