ค่าเงินรูเบิลวันนี้ (27 เมษายน) แข็งค่าขึ้นทำสถิติสูงสุดในรอบกว่า 2 ปี หลังรัสเซียเริ่มกระบวนการใช้ไม้แข็งระงับการส่งก๊าซไปยังประเทศที่ไม่ยอมชำระเงินด้วยเงินสกุลรูเบิลตามนโยบายของประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน โดยเงินรูเบิลแข็งค่าขึ้น 1.1% เมื่อเทียบกับเงินสกุลยูโร มาอยู่ที่ระดับ 76 รูเบิลต่อยูโร และแข็งค่าขึ้น 1% เมื่อเทียบกับเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐ มาอยู่ที่ระดับ 72.82 รูเบิลต่อดอลลาร์สหรัฐ
สำนักข่าว Reuters รายงานว่า การแข็งค่าของเงินรูเบิลเป็นผลมาจากการที่ Gazprom PJSC บริษัทพลังงานรายใหญ่ของรัสเซีย ได้ระงับการส่งก๊าซธรรมชาติไปยังโปแลนด์และบัลแกเรียเป็นการชั่วคราว จนกว่าทั้งสองประเทศจะยอมชำระค่าก๊าซเป็นเงินสกุลรูเบิล
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- เงินรูเบิลร่วงต่ำสุดในรอบเกือบ 2 ปี แบงก์ชาติรัสเซียลั่นพร้อมใช้มาตรการจำเป็นดูแลเสถียรภาพการเงินของประเทศ
- ‘แบงก์ชาติจีน’ เตรียมสั่งลดสำรองเงินตราต่างประเทศ เพิ่มขีดความสามารถธนาคารกระตุ้นเศรษฐกิจ
ขณะเดียวกันรัฐบาลรัสเซียยังส่งสัญญาณขู่ไปถึงประเทศอื่นๆ ที่ไม่ยอมชำระค่าก๊าซเป็นเงินรูเบิลด้วยว่าอาจต้องเผชิญชะตากรรมเดียวกับโปแลนด์และบัลแกเรีย ส่งผลให้มีความต้องการเงินรูเบิลในตลาดสูงขึ้น
ด้านนักวิเคราะห์จาก Promsvyazbank ระบุว่า นอกจากปัจจัยเรื่องก๊าซธรรมชาติแล้ว การแข็งค่าของรูเบิลในสัปดาห์นี้ส่วนหนึ่งยังเป็นผลมาจากการครบกำหนดชำระภาษีรายได้ของบริษัทรัสเซีย รวมถึงการเก็งกำไรของนักลงทุนที่คาดว่าธนาคารกลางรัสเซียจะปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลง 2% ในวันศุกร์นี้
ขณะที่ค่าเงินหยวนจีนในวันนี้กลับมาแข็งค่าขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐ โดยขยับขึ้นมาซื้อขายที่ระดับใกล้เคียง 6.58 หยวนต่อดอลลาร์สหรัฐ หลังจากที่อ่อนค่าลงมาต่อเนื่องราว 3% นับจากต้นเดือนที่ผ่านมา
Maggie Wei นักวิเคราะห์จาก Goldman Sachs ระบุว่า การแข็งค่าขึ้นของเงินหยวนในครั้งนี้เป็นผลมาจากการที่ธนาคารกลางจีน (PBOC) ออกแถลงการณ์เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (25 เมษายน) ว่าจะปรับลดข้อกำหนดการสำรองเงินตราต่างประเทศสำหรับสถาบันการเงิน หรือ RRR ลงจาก 9% มาอยู่ที่ 8% ในช่วงกลางเดือนพฤษภาคม ซึ่งจะช่วยให้อัตราแลกเปลี่ยนของเงินหยวนมีเสถียรภาพมากขึ้น
“การส่งสัญญาณปรับลด RRR สะท้อนว่าทางการจีนเริ่มรู้สึกไม่ค่อยสบายใจกับการอ่อนค่าที่รวดเร็วของเงินหยวนในช่วงที่ผ่านมา” Wei ระบุ
Wei คาดการณ์ว่าการปรับลด RRR ของจีนจะช่วยชะลอการอ่อนค่าของเงินหยวนในระยะสั้นได้ อย่างไรก็ดี ปัจจัยเรื่องการปรับขึ้นดอกเบี้ยที่รุนแรงเพื่อสกัดเงินเฟ้อของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) และความไม่แน่นอนของสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิดในจีน ซึ่งอาจทำให้มาตรการล็อกดาวน์ต้องยืดเยื้อออกไป ก็อาจกดดันให้เงินหยวนกลับมาอ่อนค่าได้อีกครั้ง
Schelling Xie นักวิเคราะห์อาวุโสจาก Stansberry China ประเมินว่า แม้ว่าการปรับลด RRR จะช่วยชะลอการอ่อนค่าของเงินหยวนได้ แต่เงินหยวนยังมีแนวโน้มจะเคลื่อนไหวในทิศทางอ่อนค่าอยู่จาก 2 ปัจจัยสำคัญ ได้แก่ การดำเนินนโยบายการเงินที่ตึงตัวของ Fed ซึ่งจะทำให้นักลงทุนให้น้ำหนักกับสินทรัพย์ที่มีความปลอดภัยและเงินดอลลาร์สหรัฐมากขึ้น และความไม่แน่นอนของการบังคับใช้นโยบายล็อกดาวน์ ซึ่งจะทำให้นักลงทุนมีความมั่นใจในเศรษฐกิจจีนลดลง
ขณะที่ทีมนักวิเคราะห์เศรษฐกิจกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ของ Morgan Stanley คาดการณ์ว่า เงินหยวนจะเคลื่อนไหวที่อยู่ที่ระดับใกล้เคียง 6.48 หยวนต่อดอลลาร์สหรัฐในช่วงสิ้นเดือนมิถุนายน
อ้างอิง:
- https://www.reuters.com/business/rouble-strengthens-moscow-russia-halts-gas-supplies-bulgaria-poland-2022-04-27/
- https://www.cnbc.com/2022/04/27/china-economy-central-bank-tries-to-slow-weakening-yuan-vs-us-dollar.html
- https://www.bloomberg.com/news/articles/2022-04-27/gazprom-says-it-cuts-gas-to-poland-bulgaria-on-non-payment?srnd=premium-asia&sref=CVqPBMVg
ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH
Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP