ท้ายที่สุดแล้วสาระแห่งการ ‘วิ่ง’ แต่ละย่างก้าวนั่นคือ ‘เอาชนะใจตนเอง’ แต่นอกเหนือจากเอาชนะหัวใจและร่างกาย ดูเหมือนว่าก้าววิ่งตลอด 5 ปีที่ผ่านมาของ ‘ตูน บอดี้สแลม’ อาทิวราห์ คงมาลัย จะพาเขาไปได้ไกลว่านั้น นั่นคือการชนะใจผู้คนตลอดสองข้างทาง ต่างพื้นที่ ต่างสถานะ ต่างความเชื่อ ต่างศาสนา ฯลฯ และแน่นอนว่า มันกลายเป็นปรากฎการณ์ที่ชนะใจคนไทยที่ติดตามข่าวสารจากทั่วประเทศ
ฉะนั้นตลอดหลายสิบวันของการวิ่งระยะไกลกว่า 2,000 กิโลเมตร จากอำเภอเบตง จังหวัดยะลา เรื่อยไล่ขึ้นสู่อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย ในโครงการก้าวคนละก้าว เพื่อ 11 โรงพยาบาลทั่วประเทศ
THE STANDARD ค้นพบว่าสาระสำคัญ ของการวิ่งครั้งนี้จึงไม่ใช่การเอาชนะสิ่งใด เพราะเป้าหมายที่แท้จริง คือการสื่อสารเชิงสัญลักษณ์ทางด้านสุขภาพกาย ที่ผู้ชายคนหนึ่งหวังเพียงส่งต่อแรงบันดาลใจจากก้าววิ่งของเขาไปถึงใครสักคนที่ติดตามข่าวสารจากที่ไหนสักแห่ง
ตกลง ‘ตูน บอดี้สแลม’ จะวิ่งไปทำไม
แท้จริงแล้วสำหรับเขา สาระของการวิ่งคืออะไร และผู้ชายที่ถ่อมตัว ขี้เกรงใจ ทำไมถึงตัดสินใจออกมาทำเรื่องที่เข้าขั้นบ้าระห่ำขนาดนี้
ย้อนรอยกลับไปทบทวนความคิดของเขา ให้ลึกซึ้งขึ้น นับตั้งแต่ก้าววิ่งแรกจนกระทั่งถึงก้าววิ่งล่าสุด เพื่อให้การส่งเสียงเชียร์ระหว่างการวิ่งจากเบตงขึ้นไปถึงแม่สาย สูงสุดแดนสยามนั้นมีพลังมากยิ่งขึ้น
เรียนรู้จาก ‘ก้าวแรก’ คือเอาชนะใจตัวเอง
ว่ากันว่าหัวใจของการวิ่งมาราธอน คือการแข่งกับหัวใจของตัวเองล้วนๆ อยากถามนักวิ่งที่ตอนนี้กำลังวิ่งจากใต้สุดขึ้นไปสู่เหนือสุดแดนสยามว่า จริงแค่ไหน มากไปกว่านั้นจุดเริ่มต้นที่ก้าวแรก ของคุณ กว่าจะมาถึงภาพที่คนไทยทั้งประเทศเห็นในวันนี้ ตูน บอดี้สแลม ผ่านอะไรมาบ้าง
เริ่มต้นจากประมาณ 5 ปีก่อน ผมเป็นหมอนรองกระดูกเลื่อนที่คอ คุณหมอเลยห้ามเล่นกีฬาที่ผมชอบที่สุดคือฟุตบอล เพราะถ้าต่อไปจะโหม่งบอล หรือโดนปะทะหนักๆ อาจจะเป็นอัมพาตได้ แต่พื้นฐานแล้วเราเป็นคนชอบออกกำลังกาย พอหมอสั่งห้ามทำกิจกรรมที่ชอบ ก็เริ่มคิดว่าถ้าอย่างนั้นเราจะทำอะไรดี ช่วงหนึ่งเลยไปตีปิงปอง
จนกระทั่งวันหนึ่ง พี่เต็ด-ยุทธนา บุญอ้อม ชวนไปวิ่งรายการ วิ่งสู่ชีวิตใหม่ เป็นรายการของ สสส. (สำนักงาน กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ) มันคือช่วงเดียวกับที่ภาพยนตร์เรื่อง รัก 7 ปี ดี 7 หน (พ.ศ. 2555) ของค่าย GTH กำลังเข้าฉาย เราก็ไปทั้งๆ ที่ไม่เคยวิ่ง มาก่อน รายการนั้นเป็นมินิมาราธอน (ระยะทาง 10 กิโลเมตร) รายการแรกในชีวิตเลย
ก่อนออกวิ่งเราคิดแค่ว่าก็มาออกกำลังกาย ไม่เคยรู้ว่าสาระของการวิ่งคืออะไร คิดว่าเมื่อก่อนเตะบอล เป็นชั่วโมงยังไม่เหนื่อย อายุก็ยังไม่เยอะด้วย วิ่ง 10 กิโลฯ น่าจะจบได้สบายๆ แต่พอถึงเวลาวิ่งจริง ตอนจบกิโลเมตรแรกก็ยังวิ่งสบายนะครับ ใช้ความเร็วได้ แซงคนเยอะเลย (ยิ้ม) แซงทั้งเด็ก ผู้หญิง คนชรา แซงหมดเลย แต่พอถึงประมาณกิโลเมตรที่ 3 ความเร็วเริ่มลด แรงเริ่มหมด เริ่มกินน้ำ เพราะวิ่งแบบไม่ได้เผื่อแรงไว้ พอถึงกิโลเมตรที่ 5 เริ่มเดิน ข้างหน้ามีจุดให้กินน้ำ หยิบมาดื่มแล้วก็เดิน เหนื่อยว่ะ หลังจากนั้นก็ทยอยกันมาแล้ว เด็ก สตรี คนชราที่เคยแซงมาในช่วงแรก แล้วเขาก็เริ่มแซงเราไปด้วยสไตล์การวิ่งเนิบช้า แต่ไม่หยุด
RUNNING SHOES
แม้รองเท้าวิ่ง’ (ที่ร่วมกับไนกี้) เพื่อพิชิตความฝันของตูนในครั้งนี้ จะเป็นข่าวฮือฮาและดราม่า ไปบ้าง แต่เป้าหมายแท้จริงเพื่อ เพิ่มศักยภาพและลดการบาดเจ็บ โดยตูนได้รับคำแนะนำให้สลับ ใช้รองเท้าในระหว่างการวิ่งทั้งหมด 5 คู่ Nike Zoom Fly หรือ Nike Zoom Vaporfly 4% ตลอดการวิ่ง 55 วัน
เจอแบบนั้นช็อกเลยไหม
ตอนนั้นหลายอารมณ์ (ยิ้ม) คิดสภาพว่าวัยรุ่นคนหนึ่งที่คิดว่าเราแข็งแรงกว่า เพราะเล่นกีฬามาทั้งชีวิต เตะบอลตูมตาม แต่ภาพตอนคุณน้า คุณป้าวิ่งแซงเราไปเรื่อยๆ ด้วยสเต็ปแบบก้าวช้า แต่ว่ามั่นคง ตอนนั้นเริ่มตั้ง คำถามว่ามันคืออะไร เราแข็งแรงกว่าเขาไม่ใช่เหรอ แล้วนี่มันคืออะไร
ตั้งแต่กิโลเมตรที่ 5-6-7 ผมก็วิ่งช้าสลับเดิน สุดท้ายจบรายการที่เวลา 1.20 ชั่วโมง ซึ่งถือว่าเป็นเวลาที่ แย่มาก แต่พอวิ่งเข้าเส้นชัยในรายการแรก มันเกิดหลากหลายอารมณ์รวมกัน แต่มีอารมณ์หนึ่งที่จำได้ คือ ‘ติดใจ’ ทั้งที่อารมณ์ระหว่างทางปวดเท้ามากเลย มันทรมาน มันไปข้างหน้าช้า หรือมันจะอะไร แต่พอ เข้าเส้นชัย ได้เหรียญ ได้เสื้อ เฮ้ย อยากวิ่งอีก
หลังจากจบรายการนั้น เรามองหาว่าครั้งต่อไป จะไปวิ่งที่ไหนดี ผมถามพี่นักวิ่งที่วิ่งอยู่ข้างๆ ว่ามันจะ มีรายการวิ่งที่ไหนอีก เขาเปิดรับกันยังไง แล้วต่อจากวิ่งที่ระยะทาง 10 กิโลฯ มันคืออะไร (หัวเราะ) ห้าวด้วย แทนที่จะหยุดอยู่ที่ 10 กิโลฯ
พี่เขาก็ตอบผมกลับมาว่า อ๋อ เขาเรียกว่าฮาล์ฟมาราธอน มันจะวิ่งไกลเพิ่มขึ้นอีกเท่าหนึ่งของระยะนี้นะน้อง คิดในใจว่า ที่เพิ่งวิ่งมาก็หนักมากแล้วนะ นี่จะต้องวิ่งไกลเพิ่มขึ้นอีก 10 กิโลฯ เหรอเนี่ย แต่ก็ไม่วายถามเขาต่อไปอีกว่าที่ไหน พี่เขาก็บอกกลับมาว่าเดี๋ยวจะมีรายการ ‘กรุงเทพ มาราธอน’ อีกประมาณ 3 เดือนข้างหน้า พอรู้เราก็อยากไป ระหว่างนั้นก็คิดในใจด้วยว่าจะลงระยะ 10 กิโลฯ หรือจะซ้อมให้ดี แล้วเพิ่มระยะไปลงฮาล์ฟมาราธอนที่ 21 กิโลฯ เลยดีไหม คือเราเป็นคนแถวๆ นี้ บ้าบอ (หัวเราะ)
“คนที่ต้องบังคับตัวเองให้ตื่นตอนเช้าๆ ทั้งที่ทำงานเหนื่อยมาตลอดสัปดาห์ พอวิ่งจบ วิ่งได้เวลาเท่าไรก็ได้ แต่ภูมิใจที่อย่างน้อยชนะใจตัวเอง เอาชนะความขี้เกียจ ผมเชื่อว่าคนที่ออกมาวิ่งส่วนใหญ่ภูมิใจตรงนี้”
หลังจากผ่าน 10 กิโลเมตรแรกไปได้ ความคิดที่เคยมีต่อการวิ่งเปลี่ยนไปเลยไหม
มันไม่เปลี่ยน เพราะเราไม่ได้มีอะไร เราบริสุทธิ์มาก ไม่ได้คิดด้วยว่า ถ้าวิ่งไม่ไหวแล้วเราจะอายหรือเปล่าจบวันนั้น สิ่งที่เราเรียนรู้คือ สนามใครสนามมัน กีฬาใครกีฬามัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง อายุ เพศ ความแก่ ความเด็ก ไม่สามารถตัดสินได้เหมือนกันกับทุกกีฬา ทุกการกระทำ ทุกอาชีพ เมื่อวานเราคิดว่าตัวเองแข็งแรงกว่าเขา เราอาจจะงัดข้อชนะ แต่ถ้ามาวิ่งแข่งกัน มันไม่ใช่เลย เพราะมันคือกีฬาคนละอย่าง ใช้จินตนาการคนละอย่าง ตรรกะคนละแบบ ใช้กำลังร่างกายคนละแบบ ฝึกซ้อมมาคนละแบบ ได้ประสบการณ์คนละแบบ ฉะนั้นเราไม่สามารถนำทักษะความสามารถในสนามฟุตบอลมาใช้ในสนามวิ่งได้
กลับมาที่ความรู้สึกติดใจ ที่บอกว่าติดใจนี่คุณติดใจอะไร เพราะอยากวิ่งอีก หรือคาใจไม่ยอมแพ้ อยากทำให้ดีขึ้น
ไม่ได้คาใจนะครับ แต่มันติดใจจริงๆ ผมเชื่อว่าหลายคนที่เคยวิ่งจะรู้ ตอนวิ่งเหนื่อยจังเลย แต่พอเข้าเส้นชัยแล้วหน้าตาผ่องใส สดชื่น อยากวิ่งอีก มองหาว่ารายการหน้าจะมีที่ไหนอีก
คนที่เคยออกไปรายการวิ่งแล้วต้องบังคับตัวเองให้ตื่นตอนเช้าๆ ทั้งที่ตัวเองทำงานเหนื่อยมาตลอดสัปดาห์ แต่ถึงเวลาต้องตื่นตั้งแต่ตี 3 ตี 4 ออกไปวิ่ง แล้วพอ วิ่งจบ วิ่งได้เวลาเท่าไรก็ได้ เดินจนจบก็ได้ แต่ภูมิใจที่อย่างน้อยชนะตัวเอง ลุกออกจากที่นอน เอาชนะความขี้เกียจ ผมเชื่อว่าคนที่ออกมาวิ่งส่วนใหญ่ภูมิใจตรงนี้
“ถ้าพูดแบบโอเวอร์ ภาษาสวยงาม มันคือสิ่งสวยงามที่สุดที่ผมเจอในชีวิต เราเจอกีฬาที่ชอบและอยู่กับมันได้ทุกวันรองเท้าคู่หนึ่ง กางเกงตัวหนึ่ง เสื้อตัวหนึ่ง ออกไปวิ่งได้แล้ว”
ก้าวที่สอง ฮาล์ฟมาราธอนแรกในชีวิต
จบการวิ่งคราวนั้น 3 เดือนถัดมา ตูนไปงาน ‘กรุงเทพ มาราธอน’ แล้วก็ลงวิ่งระยะ 21 กิโลเมตร ถือเป็นฮาล์ฟมาราธอนแรกของชีวิต ในสภาพที่เขา เล่าให้ฟังอย่างอารมณ์ดีว่าเป็นฮาล์ฟมาราธอนที่สะบักสะบอมที่สุด!
ผมเชื่อว่ามีหลายคนจำภาพการวิ่งของผมวันนั้นได้ คือเข้าเส้นชัยด้วยอาการตะคริวกินขาทั้งสองข้าง คือถ้าตะคริวกินแค่ขาเดียวมันยังพอที่จะวิ่งกระด๊อกกระแด๊กต่อไปได้บ้าง แต่สองขานี่ต้องเดินครับ แล้วเดินด้วยความทุเรศด้วย (หัวเราะ) สำคัญคือรายการกรุงเทพ มาราธอน มันจะคราคร่ำไปด้วยผู้คนและกองเชียร์ แต่ที่เส้นชัยในวันนั้นทุกคนได้เป็นประจักษ์พยานการเข้าเส้นชัยของผมในสภาพที่แย่มาก
จำได้เลย ผมได้ยินเสียงคนตะโกนมา “ตูนวิ่งสิ ตูนวิ่งสิ” ใจผมตอนนั้นนี่อยากจะวิ่งเข้าเส้นชัยอย่าง สง่างาม แต่สภาพตอนนั้นแค่เดินก็จะไม่ไหวแล้ว ตอบไปแค่ว่า “ครับผมๆ” มันเป็นช่วงเวลาที่ถูกจับจ้อง มีเสียงเชียร์ อาจจะมีการหยอกล้อ ประณามด้วยอีกนิดหนึ่ง แต่สุดท้ายก็วิ่งจบด้วยความสุข มีรอยยิ้ม
เรารู้แล้วว่าการวิ่งมันไม่ง่าย 21 กิโลฯ แรกในชีวิตจบลงอย่างเจ็บปวดร่างกาย แต่ว่าอิ่มใจ (ยิ้ม) จากนั้นก็ตั้งเป้าหมายใหม่ทันทีว่าอีก 1 ปีเจอกัน ‘ฟูลมาราธอน’ 42 กิโลฯ แรกในชีวิตที่รายการนี้ กรุงเทพ มาราธอน
ดูเหมือนจะเป็นคนประเภทที่ถ้าติดใจ ตั้งใจทำอะไรแล้วต้องไปให้สุดนะ เช่น ทำวงดนตรีก็ต้องตั้งใจให้สุด เล่นปิงปองก็ไปจนถึงติดทีมชาติ การวิ่งนี่ติดใจแล้วก็ตั้งใจจะไปจนสุดด้วยเหมือนกัน
ผมจะเป็นคนประมาณว่า ถ้าตั้งเป้าอะไรจะตั้งเกินความคาดหวังของตัวเองไว้ก่อนครับ แล้วพอเราตั้งเป้าเกินไว้ เป้าหมายมันก็จะบอกให้เราฝึกซ้อม มีการวางแผนเพื่อให้ได้ตามเป้าที่ตั้งเกินไว้ แล้วพอเราลองไปทำมันจริงๆ ถึงแม้จะทำได้ไม่ถึงเป้านั้น แต่ผมเชื่อว่าอย่างน้อย มันก็คงออกมาไม่แย่สักเท่าไร
อย่างที่สอง ผมเป็นคนที่ถ้าพูดกับตัวเองหรือสัญญากับตัวเองไว้แล้ว จะพยายามทำให้เกิดขึ้นจริงให้ได้ เราไม่รู้หรอกว่าจะทำมันได้สำเร็จมากน้อยแค่ไหน แต่จะลองลงมือทำก่อน เช่นเดียวกัน พอตั้งเป้าว่าปีหน้าจะกลับมาวิ่งฟูลมาราธอน 42 กิโลฯ ซึ่งระยะเวลา 1 ปีนั้น ผมก็ไม่ได้มีเวลาฝึกซ้อมอย่างเดียว เพราะผมก็ต้องทัวร์คอนเสิร์ต พร้อมทั้งทำอัลบั้มใหม่ไปด้วย สุดท้ายคนทำงานจะรู้เลยว่าเวลา 1 ปี ผ่านไปอย่างรวดเร็ว
ผมจำได้เลยว่าวันนั้นผมอัดเพลงในอัลบั้ม ดัม-มะ-ชา-ติ อยู่ที่แกรมมี่ กรุงเทพ มาราธอน เริ่มวิ่งตอนตี 2 ผมอัดเพลงเสร็จตอนเที่ยงคืน ตอนนั้นเราเริ่มทะเลาะกับตัวเอง ยังไม่ได้นอน ซ้อมวิ่งก็ไม่ค่อยได้ซ้อม แล้วจะไปดีไหม วิ่งแล้วจะตายไหมเนี่ย งอแงกับตัวเอง ตัวขาวกับตัวดำตีกันใหญ่เลย (ยิ้ม)
สุดท้ายตัดสินใจไป เราเตรียมชุดมาจากบ้านอยู่ก่อนแล้ว แปลงร่างเป็นนักวิ่งตั้งแต่ที่แกรมมี่ ระหว่างทางนอนบนรถตู้ ไปถึงจุดสตาร์ทข้างวัดพระแก้วประมาณตี 1 ลงไปยืดเส้นยืดสาย ตั้งใจไว้ว่ายังไงจะวิ่งให้ถึง เส้นชัยก่อน 6 ชั่วโมง ตามเวลาที่เขากำหนดไว้ว่า ถ้าไม่เกินจะได้เหรียญ ได้เสื้อ คือเราอยากได้ (ยิ้ม) คำนวณไว้ว่าถ้าเราวิ่งๆ หยุดๆ คุยๆ น่าจะทำได้ สุดท้ายผมเข้าเส้นชัยโดยใช้เวลา 5.40 ชั่วโมง รู้สึกขอบคุณมากที่ตอนอัดเพลงเสร็จไม่ตัดสินใจกลับบ้านไปนอน ไม่อย่างนั้นจะรู้สึกแพ้มาก
พอได้มารู้จักกับการวิ่ง เริ่มติดใจการวิ่ง คุณคิดว่าความสนุกของการวิ่งคืออะไร เพราะบอกเองว่าถ้าไม่มีความสุข ไม่สนุก ขอไม่ทำ
ช่วงปีแรกๆ มันจะเจอกับการวิ่งเพื่อท้าทายตัวเองในระยะ 10 กิโลฯ เรารู้แล้วว่ารายการแรกทำเวลาได้ 1.20 ชั่วโมง พอวิ่งต่อไป เวลาลดเหลือ 1.10 ชั่วโมง เรารู้สึกเลยว่ามีความสุข เราพัฒนาตัวเอง เราซ้อมวิ่งจนทำ เวลาดีขึ้นได้นี่นา
สิ่งเหล่านี้คือกระบวนการเรียนรู้ที่เราเพิ่งรู้ว่าพอซ้อมแล้วเก่งขึ้น วิ่งแล้วทำเวลาได้เร็วขึ้น เรามีความสุข ถ้าเราไม่ซ้อม เราจะไม่เก่งขึ้น ตรงนี้เองที่สอนเราในชีวิตประจำวัน รวมไปถึงการทำงานได้ด้วยว่าทุกอย่าง มันดีขึ้นได้ ถ้าเราให้เวลากับมัน ใส่ใจและทุ่มเทกับมัน จากสนามแรกในระยะ 10 กิโลฯ ที่ผมเคยทำเวลาได้ 1.20 ชั่วโมง จนถึงวันนี้เวลาดีที่สุดของผมคือ 43 นาที
ผมไม่รู้หรอกว่าสำหรับวงการนักวิ่งมันคือเวลา ที่ดีแค่ไหน ผมแค่เห็นความแตกต่างของตัวเองจากการวิ่งครั้งแรกที่เกิดขึ้นจากการค่อยๆ ทำมันด้วยความสุข ไปเรื่อยๆ ปุ๊บปั๊บผ่านไป 1 ปี 2 ปี 3 ปี จนตอนนี้ผ่านมา 5 ปี ลองมองย้อนกลับไปจากที่เคยวิ่งมาสักหน่อย โอ้โห มันมาไกลอย่างนี้เลยเหรอวะ แต่นี่แหละ ชีวิตผม ที่ผ่านมามันไม่ใช่ว่าได้มาอย่างก้าวกระโดด เพราะของอย่างนี้มันก้าวกระโดดไม่ได้ ทุกเรื่องต้องใช้เวลา ทุกวันนี้เวลาออกทัวร์คอนเสิร์ตที่จังหวัดนี้ ผมมีชุดวิ่งอยู่ในกระเป๋า นั่งอยู่ในรถตู้ อีก 10 กว่ากิโลฯ จะถึงโรงแรม ที่พัก ผมบอกพี่คนขับให้ปล่อยลงตรงนี้เลยครับ เปลี่ยนชุดในปั๊มน้ำมัน ผมขอวิ่งไปโรงแรม เดี๋ยวเราเจอกัน ผมวิ่งอย่างสนุก ไม่มีใครมาบังคับ
ถ้าพูดแบบโอเวอร์ ภาษาสวยงาม มันคือสิ่งสวยงามที่สุดที่ผมเจอในชีวิต เราเจอกีฬาที่ชอบและอยู่กับมัน ได้ทุกวัน เราไม่ต้องนัดเพื่อนเตะบอล ซึ่งกว่าจะว่างพร้อมกัน บางทีตั้งอาทิตย์หนึ่ง หรือถึงลงไปเล่นในสนาม เราก็เตะบอลแรงๆ ปะทะแรงๆ ไม่ได้แล้ว เพราะเคยมีอาการหมอนรองกระดูกเลื่อนที่คอ ถ้าอย่างนั้นเราวิ่ง นี่แหละ มีความสุขดีแล้ว รองเท้าคู่หนึ่ง กางเกงตัวหนึ่ง เสื้อตัวหนึ่ง ออกไปวิ่งได้แล้ว
ทุกคนไม่ต้องวิ่งเร็วที่สุดหรือไกลที่สุด แต่ให้รู้ว่า ตัวเองมีความสุขกับการวิ่งแค่นี้ก็พอแล้ว พอเห็นว่า น้ำหนักเยอะขึ้นหรืออะไรก็ตาม แค่เลือกจะออกไปวิ่ง 3 กิโลฯ หน้าหมู่บ้าน แทนที่จะเลือกกินขนมบนโซฟา ก็ชนะตัวเองได้
ทุกคนมีชัยชนะของตัวเองได้จากการวิ่ง โดยเลือกจะชนะตัวเองขั้นแรกคือ เลือกที่จะออกไปทำก่อน พอวิ่งแล้วติดใจ ต่อมาถึงค่อยเลือกวิ่งให้ไกลหรือเร็วกว่าเดิม เพื่อพัฒนาตัวเอง แล้วพอเห็นถึงพัฒนาการ เราอาจจะมองเห็นถึงความสุขจากการวิ่ง
จากก้าวเพื่อตัวเอง กระทั่งก้าวเพื่อเป็นแรงบันดาลใจให้ผู้คน
จริงๆ แล้วมันเป็นการวิ่งเพื่อตัวเองเหมือนกันนะครับ คือวิ่งเพื่อให้ตัวเองมีความสุข อย่างที่ผมบอกว่า ถ้าไม่สนุก ไม่มีความสุข ผมเลือกที่จะไม่ทำดีกว่า
การทำอะไรแบบนั้นในปีที่ผ่านมา ทำสิ่งนี้แล้ว มีความสุข ทำแล้วน่าจะมีประโยชน์กับคนอื่น จากนั้นค่อยลงมือทำ คิดถึงปลายทางว่า ถ้าจะทำให้เกิดประโยชน์ที่สุดต้องทำยังไง
สุดท้ายต้องกลับมาตั้งเป้าจากความสุขและความสนุกก่อนว่า วิธีการที่เราคิดมาเนี่ย เมื่อเกิดขึ้นแล้วเราจะมีความสุข สนุกกับมันไหม แต่นั่นเป็นสเต็ปที่สอง สเต็ปแรกคือ เราออกมาวิ่งทุกวัน ไม่ว่าจะแดดร้อน หรือปวดขา หน้าตาเหยเก ต้องฝังเข็ม ต้องรับการรักษายังไง ทั้งหมดมันล้วนแต่เป็นขั้นตอนความสนุกของผมที่ เราอยากจะพิชิตระยะทางวิ่งนี้ให้ได้ พิสูจน์ตัวเองให้ได้
ในเมื่อเป็นคนชอบความท้าทาย และเป้าหมายใน การทำอะไรก็มักจะใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ถ้าสุดท้ายคุณวิ่งจากใต้สุดถึงเหนือสุดแล้ว เป้าหมายต่อไปคืออะไร จะใหญ่และไกลกว่านี้อีกไหม
บอกตามตรงว่าผมไม่ได้คิดอะไรเกี่ยวกับแง่นั้นเลยครับ ตอนนี้ผมขอแค่ให้ตรงนี้มันผ่านไปได้ก่อน เพราะอย่างตอน 400 กิโลฯ จากกรุงเทพฯ-บางสะพานครั้งที่แล้ว ผมก็ไม่รู้หรอกครับว่าจะสำเร็จไหม เพราะผมก็ไม่เคย วิ่ง 400 กิโลฯ มาก่อน (หัวเราะ) หรือแม้กระทั่ง คนที่วิ่งข้ามอเมริกา เขาก็ไม่เคยวิ่งข้ามมาก่อน ก็เลย ต้องพิสูจน์ไงว่าจะทำได้หรือเปล่า ถ้าเขาทำได้แล้ว มันก็ไม่ท้าทาย
มันก็คงเป็นเสน่ห์มั้ง ในการทำอะไรสักอย่างหนึ่งแล้วคอยดูว่าผลของมันจะล้มเหลวหรือประสบความสำเร็จ แต่คำว่าล้มเหลว สำหรับผมมันคือความหมายแบบเดียวกับคำว่าล้มเหลวของคนอื่นหรือเปล่าไม่รู้นะ เพราะสำหรับผมไม่ว่าจะเป็นการวิ่งระยะไหน ผมคิดว่ามันคือความสำเร็จของผมว่ะ อย่างการวิ่งครั้งนี้ ถ้าผมวิ่งได้ไกลกว่า 400 กิโลฯ นั่นก็คือระยะไกลที่สุดเท่าที่ผมเคยวิ่งได้แล้ว มันคือความสำเร็จของผมแล้ว
สมมติว่าครั้งนี้ผมไปได้ไม่กี่กิโลฯ แต่อย่างน้อย เงินบริจาคมันเกิดขึ้นจริง มันไม่ใช่การเล่นเกมโชว์ ที่ถ้าวิ่งไม่สำเร็จตามเป้า แล้วเงินมันจะสลายไปนะครับ ไม่ใช่ เงินยังมีอยู่ เพราะฉะนั้นเงินบริจาคตรงนั้นมันคือ เรื่องจริงที่มันจะช่วยชีวิตคนได้จริงๆ หรือผมวิ่งไปไม่ถึง แต่กลายเป็นแรงบันดาลใจให้คนมาออกกำลังกาย กันมากขึ้นได้ ดูแลสุขภาพตัวเองได้ นี่คือเรื่องจริง หรือวิ่งไปไม่ถึง แต่มีกำลังใจจากคนไทยระหว่างทางส่งมา ให้คุณหมอ พยาบาล เจ้าหน้าที่จากโรงพยาบาลของรัฐทั่วประเทศ เหล่านี้คือเรื่องจริง
ผมถึงบอกว่าจริงๆ แล้ว การวิ่งมันเป็นแค่เครื่องมือในการสื่อสาร สิ่งที่เราอยากจะบอกสู่สาธารณะให้เห็นภาพร่วมกัน ได้เห็นภาพเดียวกัน
“ทุกคนมีชัยชนะของตัวเองได้จากการวิ่ง โดยเลือกจะชนะตัวเองขั้นแรกที่จะออกไปทำก่อน พอวิ่งแล้วติดใจ ถึงค่อยเลือกวิ่งให้ไกลหรือเร็วกว่าเดิม แล้วพอเห็นถึงพัฒนาการเราอาจจะมองเห็นถึงความสุขจากการวิ่ง”
HEALTH HELP
รถยนต์นำขบวน’ ที่ใช้เป็นรถอเนกประสงค์ และไลฟ์สดในครั้งนี้ เป็นรถยนต์ประเภทไฮบริด ใช้พลังงานไฟฟ้า ซึ่งนอกจากจะประหยัดพลังงาน ยังไม่เกิดควันดำ ซึ่งก็เพื่อสุขภาพของนักวิ่งด้วย
ระหว่างวิ่งคนเดียวในชีวิตประจำวัน วิ่งในรายการมาราธอนที่แค่เอาชนะตัวเองกับวิ่งการกุศลที่ต้องพบเจอผู้คนตลอดสองข้างทางอย่างที่คุณกำลังทำอยู่ในตอนนี้ คุณมองเห็นความสุข ความสวยงาม แตกต่างกันในมุมไหนบ้าง
ผมขอยกตัวอย่าง ครั้งที่แล้วผมเชิญเพื่อนๆ พี่น้องที่มี ชื่อเสียง บางคนเป็นนักแสดง นักร้อง หรือใครก็ตาม ที่ออกมาวิ่ง เพื่อช่วยโปรโมตโครงการของปีที่แล้ว มีหลายคนนะครับที่ไม่ได้มาแค่ครั้งเดียว แต่กลับมาอีก หรือมีอีกหลายคนที่เคยตั้งเป้าไว้ว่า เดี๋ยววันนี้มาวิ่งกับพี่ตูนสัก 10 กิโลฯ แต่สุดท้ายเขาวิ่งอยู่กับผมทั้งวัน วิ่งด้วยกัน 40 กิโลฯ เลย เขาบอกว่า เขามีความสุข เพราะเขาไปหารายการวิ่งที่มีภาพแบบนี้ไม่ได้จากที่อื่น เขาเลยอยากกลับมาอีก อยากอยู่กับมันนานๆ ซึ่งผมเองก็รู้สึกไม่ต่างจากพวกเขาเลย
“เราไม่ได้ออกมาทำอะไรตรงนี้เพื่อจะได้รับการชื่นชม แบบเกินจริง เราเป็นคนธรรมดาที่อยากจะใช้ส่วนเล็กๆ ที่พอจะทำได้ แล้วถ้ามันจะเกิดประโยชน์ต่อเนื่องกับ คนอื่นได้ มันคงจะดีไม่น้อย”
RUNNING PLAYLIST
อยากรู้ไหมว่าตูนฟังเพลงอะไรระหว่างวิ่ง?
ตูนให้สัมภาษณ์ไว้ว่าในวันปกติที่เขาฝึกซ้อมการวิ่งตลอด 5 ปีที่ผ่านมา ถ้าเป็นวันที่ต้องการวิ่งเพื่อทำลายสถิติของตัวเอง หนึ่งในศิลปินที่เขามักจะเปิดฟังไปด้วยระหว่างการวิ่งคือ Foo Fighters ขณะเดียวกัน ถ้าเป็นการวิ่งเก็บระยะเพื่อฝึกความอดทน หนึ่งในศิลปินที่เขาจะเลือกฟังคือ John Mayer ก่อนที่จะทิ้งท้ายไว้ว่า “เพลย์ลิสต์ที่ถูกต้องก็คือเพลย์ลิสต์ ที่เราอยู่กับมันได้”
ตูน บอดี้สแลม เป็นนักร้อง นักดนตรี อยู่บนเวทีคอนเสิร์ตคนชื่นชอบเราอีกแบบ แต่พอตอนออกวิ่ง คนก็ชื่นชอบชื่นชมในอีกแบบ คุณมองเห็นความต่างจากสองบทบาทที่ตัวเองทำอยู่ในตอนนี้อย่างไรบ้าง
(คิด) คือตอนที่คนมาชมว่าเพลงที่พี่เพิ่งทำเสร็จออกมาใหม่เพราะจัง หนูชอบจัง หรือได้แรงบันดาลใจดีๆ โอ้โห ผมมีความสุขมากเลยครับ ผมพูดได้เลยว่านี่เป็นสิ่งดีๆ ที่เราจะได้ระหว่างทาง
ผมไปนั่งกินข้าวในร้านอาหาร มีน้องผู้หญิงเขียนกระดาษโน้ตส่งมาให้ ในนั้นเขียนว่าขอบคุณพี่มาก ที่ทำเพลงดีๆ หนูได้รับพลังงานดีๆ จากเพลงพี่ค่ะ แล้วไม่ขอถ่ายรูปด้วย เพราะเกรงใจ พี่กินข้าวอยู่ เจออะไรแบบนี้ระหว่างทางแล้วเราดีใจมากเลย ภูมิใจมากที่สุดท้ายเพลงที่เราร้องเพื่อให้กำลังใจตัวเอง หรือเล่าเรื่องตัวเองด้วยซ้ำ แต่ไปกระทบสิ่งทำให้คนฟังมีกำลังใจมากขึ้น หรือไปสร้างประโยชน์ให้เขาได้
แต่กับการวิ่งเพื่อการกุศลทุกครั้งที่ผ่านมา ผมจะรู้สึกเขิน ไม่อยากได้รับคำชมมาก เพราะว่าเราไม่ได้ออกมาทำอะไรตรงนี้เพื่อจะได้รับการยกยอปอปั้น หรือชื่นชมแบบเกินจริง คือเราไม่ได้เป็นคนดีขนาดที่ เขาบอก เราเป็นคนธรรมดา ที่อยากจะใช้ส่วนเล็กๆ ที่พอจะทำได้ บอกผ่านสิ่งที่เราไปเห็นมาเท่านั้นเอง แล้วถ้ามันจะเกิดประโยชน์ต่อเนื่องกับคนอื่นได้ มันคง จะดีไม่น้อย
ถ้าพูดว่าไม่มากไม่น้อยเกินไป เกิดมีคนถามว่าที่ทำอยู่ทุกวันนี้มากเกินไปหรือเปล่า เทียบกับทางสายกลางของพระพุทธศาสนา คิดว่าตึงไปหรือหย่อนไป
ครั้งที่แล้วที่ผมบอกว่า ผมจะวิ่ง 400 กิโลฯ นั่นก็มากแล้วนะครับ ซึ่งผมก็ไม่รู้หรอกว่าจะทำได้หรือเปล่า คนอาจจะบอกว่าเยอะไปหรือเปล่า จะทำได้หรือเปล่า จะตายไหม โน่นนั่นนี่
ครั้งนี้ก็น่าจะเป็นความรู้สึกเดียวกัน คือตั้งคำถาม ไม่ใช่เฉพาะแค่คนข้างนอกรั้ว ผมเองก็ตั้งคำถามว่า เราจะทำมันได้ไหม จะสำเร็จไหม แต่สุดท้ายคือ เราอยากตั้งเป้าหมายให้สูง ฝึกซ้อม ท้าทายตัวเอง เพื่อไปถึงตรงนั้นให้ได้ โดยที่เรามีเหตุและผลจำนวนหนึ่งคอยรองรับ
เราเป็นนักวิ่งที่วิ่ง 10 กิโลฯ แล้วเรารู้สึกว่ายังชิลล์ๆ ถ้าอย่างนั้นเราอาจจะเป็นนักวิ่ง 10 กิโลฯ แบบนี้ 5 เซตต่อวัน เราค่อยๆ ก้าวไปทีละสเต็ป ทีละก้าว พอครบ 10 กิโลฯ แล้วพัก ร่างกายหายเหนื่อย ประคบน้ำแข็ง ได้ขาใหม่ แล้วออกไปวิ่งต่ออีก 10 กิโลฯ ต่อทุก 10 กิโลฯ ของเราให้มันนานขึ้นดูสิ ทั้งในการซ้อมก็ตาม ทั้งใน การตั้งเป้าหมายก็ตาม
มันเป็นเหตุและผลส่วนตัวที่อาจจะฟังไม่ขึ้นสำหรับใครบางคน แต่ถ้าจะอธิบายว่าผมคิดอะไรอยู่ ผมมีก้อนความคิดอยู่ประมาณนี้ เป้าหมายมันอาจจะสำเร็จได้ด้วยการวางแผน แล้วเราก็ใช้เวลาตลอด 4 วัน หยุดพัก 1 วัน เพื่อไปให้ถึงเป้าหมายนั้น สุดท้ายจะสำเร็จ หรือเปล่าไม่รู้ แต่อย่างน้อยมันเกิดขึ้นจากการวางแผน เราฝึกซ้อม เรียนรู้ แล้วออกไปซ้อมใหม่
ถ้ายังไม่สำเร็จ อย่างน้อยก็ได้เรียนรู้ ฝึกซ้อมใหม่ ตั้งเป้าหมายใหม่อีกไหม หรือจะไม่เอาแล้ว นั่นค่อยกลับมาทบทวน ผมเป็นคนในลักษณะนี้ มันคงไม่สำเร็จไปทุกครั้ง แต่อย่างน้อยก็อยากจะลองก่อน
ถึงตอนนี้แล้ว คุณคิดว่าตัวเองชอบบทบาทนักร้องหรือนักวิ่งมากกว่ากัน
อ้าว แน่นอนครับ ผมต้องชอบร้องเพลง ผมมีเป้าหมายกับบอดี้สแลมว่า อยากจะเป็นวงดนตรีแบบนี้ ร่วมกับพี่ๆ ร่วมวง 4-5 คนนี้ กระโดดโลดเต้นบนเวทีต่อไปเท่าที่แรงจะมี จนถึงอายุ 60-70 ปี ก็ยังอยากเป็นแบบนี้ เราอยากสร้างแรงบันดาลใจให้กับคนอายุ 18-19 ปี ในตอนนั้นได้ ในตอนที่ขวบปีเราเยอะๆ อายุ 60 แต่เรายังมีอัลบั้มใหม่ เพลงใหม่ที่สามารถสื่อสารกับคนอายุน้อยๆ ได้ในเรื่องเดียวกัน เราไม่ได้อยากเป็นผู้ใหญ่ขี้บ่นกลุ่มหนึ่งที่ออกมาเล่นดนตรีแล้วพูดถึงอะไรที่เขาไม่เอาแล้ว เราอยากเป็นวัยรุ่นเสมอ
“ทุกคนไม่ต้องวิ่งเร็วที่สุดหรือไกลที่สุด พอเห็นว่าน้ำหนักเยอะขึ้น แค่เลือกจะออกไปวิ่ง 3 กิโลฯ หน้าหมู่บ้าน แทนที่จะเลือกกินขนมบนโซฟาก็ชนะตัวเองได้”
ทุกวันนี้เวลาไปไหนแล้วมีคนบอกว่าคุณเป็นฮีโร่ เป็นแรงบันดาลใจ คุณรู้สึกอย่างไรบ้าง
ผมเขิน ไม่เอาอย่างนี้จริงๆ ผมไม่อยากเป็น เพราะผม รู้ว่าผมไม่ใช่คนดี ผมเป็นเหมือนคนทั่วไปที่เลือกทำในสิ่งที่ตัวเองชอบ สิ่งที่ตัวเองรัก และถ้าจะไม่ทำ เราต่างก็มีเหตุผลส่วนตัว
ผมเชื่อว่า ทุกคนอยากจะทำประโยชน์ในสิ่งที่ตัวเอง พอจะทำได้อยู่แล้ว และเราสามารถทำดีให้กับตัวเองได้ โดยเริ่มต้นจากจุดเล็กๆ อย่างลดความอ้วน เลิกบุหรี่ เลิกเหล้า เป็นคนดีกับพ่อแม่ ให้เงินเดือนพ่อแม่ ทำตัวเองให้เขาอยู่อย่างไม่ต้องมาปวดหัวกับเรา ดูแลรับผิดชอบตัวเองได้อย่างมีความสุข แค่นี้ผมก็ถือว่าเป็นสิ่งที่คน คนหนึ่งจะทำได้ดีที่สุดแล้ว ไม่ต้องออกมาวิ่ง 400 กิโลฯ เหมือนผมทำหรอก เริ่มต้นจากจุดเล็กๆ แล้วค่อยๆ ต่อจุดมันไปเรื่อยๆ เลื่อนเป้าหมายใหม่ไปเรื่อยๆ
อย่างผมเอง ผมไม่ได้คิดหรอกว่าจะมาทำอะไรขนาดนี้ ด้วยความสัตย์จริงนะครับ ตอนแรกๆ ผมไม่กล้าคิดถึงตัวเลขเงินบริจาคระดับล้านเลยด้วยซ้ำ เราก็แค่ทำ ใครพอรู้จัก เราก็เข้าไปขอความช่วยเหลือ พอจะเริ่มวิ่ง เราก็บอกกันปากต่อปาก ใครรู้ก็มาช่วยกัน พอคนรู้ เยอะขึ้นมันเหมือนงานขายตรงนะ คือจากหนึ่งเป็นสอง จากสองเป็นสี่ จากสี่เป็นแปด (ยิ้ม) เกิดขึ้นรวดเร็วมาก ทั้งที่ความจริงมันเริ่มต้นจากจุดเล็กๆ เองครับ เกิดจากความคิดแค่ว่า เราจะทำอะไรที่พอจะช่วยเหลือคนอื่นได้บ้าง แล้วก็ทำสิ่งนั้นไป
แค่เป็นคนดีของพ่อแม่นี่ก็สุดยอดแล้ว เพราะสุดท้ายเมื่อทุกคนเป็นคนดีของพ่อแม่ ครอบครัวก็มีความสุข เมื่อครอบครัวที่มีความสุขมาประกอบกัน มันก็กลายเป็นสังคมที่มีความสุข พอสังคมที่มีความสุขมาประกอบกัน มันก็กลายเป็นหนึ่งจังหวัดที่มีความสุข ขยับไปเป็นหนึ่งภูมิภาคที่มีความสุข เราแค่ทำดีจากจุดเล็กๆ แล้วขายตรงมันต่อไปเรื่อยๆ อย่าไปคิดใหญ่จนเกินตัวจนเรา ไม่อยากทำอะไร หรือทำมันอย่างไม่สนุก
“สมมติว่าครั้งนี้ผมไปได้ไม่กี่กิโลฯ แต่อย่างน้อยเงินบริจาคมันเกิดขึ้นจริง ช่วยชีวิตคนได้จริงๆ หรือผมวิ่งไปไม่ถึง แต่กลายเป็นแรงบันดาลใจให้คนมาออกกำลังกายกันมากขึ้นได้ นี่คือเรื่องจริง”
BACK UP TEAM
ทุกแรงขับเคลื่อนของ ตูน บอดี้สแลม ล้วนมีครอบครัวและเพื่อนพ้องคอยสนับสนุนอยู่เสมอ หนึ่งในกำลังใจสำคัญที่ขาดไม่ได้คือครอบครัว ซึ่งการวิ่งทุกครั้งนับตั้งแต่ปีที่แล้วอย่าง กรุงเทพ-บางสะพาน จนถึงครั้งนี้ เบตง-แม่สาย ที่จะมี ‘คุณพ่อ’ อนุรัตน์ คงมาลัย อายุ 64 ปี คอยขี่จักรยาน คอยเป็นกำลังใจอยู่ท้ายขบวนวิ่งไปตลอดเส้นทาง