×

47 ปี รัสเซียเตรียมหวนทวงบัลลังก์ ส่งยานไปลงจอดบนดวงจันทร์อีกครั้ง

โดย Mr.Vop
13.08.2023
  • LOADING...
รัสเซียดวงจันทร์

วงการอวกาศกลับมาแข่งขันกัน​อย่าง​ดุเดือดอีกครั้ง เมื่อรัสเซีย​ไม่ยอมปล่อยให้อินเดียส่งยานในภารกิจจันทรายาน-3 ​ไปลงจอดเพื่อสำรวจ​ดวงจันทร์​แต่เพียง​เจ้าเดียว โดยเมื่อเวลา 06.10 น. เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม ตามเวลา​ในประเทศไทย​ จรวด Soyuz 2.1b ได้ทะยานออกจากศูนย์​อวกาศ​ Vostochny ใน​เขตสหพันธ์ตะวันออกไกล เพื่อส่งยาน Luna 25 ตรงสู่ดวงจันทร์​ด้วยเส้นทางที่ลัดกว่า ถือเป็นการทวงคืนบัลลังก์ครั้งสำคัญ​ของ​รัสเซีย​

 

Luna 25 คือภาคต่อของยานรุ่นพี่นั่นคือ Luna 24 ที่ประสบความสำเร็จในการนำตัวอย่างหินดวงจันทร์น้ำหนัก 170 กรัม กลับสู่โลกในยุคโซเวียตรัสเซียเมื่อปี 1976 หรือตั้งแต่ 47 ปีที่แล้ว และเป็นหนึ่งในความภูมิใจของรัสเซีย ประเทศแรกของโลกที่สามารถส่งยานไร้คนขับ Luna 9 ไปลงจอดบนดวงจันทร์ในปี 1966 ก่อนถูกลืมจากผลงานของสหรัฐอเมริกาในการส่งมนุษย์ไปเดินบนดวงจันทร์ในอีก 3 ปีต่อมา 

 

รัสเซียดวงจันทร์

 

หากทุกอย่างเป็นไปตามแผน Luna 25 จะใช้เวลาประมาณ 5 วันในการเดินทางไปถึงบริเวณที่อยู่ในอิทธิพลแรงโน้มถ่วงของดวงจันทร์ จากนั้นจะเป็นการใช้เชื้อเพลิงครั้งใหญ่เพื่อเข้าขั้นตอนการ ‘เบรก’ ชะลอความเร็วให้ช้าลงจนสามารถแทรกตัวเข้าสู่วงโคจรรอบดวงจันทร์ (Lunar Orbit Insertion) ได้สำเร็จ เมื่อผ่านขั้นตอนนี้ไป ยานจะวนรอบดวงจันทร์เพื่อถ่ายภาพและลดระดับความสูงอีก 5-7 วัน แล้วก็จะเข้าสู่ขั้นตอนการลงจอด

 

รัสเซียดวงจันทร์

 

หากขั้นตอนลงจอดประสบความสำเร็จ Lunar 25 จะเริ่มทำหน้าที่ประเมินชั้นบรรยากาศที่บางเฉียบ ศึกษาเรโกลิธ (ฝุ่นหินที่ปกคลุมบนสุดของผิวดวงจันทร์) จากนั้นจะค้นหาร่องรอยของน้ำแข็งในบริเวณที่ลงจอด และศึกษาเพื่อประเมินข้อมูลเพิ่มเติมสำหรับวิธีลงจอดของยานรุ่นใหม่ที่จะตามมาในอนาคต โดยมีกำหนดปฏิบัติการบนดวงจันทร์นานประมาณ 1 ปี 

 

ลงจอดที่ขั้วใต้เหมือนยานของอินเดีย

 

ตำแหน่งลงจอดของยานแลนเดอร์ที่ทางรัสเซียเลือกไว้คือบริเวณขั้วใต้ของดวงจันทร์ ใกล้กับหลุมอุกกาบาตโบกัสลอว์สกี (Boguslawsky) หรือหากต้องเลื่อนไปจอดในตำแหน่งสำรองในกรณีที่จุดลงจอดแรกมีปัญหา ตำแหน่งลงจอดสำรองที่เลือกไว้ก็คือทางตะวันตกเฉียงใต้ของหลุมอุกกาบาตมันซินี (Manzini) และทางใต้ของหลุมอุกกาบาต (Pentland A)

 

มีความตั้งใจกำหนดตำแหน่งและเวลาลงจอดของ Luna 25 ให้ใกล้เคียงของยานวิกรมในภารกิจจันทรายาน-3 ของอินเดียที่ออกจากโลกไปก่อนตั้งแต่วันที่ 14 กรกฎาคม และเพิ่งเดินทางถึงวงโคจรดวงจันทร์เมื่อวันที่ 6 สิงหาคมที่ผ่านมา ด้วยความเร็วเดินทาง ปริมาณเชื้อเพลิง และเทคนิคที่แตกต่างกัน โดย Luna 25 จะใช้เวลาน้อยกว่าจันทรายาน-3 หลายเท่า จึงไปถึงดวงจันทร์ในเวลาไม่ต่างกันมาก

 

กว่าจะมาถึงวันนี้ ต้องผ่านอุปสรรคมากมาย

 

อันที่จริงทางรัสเซียมีแนวคิดจะกลับสู่การสำรวจดวงจันทร์มาตั้งแต่ปี 1992 (ชื่อเดิมของ Luna 25 คือ Luna 92) หลังจากนั้นโครงการก็ค่อยๆ เริ่มเป็นรูปเป็นร่าง มีการออกแบบและเตรียมจัดสร้างยาน Luna 25 ขึ้นในปี 2011 แต่โชคไม่ดีที่ภาพความล้มเหลวของการส่งยานสำรวจดาวอังคาร ‘โฟบอส-กรันท์’ ในปี 2012 ส่งผลโดยตรงต่อโครงการอวกาศทั้งหลายของรัสเซีย โดยเฉพาะโครงการ Luna 25 ที่ต้องหยุดชะงักลงไป ต่อมาทางรัสเซียได้รื้อฟื้นโครงการนี้ขึ้นมาใหม่ การจัดสร้างยาน Luna 25 ดำเนินต่อไปโดยมีความร่วมมือจากสหภาพยุโรปที่มีสัญญาที่จะผลิตกล้อง Pilot-D ซึ่งเป็นกล้องที่ทำหน้าที่ช่วยเหลือการลงจอดให้แม่นยำมาติดตั้งไว้กับตัวยาน 

 

โชคร้ายเกิดขึ้นอีกครั้งจากปัญหาการรุกรานยูเครนของรัสเซียในเดือนกุมภาพันธ์ปี 2022 สหภาพยุโรปตัดสินใจถอนตัวจากความสัมพันธ์ในโครงการอวกาศ ทำให้สัญญาการผลิตกล้อง Pilot-D ต้องยุติลง 

 

ในเดือนเมษายน 2022 ระหว่างการเยือนศูนย์อวกาศ Vostochny ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ของรัสเซีย มีคำสั่งให้เดินหน้าโครงการ Luna 25 ต่อโดยไม่ต้องสนใจการคว่ำบาตรของชาติตะวันตก จนในที่สุดทางรัสเซียสามารถนำยานขึ้นจากฐานปล่อยได้สำเร็จ แม้ขาดอุปกรณ์สำคัญในการลงจอดไปก็ตาม

 

สำหรับรัสเซีย การลงจอดที่ขั้วใต้ของดวงจันทร์ไม่ใช่เรื่องง่าย

 

การลงจอดไม่ว่าบนผิวดาวเคราะห์ดวงไหนถือเป็นหนึ่งในขั้นตอนที่โหดหินที่สุดในวงการสำรวจอวกาศ ยานลำที่เดินทางไปก่อนไม่ว่าจะสำเร็จหรือล้มเหลว จะส่งต่อ ‘สูตร’ การลงจอด นั่นคือตัวเลขการปรับมุม ความสูง ความเร็ว และอื่นๆ ของยานแลนเดอร์ระหว่างลงแตะพื้นดาวจากรุ่นสู่รุ่น จนในที่สุดยานในภารกิจหลังๆ ก็จะลงจอดได้ในอัตราความสำเร็จที่สูงขึ้นเรื่อยๆ

 

รัสเซียดวงจันทร์

 

แต่ครั้งนี้ Luna 25 ไม่อาจใช้ ‘สูตร’ เดิมจากยานรุ่นก่อนนั่นคือ Luna 24 ในการเพิ่มโอกาสการลงจอดให้รอดปลอดภัยได้ เนื่องจากจุดลงจอดของยานในยุคเก่าทุกลำของรัสเซียหรืออดีตสหภาพโซเวียต คือบริเวณเส้นศูนย์สูตรของดวงจันทร์ในฝั่งที่หันหาโลก แต่การเดินทางครั้งนี้ จุดลงจอดของ Luna 25 คือบริเวณขั้วใต้ ในมุมที่มองจากโลกแทบไม่เห็น แน่นอนว่าตัวเลขทั้งหมดจะต่างออกไป อีกทั้งยังขาดอุปกรณ์ช่วยลงจอดของสหภาพยุโรป Luna 25 ซึ่งถือเป็นยานลำแรกของรัสเซียที่จะลงจอดในบริเวณนี้ จึงมีโอกาสทำสำเร็จไม่มากนัก

 

ยานในอนาคตที่จะติดตามไป

 

แม้มีความเสี่ยงสูง แต่รัสเซียถือว่า Luna 25 คือประวัติศาสตร์หน้าใหม่ที่ทำให้รัสเซียได้เก็บเกี่ยวประสบการณ์ รวมทั้งสะสมข้อมูลเพื่อส่งต่อให้ยานสำรวจรุ่นน้องอีกหลายลำที่จะตามไปสู่ดวงจันทร์ในอนาคต โดยหลังจากนี้จะมีการส่ง Luna 26 ที่ทำหน้าที่เป็นยานโคจรไปเก็บข้อมูลเพิ่ม เพื่อให้ยานรุ่นน้องอีก 2 ลำที่ถือเป็นตัวจริงในการลงจอดนั่นคือ Luna 27 และ Luna 28 ได้ลงจอดสำเร็จในอัตราที่สูงขึ้น โดยยานลำสุดท้ายในโครงการคือ Luna 28 นั้นวางแผนจะส่งตัวอย่างดินหินกลับโลกด้วย

 

รอบนี้ก็ขนอุปกรณ์ไปไม่น้อย

 

มองในแง่ดี หาก Luna 25 ลงจอดสำเร็จ  ยานที่ติดตั้งอุปกรณ์ทางวิทยาศาสตร์หลายชิ้น น้ำหนักรวมประมาณ 30 กิโลกรัม อันได้แก่

 

  • ระบบโทรทัศน์ Service Television System (STS-L)
  • เครื่องเก็บตัวอย่างดินพร้อม Lunar Manipulator Complex (LMK) 
  • เครื่องตรวจจับนิวตรอนและแกมมา (ADRON-LR) เพื่อค้นหาน้ำแข็งจากระยะไกล 
  • สเปกโตรมิเตอร์อินฟราเรด (LIS-TV-RPM)
  • เลเซอร์แมสสเปกโตรมิเตอร์ (LAZMA-LR)
  • เครื่องวิเคราะห์มวลพลังงานไอออน (ARIES-L)
  • เครื่องวัดค่าฝุ่นบนดวงจันทร์ (PML)
  • หน่วยควบคุมข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ (BUNI)

 

ก็จะสำรวจและเก็บเกี่ยวข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ที่น่าสนใจกลับมาให้ทางรัสเซียได้ศึกษาเพิ่มเติม เพื่อเตรียมพร้อมในโครงการใหญ่ถัดไป นั่นคือการสร้างสถานีวิจัยเต็มรูปแบบบนดวงจันทร์ภายใต้ความร่วมมือกับจีน

 

ภาพ: Russian Space Agency Roscosmos / Reuters

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising