วันนี้ (16 มกราคม) ที่รัฐสภา (เกียกกาย) รังสิมันต์ โรม ส.ส. บัญชีรายชื่อพรรคอนาคตใหม่ ในฐานะโฆษกกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน แถลงข่าวการประชุม กมธ. โดยตอนหนึ่งระบุว่า ก่อนนี้ในสภาผู้แทนราษฎรมีการยื่นญัตติขอตั้ง กมธ. วิสามัญศึกษาผลกระทบจากการใช้คำสั่ง ตาม ม.44 และประกาศคำสั่ง คสช. ซึ่งผลคือญัตตินี้ตกไป แต่อย่างไรก็ตาม ทาง กมธ. กฎหมายฯ จึงได้มีการประชุมและพิจารณากันจนมีมติตั้งคณะทำงานเพื่อศึกษาผลกระทบจากการกระทำ ประกาศคำสั่ง คสช. และการใช้อำนาจหัวหน้า คสช. ตาม ม. 44 ตลอดจนประกาศและคำสั่งของคณะปฏิวัติอื่นๆ โดยตั้งเป็นคณะทำงาน เนื่องจากโควตาการตั้งอนุฯ กมธ. นั้นเต็มแล้ว และเมื่อผลการศึกษาเป็นอย่างไรจะนำมาพิจารณาดำเนินการต่อไป
รังสิมันต์กล่าวว่า อีกกรณีหนึ่งคือ กิจกรรมวิ่งไล่ลุง ซึ่งจากการติดตามและรับทราบจากสื่อมวลชน ปรากฏว่ามีการคุกคามประชาชน นักศึกษาทั่วประเทศในหลายพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็น นครพนม, บุรีรัมย์, พะเยา และนครศรีธรรมราช เป็นต้น ซึ่ง กมธ. กฎหมายฯ เห็นว่า เมื่อมีเหตุแบบนี้จะต้องมีการสอบสวน ซักถาม ซึ่งแน่นอนว่าเราไม่สามารถตามดูครอบคลุมทุกจังหวัดได้ จึงมีมติว่าจะเชิญมาสอบถามเรื่องนี้ใน 2 จังหวัด คือพะเยากับนครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นกรณีที่นักศึกษามหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ไม่ได้รับอนุญาตให้จัดกิจกรรมในพื้นที่มหาวิทยาลัย
“สำหรับบุคคลที่เราจะเชิญมาชี้แจงมีอยู่ 3 ท่านคือ 1. พล.ต.อ. จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ในฐานะผู้บังคับบัญชาสูงสุด เป็นผู้กำหนดนโยบาย เพราะสิ่งหนึ่งที่ กมธ. สงสัยคือว่า ทำไมการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจในกรุงเทพฯ กับต่างจังหวัดจึงแตกต่างกัน เลยอยากเชิญท่านมาซักถาม 2. อธิการบดีมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ มีข้อสงสัยว่า ทำไมนักศึกษาจึงไม่สามารถใช้สิทธิของตน ซึ่งเป็นเรื่องไม่กระทบกระเทือนความมั่นคงในพื้นที่มหาวิทยาลัยนั้นได้ และ 3. ผู้กำกับสถานีตำรวจภูธรเมืองพะเยา ในฐานะผู้บังคับใช้กฎหมายสูงสุดในท้องที่นั้น กมธ. จะเชิญมาชี้แจงในการพิจารณาต่อไป” รังสิมันต์กล่าว
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า