วานนี้ (27 ธันวาคม) ทางการรัสเซียประกาศแบนการจำหน่ายน้ำมันให้แก่ทุกประเทศที่ร่วมกำหนดเพดานราคา เพื่อตรึงราคาน้ำมันของรัสเซียตามมติของกลุ่มประเทศชั้นนำด้านอุตสาหกรรมของโลกอย่างกลุ่ม G7 โดยคาดว่าการแบนดังกล่าวจะบังคับใช้เป็นระยะเวลา 5 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ ไปจนถึง 1 กรกฎาคม 2023 แต่ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ของรัสเซีย มีสิทธิผ่อนผันเป็นรายกรณีได้
การประกาศแบนดังกล่าวมีขึ้นภายหลังจากที่กลุ่มประเทศ G7 รวมถึงออสเตรเลียและสหภาพยุโรป เห็นพ้องกับกลไกกำหนดเพดานราคาน้ำมันของรัสเซียที่บังคับใช้มาตั้งแต่วันที่ 5 ธันวาคมที่ผ่านมา โดยกำหนดให้แต่ละประเทศที่เข้าร่วมห้ามจ่ายค่าน้ำมันรัสเซียเกิน 60 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล หวังลดช่องทางหารายได้ของรัสเซียจากการค้าน้ำมันเพื่อนำมาใช้สนับสนุนการทำสงครามรุกรานประเทศเพื่อนบ้านอย่างยูเครน
แม้ปริมาณการพึ่งพาน้ำมันรัสเซียของบรรดาชาติตะวันตกจะมีแนวโน้มลดลง ภายหลังจากที่สงครามรัสเซีย-ยูเครนเปิดฉากขึ้นเมื่อราว 10 เดือนก่อน แต่รายได้จากการค้าน้ำมันของรัสเซียก็ยังคงอยู่ในระดับที่สูง เนื่องจากราคาพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้น รวมถึงปริมาณการส่งออกน้ำมันไปยังตลาดอื่นๆ ยังคงมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะตลาดอินเดียและจีน
ก่อนหน้านี้บรรดาประเทศในสหภาพยุโรปก็ดำเนินมาตรการห้ามนำเข้าน้ำมันดิบรัสเซียผ่านช่องทางทางทะเลทั่วทั้งสหภาพยุโรปแล้ว ขณะที่สหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา และอีกหลายประเทศ ก็ได้ให้คำมั่นจะดำเนินมาตรการในลักษณะเดียวกันนี้ เพื่อร่วมกดดันรัสเซียในเวทีการค้าโลก
ทางด้านประธานาธิบดีโวโลดิเมียร์ เซเลนสกี ของยูเครน ระบุว่า มาตรการกำหนดเพดานราคาถือเป็นแนวคิดที่อ่อนแอ ไม่แข็งกร้าวพอที่จะทำลายหรือสร้างความเสียหายร้ายแรงให้แก่เศรษฐกิจของรัสเซียได้ ทั้งยังมองว่าที่ผ่านมามาตรการคว่ำบาตรของชาติตะวันตกยังมีประสิทธิภาพไม่เพียงพอที่จะสร้างแรงกดดันให้แก่รัสเซีย
โดยขณะนี้ราคาน้ำมันในตลาดโลกอยู่ที่ราว 80 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ปรับลดลงมาจากช่วงวิกฤตราคาน้ำมันที่เคยพุ่งสูงถึง 120 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล เมื่อเดือนมีนาคมและเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา
ภาพ: Alexey Danichev / Sputnik / AFP
อ้างอิง: