×

‘ปูติน’ เอาคืนโลก ถล่มเส้นทางส่งออกเมล็ดพันธุ์และธัญพืชของยูเครน ซ้ำเติมวิกฤตอาหาร

08.06.2022
  • LOADING...
เส้นทางส่งออกเมล็ดพันธุ์และธัญพืชของยูเครน

ทั่วโลกจับตารัสเซีย ‘แบล็กเมล’ โลกด้วยการตัดเส้นทางส่งออกธัญพืชของยูเครนซึ่งเป็นแหล่งส่งออกใหญ่ของโลก หลังการโจมตีทางอากาศที่สร้างความเสียหายแก่โรงซ่อมรถรางขนส่งสินค้าในเมืองเคียฟ โดยอ้างว่าเป็นคลังอาวุธของยูเครน ขณะที่ซีอีโอการรถไฟยูเครนยืนยันเป็นเพียงโรงซ่อมแซมรถรางเพื่อการขนส่งเมล็ดพืชและแร่เหล็ก 

 

เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา (5 มิถุนายน) การโจมตีทางอากาศของรัสเซียกระทบโรงงานซ่อมรถรางขนส่งสินค้าในเคียฟ เมืองหลวงของยูเครน ซึ่งเป็นหนึ่งสัปดาห์หลังจากที่ประธานาธิบดีรัสเซีย วลาดิเมียร์ ปูติน ให้คำมั่นว่าจะอำนวยความสะดวกในการส่งออกธัญพืชจากยูเครน ท่ามกลางปัญหาการขาดแคลนอาหารทั่วโลก และวิกฤตเงินเฟ้อที่เลวร้ายลง

 

การโจมตีโรงงานรถไฟครั้งล่าสุดนี้ ซึ่งมีรายงานว่าเป็นโรงงานที่ใช้ในการขนส่งสินค้าการเกษตร เช่น ธัญพืช ทำให้เกิดคำถามเกี่ยวกับความเป็นไปได้ที่รัสเซียอาจใช้การจัดหาอาหารเป็นอาวุธ โดยการทำเช่นนี้จะทวีความรุนแรงของปัญหาการขาดแคลนอาหารทั่วโลกเนื่องมาจากการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทาน ซึ่งเป็นผลกระทบต่อเนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด รวมถึงผลกระทบจากวิกฤตการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือวิกฤตโลกร้อน 

 

นักวิเคราะห์บางคนเห็นด้วยกับความคิดเห็นของ แอนโทนี บลิงเคน (Antony Blinken) รัฐมนตรีต่างประเทศของสหรัฐฯ ที่ระบุว่า ปูตินกำลังเอาคืน หรือ ‘แบล็กเมล’ โลก ด้วยการจับเสบียงอาหารไว้เป็นตัวประกัน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์การทำสงครามของรัสเซีย เพื่อต่อรองให้ชาติพันธมิตรยุติการคว่ำบาตร อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์ส่วนที่เหลือเริ่มมองว่า การที่พันธมิตรชาติตะวันออกคว่ำบาตรรัสเซีย และโยนให้ปูตินรับผิดชอบทุกสิ่งอย่างนั้น เป็นการกระทำที่เกินกว่าเหตุเกินไป 

 

Orysia Lutsevych ผู้จัดการของ Ukraine Forum ในโครงการรัสเซียและยูเรเซียจาก Chatham House กล่าวว่า ผู้นำรัสเซียเป็นผู้ก่อปัญหาและโบ้ยโทษให้ผู้อื่น 

 

“ปูตินเคยกล่าวไว้ว่าชาติตะวันตกควรยกเลิกการคว่ำบาตรเพื่อให้การขนส่งพืชพันธุ์เป็นไปอย่างราบรื่นปลอดภัย และเพื่อให้เมล็ดพืชของรัสเซียเข้าถึงตลาดโลกได้มากขึ้น แน่นอนว่านี่คือการเอาคืนโลกที่จะส่งผลกระทบอย่างหนัก เนื่องจากความต้องการธัญพืชที่เพิ่มขึ้น ขณะที่โลกกำลังเข้าสู่วิกฤตขาดแคลนอาหาร” Lutsevych กล่าว 

 

Lutsevych แสดงความคิดเห็นเพิ่มว่า การโจมตีท่าเรือสำคัญๆ ของรัสเซีย เช่น เมืองโอเดสซา และมารีอูปอลของยูเครนในช่วงที่เกิดวิกฤต ทำให้การค้าและการขนส่งบริเวณทะเลดำ อันเป็นแหล่งกระจายสินค้าทางเกษตรหยุดชะงัก นอกจากนี้ รัสเซียยังกล่าวโทษยูเครนที่ทำเหมืองลอยน้ำในทะเลเปิดอีกด้วย 

 

อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์อีกส่วนมีมุมมองที่ต่างออกไป โดย Frederick Kliem จาก S. Rajaratnam School of International Studies (RSIS) กล่าวกับสำนักข่าว CNBC ว่า สื่อตะวันตกบางส่วนและชนชั้นสูงทางการเมืองกำลังใส่ความปูติน รวมถึงกีดกันรัสเซียทุกครั้งที่มีโอกาส ซึ่งแม้ว่าแรงจูงใจที่ทำเช่นนั้นจะเป็นที่เข้าใจได้ แต่ปัญหาการขาดแคลนอาหารก็ควรถูกมองเป็นประเด็นหลัก

 

“การพยายามพรรณนาถึงการกระทำของรัสเซียว่ามีแต่เรื่องน่าสมเพชนั้นเป็นอุบายที่จะเร่งให้เกิดวิกฤตการณ์ขาดแคลนอาหาร แม้แต่ความอดอยากยากไร้ก็ถูกนำมาเป็นเครื่องมือสร้างโฆษณาชวนเชื่อของประเทศตะวันตก” Kliem กล่าวย้ำความคิดเห็นของตน 

 

องค์การสหประชาชาติ ระบุว่าทั้งยูเครนและรัสเซียล้วนเป็นผู้ส่งออกธัญพืชรายใหญ่ของโลก เช่น ข้าวสาลีและข้าวโพด ฉะนั้นสงครามในยูเครนและความสามารถในการส่งออกที่ลดลง ย่อมส่งผลให้วิกฤตอาหารโลกคุกคามผู้คนในประเทศต่างๆ ทั่วแอฟริกาและตะวันออกกลาง

 

โดยภาคการเกษตรไม่เพียงแต่เป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจของยูเครนเท่านั้น แต่ยังจัดหาอาหารให้กับผู้คน 400 ล้านคนทั่วโลก

 

ส่วนกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF ระบุในรายงานเมื่อปลายเดือนที่แล้วว่า การรุกรานยูเครนของรัสเซียทำให้การระบาดของโควิดทวีคูณขึ้น ซึ่งเป็นวิกฤตต่อวิกฤต มันทั้งคร่าชีวิตผู้คน ฉุดการเติบโตทางเศรษฐกิจ และผลักดันเงินเฟ้อ

 

Kliem กล่าวเสริมว่า จริงอยู่ที่วิกฤตการณ์ในยูเครนจะทำให้ปัญหาอุปทานอาหารและสินค้าอย่างปุ๋ยขาดแคลนรุนแรงขึ้น แต่ปัญหาเหล่านี้มีมาก่อนก่อนที่สงครามจะเริ่มต้นขึ้นด้วยซ้ำ เนื่องจากความต้องการสินค้ารวมถึงอาหารเพิ่มสูงขึ้น การคลายล็อกดาวน์ท่ามกลางห่วงโซ่อุปทานที่ยังคงหยุดชะงักทั่วโลก ซึ่งส่งผลให้ราคาสินค้าสูงขึ้น

 

“มันค่อนข้างไม่สมเหตุสมผลที่จะสรุปว่าปูตินเป็นต้นเหตุของทุกอย่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อประเทศที่ร่ำรวยกว่ามีส่วนทำให้เกิดปัญหาด้านอาหารด้วยเหมือนกัน ที่แย่กว่านั้นคือ ขณะนี้เราเห็นนักลงทุนมืออาชีพเข้ามาเก็งกำไรราคาสินค้าโภคภัณฑ์ ไม่ว่าจะเป็นอาหารพื้นฐานและน้ำมัน นี่ต่างหากคือความชั่วร้ายที่แท้จริง” Kliem กล่าว

 

ด้าน ราหุล มิชรา (Rahul Mishra) ผู้ประสานงานโครงการยุโรปศึกษาแห่งมหาวิทยาลัยมาลายามองว่า ปูตินกำลังทำสงครามอาศัยคู่มือสุดคลาสสิก โดยวิธีการที่ทำให้อาหารและสินค้าโภคภัณฑ์เป็นอาวุธไม่ใช่ปรากฏการณ์ใหม่ในภาวะสงครามแต่อย่างใด 

 

“เราต้องไม่มองข้ามจุดที่สหรัฐฯ และพันธมิตรชาติตะวันตกไม่ได้ตัดสินใจอย่างดีที่สุดในการกำหนดมาตรการคว่ำบาตรรัสเซีย โดยไม่ประเมินผลกระทบระยะยาวก่อน และไม่ได้จัดหาวัสดุและสำรองทางการเกษตรทางเลือกก่อน” มิชรากล่าว 

 

ทางด้านประธานาธิบดีรัสเซีย วลาดิเมียร์ ปูติน ปฏิเสธว่าปัญหาการขาดแคลนอาหารทั่วโลกเกิดขึ้นจากความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครน แต่เขากลับมองว่าวิกฤตขาดแคลนอาหารทั่วโลกและราคาที่เพิ่มสูงขึ้นนั้นเป็นผลมาจากการแพร่ระบาดของโควิด รวมถึงประเทศในสหรัฐฯ และยุโรปที่เป็นต้นเหตุให้ราคาเงินเฟ้อพุ่งมากเกินไป 

 

ทั้งนี้ การตั้งข้อครหาต่อรัสเซียเรื่องนี้ เกิดขึ้นเนื่องจากเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา กระทรวงกลาโหมของรัสเซียยืนยันว่ากองกำลังอวกาศของรัสเซียได้ทำลายเครื่องจักรทางการทหาร เช่น รถถัง T-72 และยานเกราะอื่นๆ ที่ตั้งอยู่ในโรงงานในเขตชานเมืองของเคียฟ โดยโฆษกสถานทูตรัสเซียในสิงคโปร์บอกกับ CNBC ว่า อาคารอุตสาหกรรมมักถูกใช้โดยกองทัพยูเครนเป็นฐานที่มั่น และอำพรางเพื่อจัดเก็บและซ่อมแซมอาวุธ

 

อย่างไรก็ตาม Alexander Kamyshin (อเล็กซานเดอร์ คามีชิน) ซีอีโอของการรถไฟประเทศยูเครนฐกล่าวผ่านสื่อโซเชียลมีเดียว่า ไม่มีอุปกรณ์ดังกล่าวในพื้นที่ที่รัสเซียอ้างถึง 

 

“ทหารรัสเซียได้ทำลายศูนย์ซ่อมรถรางในเคียฟในตอนเช้า แต่กลับไปบอกว่าตั้งเป้าทำลายรถถังที่อยู่ในโรงงานซึ่งมันเป็นเรื่องโกหกทั้งเพ เราไม่มีเครื่องจักรทางการทหารในโรงงาน จะมีก็เพียงรถรางขนส่งสินค้าที่ช่วยเราส่งออกธัญพืชและแร่เหล็ก” คามีชินโพสต์ผ่าน Twitter

 

อ้างอิง:

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH


Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X