ศึกรักบี้ชิงแชมป์โลกครั้งแรกในทวีปเอเชียเริ่มต้นขึ้นแล้วในประเทศญี่ปุ่นเมื่อวันศุกร์ที่ 20 กันยายน โดยออกสตาร์ทเกมแรก เจ้าภาพสามารถเอาชนะรัสเซียไป 30-10
แต่สิ่งที่สำคัญอีกอย่างไม่แพ้การแข่งขันในสนามคือโอกาสที่กีฬารักบี้จะได้ทำความรู้สึกกับชาติเอเชียในฐานะเจ้าภาพเป็นครั้งแรก เช่นเดียวกับญี่ปุ่นที่จะได้เรียนรู้วัฒนธรรมของกีฬารักบี้
โดยเมื่อวันที่ 23 กันยายน ทาง Rugby World Cup เพจทางการของการแข่งขัน ได้โพสต์ภาพสื่อโทรทัศน์ญี่ปุ่นโปรโมตการแข่งขันด้วยการนำเอาภาพสัตว์ชนิดต่างๆ มาเปรียบเทียบให้เห็นถึงเอกลักษณ์และความสำคัญในแต่ละตำแหน่งของกีฬารักบี้ทั้ง 15 ตำแหน่ง เพื่อให้คนทั่วไปร่วมสนุกกับมหกรรมกีฬาที่กำลังทำการแข่งขันอยู่ในประเทศ
เริ่มจากกองหน้าของรักบี้ซึ่งมีหน้าที่ทำเกมรับเป็นส่วนใหญ่ ตั้งแต่แถวหน้าในตำแหน่ง Prop ทั้งหมายเลข 1 และ 3 สื่อญี่ปุ่นเลือกใช้ช้าง ซึ่งเปรียบเสมือนเป็นนักกีฬาที่ต้องมีความแข็งแกร่งสูง แต่ไม่ต้องมีความเร็วมาก
แถวสองรองลงมาเป็นยีราฟในตำแหน่ง Lock ซึ่งมีหน้าที่จะกระโดดรับบอลจากข้างสนามในช่วงเวลาไลน์เอาต์ จึงเป็นตำแหน่งที่ต้องมีความสูงเป็นพิเศษ
อีกตัวอย่างเช่นตำแหน่งกองหลังในปีก 2 ข้างที่เป็นเสือชีตาห์ คือต้องมีความเร็วและความคล่องตัวสูง
ส่วนตำแหน่งตรงกลางคือหมายเลข 10 หรือฟลายฮาล์ฟ ซึ่งการเลือกใช้เป็นมนุษย์เนื่องจากตำแหน่งนี้มีหน้าที่เหมือนผู้บัญชาการเกมรุกที่ต้องควมคุมจังหวะของทีม และสร้างสรรค์โอกาสทำคะแนนให้กับทีมได้ทั้งแบบโอเพ่นเพลย์ หรือการเตะลูกจุดโทษ
ถือว่าเป็นอีกหนึ่งความคิดสร้างสรรค์ที่น่าสนใจสำหรับการโปรโมตกีฬาชนิดที่อาจจะไม่ได้รับความนิยมสูงที่สุดในประเทศ
ภาพ: Rugby World Cup
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์