×

สหรัฐฯ กลับมาเดินเกมในอินโด-แปซิฟิก คานอำนาจจีน? หลังรัฐมนตรีต่างประเทศเยือนอาเซียนครั้งแรก

17.07.2025
  • LOADING...
rubio-asean-visit

การปรากฏตัวของรูบิโอสะท้อนความพยายามของรัฐบาลทรัมป์ในการย้ำจุดยืนว่า “อินโด-แปซิฟิก” ยังคงเป็นยุทธศาสตร์หลักของสหรัฐฯ แม้ว่าวอชิงตันจะกำลังเผชิญกับความท้าทายทั้งภายในและภายนอกประเทศ ตั้งแต่ตะวันออกกลางไปจนถึงลาตินอเมริกา

 

วัตถุประสงค์หลักของการเยือนอาเซียนครั้งนี้

 

  1. ย้ำยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิกของสหรัฐฯ

 

รูบิโอเน้นย้ำจุดยืนของสหรัฐฯ ว่าให้การสนับสนุนภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกที่ “เสรี เปิดกว้าง และปลอดภัย” โดยยกให้อาเซียนเป็นศูนย์กลางของเสถียรภาพในอนาคตของโลก แม้ว่าจะมีปัจจัยเบี่ยงเบนความสนใจหลายด้าน แต่สหรัฐฯ ยืนยันว่าจะไม่ลดบทบาทในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และยังคงตั้งใจใช้การทูต ความมั่นคง และเศรษฐกิจในการถ่วงดุลอิทธิพลของจีนที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง

 

  1. รับมือกับภาพลักษณ์ด้านนโยบายภาษี

 

รูบิโอต้องเผชิญกับบรรยากาศการทูตที่ละเอียดอ่อน เนื่องจากนโยบายภาษีของรัฐบาลทรัมป์ส่งผลกระทบโดยตรงต่อหลายประเทศในอาเซียน เช่น มาเลเซีย เวียดนาม และไทย เขาพยายามส่งสารสองทาง

 

ในด้านหนึ่งคือความร่วมมือทางยุทธศาสตร์ที่แน่นแฟ้น แต่อีกด้านหนึ่งก็ย้ำว่า มาตรการภาษีเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายเศรษฐกิจที่มุ่งแก้ไขความไม่สมดุลทางการค้า โดยรูบิโอปกป้องนโยบายดังกล่าวว่าเป็นการตอบโต้ “แนวปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม” แต่ก็ยอมรับว่ามีความกังวลจากชาติพันธมิตรที่กลัวผลกระทบทางเศรษฐกิจ และการเปิดช่องให้จีนรุกคืบมากขึ้น

 

  1. เดินเกมควบคู่ความมั่นคงและเศรษฐกิจ

 

รูบิโอยืนยันว่าสหรัฐฯ จะยังคงให้ความร่วมมือทางทหารและด้านความมั่นคงกับประเทศในอาเซียน โดยเน้นบทบาทในการรับมือกับความเคลื่อนไหวของจีนในทะเลจีนใต้ควบคู่ไปกับความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ เทคโนโลยี และพลังงาน เช่น การลงนามบันทึกความเข้าใจ (MoU) ด้านพลังงานนิวเคลียร์พลเรือนกับมาเลเซีย ซึ่งสะท้อนว่าการมีส่วนร่วมของสหรัฐฯ กำลังขยายจากแค่ด้านความมั่นคงสู่พันธมิตรเชิงยุทธศาสตร์ในมิติต่างๆ

 

  1. ใช้อาเซียนเป็นเวทีทูตหลักในภูมิภาค

 

รูบิโอแสดงความเชื่อมั่นว่าอาเซียนคือกลไกหลักของการทูตพหุภาคีในภูมิภาค เขาเน้นการสนับสนุนเวทีต่างๆ เช่น เวทีการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก (The East Asia Summit – EAS) และเวทีการประชุมอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (ASEAN Regional Forum – ARF) แม้จะมีข้อกังขาในภูมิภาคจากการที่สหรัฐฯ ถอนตัวจากข้อตกลงการค้าบางฉบับในอดีต รูบิโอพบหารือกับรัฐมนตรีต่างประเทศของประเทศสมาชิกอาเซียน รวมถึงจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และรัสเซีย สะท้อนว่าอาเซียนยังคงเป็นจุดศูนย์กลางของภูมิรัฐศาสตร์เอเชีย

 

อาเซียนว่าอย่างไร?

 

แม้ผู้นำในอาเซียนจะต้อนรับการกลับมามีบทบาทของสหรัฐฯ ในเวทีภูมิภาค แต่หลายฝ่ายยังคงต้องการความชัดเจนในระยะยาวเกี่ยวกับความตั้งใจของวอชิงตัน ขณะเดียวกัน ความไม่แน่นอนทางนโยบาย โดยเฉพาะในเรื่องเศรษฐกิจและการค้า ก็ยังเป็นจุดที่สร้างความกังวลว่า สหรัฐฯ อาจเปลี่ยนท่าทีได้ในทันที

 

มุมมองผู้เชี่ยวชาญ

 

Sharon Seah นักวิจัยอาวุโสประจำสถาบัน ISEAS-Yusof Ishak Institute ในสิงคโปร์ ให้สัมภาษณ์กับ TIME ว่า

 

“ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ส่วนใหญ่มีความเป็น นักปฏิบัติ (pragmatic) สูง และไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากต้องพึ่งพาอำนาจที่ตนคุ้นเคย เพราะภูมิทัศน์ด้านภูมิรัฐศาสตร์กำลังเปลี่ยนเร็วมาก”

 

สิ่งนี้สะท้อนว่าแม้หลายประเทศจะไม่อยากเลือกข้าง แต่ “ความเป็นกลาง” กำลังหดแคบลงเรื่อยๆ

 

ขณะที่ ผศ. Chong Ja Ian อาจารย์ประจำภาควิชารัฐศาสตร์ National University of Singapore บอกกับ TIME ว่า

 

“เอเชียตะวันออกเฉียงใต้กำลังกลายเป็น เวทีแข่งขัน ระหว่างวอชิงตันกับปักกิ่ง”

การไม่แสดงจุดยืนที่ชัดเจนอาจกลับกลายเป็นการเปิดทางให้การแข่งขันระหว่างสองมหาอำนาจยิ่งทวีความเข้มข้นขึ้นในภูมิภาคนี้

 

ด้าน The Diplomat วิเคราะห์ว่า คำถามสำคัญสำหรับประเทศสมาชิกอาเซียนในตอนนี้คือ “จะกล้าร่วมมือกันเพื่อป้องกันอนาคตที่เลวร้ายที่สุดหรือไม่”

 

รัฐบาลทรัมป์กำลังซ้ำเติมความแตกแยกภายในอาเซียน ซึ่งเดิมทีการรวมเป็นหนึ่งเดียวของกลุ่มก็มีข้อจำกัดอยู่แล้ว โดยเฉพาะในประเด็นที่ยากลำบาก เช่น ทะเลจีนใต้ หรือสถานการณ์ในเมียนมา ที่อาเซียนไม่สามารถหาฉันทามติร่วมกันได้

 

แม้นายกรัฐมนตรีอันวาร์ อิบราฮิมของมาเลเซีย ในฐานะประธานอาเซียนประจำปีนี้ จะเรียกร้องให้ประเทศสมาชิกร่วมมือกันเจรจากับสหรัฐฯ เรื่องภาษีในเชิงประสานงาน 

 

แต่สิ่งที่เกิดขึ้นกลับตรงข้ามคือแต่ละประเทศแยกกันจัดการ ต่างฝ่ายต่างพยายามเจรจาทวิภาคีกับสหรัฐฯ แยกเป็นรายประเทศ โดย เวียดนาม เป็นประเทศแรกที่เริ่มขยับ และประเทศอื่นๆ ก็ตามมา

 

ขณะเดียวกัน สหรัฐฯ เองก็ยิ่งเปิดช่องให้เกิดความต่างภายในอาเซียนในการจัดการความสัมพันธ์กับจีน ด้วยการเทน้ำหนักสนับสนุนพันธมิตรใกล้ชิดมากขึ้น และแยกตัวออกจากบางประเทศ การ “เดินสายกลาง” ระหว่างสองมหาอำนาจที่อาเซียนพยายามรักษาไว้จึงยิ่งลำบากขึ้นเรื่อยๆ

 

ไม่ใช่แค่การเมือง แต่ผลกระทบของทรัมป์ยังส่งแรงสั่นสะเทือนในเศรษฐกิจภูมิภาคด้วย การขึ้นภาษีจะเร่งและขยายแนวโน้มเศรษฐกิจในระยะยาว ส่งผลให้บางประเทศได้เปรียบ ขณะที่บางประเทศเสียเปรียบอย่างชัดเจน

 

ดร.อาร์ม

 

ขณะที่ ดร.อาร์ม ตั้งนิรันดร ผู้อำนวยการศูนย์จีนศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และรองคณบดี คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มองการเยือนอาเซียนครั้งนี้ของรูบิโอว่า มีเป้าหมายเพื่อแสดงว่าสหรัฐฯ ยังไม่ถอนตัวจากภูมิภาคนี้ แม้ในเวทีการประชุมอาเซียนจะมีจีนเข้าร่วมด้วยก็ตาม 

 

อย่างไรก็ตาม การเดินทางครั้งนี้ยังมีข้อจำกัดสำคัญ 3 ประการ

 

ประการแรก รูบิโอเดินทางมาในช่วงที่รัฐบาลทรัมป์เผชิญแรงกดดันจากกระแสไม่พอใจในอาเซียนต่อสงครามการค้า ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อหลายประเทศในภูมิภาค ท่ามกลางการสำรวจความเห็นที่ชี้ว่าทัศนคติของประชาชนในอาเซียนต่อสหรัฐฯ ลดลง เมื่อเทียบกับยุครัฐบาลไบเดน

 

ประการที่สอง ประธานาธิบดีทรัมป์ไม่เคยแสดงความสนใจต่อภูมิภาคอาเซียนอย่างจริงจัง นโยบายต่างประเทศของทรัมป์มักมุ่งไปที่มหาอำนาจ เช่น จีน อิหร่าน หรือรัสเซีย ขณะที่บทบาทต่ออาเซียนมักถูกมอบหมายให้รัฐมนตรีต่างประเทศเป็นผู้ขับเคลื่อนแทน

 

ประการที่สาม อำนาจตัดสินใจขั้นสุดท้ายยังอยู่ที่ทรัมป์เพียงผู้เดียว แม้รูบิโอจะมีบทบาทในเวทีระหว่างประเทศ แต่ประเด็นที่อาเซียนให้ความสนใจโดยเฉพาะเรื่องภาษีและการค้า กลับอยู่นอกเหนืออำนาจของเขาโดยตรง และขึ้นอยู่กับหน่วยงานอย่างกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการคลัง และผู้แทนการค้าสหรัฐฯ โดยเฉพาะตัวทรัมป์เองในฐานะผู้เคาะนโยบายสุดท้าย

 

ดร.อาร์มจึงตั้งข้อสังเกตว่า แม้การมาเยือนของรูบิโอจะมีนัยเชิงสัญลักษณ์ในการถ่วงดุลจีนและย้ำบทบาทของสหรัฐฯ ในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก แต่ก็ต้องยอมรับว่ามีข้อจำกัดเชิงโครงสร้างหลายด้านที่ลดทอนน้ำหนักของการทูตเชิงรุกในครั้งนี้

 

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising